สี่ปี สนช.: “เตะถ่วง” ไม่ผ่านยืดเวลากฎหมายกระทบนายทุนและตัวเอง

ลักษณะที่โดดเด่นของสถานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คือการเป็นเครื่องจักรผลิตกฎหมายจำนวนมากให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา สนช. เห็นชอบกฎหมายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 298 ฉบับ จนเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจของบรรดาสมาชิก สนช. และรัฐบาล คสช. เพราะสภาจากการเลือกตั้งไม่สามารถผลิตกฎหมายได้มากเช่นนี้ เนื่องจากมีพรรคฝ่ายค้าน และมีการตรวจสอบถ่วงดุลจากหลายฝ่าย ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำงานของ สนช. ยังไม่พบว่ามีร่างกฎหมายฉบับใดที่จะถูกปัดตกไป
 
ขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายใน สนช. จะเริ่มจากให้ที่ประชุม สนช. รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนั้นก่อน จากนั้นที่ประชุมจะตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณา ขั้นตอนนี้มีความสำคัญเพราะร่าง พ.ร.บ.ฉบับนั้นสามารถถูกแก้ไขเพิ่มเติมได้ โดยส่วนใหญ่ขั้นตอนนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 30 – 90 วัน หลังจากนั้นที่ประชุมจะพิจารณาเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบ ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย
 
 
ขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นคณะกรรมาธิการนี้เองที่ทำให้ สนช. ใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายบางฉบับยาวนานกว่าร่างกฎหมายโดยทั่วไป จากการเก็บข้อมูลของไอลอว์พบว่ามีร่าง พ.ร.บ. อย่างน้อยหกฉบับที่ใช้เวลาพิจารณายาวนานมากกว่าหนึ่งปี เช่น ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งที่ประชุม สนช. รับหลักตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2560 จนถึงตอนนี้ สนช. ใช้เวลาพิจารณาไปแล้วประมาณหนึ่งปีสามเดือน ขยายเวลาการพิจารณาไปแล้วอย่างน้อยแปดครั้ง
 
เป้าหมายสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ ลดการกระจุกตัวของที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยการจัดเก็บภาษีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือคนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากก็จะต้องเสียภาษีมากขึ้นตามไปด้วย ด้วยข้อกำหนดเช่นนี้ ทำให้มีกลุ่มธุรกิจเข้ามายื่นหนังสือแสดงความกังวลต่อกฎหมายดังกล่าว เช่น  นายกสมาคมผู้ประกอบการสนามกอล์ฟ นอกจากนี้ หนึ่งในผู้ที่เคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ ก็คือ สมาชิก สนช. อย่าง พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่นำคณะผู้แทนจากหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมายื่นหนังสือให้ความเห็นต่อกฎหมายดังกล่าว กับ สนช. 
 
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกลุ่มจับตาที่ดิน หรือ Land Watch พบว่า สมาชิก สนช. ทั้งหมด 247 คน มีมูลค่าการถือครองที่ดินรวมกันถึง 9,803,618,528 บาท เฉลี่ยคนละ 42,075,616 บาท ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจเรียกสภาแห่งนี้ว่า “สภาแลนด์ลอร์ด” ได้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้ยินข่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับอาจจะถูก สนช. ถูกตีตก หรือใช้เทคนิคเตะถ่วงเลื่อนไปเรื่อยๆ หรือสุดท้ายอาจแก้ไขใหม่จนไม่สามารถใช้การได้จริง
 
 
อีกร่างกฎหมายหนึ่ง คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม เป็นอีกหนึ่งร่างกฎหมายที่ถูกกล่าวถึงมาก เพราะมีเป้าหมายเพื่อเป็นยาแรงในการปราบรามการทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการซึ่งเป็นภารกิจของ คสช. ในการเข้ามายึดอำนาจครั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกที่ประชุม สนช. รับหลักการตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2560 มีการประชุมคณะกรรมาธิการอย่างน้อย 29 ครั้ง และกลางเดือนสิงหาคมนี้จะครบหนึ่งปีการพิจารณาร่างดังกล่าว
 
ประเด็นที่สมาชิก สนช. หลายคนกังวลคือการห้ามไมให้เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งพ้นตำแหน่งไม่เกินสองปี เข้าไปดำรงตำแหน่งในธุรกิจเอกชน และรับเงินหรือประโยชน์จากธุรกิจเหล่านี้ แน่นอนว่าหากกฎหมายนี้บังคับใช้จะกระทบกับสมาชิก สนช. ซึ่งจากข้อมูลพบว่า 89% ของสมาชิก สนช. ทั้งหมดคือข้าราชการ นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ บังคับใช้ขึ้นมาแม้แต่ตัวผู้พิจารณากฎหมายเองก็อาจไม่สามารถปฏิบัติ และอาจมีความผิดกันหมด