ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: หยุด “ยุทธศาสตร์ชาติ” หยุด “ระบอบ คสช.” ต้องช่วยกันส่งเสียง

‘แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ ถูกวางกรอบเวลาไว้ว่า จะเริ่มบังคับใช้กับคนไทยทั้งประเทศได้ในเดือนกรกฎาคม 2561 
จากการโฆษณาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุทธศาสตร์ชาติ คือ ผลงานชิ้นเอกในการวางรากฐานให้สังคมไทย "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ในอีก 20 ปีข้างหน้า และไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามาบริหารประเทศหลังจากเลือกตั้ง ก็จะต้องเดินตาม "เส้นทาง" ของยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้โดยไม่แตกแถว
เนื้อหาของร่างยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกด้าน จัดทำเสร็จและเผยโฉมให้เห็นแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2561 (แต่ยังสามารถถูกปรับแก้ได้จนกว่าจะถึง สนช.) รายงานแต่ละด้านยาวสิบกว่าหน้าเท่านั้น เนื้อหาเท่าที่เห็นพอจะนิยามเป็นประโยคสั้นๆ ได้ว่า “ตั้งเป้าหมายสูง แต่ไม่เห็นวิธีการ” เช่น ตั้งเป้านำประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ให้คนไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 7,800 บาทต่อคนต่อปีไปจนถึงปี 2579 ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่เห็นความเป็นไปได้ที่รัฐบาลชุดหน้าหรือแม้แต่รัฐบาลชุดที่เขียนยุทธศาสตร์ชาตินี้ขึ้นเองจะทำเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงได้ด่้วยวิธีการใด
ยุทธศาสตร์ชาติจะผูกมัดชีวิตคนไทยไปอีกถึง 20 ปี แต่การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติกลับเป็นการดำเนินการของคนเพียงหยิบมือเดียว ที่ใช้ชื่อต่างๆ กันแยกได้เป็นสามชื่อ
หนึ่ง คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คือ มือยกร่าง ผู้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกด้าน ด้านละไม่เกิน 15 คน 
สอง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คือ ผู้ควบคุมยุทธศาสตร์ชาติตัวจริง มีเพียง 29 คน ล้วนแต่เป็นคนหน้าคุ้นจาก คสช. เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, วิษณุ เครืองาม ฯลฯ
สาม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือ ผู้ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบ ซึ่งมีอยู่ 248 คน ส่วนใหญ่เป็นทหาร เป็นผู้ชาย วัยหกสิบขึ้น และมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด
ทั้งหมดมีต้นกำเนิดเดียวกัน ก็คือ คสช. 
เราจึงสามารถนิยามได้อย่างไม่เกินเลยว่า อนาคตของชาติอีก 20 ปีข้างหน้า กำลังถูกออกแบบให้เป็นไปโดย "ระบอบ คสช."
แม้ยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นเรื่องใหม่ เรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญมากสำหรับคนไทย แต่ตลอดเส้นทางของกระบวนการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ คนไทยส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้รับรู้ข่าวสาร ช่องทางการมีส่วนร่วม หรือเนื้อหาเกี่ยวกับร่างยุทธศาสตร์ชาติเลย ตัวอย่างเช่น ระหว่างเปิดรับฟังความเห็น ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 บนเว็บไซต์มีประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเพียง 8 คน หรือเมื่อคณะกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติจัดทำร่างแรกเสร็จแล้ว ก็จัดรับฟังความเห็นเพียงสี่ครั้งในสี่จังหวัดเท่านั้น โดยไม่ได้ประชาสัมพันธ์แก่คนทั่วไป กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่ขาดการมีส่วนร่วม จึงมีปัญหาความชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น 
ในความเป็นจริงก็ไม่น่าแปลกใจที่เราไม่เห็น คสช. พยายามสร้างการมีส่วนร่วม เพราะจริงๆ คสช. แอบมี ‘พิมพ์เขียว’ ร่างยุทธศาสตร์ชาติอยู่ในใจก่อนแล้ว เพราะกระบวนการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างที่ คสช. กล่าวอ้าง แต่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เมื่อรัฐบาล คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อจัดทำ "ร่างยุทธศาสตร์ชาติ" ขึ้นไว้ก่อน ก่อนที่ "มีชัย" จะเริ่มจับปากการ่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เสียอีก และเมื่อขั้นตอนเดินหน้าไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ก็เปิดตัวออกมาพร้อม มาตรา 28(3) กำหนดให้การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับจริงไม่จำเป็นต้องรับฟังความเห็นประชาชนเพิ่มอีกก็ได้ เพราะกระบวนการที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2558 ถือเป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 
มาตรา 28(3) จึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่า ไม่มีความพยายามของ คสช. ที่จะนับรวมเสียงของประชาชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการเขียนยุทธศาสตร์ชาติจริงๆ 
ช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 ไอลอว์เริ่มออกตามหา “ร่างยุทธศาสตร์ชาติ” ฉบับที่ คสช. แอบร่างมาตั้งแต่ปี 2558 โดยใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพื่อขอดูร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับดังกล่าว จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ แต่ก็ถูกดึงเรื่องให้ช้า กว่าสภาพัฒน์ฯ จะยอมเปิดร่างฉบับนี้ ในวันที่ 7 กันยายน 2560 ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 122 วัน ระยะเวลานี้ก็เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของราชการไทยที่จะปกปิด แยกขาดกระบวนการร่างยุทธศาสตร์ชาติออกจากประชาชน
คสช. มักอ้างต่อสาธารณะว่า ยุทธศาสตร์ชาติจะทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาที่ต่อเนื่องทางนโยบาย ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็จะต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่พรรคการเมืองต่างสลับกันขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้วก็ออกนโยบายเพื่อหวังคะแนนเสียงทางการเมือง แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นในทางตรงกันข้าม เพราะนโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์จำนวนมากที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคการเมืองก็สามารถยืนหยัดมั่งคงข้ามรัฐบาลได้ แม้ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปแต่นโยบายก็ยังคงอยู่ได้ เช่น นโยบาย "30 บาท" รักษาทุกโรคของพรรคไทยรักไทย หรือนโยบาย "เรียนฟรี" 15 ปี ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสองนโยบายนี้ แม้ คสช. จะพยายามล้มก็ยังทำไม่ได้ ดังนั้น นโยบายใดที่มาจากความต้องการของประชาชนย่อมยืนอยู่ได้เองไม่ว่าในยุคของรัฐบาลจากพรรคไหน ในทางตรงกันข้าม ยุทธศาสตร์ชาติที่ต่อให้ร่างอย่างสวยหรูเพียงใด หากเนื้อหาไม่ได้สอดคล้องกับชีวิตจริง ก็ยังไม่เห็นหนทางที่จะถูกนำไปปฏิบัติได้อย่างราบรื่น
ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า หัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การวางอนาคตของชาติ แต่เป็นข้ออ้างเพื่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. ดังจะเห็นว่า คสช. ได้แต่งตั้งตนเองและบุคคลของตนเองไปอยู่ในกลไก "ยุทธศาสตร์ชาติ" และกำลังจะแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาอีก 250 คน โดยอ้างว่า เพื่อมากำกับดูแลการทำตามยุทธศาสตร์ชาติ หากหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า คสช. สามารถกลับมาเป็นรัฐบาลดังที่ตั้งใจไว้ กลไกเหล่านี้ก็จะคอยปกป้องคุ้มครอง "ระบอบ คสช." นี้ต่อไป แต่หากรัฐบาลหน้าไม่ใช่รัฐบาลจาก คสช. บุคคลที่ คสช. แต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ ก็จะอาศัยยุทธศาสตร์ชาติเป็นอาวุธควบคุมรัฐบาลหน้าให้อยู่โอวาท หรือถ้าควบคุมไม่อยู่ก็มีอำนาจพอล้มรัฐบาลนั้นได้
แม้การหยุดยั้งหรือแก้ไขร่างยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะทุกอย่างขั้นตอนถูกกำหนดไว้เกือบหมดแล้ว แต่หากในเวลาที่เหลืออยู่เราจะช่วยกันส่งเสียงบอกคนไทยด้วยกัน บอกข้าราชการ บอกพรรคการเมือง ให้ช่วยกันยืนยันว่า ยุทธศาสตร์ชาติมีที่มาและเนื้อหาไม่ชอบธรรม ก็อาจเป็นไปได้ว่า เสียงเหล่านี้จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านกระบวนการของ คสช. มาแล้ว สุดท้ายมีค่าเป็นเพียงเศษกระดาษที่ไร้พลังนำไปสู่เป้าหมายทางการเมือง และยังเป็นเศษกระดาษที่ทำหน้าที่จารึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความฝันอันผิดพลาดของ คสช.