เลือกตั้งช้าไป ใครสั่ง …

แม้ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งแต่ 25 มกราคม 2561 โดยกำหนดด้วยว่า ให้ขยายเวลาเริ่มบังคับใช้ไปอีก 90 วัน หลังจากกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นผลทำให้กำหนดการเลือกตั้งก็เลื่อนออกไปอีก 90 วัน จากกำหนดเดิมที่จะเกิดในเดือนพฤศจิกายน 2561 ต้องเลื่อนไปเดือนกุมภาพันธ์ 2562
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่ทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ยังประกาศใช้ไม่ได้เสียที แม้ร่างจะผ่านความเห็นชอบจาก สนช. แล้ว แต่ก็ยังเจอกับข้อท้วงติงจากผู้มีอำนาจถึงเนื้อหาว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างต้องถูกชะลอออกไปสองครั้ง
กรธ. ท้วงกฎหมายเลือกตั้ง ยื่นเลือกตั้ง 1 เดือน
วันที่ 25 มกราคม 2561 ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. อย่างไรก็ตามแม้จะผ่านออกมาแล้ว แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ทักท้วงว่า มี 4 ประเด็น ในฉบับนี้ที่อาจขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ 1) ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรคการเมืองจัดสรรให้ไม่เท่ากัน 2) ห้ามการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ 3) การให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งช่วยลงคะแนนแทนคนพิการ หรือผู้สูงอายุได้ และ 4) การตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา รองผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาฯลฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
เมื่อ กรธ. ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญเองกับมือทักท้วงเช่นนี้ จึงส่งผลให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสามฝ่ายที่ประกอบไปด้วยสมาชิก สนช. 5 คน กรธ. 5 คน และประธาน กกต. เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวให้ได้ข้อยุติ ขั้นตอนนี้ส่งผลให้การเลือกตั้งต้องขยายออกไปอีกประมาณหนึ่งเดือน เพื่อถกเถียงในสี่ประเด็นนี้ก่อนนำร่างกลับมาสู่การพิจารณาของ สนช. อีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคม 2561 ซึ่ง สนช. ได้เห็นชอบร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นกฎหมายด้วยมติเอกฉันท์อีกเช่นเดิม และส่งร่างกฎหมายนี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ประยุทธ์ส่งร่างคืน สนช. ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ
แม้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเตรียมทูลเกล้าฯ แต่ มีชัย ฤชุพันธ์ ยังคงท้วงติงไปยัง สนช. ว่ามีอีกสองประเด็นที่อาจขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ 1) ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งช่วยลงคะแนนแทนคนพิการ หรือผู้สูงอายุได้ และ 2) การตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา รองผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษา ฯลฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยมีชัยเสนอให้ส่งร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ในตอนแรก สนช. ยืนยันว่าจะไม่ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เนื่องจากเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่อยากให้กระทบโรดแมปเลือกตั้งที่ คสช. ประกาศไว้ว่าจะจัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อย่างไรก็ตามต่อมามีสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลไปทบทวนร่างกฎหมายนี้ให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง รวมทั้งการสอบถามไปยัง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ว่าทำไมถึงส่งไม่ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เช่นเดียวกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยที่มา ส.ว.
ด้าน กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. ก็ออกมารับลูกต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ โดยการล่ารายชื่อสมาชิก สนช. 27 คน ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความในสองประเด็นตามที่ มีชัย ทักท้วงมา โดยให้เหตุผลว่า อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัดเจนตั้งแต่ตอนนี้ ดีกว่าปล่อยไปจนประกาศบังคับใช้กฎหมาย แล้วมีผู้ไปยื่นตีความภายหลัง จนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ จนกระทั่ง 2 เมษายน 2561 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คืนให้ สนช. โดยระบุสั้นๆ ว่า “เห็นควรให้สมาชิก สนช.ดำเนินการ เพราะเป็น เรื่องของสมาชิก สนช. ที่เข้าชื่อกัน” และวันต่อมา 3 เมษายน สนช. จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กระทั่ง 11 เมษายน ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องของ สนช. ตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
แม้ขั้นตอนวิธีการกว่าจะได้มาซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ดูจะมีองค์กรทั้งศาลรัฐธรรมนูญ และ สนช. เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เหตุที่การประกาศใช้กฎหมายล่าช้าไปทั้งสองครั้ง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีที่มาจากการทักท้วงของ มีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งเป็นทั้งคนร่างรัฐธรรมนูญเอง ร่างกฎหมายฉบับนี้เอง และยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของ คสช. เองด้วย และเมื่อเสียงทักท้วงจากมีชัยยังดังไม่พอสำหรับประธาน สนช. จึงต้องเป็นเสียงจาก พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. เองที่สั่งให้ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายก่อน ซึ่งกรอบเวลาการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีกฎหมายใดกำหนด อาจสั้นหรือยาวก็ได้ขึ้นอยู่กับศาลและบรรยากาศทางการเมือง
สุดท้ายเมื่อกำหนดการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปอีกถึงสองจังหวะจากขั้นตอนเหล่านี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งมีชัย และพล.อ.ประยุทธ์ สองบุคคลสำคัญของ คสช. เองมีส่วนโดยตรงกับการเลื่อนการเลือกตั้ง