ยุทธศาสตร์ชาติกับอนาคตประเทศไทย

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล *
รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) 
มีคำถามว่า ต้องการให้ยุทธศาสตร์ชาติมีการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย คนของเรามีคุณภาพมากแค่ไหนในการมีส่วนร่วม ก่อนจะถามว่า คนของเรามีคุณภาพมากแค่ไหนในการมีส่วนร่วมยุทธศาสตร์ชาติ แต่อยากถามก่อนว่า คนคิดยุทธศาสตร์ชาติ คนร่างยุทธศาสตร์ชาติ คนออกแบบยุทธศาสตร์ชาติมีคุณภาพแค่ไหน
รอบแรกอยากจะพูดเรื่องเนื้อหา และต่อด้วยกระบวนการ
ก่อนเข้าเนื้อหา อยากเล่าให้ฟัง เมื่อต้นปีไปมณฑลกวางตุ้ง รถวิ่งจากชนบทเข้าสู่กวางโจว ในเมืองตอนนี้เหมือนคนที่รวยแล้วและคิดว่าจะจัดการตัวเองยังไง แม่น้ำที่เคยดำคลั่กปนเปื้อนมลพิษได้รับการแก้ไขให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณภาพชีวิตคนก็ดีขึ้น แต่ระหว่างทางที่จะถึงกวางโจวเป็นเมืองที่จนกว่า ยังเต็มไปด้วยมลพิษ ที่รองรับอุตสาหกรรมสกปรกที่เคยอยู่ในกวางโจว เช่นเดียวกับญี่ปุ่นในช่วงสร้างอุตสาหกรรมหลังสงคราม มีหลายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่พัฒนาอุตสาหกรรมเข้มข้นจนทะเลแถบนั้นกลายเป็นทะเลตาย ไม่มีสัตว์น้ำในทะเลอาศัยได้ ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นมีฐานะมั่นคงดีขึ้น ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อุตสาหกรรมสกปรกเหล่านี้จึงเป็นยุทธศาสตร์ในการส่งออกไปประเทศอื่นๆ และเมื่อประเทศผลิตขยะมากขึ้นๆ วิธีการจัดการคือการส่งมันออกไปข้างนอก ประเทศอื่นๆจะรู้เท่าทันไหม ก็เห็นชัดเจนกับตาอยู่ในขณะนี้
มาถึงยุทธศาสตร์ชาติที่ทางสภาพัฒน์ร่างขึ้นเป็นต้นร่างอยู่ในขณะนี้ เนื้อหาไม่ได้มีปัญหา พูดอย่างไรก็ถูก ก็คล้ายกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ที่มีเป้าหมายที่ดี พอมาถึงก็เอาไปจับใส่ในจุดต่างๆและเมื่อลงมือแปลสู่การปฏิบัติ มันตรงแค่ไหน
ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พูดเรื่องการเพิ่มมูลค่าภาคเกษตรให้มีคุณภาพเน้นเกษตรอินทรีย์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ไทยยังไม่ยอมแบนสารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายร้ายแรง ทั้งที่สารเคมีเหล่านี้ในประเทศต้นทางเจ้าของบรรษัทเคมี สวิสเซอร์แลนด์ สหภาพยุโรป มีการแบนแล้ว ในจีน ประเทศที่ผลิตกำหนดปีที่แบนแล้ว ส่วนประเทศไทยยืนยันจะใช้ คำถามคือ แบบนี้หรือที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับเกษตรอินทรีย์
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เน้นเกษตรอินทรีย์ เน้นวิสาหกิจชุมชนให้ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่กลับพบว่า มีความพยายามที่จะอนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอ ให้ยอมรับพืชจีเอ็มโอ ทั้งที่ฉลากเตือนให้ผู้บริโภคทราบว่าอาหารชนิดใดมีส่วนประกอบจีเอ็มโออ่อนแอมาก จะแจ้ง ก็ต่อเมื่อส่วนประกอบที่เป็นจีเอ็มโอแค่สองชนิด คือ ข้าวโพดและถั่วเหลืองที่เป็นองค์ประกอบหลักเกิน 5% เท่านั้น ตัวเล็กจนแทบสังเกตไม่เห็น แต่ไม่มีทิศทางการคุ้มครองผู้บริโภคในยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน กลับเห็นทิศทางที่ต่างไปนั่นคือ การแก้ไข พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช ที่ไม่อนุญาตให้เกษตรกรเก็บเพื่อปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป แม้แต่เก็บไว้เพื่อแจกจ่ายได้ หรือหนทางที่เกษตรกรจะเป็นนักปรับปรุงพันธุ์เองก็อาจจะไม่ง่าย
คสช.บอกว่า ทุกคนต้องเคารพยุทศาสตร์ชาติ แต่ระหว่างการทำยุทธศาสตร์ชาติ คสช.ไม่เคารพยุทธศาสตร์ชาติ มันไม่เป็นไรใช่ไหมคะ อยากให้ทุกคนถามคำถามนี้กับตัวเอง และฝากคำถามถึงคนที่ชอบถามคำถามด้วย
เรื่องการส่งออก อยากส่งออกสินค้าคุณภาพ อยากให้ประเทศไทยเป็นครัวอาหารโลก เวลาส่งออกมีระบบมาตรฐานอย่างดี แต่พอเป็นเรื่องการนำเข้า ทราบหรือไม่ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังพยายามดึงอำนาจหน้าที่การตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าที่เดิมเป็นของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขไปไว้ในมือ เหตุผลหนึ่งที่ระบุชัดในรายงานคณะกรรมาธิการเกษตรของ สนช.ที่มีกลุ่มทุนใหญ่ร่วมอยู่ในนั้น ที่กระทรวงเกษตรอ้างอิงอยู่ในขณะนี้คือ เพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองทางการค้า ยกตัวอย่าง ไทยส่งสินค้าไก่แช่แข็ง กุ้งแช่แข็งไปญี่ปุ่น ญี่ปุ่นของตรวจอาหารนำเข้าเหล่านี้อย่างละเอียด หากต้องการให้เขาผ่อนการตรวจ ไทยก็ต้องผ่อนการตรวจการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในสินค้าอาหารที่มาจากญี่ปุ่นด้วย จึงต้องการดึงอำนาจนี้ไว้ในมือ สรุปคือ ไทยสามารถส่งอาหารไปเลี้ยงโลกได้ แต่คนในบ้านปล่อยให้กินยังไงก็ได้ ถ้าอาหารที่นำเข้ามีปัญหา กว่าที่กระทรวงเกษตรและกระทรวงสาธารณสุขจะประสานงานกันเพื่อดึงกลับอาหารดังกล่าว อาจส่งผลกระทบกับผู้บริโภคจำนวนมากไปแล้ว ถ้าเป็นกรณีเมลามีนปนเปื้อนในนมผงอาจมีเด็กทารกเป็นพันคนได้รับผลกระทบ ซึ่งต่างจากระบบความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศซึ่งเป็น Single Command ในกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากลัวที่สุดอยู่ที่ เวลามี global trend ประเทศไทยจะจับใส่เข้ามาโดยไม่ได้ดูบริบทหรือแนวคิดที่มาที่ไป หลายปีก่อนกระทรวงการต่างประเทศผลักดันให้มีการยอมรับกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) เป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองการลงทุนในการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งกลไกนี้เป็นกลไกที่นักลงทุนออสเตรเลียใช้เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่ คสช.ออก ม.44 ระงับการทำเหมืองทอง ขณะที่ประเทศกำลังออกกฎหมายหรือนโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองประชาชน แต่รัฐไม่สามารถทำได้ เพราะไปคุ้มครองนักลงทุน ไปรับปากเขาว่าจะไม่ทำอะไรที่กระทบกับการทำธุรกิจหรือการลงทุนของเขา ซึ่งจากเดิมเป็นการคุ้มครองการลงทุนโดยตรง รับปากที่จะไม่ยึดทรัพย์โดยตรง แต่ในเอฟทีเอใหม่ๆ ต้องไม่ยึดทรัพย์โดยอ้อมด้วย หมายถึงอะไรได้บ้าง แคนาดาถูกฟ้องจากนักลงทุนอเมริกันเพราะรัฐไปออกกฎหมายห้ามใช้สารเติมน้ำมันที่เป็นสารก่อมะเร็ง เม็กซิโกถูกฟ้องจากนักลงทุนอเมริกันเพราะไม่ออกใบอนุญาตทิ้งสารเคมีบนพื้นที่ต้นน้ำ ในประเทศไทยผู้กำหนดนโยบายเคยนึกถึงความเกี่ยวพันเหล่านี้หรือเปล่า คุณออกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอย่างดีงาม บังคับให้คนในชาติทำตาม แต่ว่า บังคับนักลงทุนต่างชาติไม่ได้ ออกกฎหมายเพื่อดูแลประชาชนไม่ได้ เพราะเกรงจะกระทบนักลงทุนต่างชาติ
มาถึงส่วนกระบวนการ ดิฉันเป็นกรรมการโครงการอินเตอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน iLaw ซึ่งไปเก็บรวบรวมสถิติไว้น่าสนใจ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ว่าที่กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก็จะเป็นคนที่เราคุ้นๆกัน มีการตั้งข้อสังเกตว่า คนเหล่านี้อาชีพได้รับการแต่งตั้ง ทุกคนมีสายสัมพันธ์กับ คสช. เป็นการรวมผู้ชายแก่วัยเกษียณ อายุน้อยสุด 55 ปี อายุมากที่สุด 90 ปี อายุเฉลี่ย 63 ปี คนเหล่านี้หรือคะที่จะมามองอนาคตประเทศชาติ เขาจะรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆที่กำลังเข้ามาไหม รู้จัก Digital Economy หรือไม่ สัดส่วนที่สำคัญเป็นทหาร-ตำรวจถึง 11 คนจาก 17 คน ภาคธุกิจ 9 คน ‘ประชารัฐ’ ของรัฐบาลนี้ คือ รัฐและทุนที่ไม่มีประชาชน ภาคประชาสังคม 1 คน ไม่อยากเรียกว่าเป็นประชาสังคมเพราะเป็นคนที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่เป็นประจำ
ยุทธศาสตร์ชาติถูกทำก่อนที่รัฐธรรมนูญจะผ่าน ilaw ยื่นขอดูหลายครั้งตลอดเกือบ 4 เดือนไม่เคยได้รับอนุญาต อ้างเรื่องความอ่อนไหว ความลับ ยังทำไม่เสร็จ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ถ้าประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จะเป็นปัญหาพื้นที่ที่ให้เกิดการตีความยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ อาจมีคนบอกว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอก็เป็นส่วนหนึ่งของเกษตรอินทรีย์ อ้างตามอย่างสหรัฐฯที่ทุนเกษตรอาหารยักษ์ใหญ่ครอบรัฐจนไม่ให้กำหนดว่าจีเอ็มโอไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ แต่ในเชิงวิชาการ ผลกระทบกับเกษตรกรและประชาชนที่เกิดจากจีเอ็มโอไม่สามารถยอมรับเช่นนั้นได้
ในส่วนของข้อเสนอ ดิฉันอยากเริ่มจากกระบวนการแล้วเข้าสู่เนื้อหา
ระหว่างที่กำลังมีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคที่ต้องการไปสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ 4 กระทรวงมีมติร่วมที่จะแบนสารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายร้ายแรงถูกตำรวจขู่ห้ามชูป้าย ห้ามถ่ายรูปทำเนียบรัฐบาล
ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ที่ไล่คนที่อยู่ก่อนการประกาศเขตอุทยานออกจากป่า ต้องการไปส่งเสียงของพวกเขา โดยการล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ถูกห้ามเข้าสภา
กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการจัดจ้างสถาบันพระปกเกล้าจัดการรับฟังความคิดเห็นด้วย ประชาชนเห็นต่าง แต่ถูกตำรวจทหารบุกถึงบ้านสมาชิกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ไม่ให้ค้านการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ วันรับฟังความคิดเห็นที่กรุงเทพฯ มีกองกำลังอยู่รอบงาน ตรวจยึดอาวุธผู้เข้าร่วม นั่นคือ ปากกาเคมีและกระดาษ ไม่ได้ตั้งใจฟังเสียงของประชาชนจริงๆนอกจากจะจัดให้ครบกระบวนการเท่านั้น
แกนนำชาวบ้านที่ออกมาค้านการจัดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถูก กฟผ.ฟ้องปิดปาก
หรือแม้แต่ข้อมูลพื้นฐานการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถูกจัดเป็นความลับเผยแพร่ไม่ได้ ทั้งที่นโยบายนี้คือนโยบายที่รัฐบาลรัฐประหารหยิบยกขึ้นมาประชาสัมพันธ์ตลอดว่า นืคือการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง
ไม่นับร่าง พรบ.ปปช.ที่ให้รายงานทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการแค่โดยสรุปเท่านั้น ทั้งที่ นี่คือเครื่องมือสำคัญของประชาชนและสื่อมวลชนในการตรวจสอบการคอรัปชั่น จนมีคนตั้งข้อสังเกตหรือนี่คือกฎหมายเอื้อโกง
และล่าสุด ช่วงปลายเดือนต.ค. หัวหน้าคสช.ก็ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ยกเลิกประกาศผังเมืองในพื้นที่ EEC ที่ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนมาแล้ว นี่คือการล้มแล้วไปทำแบบ ‘ประชารัฐ’ คือรัฐและทุนที่ไม่เห็นหัวประชาชนหรือไม่
บรรยากาศแบบนี้หรือคะ การกระทำแบบนี้หรือคะที่เรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ฉะนั้นข้อเสนอของดิฉันต่อการทำยุทธศาสตร์ชาติแบบมีส่วนร่วม คือ 
1.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกคณะกรรมการการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
2.ปรับขั้นตอนให้ประชาชนหรือตัวแทนมีโอกาสพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างสุดท้ายด้วย
3.เปิดข้อมูลร่างยุทธศาสตร์ชาติ ขั้นตอนการจัดทำ คณะกรรมการจัดทำ ต้องชี้แจงต่อสาธารณะเป็นระยะ
4.จัดรับฟังความคิดเห็นแยกเป็นรายประเด็น เชื่อมโยงประเด็นได้บ้าง และเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดก่อนการรับฟังความคิดเห็น
5.ยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแสดงความเห็นของประชาชน
อาจมีคำถามว่า ก่อนรัฐประหาร รัฐบาลเลือกตั้งดีกว่านี้หรือ ไม่ได้ดีกว่านี้หรอกค่ะ แต่อย่างน้อยพวกเรายังสามารถส่งเสียง แสดงความคิดเห็น เวลาเราค้านมีสื่อมวลชนนำเสนอ เราสามารถที่จะมี dialogue กับหน่วยราชการ กับรัฐมนตรีได้ แต่สิ่งเหล่านี้หายไปหมด เรากลับได้ยินคำว่า “ก็เขาจะเอา” “ท่านจะเอา” แทนสิ่งที่เคยมี
ดิฉันติดตามเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190 กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ให้ข้อมูลกับประชาชน เสนอร่างกรอบเจรจาให้รัฐสภาพิจารณาก่อนไปเจรจา กลไกเหล่านี้ถูกตัดทิ้งไปหมด เมื่อมีการรัฐประหารและไม่ได้กลับมาอีกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทุกวันนี้เวลาที่จะมีการเจรจาการค้า ไม่มีการให้ข้อมูลหรือหารือกับประชาสังคมอีกแล้ว เหลือแต่การหารือกับภาคเอกชนเท่านั้น
ดังนั้นข้อเสนอในเชิงกระบวนการที่คิดว่าสำคัญที่สุดคือ การยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแสดงความเห็นของประชาชน ไม่เช่นนั้น มันอดคิดไม่ได้จริงๆว่า สิ่งที่ คสช.ทำ การวางท่อให้งูหรือรัฐบาลอนาคตเลื้อยตามท่อนี้ไปเท่านั้น ไม่ใช่ลิงที่กระโดดไปกระโดดมา ท่อนี้ก็ไม่รู้ว่าใครกำหนด กำหนดแล้วตรงกับความต้องการของประชาชนไหม แบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการสืบทอดอำนาจ
ในเชิงเนื้อหา ยุทธศาสตร์ชาติคือการมองเป้าหมายอย่างที่เราอยากจะเป็นและมีความยืดหยุ่นได้บ้าง และที่สำคัญต้องสะท้อนแนวคิดของคนที่อยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่สะท้อนแนวคิดของคนที่อดอยากแล้วทำทุกอย่างเพื่อที่จะแลกเงิน ดิฉันไม่ได้พูดถึงคนจน เพราะบางทีคนรวยก็ใช้วิธีการแบบนี้ คือ รู้สึกว่าตัวเองอดอยาก ไม่มีใครมาลงทุน ฉะนั้นต้องทำทุกอย่างเพื่อแลกให้การลงทุนเข้ามา
เมื่อตั้งเป้าแบบนี้ได้ ก็มาไล่ดู
การเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเพียงพอ ต้องมีการใช้งานวิจัย ที่เขาเรียกร้องให้เราคุ้มครองการลงทุน จะไปคุ้มครองการลงทุนไม่รู้อิโหน่อิเหน่แบบที่ผ่านมาเพื่อเรียกการยอมรับจากต่างประเทศ ไม่ใช่แล้ว
การให้สิทธิพิเศษการลงทุน (BOI) การลดหย่อนภาษีที่ทำลายความก้าวหน้าของระบบภาษี การลดหย่อนที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ สูญเสียรายได้ที่จะพึงเข้ารัฐ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ ต้องเลิกได้แล้ว
ต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนสื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการคอรัปชั่น ต้องมีในยุทธศาสตร์ชาติ
เรื่องคุณภาพชีวิต สวัสดิการสังคม ต้องนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค ต้องนึกถึงระบบถ้วนหน้า ให้คนมีศักดิ์ศรีให้คนเท่ากัน ไม่ใช่ไปแยกคนจน แล้วคนที่ไม่อยากบอกใครว่าเขาจน เลยมีคนแกล้งจนเต็มไปหมดที่ไปลงทะเบียน
ประเด็นนี้ก็อาจถูกตั้งคำถามกับว่า ถ้าจะทำระบบสวัสดิการดีขึ้น เราไม่ใช่ประเทศร่ำรวย จะเอาเงินจากไหน ก็ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้
ลดรายจ่าย โดยการเลิกลดหย่อนต่างๆที่ไม่จำเป็น เพราะโดยศักยภาพนั้น ประเทศไทยมีแรงดึงดูดเพียงพอ เพียงแต่จะทำยังไงให้จัดการได้
เพิ่มรายได้ เราไม่มีภาษีใหม่ๆที่น่าสนใจมานานมากแล้ว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังถูกยื้อใน สนช. ทั้งที่จริงเป็นการเพิ่มความก้าวหน้าในระบบภาษี Capital Gained Tax การเก็บภาษีจากการทำกำไรในตลาดหลกทรัพย์ Financial Transaction Tax การเก็บภาษีจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศก้อนใหญ่ในระยะสั้น ซึ่งสหภาพยุโรปกำลังจะเริ่มใช้
ท่านเลขาฯสภาพัฒน์บอกว่า ที่ต้องมีทหารในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพราะมีเรื่องความมั่นคง แต่เราไม่เห็นยุทธศาสตร์ชาติเชิงความมั่นคงแบบครั้งที่ประเทศไทยยังมีประชาธิปไตยเบ่งบาน ที่นักวิชาการด้านความมั่นคง อย่าง ศ.สุรชาติ บำรุงสุข และ รศ.ปณิธาน วัฒนายากร เคยเสนอไว้ นั่นคือ การ resizing กองทัพ กองทัพไทยมีคนในตำแหน่งนายพลที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นล้นเกิน แต่ไม่มี resizing เราไม่มีการคิดถึงการใช้เทคโนโยลีแทนการโหมซื้ออาวุธแบบนี้ สามปีที่ผ่านมางบกลาโหมเพิ่มขึ้นอย่าก้าวกระโดดติด Top 5 ของงบประเทศ เอาเท่านี้พอแล้วได้ไหม ที่เหลือเปิดโอกาสให้ประเทศชาติได้เดินหน้าในด้านอื่นๆบ้าง
ถึงที่สุดแล้ว เนื้อหาต่างๆในยุทธศาสตร์ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้วิพากษ์ นำเสนอข้อมูลที่เห็นต่าง แล้วหาข้อสรุปด้วยการใช้ข้อมูลความรู้ ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์
ไม่ใช่ปิดปาก แล้วบอกว่า อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม
000
 
*ที่มาจากการอภิปรายของ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เรื่อง ‘ยุทธศาสตร์ชาติกับอนาคตประเทศไทย’ ในการประชุมวิชาการประจำปีสถาบันพระปกเกล้า ‘ประชาธิปไตยไทย: ความท้าทายใหม่ อุดมคติ สิ่งที่เป็นจริง'  วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2560