ถอดบทเรียนบาดแผลจาก ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ ก่อนไปถึง ‘อีอีซี’

'เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก' หรือ 'อีอีซี' เป็นหนึ่งในแผนที่รัฐบาลจะใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความคิดต่อยอดมาจากโครงการ 'อีสเทิร์นซีบอร์ด' หรือโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2525 ในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนและเปลี่ยนพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จากพื้นที่เกษตรกรรมและประมงสู่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ
แต่ทว่า การพัฒนาไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมกลับต้องแลกมาด้วยปัญหาเรื่องสิทธิทำกินของชาวบ้าน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพ จนทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ดั่งเดิมกลายเป็นเหยื่อของการพัฒนา 'สมนึก จงมีวศิน' นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หนึ่งในผู้ติดตามปัญหานี้มาอย่างใกล้ชิดอย่าง ถึงกับต้องเอามือก่ายหน้าผาก เพราะรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังจะก้าวพลาดซ้ำรอยแผลเดิมอีกครั้ง 
แผลเก่ายังไม่ทันสมาน บทเรียนจาก 'อีสเทิร์นซีบอร์ด'
รัฐบาลอยากมีโครงการแบบ 'อีสเทิร์นซีบอร์ด' มานานแล้ว เขียนไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เริ่มตั้งแต่ปี 2504 เมื่อมีโรงกลั่นน้ำมันเกิดขึ้น คือบริษัทไทยออยล์ พอปี 2521 ก็มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินบริเวณแหลมฉบังประมาณ 6,000 กว่าไร่ เพื่อไปทำโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 1 เป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกของประเทศไทย
ด้วยความไม่พร้อมด้านงบประมาณ ท่าเรือจึงยังสร้างไม่ได้ จนมาถึงปี 2529 จึงเริ่มทำ EIA (รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) และปี 2530 ถึงเริ่มสร้างได้ ซึ่งในช่วงที่ท่าเรือแหลมฉบับเพิ่งก่อสร้างชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดินยังไม่ได้รับเงิน กว่าจะได้รับเงินก็คือเมื่อรัฐบาลเริ่มก่อสร้างเสร็จ คือถูกเวนคืนตั้งแต่ปี 2521 แต่มาได้เงินปี 2530 แล้วจนทุกวันนี้ก็ยังมีชาวบ้านกว่า 200 ครอบครัวที่ยังได้รับเงินไม่ครบและยังมีประชาชนมาร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่
ความน่าตลกตรงที่รัฐเวนคืนพื้นที่ 6,000 กว่าไร่ไปเพื่อทำท่าเรือแหลมฉบัง แต่ท่าเรือแหลมฉบังไม่ได้สร้างบนบกแต่ต้องถมทะเลไปอีก ส่วนพื้นที่ที่ถูกเวนคืนใช้ทำท่าเรืออยู่เพียงนิดเดียว ส่วนที่เหลือก็เอาไปให้นิคมแหลมฉบังและก็กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังขึ้นมา
พอมีนิคมอุตสาหกรรมชาวบ้านก็ซวยสองเด้ง เด้งแรก โดนผลกระทบทั้งจากนิคมอุตสาหกรรม เด้งสองตอนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ตอนสร้างท่าเรือในเฟสที่ 2 น้ำทะเลเปลี่ยนสีเลย แล้วพวกปลาในอ่าวบางละมุงหรือพวกสัตว์ทะเลหายไปหมด เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุบริเวณม่านกันตะกอน เพราะปกติเวลาก่อสร้าง ถมทะเลจะมีสิ่งที่เรียกว่าม่านกันตะกอน แต่กรณีนี้คือ เกิดการรั่วไหลของตะกอนจากการก่อสร้าง พวกสัตว์ที่หนีได้ก็หนี พวกที่หนีไม่ได้อย่างพวกหอยก็ตาย ก็ไปกระทบกลุ่มชาวประมง กว่าจะฟื้นฟูได้ใช้เวลาสิบกว่าปี
ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากความไม่พร้อมของรัฐ
นั่นคือผลกระทบในระหว่างที่กำลังก่อสร้าง พอหลังก่อสร้างบริเวณนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังก็มีปัญหาอีก คือนิคมฯ บอกว่ามีระบบบำบัดน้ำที่ดี แต่ก็มักจะเจอปัญหาเรื่อยๆ ว่า เจอน้ำเสียไหลผ่านคลองและมีต้นทางมาจากนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง บางครั้งน้ำเสียก็ไหลลงมาที่แหล่งน้ำของชาวบ้าน บางทีก็ลงทะเลบ้าง ป่าชายเลนบ้าง แล้วตอนผมไปตรวจสอบก็พบว่าพื้นที่ป่าชายเลนดังกล่าวมีการปนเปื้อน
นอกจากนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ก็ยังมีนิคมอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ในนั้นก็มีหลายโรงงาน แล้วก็พบปัญหาว่า ทำไมเวลาฝนตกแล้วปลาช็อคน้ำ บางคนก็พูดกันว่า เพราะโรงงานบางโรงงานนิสัยไม่ดี ไม่ยอมกำจัดน้ำเสีย แล้วน้ำเสียเหล่านั้นก็ระเหยไปรวมกับเมฆกลายเป็นเม็ดฝนลงมาอีกที แต่นิคมฯ สหพัฒน์ ก็บอกอีกว่า มีระบบบำบัดน้ำเสีย แต่ผมไปตรวจสอบแล้วก็ไม่ใช่ระบบที่ดีนัก คือไม่ได้สร้างความมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็น
แล้วในพื้นที่ก็ร้องเรียนกันมาตลอด แต่โรงงานก็บอกว่าทำ EIA แล้ว ทุกหกเดือน มีการตรวจวัด จ้างบริษัทที่ปรึกษาเอาผลตรวจวัดมาให้เราดู ทุกอย่างก็ผ่านหมด คือไม่ยากหรอกที่จะทำให้ผลตรวจวัดผ่าน
ถ้าถามว่าผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมเห็นชัดขนาดไหน คิดว่าคนน่าจะเคยได้ยินเรื่อง 'ลุงน้อย'  ที่มาบตาพุด บ้านลุงน้อยถ้าเปิดก็อกน้ำออกมาจะเห็นเลยว่า น้ำมีสีใช้ไม่ได้ แล้วก็เคยมีระดับรัฐมนตรีในสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ เข้าไปแก้ปัญหาติดระบบประปาให้ 
คำถามคือ แสดงว่ามีปัญหาจริงๆ ใช่มั้ย รัฐบาลถึงยอมตัดสินใจแบบนั้น คือน้ำใต้ดินใช้งานไม่ได้เลยใช่มั้ย แล้วตอนนี้แถวบ้านผมที่ศรีราชาก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน ที่บ่อวินก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน คือมีของเสียหลุดออกมาจากกระบวนการผลิต
ที่หนักกว่าก็คือ พวกกากของเสียอุตสาหกรรม ซึ่งมีสองแบบคือ แบบอันตรายและไม่อันตราย แต่คำว่าไม่อันตรายที่จริงก็อันตราย แต่แค่ไม่ได้อยู่ในบัญชี 20 ประเภทที่กรมโรงงานจัดว่าไม่เป็นอันตราย ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าอันตรายหรือไม่อันตรายก็ขึ้นอยู่กับว่าเขามีวิธีการจัดการอย่างไร ซึ่งกากของเสียพวกนี้ต้องขนไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแล้วก็ต้องถูกกฎหมายด้วย 
แต่ปัญหาก็คือมีที่กำจัดของเสียแบบไม่ถูกกฎหมายอยู่เต็มไปหมด บางทีขนไปแล้วก็เอาไปขายขยะระหว่างทางเพื่อลักลอบทิ้งเอาตามแหล่งน้ำชั้นตื้น หรือบ่อดินที่เคยขุดเพื่อเอาไปถมที่ อย่างที่ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารครม จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็มีปัญหาว่าสารพิษรั่วไปโดนหมูแล้วแท้ง นี่ก็เป็นผลกระทบจากกากอุตสาหกรรมอันตราย ซี่งในจังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีบ่อดินเป็นร้อยๆ บ่อ 
ปัญหาเหล่านี้สะท้อนว่ารัฐไม่มีการวางแผนล่วงหน้าว่า ถ้ามีโครงการแบบนี้จะบริหารจัดการอย่างไร เช่น ไม่มีที่ให้คุณกำจัดกากของเสียแล้วจะทำยังไง จะอนุญาตให้เขาขนกากของเสียไปใช่มั้ย แล้วขนไปก็ไปส่งกระทบกับพื้นที่อื่นๆ อีกหรือเปล่า แล้วนี่ก็จะมาทำโครงการ 'อีอีซี' อีก
บาดแผลใหม่จาก 'อีอีซี' เมื่อประชาชนไม่มีที่ทำกิน 
พอมาถึงโครงการ 'อีอีซี' จึงทำให้เรากลัวว่า ของเก่ายังแก้ไม่ได้ของใหม่ก็จะเข้ามาอีก คือถ้าพื้นที่ใช้เต็มศักยภาพแล้ว รัฐก็ต้องพอ อย่างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 1 เฟส 2 ใช้เต็มที่แล้ว ทำไมคุณจะขยายเฟส 3 อีก ทั้งที่จริงๆ เฟส 2 ยังเหลือพื้นที่อีกตั้งครึ่งยังไม่พัฒนา
แล้วบริเวณนั้นก็มีท่าเรือเอกชนอยู่ 7 ถึง 8 แห่ง ถามว่าท่าเรือพวกนี้คือคู่แข่งตัวฉกาจของรัฐหรือเปล่า รัฐได้ประเมินไหมว่าตัวเองมีคู่แข่ง หรือคิดแต่จะขยายโครงการของตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว 
เพราะฉะนั้นการขยายท่าเรือเฟส 3 จึงดูมีอะไรมากกว่าการทำธุรกิจแล้ว มันเป็นเรื่องของรัฐอยากทำเอง ไม่ใช่เพื่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะถ้าคำนึงถึงเศรษฐกิจของประเทศจริง ทำไมคุณไม่ไปพัฒนาท่าเรือเฟส 2 ก่อน 
บทเรียนจากตอนอีสเทิร์นซีบอร์ดคือ พอประกาศว่าจะมีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดคนที่ถือครองที่ดินก็ปั่นราคากัน แต่คนที่ถูกเวนคืนที่ดินตั้งแต่ปี 2521 กว่าจะได้เงินก็ช้ามาเกือบ 10 ปี แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อที่ เพราะราคาสูงกว่าเดิมเป็น 10 เท่า หรืออย่างจังหวัดสระแก้วตอนถูกประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ดินขึ้นเป็นร้อยเท่าตัว จากราคาไม่กี่หมื่นขึ้นเป็นล้านต่อไร่
พอที่ดินราคาขึ้น รัฐซื้อที่ดินไม่ได้ รัฐก็ต้องไปไล่เวนคืนที่ดินที่ประชาชนถือเอกสารสิทธิ์อ่อน เช่น ที่ดินราชพัสดุหรือเขตสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนขอใช้ หรือที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ประชาชนขอใช้ ซึ่งในพื้นที่ที่จะใช้เป็น 'อีอีซี' ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ก็เป็นพื้นที่ที่เอกสารอ่อนอยู่เยอะ ถ้าเอาพื้นที่เขาไปแล้วเขาจะไปอยู่ไหน
แล้วกฎหมายอีอีซี ให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 50 ปี ขยายได้อีก 49 ปี แต่ถ้าประชาชนขอเช่าสัก 30 ปี ไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องที่ตลกมาก 
การละเว้นกฎหมายปกติ คือการเอาชีวิตคนไปเดิมพัน
ปัญหาอีกข้อคือ กฎหมายอีอีซีไปละเว้นการบังคับใช้กฎหมายปกติ อย่างเช่น 'กฎหมายผังเมือง' ทั้งที่มันคือจุดเริ่มต้นในการคุ้มครองประชาชน เพราะผังเมืองจะเป็นตัวกำหนดว่าอุตสาหกรรมแบบไหนจะอยู่ในพื้นที่ได้บ้าง ถ้าผังเมืองไม่อนุญาตก็จบเลย ไม่ต้องทำ EIA/EHIA ด้วยซ้ำ
ส่วนที่นักวิชาการบางสายพูดกันว่า กฎหมายซ้ำซ้อน ต้องเข้าใจก่อนว่า ซ้ำซ้อนเพราะประเทศไทยมีโครงการที่สร้างปัญหาเยอะ ประชาชนเลยต้องทำให้กฎหมายมันซับซ้อนเพื่อปกป้องเขา คือ 'ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม' ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนหรือง่าย
นักวิชาการกลุ่มนี้จะพูดอะไรก็ได้ เขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้น เขาเน้นตัวเลข GDP แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เน้น GDP เราเน้นรายได้-รายจ่ายในพื้นที่  อยู่ด้วยกันโดยไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
ผมถามว่า ถ้ามีเงินพันถึงสองพันบาท ได้จับกุ้งหอยปูปลา แต่ไม่ป่วย กับ จับกุ้งหอยปูปลาได้น้อยลง แล้วต้องไปขับรถตู้คอนเทรนเนอร์ วิ่งเข้าวิ่งออกโรงงาน มีฝุ่นเต็มไปหมด มีกากของเสีย ผมป่วย ถ้าหักกลบลบหนี้แล้ว ตกลงผมได้กำไรหรือขาดทุน
อย่างการละเว้น พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ก็เท่ากับให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายอีอีซีเขาตัดสินใจได้เลย ไม่รู้ต้องทำ EIA หรือไม่ ทั้งที่ การถมทะเลเป็นกิจการที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพราะการถมทะเลจะก่อให้เกิดการสะสมตะกอนเลน ซึ่งตะกอนเลนเป็นที่อยู่ของพวกกุ้งหอยปูปลา ถ้าถมทะเลก็อาจจะมีการปนเปื้อนโลหะหนักกับสัตว์ทะเลอีก
ที่นี้ต้องพูดถึงการทำ EIA ในกฎหมายฉบับนี้ (ร่างพ.ร.บ. ) ด้วย ปกติโครงการที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพบางโครงการต้องใช้เวลาศึกษา 3-4 ปี แต่ในร่างกฎหมายบังคับว่า การทำ EIA ต้องทำให้แล้วเสร็จใน 120 วัน ปัญหาก็คือ ถ้ารายงาน EIA ไม่สมบูรณ์สามารถที่จะตีกลับรายงานฉบับดังกล่าวได้หรือไม่ จะสั่งให้ทำใหม่ได้หรือเปล่า 
แล้วถ้ารายงานถูกตีกลับให้ทำใหม่ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องใช้เวลา 1 ปี เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลให้ครบทุกฤดู ซึ่ง 1 ปีมี 3 ฤดู แต่กฎหมายกำหนดต้องพิจารณาเห็นชอบใน 120 วัน คือแค่ 4 เดือน หรือ 1 ฤดูกาล ดังนั้น การตีกลับให้ทำใหม่จึงเป็นเรื่องทำไม่ได้ไปโดยปริยาย
ผมคิดว่ากรอบเวลาการทำ EIA ไม่ควรมีการกำหนด มันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ โครงสร้างของพื้นที่ เทคโนโลยีของโครงการอิีก เป็นเรื่องอันตรายมากที่เราจะไปกำหนดเวลาไว้
กฎหมายรวมศูนย์การตัดสินใจ เปิดช่องให้คอร์รัปชัน
ผมเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไปฉบับหนึ่งว่า ร่างกฎหมายอีอีซีให้สิทธิกับนักลงทุนไว้หลายอย่าง รวมถึงการรวมศูนย์อำนาจการให้สิทธิสัปทานไว้กับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (คณะกรรมการอีอีซี) พอมันมารวมศูนย์แบบนี้ ผมก็ขอพูดตรงๆ เลยว่า ถ้าคนคนนั้นเป็นคนดีก็ดีไป แต่ถ้าคนนั้นเป็นคนที่ซื้อได้ล่ะ ผมก็จ่ายแค่คนเดียว
ทุกวันนี้ นายทุนต้องจ่ายหลายโต๊ะ อย่าโกหกผมว่าไม่มี มันมี แต่ตามกฎหมายอีอีซีเป็น One-Stop Service คนกลุ่มเดียวดูแลทั้งหมด แล้วไม่มีอำนาจอะไรที่มาตรวจสอบ ซึ่งอันนี้น่ากลัวมาก คนเราเมื่อเข้าบริหารเมื่อไรถ้าไม่มีใครมาทัดทานอำนาจก็จะเหลิง 
คือคนร่างพยายามคิดแต่จะสร้างทางลัดในการผลักดันโครงการ แต่ผิด คุณกำลังร่างกฎหมายให้มี 'ทางลัด' ซึ่งการทำแบบนี้ก็เคยทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษที่อื่นเจ๊งมาแล้ว 
ยังมีทางออกที่ดีกว่านี้ มาเริ่มต้นใหม่ไปด้วยกัน
ผมกับพวกเคยวิ่งไปหาคณะกรรมการอีอีซี ขอให้การร่างกฎหมายนี่มีส่วนร่วม ซึ่งเขาก็รับปากแต่พอถึงเวลาจริง เราไม่เคยแม้แต่จะรับรู้ จนมารู้อีกทีร่างกฎหมายก็เข้าสู่สภาผ่านวาระหนึ่งไปแล้ว
ตอนแรกคณะกรรมการอีอีซีที่แต่งตั้งตามคำสั่งคสช. เคยบอกกับเราว่า "จะพยายามทำให้นะกระบวนการการมีส่วนร่วม รับรองไม่ทิ้งกันแน่นอน" แล้วหลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็ออกร่างกฎหมายมาเลย ถามว่ามีการเชิญคนไปเวทีที่ราชการจัดไหม ก็มีแต่ไม่มีเวทีสาธารณะเลย ผมเองก็ไม่เคยได้รับเชิญ ทั้งที่เบอร์โทรก็มีกันอยู่
ปัญหาก็คือพอกฎหมายเข้าสู่วาระหนึ่งไปแล้ว จะแก้ยังไง จะบอกว่ากระบวนการที่คุณทำมาทั้งหมดผิด ถอนร่างออก แล้วเขาจะทำไหม หรือจะให้ประชาชนไปเป็นกรรมาธิการร่วมฯ หรอ ผมคิดไม่ออกเลย
ทั้งที่จริงๆ พวกเราคุยง่าย เพราะพวกเราอยู่ในพื้นที่ที่เจอปัญหามาแล้ว เรารู้ว่าความทุกข์ทรมานคืออะไร จะแก้ความทุกข์ทรมานยังไง คุณถามเราได้ คุณให้เราช่วยร่างกฎหมายได้ คุณให้เราช่วยกำหนดพื้นที่ได้ ทำไมคุณไม่ถามเรา
แล้วในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังประชาชนก็มีข้อเสนอกันอยู่ว่า ถ้าจะสร้างท่าเรือเฟส 3 จะออกแบบให้ แล้วกำหนดพื้นที่ไว้ที่ที่จะไม่ส่งผลกระทบกับเขา เคยทำแบบจำลองรวมกัน เพียงแต่ตอนนั้น บริษัทเอกชนบอกว่า รัฐบาลมีงบลงทุนแค่สองสามหมื่นล้าน แต่ถ้าทำตามแบบที่ประชาชนต้องการรัฐต้องลุงทุนถึงเจ็ดแปดหมื่นล้านบาท ผมก็เลยบอกว่า ถ้าคุณทำตามแบบประชาชน แม้ลงทุนสูงแต่คุณไม่ต้องมาจ่ายเงินเยียวยาพวกผมนะ แล้วเราก็ทำมาหากินได้ คุณเปิดท่าเรือได้ อย่างนี้สิมันไปด้วยกันได้
หรือเขาจงใจจะไม่เห็นหัวประชาชน คิดว่าตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ อยากจะเดินแบบนี้ก็จะเดิน