ศาลฎีกานักการเมืองฯ โฉมใหม่ เพิ่มเงื่อนไขเพียบมุ่งเอาผิดจำเลยหนีคดี

 

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ ศาลฎีกานักการเมืองฯ เริ่มตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 มีอำนาจพิจารณาคดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ป.ป.ช. ฯลฯ ถูกกล่าวหาว่า ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือร่ำรวยผิดปกติ 
ศาลฎีกานักการเมืองฯ เคยตัดสินคดีสำคัญๆ แล้วหลายครั้ง เช่น "คดีที่ดินรัชดาฯ" ที่สั่งให้ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องโทษจำคุกสองปี หรือ "คดีทุจริตยา" ของรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ลงโทษจำคุก 15 ปี และในปี 2560 ก็ตัดสินคดีสำคัญอีกครั้ง โดยให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องโทษจำคุกห้าปี ใน "คดีจำนำข้าว"
รายละเอียดขั้นตอนการพิจารณาคดีของ ศาลฎีกานักการเมืองฯ เดิมเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 แต่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หลักการของศาลฎีกานักการเมืองฯ ถูกเขียนไว้แตกต่างไป ประเด็นสำคัญ คือ ให้มีขั้นตอนการอุทธรณ์ในศาลฎีกานักการเมืองฯ ด้วย ดังนั้นกฎหมายปี 2542 จึงไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การร่างกฎหมายลูกขึ้นมาใหม่ เป็น พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งผ่านการพิจารณาของ สนช. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 28 กันยายน 2560
หลักทั่วไปคงเดิม เลือกผู้พิพากษาคดีละ 9 คน จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
การทำงานของศาลฎีกานักการเมืองฯ ตามกฎหมายใหม่ ยังมีหลักการใหญ่เหมือนเดิม ตามมาตรา 11 คือ เมื่อมีการฟ้องคดีให้ประธานศาลฎีกาเรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด เพื่อลงคะแนนเลือกผู้พิพากษา 9 คน ขึ้นมาเป็นองค์คณะของแต่ละคดี และตามมาตรา 13 คู่ความจะคัดค้านผู้พิพากษาก็ได้ แต่ต้องคัดค้านก่อนเริ่มการไต่สวนพยานหลักฐาน
ตามมาตรา 23 ประชาชนทั่วไปไม่อาจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกานักการเมืองฯ ได้ ผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดี ได้แก่ อัยการสูงสุด หรือ คณะกรรมการป.ป.ช. เท่านั้น และเมื่อยื่นฟ้องแล้วให้ศาลรับฟ้องไว้พิจารณาโดยให้เชื่อว่า คดีมีมูล โดยศาลไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน
ศาลเป็นผู้ค้นหาความจริงเอง ขั้นตอนรับฟังพยานหลักฐานยืดหยุ่นได้หมด
ตามกฎหมายปี 2542 กำหนดไว้ว่า ให้ศาลฎีกานักการเมืองฯ พิจารณาคดีโดยยึดรายงานของ ป.ป.ช. เป็นหลัก แต่ให้อำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมเองได้ หากเห็นว่า สำนวนที่ป.ป.ช.ทำไว้ยังขาดข้อเท็จจริงที่สำคัญ แต่ในกฎหมายใหม่เขียนไว้ชัดเจนเลยว่า ตามมาตรา 6 การพิจารณาคดีให้ใช้ "ระบบไต่สวน" โดยให้ศาลเป็นผู้ค้นหาความจริงเอง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และให้รับฟังพยานหลักฐานได้ แม้ว่า พยานหลักฐานนั้นจะมีวิธีการ ขั้นตอน ที่ผิดจากที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือเกินจากระยะเวลาตามกฎหมาย 
ตัวอย่างเช่น ตามขั้นตอนของคดีอาญาทั่วไป เมื่อคู่ความต้องการยื่นพยานหลักฐานใดต่อศาล ต้องระบุไว้ในบัญชีพยาน และต้องยื่นต่อศาลก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน 7 วัน แต่ตามกฎหมายใหม่ คดีของศาลฎีกานักการเมืองฯ ศาลอาจรับฟังพยานหลักฐานที่ยื่นมาไม่ถูกขั้นตอนเหล่านี้ได้ หากเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญต่อคดี
หลักการนี้ยังเขียนไว้อีกครั้งในมาตรา 19 ว่า ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่างๆ ศาลอาจสั่งให้ย่อหรือขยายก็ได้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลคู่ความฝ่ายใดบกพร่องหรือผิดพลาด ศาลก็อาจสั่งให้แก้ไขได้ตามที่เห็นสมควร และในมาตรา 39 กำหนดว่า ศาลอาจเป็นผู้เรียกผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาคดีได้เอง โดยต้องแจ้งให้คู่ความทราบ
เพิ่มเงื่อนไขเอาผิดจำเลยหนีคดี พิจารณาลับหลังได้ – ไม่จำกัดอายุความ 
เนื่องจากในระหว่างการดำเนินคดีที่จำเลยเป็นนักการเมือง หรือเป็นผู้มีอิทธิพล มีโอกาสที่จำเลยจะหลับหนีคดีได้มาก ดังนั้นการออกกฎหมายใหม่รอบนี้จึงเพิ่มเงื่อนไขมากมายที่ป้องกันไม่ให้จำเลยใช้วิธีการหลบหนีเพื่อให้หลุดพ้นจากการดำเนินคดี เช่น
1. มาตรา 25 กำหนดว่า เมื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลง หากจำเลยหนีระหว่างพิจารณาคดีไม่ให้นับระยะเวลาที่หนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วและจำเลยหนี ก็ไม่ให้นับอายุความระหว่างการหลบหนี ไม่ว่าจะจับตัวจำเลยได้เมื่อใด ก็สามารถนำมาลงโทษตามคำพิพากษาได้ตลอดไป
2. มาตรา 26 กำหนดว่า ในวันยื่นฟ้องต่อศาล ต้องพาตัวจำเลยมาศาลด้วย ขณะที่มาตรา 27 ก็กำหนดว่า ถ้าในวันฟ้องจำเลยหนี ไม่สามารถพาตัวมาศาลได้ ศาลก็สามารถรับฟัองไว้พิจารณาได้
3. มาตรา 28 กำหนดว่า กรณีที่ศาลรับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ได้ตัวจำเลยมาศาล ให้ศาลออกหมายจับ และถ้ายังจับตัวไม่ได้ภายในสามเดือน ก็ให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ โดยจำเลยที่หลบหนียังสามารถแต่งตั้งทนายความเข้ามาต่อสู้คดีได้ 
4. มาตรา 29 กำหนดว่า กรณีที่ศาลพิจารณาลับหลังจำเลยไปแล้ว หากภายหลังจําเลยมีพยานหลักฐานใหม่ที่อาจทําให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสําคัญ จําเลยจะมาศาลและขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่พิพากษา
5. มาตรา 31 กำหนดว่า กรณีที่จำเลยไม่อาจมาศาลได้ หรือหลบหนี หรือไม่มาศาลโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลจะพิจารณาคดีลับหลังจำเลยก็ได้ 
6. มาตรา 32 กำหนดความผิดพิเศษใหม่ขึ้น กรณีที่จำเลยในคดีของศาลฎีการนักการเมืองฯ ได้ประกันตัว และหลบหนีไป มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แม้ว่าภายหลัง คดีทุจริตศาลจะยกฟ้องก็ยังคงต้องรับโทษฐานหลบหนีอยู่
7. มาตรา 33 กำหนดว่า กรณีที่จำเลยไม่มาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก ให้ถือว่า จำเลยให้การปฏิเสธ เพื่อจะได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีขั้นตอนต่อไป
8. มาตรา 40 กำหนดว่า กรณีที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาและจำเลยทราบนัดแล้วแต่ไม่มาศาล ให้ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ และถือว่า จำเลยได้ทราบแล้ว 
อำนาจใหม่ สั่งริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริต
ตามมาตรา 42-44 เพิ่มอำนาจใหม่ให้กับ ศาลฎีกานักการเมืองฯ คือ ให้มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินได้ ไม่ว่าฝ่ายโจทก์จะขอให้ศาลสั่งริบหรือไม่ก็ตาม โดยทรัพย์สินที่อาจถูกริบ ได้แก่ ทรัพย์สินที่ใช้กระทำความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด ทรัพย์สินที่ได้รับมาเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดตามหน้าที่ ทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ฯลฯ รวมทั้งดอกผลที่ได้มาจากทรัพย์สินนั้น
หากทรัพย์สินที่ศาลจะสั่งริบ โดยสภาพไม่สามารถเอาคืนได้ หรือสูญหายไปแล้ว หรือจำหน่ายไปแล้ว ให้ศาลกำหนดมูลค่าของสิ่งนั้นตามราคาตลาด และให้ชำระคืนเป็นเงินแทน ถ้าหากยังไม่ยอมชำระเงินคืนให้ศาลคิดดอกเบี้ยได้ด้วย
ยื่นอุทธรณ์ให้พิจารณาใหม่ได้อีกหนึ่งชั้น
ตามกฎหมายเดิมศาลฎีกานักการเมืองฯ เป็นศาลชั้นเดียว เมื่อตัดสินอย่างใดแล้วถือเป็นที่สุดทันที แต่หลักการใหม่จากฐธรรมนูญมาตรา 195 ถูกเอามาเขียนไว้ใน พ.ร.ป.ศาลฎีกานักการเมืองฯ หมวดที่ 6 มาตรา 60-64 คือ การให้สิทธิคู่ความที่ไม่พอใจคำพิพากษาสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่มีคำพิพากษา
การยื่นอุทธรณ์นั้น ให้ยื่นต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะคัดเลือกผู้พิพากษาศาลฎีกาอีก 9 คน ที่ไม่เคยตัดสินคดีนั้นมาก่อน เป็นผู้วินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ หากในชั้นอุทธรณ์มีปัญหาข้อกฎหมาย อาจเสนอให้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็ได้ สำหรับคดีที่ตัดสินลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ศาลมีหน้าที่ต้องส่งเรื่องให้วินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่งเสมอ
คดีที่จำเลยไม่ได้ถูกคุมขังอยู่ หากจำเลยจะยื่นอุทธรณ์จำเลยต้องมายื่นต่อศาลด้วยตนเอง จะแต่งตั้งให้ทนายความมายื่นแทนไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้สิทธิจำเลยที่หลบหนีต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
หลักการใหม่อีกหลายประการ
พ.ร.ป.ศาลฎีการนักกเมืองฯ ฉบับใหม่ ยังกำหนดรายละเอียดในกระบวนการพิจารณาคดีเพิ่มขึ้นมาอีกหลายประเด็น ตัวอย่างเช่น
1. หมวดที่ 4 มาตรา 49-56 กำหนดว่า กรณีที่กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ให้ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง "คณะผู้ไต่สวนอิสระ" ขึ้นจากอัยการ ผู้พิพากษา หัวหน้าหน่วยราชการ ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย นักกฎหมาย หรือนักการบัญชี จำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน เพื่อทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและทําความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง โดยให้คณะผู้ไต่สวนอิสระ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ ป.ป.ช.
2. มาตรา 16 กำหนดว่า ถ้าอัยการสูงสุด หรือป.ป.ช. เห็นว่า มีพยานหลักฐานใดที่ต้องรีบไต่สวนไว้ก่อน เพราะเกรงจะสูญหาย แม้คดีจะยังไม่ได้ยื่นฟ้องก็อาจขอให้ศาลไต่สวนพยานหลักฐานนั้นไว้ก่อนได้ 
3. มาตรา 30 กำหนดว่า เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ห้ามมิให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง เว้นแต่จะได้ความว่า หากไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องจะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม