วงเสวนาชี้ “ผู้ป่วยเสี่ยงขาดยาจากนโยบายการจัดซื้อยาฉบับใหม่”

วงเสวนาวิชาการ มองว่า ความไม่ชัดเจนของระบบการจัดซื้อยาใหม่ จะทำให้การจัดซื้อยาเกิดความล่าช้า และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
28 กันยายน 2560 มีการจัดเสวนาวิชาการและสนทนากลุ่ม "ผลกระทบของนโยบายการจัดซื้อยาฉบับใหม่ และกลไกสนับสนุนการเข้าถึงยาของประเทศไทย" โดยการสนับสนุนของ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และแผนงานเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ที่ Growth Cafe& Co. ชั้น 3 ลิโด้ สยามสแควร์
การเสวนาในครั้งสืบเนื่องมาจากกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแห่งชาติ(สตง.) ระบุว่า สปสช. ไม่มีอำนาจในการจัดซื้อยา ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาว่าหน่วยงานใดจะเข้ามารับผิดชอบ ทั้งนี้ แม้บอร์ด สปสช. จะมอบให้โรงพยาบาลราชวิถีเป็นคนรับผิดชอบ แต่ด้วยความไม่พร้อมและความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมาย ทำให้ คสช. ต้องใช้มาตรา 44 ขยายอำนาจในการจัดซื้อยาให้กับสปสช. ไปพลางก่อน แต่ก็ยังเป็นที่น่ากังวลกันว่า นโยบายการจัดซื้อยารูปแบบใหม่ที่ไม่ได้ให้สปสช. เป็นคนจัดซื้อยาจะเกิดปัญหาความล่าช้าในการจัดซื้อยาแบบที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้อีกหรือไม่
ธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต ให้ความเห็นต่อนโยบายการจัดซื้อยาแบบใหม่ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตกำลังประสบปัญหา เนื่องจากขาดแคลนน้ำยาล้างไต ทำให้โรงพยาบาลมีการจััดส่งน้ำยาที่ล้าช้าและส่งผลเสียต่อผู้ป่วยที่ต้องรับการล้างไตทุกวัน อีกทั้ง หากไม่ได้รับการล้างไตก็จะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะการป่วยฉุกเฉิน และอาจจทำให้เสียชีวิตได้
ด้าน อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ประเทศไทย ได้ให้ความเห็นในมุมมองของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดซื้อยาฉบับใหม่ว่า โดยปกติผู้ติดเชื้อ HIV จะได้รับยาต้านไวรัสทุก ๆ 3-4 เดือนต่อครั้ง แตขณะนี้ทางโรงพยาบาลที่ให้บริการเริ่มขาดแคลนยาที่จะจ่ายให้กับผู้ติดเชื้อ โรงพยยาบาลจึงดำเนินการปรับให้ผู้ติดเชื้อมารับยาเดือนละ 1 ครั้ง หรือ 2-3 สัปดาห์ต่อครั้ง เพื่อกระจายยาต้านไวรัสให้ครอบคลุมกับผู้ติดเชื้อทุกคน ซึ่งการปรับลดการจ่ายยานี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อ เช่น ความมั่นคงในการจ้างงาน เพราะจะต้องลางานไปรับยาบ่อยขึ้น และถ้าหากเกิดการจัดซื้อจัดจ้างยาต้านไวรัสไม่ทัน อาจมีผลทำให้เกิดการดื้อยาในผู้ติดเชื้อ และต้องเปลี่ยนสูตรยาในการรักษาซึ่งมีราคาแพงมากกว่าสูตรพื้นฐานที่ใช้ในปัจจุบัน 8-10 เท่า และจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพต้องแบกรับภาระทางด้านค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นอีก
นอกจากจะมีความเห็นจากมุมผู้รับบริการด้านสาธารณสุขแล้ว ในมุมของผู้ให้บริการอย่าง รังสรรค์ ศิริชัย เภสัชกรของโรงพยาบาลอำนาจเจริญกล่าวว่า จะให้ สปสช. หรือ กระทรวงสาธารณสุขผู้จัดซื้อยานั้นไม่สำคัญเท่ากับการที่ผู้รับบริการมียาเพียงพอต่อการรักษาโรค ในขณะนี้ผู้ให้บริการเองก็ประสบปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่มีความชัดเจน ซึ่งจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า และส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ก็ส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อยา เพราะทุกอย่างต้องผ่านระบบบัญชีกลางที่ระบบไม่มีความเสถียร
วิสุทธิ์ ตันตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนงาน ของ UNDP ได้ให้ภาพของระบบการจัดซื้อยารวมซึ่งระบบนี้ทำให้เกิดการต่อรองราคายา และ สามารถตรวจสอบได้ โดยวิสุทธ์มองว่า การจัดซื้อยาของ สปสช. เป็นตัวอย่างของการใช้ระบบการซื้อยารวมที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดงบประมาณในการจัดซื้อยาได้เป็นจำนวนหลายพันล้านบาท และมองว่าที่ผ่านมา สปสช.มีอำนาจใจการจัดซื้อยาตามกฎหมาย แต่ผลการตรวจสอบของ สตง. กลับมองว่า สปสช.ไม่มีอำนาจ จึงทำให้การจัดซื้อยาสะดุด และยาเริ่มขาดแคลน วิสุทธิ์ให้ความเห็นว่า ถึงแม้ว่าในขณะนี้ สปสช.จะไม่มีอำนาจในการจัดซื้อยาแล้ว หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้ามารับผิดชอบต่อจาก สปสช.ก็ต้องทำให้ได้อย่าง สปสช. เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย
ส่วนประเด็นความคืบหน้าของ ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีความเกี่ยวพันกับอำนาจการจัดซื้อยา กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงาน FTA Watch ให้รายละเอียดว่า ขณะนี้รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนี้มีคำสั่งให้ กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปชี้แจง 3 ประเด็นหลัก คือ การแยกเงินเดือนของเจ้าหน้าที่กับค่าใช้จ่ายเหมารรวมรายหัว การเพิ่มตัวแทนของผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และ การจัดซื้อยาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และทางชมรมกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะทำหนังสือถึงรองนายกรัฐมนตรี ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเรียกร้องให้รับฟังคำชี้แจงจากภาคส่วนอื่น อาทิเช่น ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ตัวแทนโรงพยาบาลขนาดเล็ก ไม่ใช่รับฟังคำชี้แจงจากกระทรวงสาธารณุขเพียงฝ่ายเดียว