คำสัญญาและข้ออ้างจอมปลอม: การปิดกั้นสื่อในปาปัว ด้วยระบบบังคับตีทะเบียนของอินโดนีเซีย

ต้นเรื่องจาก Jayshendra Karunakaren,
Proposed Media Licensing laws Looking at Our Neighbours’
Oppressive Licensing Regimes
แปล เรียบเรียงและนำเสนอโดย iLaw
 
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2560 นักข่าวฝรั่งเศสสองคนที่ทำงานอยู่ปาปัวตะวันตกซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่สุดตะวันออกของอินโดนีเซีย ถูกส่งตัวออกนอกประเทศ และถูกห้ามไม่ให้เข้าประเทศเป็นเวลา 6 เดือน เจซายา ซามูเอล อีน็อค ผู้กำกับการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบุว่าฌอง ฟรังค์ ปิแยร์ และบาซีย์ มารี ลงก็อง ไม่มีใบอนุญาตรายงานข่าว แม้ว่าอีน็อคจะยอมรับว่านักข่าวทั้งสองได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย และสายการบินการูดาให้การสนับสนุนทั้งสองคนในการทำข่าวเชิงสืบสวนในอินโดนีเซีย นี่เป็นกรณีที่สามแล้วที่นักข่าวฝรั่งเศสถูกส่งออกจากประเทศและสั่งห้ามเข้าประเทศ อันเนื่องมาจากรายงานข่าวจากเมืองที่ยังคงมีการต่อต้าน
วันที่ 8 มกราคม 2558 สถานทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยแจ้งซีริล ปาแย็ง ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคของช่อง France 24 ว่า เขาถูกปฏิเสธวีซ่านักข่าวสำหรับการเดินทางไปรายงานข่าวที่ปาปัว การปฏิเสธวีซ่าดูเหมือนจะเป็นผลจากที่ก่อนหน้านี้ปาแย็งได้รายงานข่าวเกี่ยวกับกระแสเรียกร้องเอกราชในเขตดังกล่าว ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียตราหน้าว่า รายงานข่าวชิ้นนี้ “มีอคติและไม่เป็นกลาง”
การควบคุมและคุกคามนักข่าวที่รายงานข่าวในจังหวัดปาปัวและปาปัวตะวันตก (จากนี้ไปจะเรียกย่อ ๆ ว่า ปาปัว) เป็นประเด็นต่อเนื่องบนประวัติศาสตร์อินโดนีเซียสมัยใหม่ แม้ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด จะประกาศเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2016 ว่ารัฐบาลจะยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ไม่ให้นักข่าวต่างชาติรายงานเรื่องของปาปัว ข้อจำกัดเหล่านั้นก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการกดขี่ปาปัวโดยอินโดนีเซียมาจนถึงวันนี้ ความระแวงสงสัยที่รัฐบาลมีต่อเป้าประสงค์ของชาวต่างชาติที่ทำงานในเขตที่มีขบวนการเรียกร้องการปกครองตนเองหรือเรียกร้องเอกราชเอกราช ก็ยิ่งเพิ่มเชื้อไฟให้กับข้อจำกัดดังกล่าว
ที่มาภาพ AK Rockefeller
ประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ก่อนจะมาถึงการปิดกั้น
จังหวัดปาปัวและปาปัวตะวันตกเป็นเกาะที่อยู่ทางตะวันออกสุดของอินโดนีเซีย เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายภายในสูง ด้วยกลุ่มชาติพันธุ์/ภาษากว่า 300 กลุ่ม หลังการล่มสลายของระบอบเผด็จการของซูฮาร์โตในปี 1997 อัตลักษณ์ร่วมแบบปาปัวที่ขยายตัวขึ้นได้ปรากฎออกมาเพื่อเรียกร้องการปกครองตนเองที่มากขึ้น รัฐบาลอินโดนีเซียตอบโต้อย่างแข็งกร้าวด้วยการเซ็นเซอร์และออกกฎหมายให้การแสดงออกเพื่อเรียกร้องโอกาสการปกครองตนเองเป็นอาชญากรรม รวมถึงส่งทหารไปประจำการในพื้นที่
เมื่อเนเธอร์แลนด์มอบเอกราชคืนให้กับอินโดนีเซียดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคม ในปี 1949 รัฐบาลดัตช์ปฏิเสธที่จะปล่อยมือจากเขตปาปัว หรือที่ในขณะนั้นเรียกกันว่านิวกินีตะวันตก รัฐบาลดัตช์ในขณะนั้นอ้างเหตุผลว่าประชากรปาปัวมีความแตกต่างทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์จากส่วนอื่นของอินโดนีเซีย และรัฐปาปัวจำเป็นต้องมีการดูแลภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการสร้างระบบการปกครองตนเอง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของซูการ์โนประกาศไม่ยอมรับการกระทำใด ๆ ของดัตช์ที่อินโดนีเซียมองว่า ยังเป็นการคงอำนาจแบบลัทธิอาณานิคมไว้
หลังการปะทะกันระหว่างกองทัพดัตช์และอินโดนีเซีย ข้อพิพาทก็คลี่คลายด้วยความตกลงนิวยอร์กในปี 1962 (New York Agreement) โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวกลางเจรจา ความตกลงนี้ให้โอนเขตแดนพิพาทไปอยู่กับอินโดนีเซีย ภายหลังการเข้ามาจัดการชั่วคราวโดยสหประชาชาติ ข้อสำคัญประการหนึ่งของข้อตกลงนี้ คือ ความต้องการของชาวปาปัวต่อสถานะการเมืองของพวกเขาในอนาคตจะถูกตัดสินภายใต้การควบคุมดูแลของสหประชาชาติ
หลังรัฐประหารโดยนายพลซูฮาร์โต รัฐบาลใหม่ของอินโดนีเซียประกาศว่า จะยึดถือข้อผูกพันตามความตกลงนิวยอร์ก โดยจะจัดให้ชาวปาปัวได้ทำประชามติเรื่องอนาคต อย่างไรก็ตาม ประชามตินี้ไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปมาลงคะแนน แต่เป็นตัวแทนและผู้นำชุมชนรวม 1022 คนที่ถูกเลือกโดยรัฐบาล และถูกข่มขู่ให้โหวตให้ปาปัวเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียต่อไป ไม่น่าแปลกใจที่ผลประชามติจะเลือกอยู่กับอินโดนีเซียอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยชาติตะวันตกทั้งหลายกลับประกาศยอมรับผลการทำประชามติครั้งนี้อย่างน่าสงสัย 
ความขุ่นเคืองอย่างหนักที่ชาวปาปัวมีต่อระเบียบใหม่ของซูฮาร์โต คือ นโยบายย้ายถิ่นฐานของรัฐบาล ที่ให้ชาวอินโดนีเซียนับแสนคนจากเขตอื่นย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานในปาปัว ทำให้ฐานประชากรของปาปัวเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว นโยบายนี้ถูกต่อต้านจากชุมชนท้องถิ่นเพราะระบบการครอบครองที่ดินของปาปัวนั้นไปขัดแย้งกับระบบใหม่ที่รัฐบาลอินโดนีเซียบังคับใช้ นอกจากนั้นผลกำไรจากการพัฒนาอุตสาหกรรมขุดเจาะเหมืองแร่ ยังไม่ถูกกระจายมาถึงชาวปาปัวอย่างทั่วถึง กองทัพประจำการและปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ นำไปสู่การควบคุมตัวโดยไม่ชอบ การซ้อมทรมาน การล่วงละเมิดทางเพศ และการวิสามัญฆาตกรรมอย่างกว้างขวาง 
ข้อขุ่นเคืองทั้งหลายของคนพื้นถิ่น เป็นเหตุที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของขบวนการปาปัวเสรี หรือ OPM (Organisasi Papua Merdeka) ที่บุกโจมตีโครงการขุดเจาะแร่ธาตุอยู่เป็นประจำ
การล่มสลายของระบอบของซูฮาร์โตในเดือนพฤษภาคม 1998 ทำให้บรรยากาศการเมืองในปาปัวเปลี่ยนแปลงไปอีก ประธานาธิบดีคนใหม่ บาคารุดดิน ยูซุฟ ฮาบีบี ยกเลิกการควบคุมและปราบปรามทางการเมือง รวมถึงการผ่อนปรนการควบคุมสื่อ ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และลดทหารที่ประจำการในพื้นที่ต่างๆ 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในสมัยต่อมา นำโดยประธานาธิบดีอับดูร์ราห์มัน วาฮิด กลับถอนเอาบรรยากาศประชาธิปไตยนี้ออกไป ผู้นำขบวนการเรียกร้องเอกราชหลายคนถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาล้มล้างการปกครอง จากการร่วมงานเฉลิมฉลองที่มีชูธงปาปัว ชาวปาปัว 30 คนถูกสังหารในเหตุการณ์ปะทะกับเจ้าหน้าที่ และผู้นำคนสำคัญของขบวนการเรียกร้องเอกราชปาปัวถูกสังหารโดยหน่วยกองกำลังพิเศษ 
การคุกคามเหล่านี้ดำเนินต่อไปในสมัยของประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ที่ทำให้การแสดงออกซึ่งสำนึกชาตินิยมปาปัวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นักกิจกรรมปาปัวจำนวนมากถูกจำคุกเป็นนักโทษการเมือง มีการสอดส่อง เซนเซอร์ และข่มขู่คุกคามเพื่อให้นักกิจกรรมปาปัวปิดปากเงียบ มาตรา 6 ตามประกาศรัฐบาลฉบับที่ 77 (2007) ห้ามใช้ธงหรือเครื่องหมายสัญลักษณ์ที่ขบวนการแยกดินแดนใช้ ฟิเลป คาร์มา และยูซัค ปาคาเก นักเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาปัวถูกตัดสินจำคุก 15 และ 10 ปีตามลำดับจากการจัดกิจกรรมเพื่อเอกราชโดยสันติ และจากการชูธงชาติปาปัว 
แม้ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โจโค วิโดโด จะให้คำมั่นที่จะปฏิรูป แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติจริง โดยเฉพาะในเรื่องการยกเลิกการควบคุมสื่อที่รายงานเรื่องของปาปัว
ที่มาภาพ AK Rockefeller
การจำกัดการเข้าถึงและการคุกคามนักข่าว
ก่อนการปฏิรูปโดยประธานาธิบดีวิโดโด ในปี 2015 อินโดนีเซียกำหนดให้ผู้สื่อข่าวต่างชาติที่ประจำการในอินโดนีเซียต้องขอใบอนุญาตและรับการตรวจสอบโดยคณะกรรมการเพื่อความโปร่งใส จัดโดยกระทรวงต่างประเทศก่อนเข้าไปทำข่าวในปาปัว รายงานจาก Human Rights Watch ระบุว่าระบบนี้ถูกใช้มาอย่างน้อย 25 ปี ตั้งแต่สมัยของซูฮาร์โต 
คณะกรรมการเพื่อความโปร่งใสประกอบด้วยหน่วยงาน 18 หน่วยจาก 12 กระทรวง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (Badan Intelijen Negara, BIN) และกรมข่าวกรองทหาร (Badan Intelijen Strategis, BAIS) เป้าหมายที่คณะกรรมการเพื่อความโปร่งใสอ้าง คือ เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองที่ให้อำนาจกระทรวงต่างประเทศห้ามชาวต่างชาติเดินทางไปยังบางบริเวณได้ ใบอนุญาตที่ออกโดยคณะกรรมการเพื่อความโปร่งใสนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และตำรวจของอินโดนีเซีย 
ขั้นตอนการขออนุญาตจากคณะกรรมการ กำหนดให้นักข่าวที่จะไปปาปัวต้องระบุแผนการทำข่าวอย่างละเอียด ซีแอม พาเวลล์ ผู้สื่อข่าวชาวออสเตรเลียระบุว่า ข้อกำหนดนี้มีไว้เพื่อให้นักข่าวต่างชาติเข้าไปทำข่าวในปาปัวได้ยากขึ้น 
นอกจากนี้ การรายงานเรื่องการเมืองและสิทธิมนุษยชนในปาปัวก็ถูกห้าม ผู้สื่อข่าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำข่าวในปาปัวจะได้รับคำเตือนไม่ให้รายงานเรื่องใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องเอกราชของปาปัว พวกเขายังถูกห้ามไม่ให้ไปเยี่ยมเยือนบางสถานที่ในปาปัวโดยไม่มีการให้เหตุผลใดๆ ขั้นตอนการออกใบอนุญาตของคณะกรรมการนั้นล่าช้าและไม่โปร่งใส รวมถึงไม่ระบุเหตุผลให้กับคำขอที่ล่าช้าหรือถูกปฏิเสธ 
การบังคับควบคุมสื่อต่างชาติเริ่มในสมัยของซูการ์โน ซึ่งบังคับให้ผู้สื่อข่าวต่างชาติต้องขอวีซ่านักข่าวก่อนเดินทางมายังอินโดนีเซีย ในช่วงนั้นโดยทั่วไปนักข่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ไปปาปัว ซูการ์โนมักกล่าวหานักข่าวต่างชาติว่า รายงานข่าวเกี่ยวกับปาปัวอย่างไม่เป็นกลาง เช่นเดียวกับที่ซีริล ปาแย็ง ถูกกล่าวหาทำนองเดียวกัน 52 ปีต่อมา เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียจะตั้งแง่สงสัยจุดมุ่งหมายของนักข่าวออสเตรเลียที่รายงานเรื่องปาปัวเป็นพิเศษ อาลี อะลาตัส อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย เคยกล่าวหาสื่อออสเตรเลียที่รายงานเรื่องในภูมิภาคเมื่อช่วงปี 1960 ว่าสนับสนุนการแยกตัวของปาปัว 
ภายใต้ยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โต วีซ่านักข่าวจะไม่รวมถึงการเข้าไปยังเขตรอบนอกของอินโดนีเซีย นักข่าวจะต้องขอใบอนุญาตเดินทาง (surat jalan) จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือกระทรวงการข้อมูล คณะกรรมการเพื่อความโปร่งใสที่มีไว้ตรวจสอบนักข่าวก็ถูกตั้งขึ้นในสมัยของซูฮาร์โตเช่นกัน
สมัยของประธานาธิบดียูโดโยโน ระหว่างปี ค.ศ. 2004-2014  ยิ่งเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการเข้าไปยังปาปัวและอาเจะห์ รัฐมนตรีกลาโหมในขณะนั้นให้เหตุผลว่า การรายงานข่าวอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดคุกคามชาวปาปัว 
ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โจโค วิโดโด ให้คำมั่นว่าจะยกเลิกการจำกัดการเข้าถึงปาปัวของสื่อต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับแผนงานดังกล่าว แม้ว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศจะกล่าวว่า คณะกรรมการเพื่อความโปร่งใสได้ถูกยุบไปแล้ว แต่นักข่าวต่างประเทศที่ไปปาปัวยังคงถูกตรวจสอบก่อนที่จะได้การรับรองให้ทำข่าวในอินโดนีเซีย ตามข้อกำหนดมาตรา 8 ของกฎหมาตรวจคนเข้าเมือง นักข่าวหลายคนระบุว่า พวกเข้ายังต้องยื่นขอใบอนุญาตเพื่อที่จะเข้าไปปาปัว
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐมนตรีคนสำคัญของวิโดโดหลายคนยังปฏิบัติขัดกับคำสัญญาที่จะปฏิรูป เท็ดโจ เอ็ดดี ปูร์ดิจัตโน ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีประสานงานเพื่อการเมือง, กฎหมายและความมั่นคง อากัส รีอันโต ผู้บัญชาการอาวุโสและโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายพลโมเอลโดโค ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย ต่างยังคงยืนกรานว่านักข่าวต่างชาติจะต้องขอใบอนุญาตเพื่อจะเข้าปาปัว และรัฐบาลจะยังทำหน้าที่คัดเลือกนักข่าวที่ขออนุญาต รยามิซาร์ด รยาคูดู รัฐมนตรีกลาโหม เคยเตือนนักข่าวต่างชาติว่า การเข้าปาปัวได้นั้นมีเงื่อนไขข้อผูกพันที่จะต้องผลิต “รายงานข่าวที่ดี” ออกมา
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่ได้ปฏิบัติคำมั่นสัญญา คือ ไม่มีคำสั่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ นอกจากปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญยังพยายามผลักไสการปฏิรูปให้ถอยหลังอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากประกาศของกระทรวงมหาดไทยที่บังคับใช้ข้อบังคับใหม่ที่จำกัดยิ่งกว่าเดิม นักข่าวต่างชาติจะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและสำนักข่าวกรองก่อนที่จะทำรายงานข่าวจากที่ใดๆ ในอินโดนีเซีย โชคดีที่ประธานาธิบดีสั่งยกเลิกกฎนี้หลังออกมาเพียงวันเดียว อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการเมืองของอินโดนีเซียที่เอื้อให้มีการจำกัดควบคุมสื่อก็ควรเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
ไฟล์แนบ