เวทีรับฟังความเห็นร่างประกาศตามพ.ร.บ.คอมฯ ตีความ “ผู้ใช้เฟซบุ๊ก คือผู้ให้บริการ” ไม่ต้องรับผิดหากลบข้อมูลภายใน 3 วัน

23 พฤษภาคม 2560 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ร่างประกาศกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560)" ซึ่งเป็นการเปิดให้ประชาชนทั่วไปและผู้ที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศกระทรวงทั้งหมด 5 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือ ประกาศ เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนการระงับทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการ นำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ…. (ร่างประกาศฯ) 
ศุภสรณ์ รุ่งโรจน์วุฒิกุล ตัวแทนบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ร่วมเสวนากล่าวถึงร่างประกาศฯ ฉบับนี้ ว่า ในมุมมองของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เห็นด้วยว่า ควรกำหนดให้มีขั้นตอนในการแจ้งเตือน แต่ในร่างประกาศฯ ฉบับปัจจุบัน ไม่ได้มีกระบวนการพิสูจน์ว่า ข้อความใดเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่มีคนแจ้งมาจริงหรือไม่ จึงอาจเป็นการผลักภาระให้กับผู้ให้บริการ และถ้าเนื้อหาที่กระทำผิด เช่น กรณีของเฟซบุ๊ก จะต้องทำอย่างไร เพราะ ISP ในประเทศไม่สามารถปิดได้ 
นอกจากนี้ร่างประกาศฯ ฉบับนี้ยังขัดกับกฎหมายหลัก คือ ตัวพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะในกฎหมายหลักระบุให้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลไว้ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ในประกาศฉบับนี้กลับบอกว่าให้ดำเนินการลบโดยเร็วที่สุดตั้งแต่ได้รับแจ้ง 
ด้าน สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการ PayPal ประเทศไทยได้ตั้งข้อสังเกตต่อ ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) ซึ่งกำหนดห้ามโพสต์ข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจว่า ในประเด็นความผิดเหล่านี้ ใครจะต้องเป็นผู้แจ้งให้ผู้ให้บริการลบออก หากประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วๆ ไปไม่ได้เดือดร้อนรำคาญกับเนื้อหานั้น ๆ 
ประเด็นเรื่องระยะเวลาที่ผู้ให้บริการต้องลบหรือเอาข้อมูลออก ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ เพราะตามร่างประกาศฯ ฉบับนี้ กำหนดว่า ต้องลบภายใน 3 วัน นับตั้งแต่ได้รับข้อร้องเรียน เพราะระยะเวลา 3 วัน อาจจะสั้นเกินไปและอาจสร้างภาระให้กับผู้ให้บริการอย่างมาก ซึ่งประเด็นนี้ ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ให้ความเห็นว่า การกำหนดระยะเวลา ควรยึดตามคำพิพากษาในคดีของประชาไท คือ ต้องลบออกภายในระยะเวลา 20 วัน ซึ่งตามคำพิพากษาฉบับดังกล่าว ตีความว่า การที่ปล่อยให้ข้อความผิดกฎหมายอยู่บนเว็บไซต์ 11 วัน ถือไม่ได้ว่า ผู้ให้บริการจงใจปล่อยเนื้อหาเหล่านั้นไว้ แต่ข้อความที่ถูกปล่อยไว้ 20 วัน ถือได้ว่า ผู้ให้บริการจงใจปล่อยไว้
หลังจบการเสวนาในช่วงเช้า ได้มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นแสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศประมาณ 15 นาที โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นดังนี้ 
ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตามร่างประกาศฯ ฉบับนี้ กำหนดให้มีแบบฟอร์มในการแจ้งลบข้อมูล และต้องไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ แต่เวลาแจ้งไปยังผู้ให้บริการกลับให้แนบแบบฟอร์มเพียงอย่างเดียว ซึ่งควรแก้ไขว่า ต้องมีใบบันทึกลงประจำวันแนบไปด้วย 
ฐิติรัตน์ มองว่า ประเด็นสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้จะทำให้ประชาชนและผู้ใช้บริการทำหน้าที่คล้ายศาล เพราะมีอำนาจตัดสินว่าเนื้อหาใดผิดกฎหมาย โดยไม่ได้มีการพิสูจน์ก่อน และถ้าหากเจ้าหน้าไม่ต้องการที่จะขอคำสั่งศาลเพื่อลบข้อมูล อาจจะใช้ช่องทางนี้ในการแจ้งลบข้อมูลได้เช่นกัน ฐิติรัตน์ยังได้ตั้งคำถามว่า การตีความให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กเป็นผู้ให้บริการประเภทหนึ่งนั้น เป็นการตีความจากส่วนใดของกฎหมาย และร่างประกาศฯ ฉบับนี้จะนำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้ใช้หรือไม่ 
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ตั้งข้อสังเกตว่า ในร่างประกาศฯ ได้แยกประเภทผู้ให้บริการไว้ 4 ประเภท แต่ขั้นตอนในการรับผิดของผู้ให้บริการแต่ละประเภทกลับไม่แตกต่างกัน แล้วจะต้องแยกประเภททำไม และในกรณีการลบตามคำสั่งศาลนั้น อาทิตย์มองว่าคำสั่งศาลเป็นคำสั่งทางปกครอง ไม่ใช่คำพิพากษา ดังนั้น จึงสะท้อนให้เห็นว่าข้อความที่ถูกให้ลบเป็นความผิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น สามารถที่นำข้อความนั้นกลับมาได้หากพิสูจน์ได้ว่าไม่มีความผิดตามกฎหมาย