“ม.77” หลังประกาศใช้รธน.ใหม่ เปิดช่องพิจารณากฎหมายต้องรับฟังความคิดเห็นและศึกษาผลกระทบ

การพิจารณากฎหมายในปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดใดๆ ให้ต้องมีการเปิดรับฟังความคิดจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้กฎหมายมากกว่า 200 ฉบับที่ผ่านการพิจารณาจาก สนช. ในช่วงสองปีกว่า มีแนวโน้มจะขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน แม้ในบางครั้ง สนช. มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในกฎหมายบางฉบับ แต่ก็ไม่มีรายงานหรือผลการรับฟังความคิดเห็นจากเวทีนั้นๆ ว่าได้นำไปปฏิบัติมากน้อยเพียงใด
ต่อจากนี้ไปหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ 2559 ประกาศใช้ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาร่างกฎหมายจะมีความเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจาก มาตรา 77 ได้กำหนดให้ "รัฐพึงจัดให้มีการความรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง" นั่นหมายความว่า กฎหมายต่าง ๆ ที่พิจารณาหลังจากนี้จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 77 พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงการพิจารณากฎหมายของสนช. ตามรัฐธรรมนูญใหม่ต้องยึดตามหลักมาตรา 77 ที่กำหนดให้ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบที่เกิดขึ้้นกับประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 77 วรรคสอง 
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 พรเพชร ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังมีกฎหมายที่ค้างอยู่ในสภา 10 ฉบับ โดยตนจะพยายามเร่งรัดพิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่จากการตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐสภาพบว่าขณะนี้มีร่างกฎหมายอย่างน้อย 21 ฉบับ อยู่ในการพิจารณาของสนช.  เช่น ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นต้น
มาตรา 77 การทำผลวิเคราะห์ก่อนการประกาศใช้กฎหมาย
การทำผลวิเคราะห์ก่อนการประกาศใช้กฎหมาย RIA (Regulatory Impacts Assessment) เป็นหลักการใหม่ที่ปรากฎอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ 2559 มาตรา 77 วรรคสอง บัญญัติว่า "ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผย ผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลกระทบจากการออกกฎหมาย ปรับปรุงกฎหมายให้มีคุณภาพ เกิดความโปร่งใส สร้างการมีส่วนร่วม และสร้างความรับผิดชอบให้กับรัฐในการตรากฎหมาย 
การบรรจุแนวคิดนี้ลงในร่างรัฐธรรมนูญนั้นเกิดจาก ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่บังคับใช้อยู่มากเกินความจำเป็น ซึ่งมีมากกว่า 100,000 ฉบับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และนำไปสู่การหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย
ในส่วนของรายละเอียดและขั้นตอนในการทำผลวิเคราะห์ก่อนการประกาศใช้กฎหมายนั้น ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติรายละเอียดไว้ และจากการศึกษา การวิเคราะห์ ผลกระทบในการออกกฎหมาย ของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่าประเทศในกลุ่มองค์การความร่วมมือเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)  ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว  ยอมรับระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการค้าเสรีในการร่วมกันและพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปและโลก ส่วนมากจะนำหลักการนี้มาใช้ในกฎมายระดับพระราชบัญญัติ และกฎหมายในระดับรองลงมา แต่บางประเทศจะเลือกเฉพาะกฎหมายที่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ยังไม่พบว่าประเทศใดนำหลักการนี้มาใช้ในกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญ 
เสียงสะท้อนเกี่ยวกับมาตรา 77
หนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์ สัมภาษณ์ทนายความ และนักวิชาการ จำนวนสามคน หลังมีเสียงสะท้อนว่า มาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อาจมีผลทำให้การตรากฎหมายล่าช้า เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน  โดย ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่า จะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความชอบธรรมในการออกกฎหมาย เนื่องจากมาตรา 77 นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ต้องการให้มีการออกกฎหมายมาก ดังเช่นที่เป็นในปัจจุบัน
ขณะ นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "มาตรา 77 วรรคสอง ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคในการออกกฎหมายช้า เพราะถ้าออกมาแล้วไม่มีผลกระทบ เป็นผลดีต่อประชาชนส่วนรวมก็น่าจะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเร่งออกมาโดยไม่มีการศึกษาให้ละเอียดก็ไม่ควรออก"
ทางด้านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรม ไขข้อกังวลของ สนช. ต่อมาตรา 77 วรรค 2 ว่าในทางปฏิบัติ สนช. คงไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก เพราะการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ใช่เรื่องเสียหาย และการเปิดเผยข้อมูลสามารถทำได้ทั้งในโทรทัศน์และเว็บไซต์ 
ในส่วนของ ยอดพล เทพสิทธา นิติศาสตร์ ม.นเรศวร มองว่า มาตรา 77 จะทำให้กระบวนการออกกฎหมายนั้นมีความล่าช้า เพราะก่อนจะออกกฎหมายทุกฉบับอาจจะต้องมีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งกฎหมายบ้างประเภทไม่รู้ว่าจะต้องรับฟังความคิดเห็นใคร เพราะคนทั้งประเทศมีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นการตีกรอบ ควรเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐ เช่น โครงการสร้างเขื่อน สร้างถนน เวนคืนที่ดิน ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านในแต่ละพื้นที่โดยตรง จะทำให้การรับฟังมีเป้าหมายชัดเจน ไม่เสียเวลา นอกจากนี้ ยอดพล มองว่า “มาตรา 77 มุ่งหวังในแง่ต้องการสร้างภาพให้ดูดีมากกว่า ต้องการให้เห็นผลในทางปฏิบัติ ซึ่งมันเกินความจำเป็นอย่างมาก เรียกภาษาชาวบ้านคือ เลอะเทอะ”