มีชัย แจงกฎหมายลูก “กสม.” ให้ช่วยแก้ต่างให้ประเทศ เพราะมุมมองแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

25 มกราคม 2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดสัมมนา จัดเสวนารับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ป.กสม.) โดย มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรธ. เริ่มกล่าวว่า กสม.มีความแตกต่างไปจากองค์กรอิสระอื่น เพราะองค์กรอิสระอื่นในร่างรัฐธรรมนูญจะเขียนรายละเอียดโครงสร้าง ที่มา อำนาจหน้าที่ ไว้อย่างละเอียดและชัดเจนแต่ กสม. จะเขียนสั้นๆ เพื่อเปิดโอกาสไว้เขียนในกฎหมายลูกเพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับหลักการปารีสที่เรามีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม สิ่งที่กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญคือการกำหนดภารกิจให้ชัดเจนเท่านั้น 
แม้ปัจจุบัน กสม.จะมีมาสิบปีแล้ว แต่ก็พบว่าการทำงานของกสม.มีปัญหาตลอด ถ้าไม่มีปัญหาระหว่างกรรมการกสม.ด้วยกันเอง ก็มีปัญหาระหว่างกรรมการฯ กับคนทำงานในสำนักงานกสม. หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ มีชัยกล่าวว่า เราตระหนักถึงปัญหาการถูกลดระดับการทำงานจากนานาชาติ ที่มาผ่านปัจจัยที่ทำให้เราถูกมองในแง่ลบ คือที่มาของกสม. ที่ถูกมองว่ายังไม่หลากหลาย ไม่โปร่งใส ไม่เชื่อมโยงกับคนที่เกี่ยวข้องด้านสิทธิฯ และคณะกรรมการสรรหายังขาดความหลากหลาย ในร่างพ.ร.ป.กสม. ให้มีกสม. 7 คน เราบังคับให้มีความหลากหลายอย่างน้อยสาขาละหนึ่งคน แล้วอีกสองคนที่เหลือให้คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกคนที่เหมาะสม 
เรื่องการจัดทำรายงาน มีชัยเล่าว่า ที่ผ่านมาเนื่องจากกรรมการไม่ลงรอยกัน และไม่มีความสามารถในการเขียนรายงานทำให้เกิดความล่าช้า เราจึงเปิดช่องให้จ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำหน้าที่แทน แต่เนื้อหาต้องมาจากคณะกรรมการทั้งหมด นอกจากนี้ลักษณะการทำงานจะแบ่งกันคนละสาขาตามแต่ละคนเชี่ยวชาญ ทำให้มีปัญหาในการเขียนรายงานส่งผลให้รายงานไม่มีพลัง เราพยายามจะสร้างกลไกการทำงานเป็นทีม ถ้าทำเป็นทีมก็จะรายงานตามความเป็นจริงที่ได้ทำไป ไม่ต้องเถียงกันว่าใครคิดอะไรแตกต่างกันซึ่งจะทำให้ล่าช้า เมื่อรายงานมีความสำคัญ เราจึงกำหนดให้โหดว่า กสม.จะต้องทำแผนการทำรายงานประจำปีล่วงหน้าและต้องทำให้ได้ตามแผน เมื่อทำไม่ได้จะต้องพ้นทั้งคณะ เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาลดระดับเราเนื่องจากการทำงานล่าช้า
มีการพูดถึงกันมากในร่างรัฐธรรมนูญเรื่องหน้าที่ของกสม. คือ "หน้าที่รายงานความเป็นจริงที่ถูกบิดเบือน หรือไม่ตรงกับความเป็นจริง" มีความเข้าใจผิดว่ากสม.จะมาทำหน้าที่แก้ตัวให้กับรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ แต่เจตนารมณ์จริงๆ คือ ต้องการให้ กสม.รายงานความจริงที่เป็นอยู่ในประเทศไทย นั่นเพราะต้องเข้าใจว่าในแง่มุมของสิทธิมนุษยชน แต่ละประเทศมีมุมมองแตกต่างกันตามวัฒนธรรมและประเพณี ที่มีมายาวนานของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยเราสั่งสอนให้กราบไหว้พ่อแม่ หรือเอาเท้าของพ่อแม่ใส่ไว้บนหัว สำหรับคนไทยมองว่าเป็นความกตัญญู แต่สำหรับบ้างประเทศอาจจะมองว่าล้าสมัย เป็นการขัดหลักสิทธิมนุษยชน เพราะประเทศเขาอาจตบหัวพ่อแม่ได้ ดังนั้นถ้ามีใครรายงานเรื่องนี้ออกไป ก็เป็นหน้าที่กสม. ต้องออกมาชี้แจงว่านี้เป็นประเพณีของเรา ไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชน เราถือเป็นความศิวิไลซ์ เป็นความเป็นมนุษย์ ที่สมบูรณ์แบบมากกว่าฝรั่ง 
เรื่องการทำงานที่ทับซ้อนกันระหว่าง กสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดิน มีชัยกล่าวว่า ถ้าให้กสม.ตามเรื่องแต่ละราย อีก 100 ปี ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนก็ไม่บรรเทา เวลาเห็นภาพจากสื่อคนจากเรือนจำใส่โซ่ตรวนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้ามีคนมาร้องกสม.แล้วทำทีละรายก็จะไม่ได้ทำอย่างอื่น เราจึงคิดว่าจะให้กสม.หยิบกรณีตัวอย่างแล้วทำทั้งระบบ ส่วนกรณีอื่นๆ ให้ผู้ตรวจการฯ ดูเป็นรายๆ ถ้าสองหน่วยงานร่วมมือกันจริงจัง ภายใน 5-10 ปี สถานการณ์สิทธิมนุษยชน จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ถ้า กสม.แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบสัก 2-3 เรื่องต่อปีก็ถือว่าประสบความสำเร็จ
เรื่องสำนักงานเราจะพยายามทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะสำนักงานจะเป็นเครื่องมือ แทนที่คณะกรรมจะทำอะไรแต่ละเรื่องจะต้องตั้งอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน ทำให้ไม่ได้ประโยชน์อะไร งานทั้งหมดส่วนใหญ่ของกสม.มี 3 ขั้นตอน 1.แสวงหาข้อเท็จจริง ไม่จำเป็นต้องตั้งอนุกรรมการ ให้ใช้เจ้าหน้าที่สำนักงาน 2-3 คนก็เพียงพอ ถ้าตั้งอนุกรรมการลงพื้นที่ทีก็ลงไปทั้งคณะ บ้างคนก็ไม่เชี่ยวชาญ ทำงานซ้ำซ้อน 2. วิเคราะห์ข้อเท็จจริง ต้องใช้ผู้เชียวชาญ จะต้องจ้างมาวิเคราะห์ให้รู้ปัญหา 3.ทำอย่างไรเพื่อจะแก้ปัญหาได้ และไม่ไห้ปัญหาเกิดขึ้นอีก ให้กรรมการใช้ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น