“เคราะห์ซ้ำ-กรรมซัด” ชะตากรรมของผู้ต้องขังในยุครัฐบาลทหาร

ตลอดสองปีหลังการรัฐประหาร เรือนจำมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยคือ ความยากลำบากในชีวิตของผู้ต้องขังหรือนักโทษในเรือนจำ ในช่วงสองปีที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์เปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารเรือนจำหลายอย่าง เช่น การยกเลิกเรือนจำหลักสี่ซึ่งเป็นเรือนจำสำหรับนักโทษการเมือง การบังคับใช้กฎสิบชื่อจำกัดผู้มีสิทธิเยี่ยมอย่างเคร่งครัด การให้เจ้าหน้าที่รัฐมาสอดส่องดูการติดต่อระหว่างคนข้างในกับบุคคลภายนอกรวมทั้งทนายความ นอกจากนี้ เรือนจำยังต้องเผชิญกับปัญหาสวัสดิภาพและความปลอดภัยในเรือนจำอีกด้วย

 

การเมืองเปลี่ยน-คนเปลี่ยน-นโยบายเปลี่ยน

หลังการรัฐประหาร มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในเรือนจำ ทั้งในแง่นโยบายและผู้บริหารองค์กร สิ่งที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมราชทัณฑ์ด้วย “อำนาจพิเศษ” ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 84/2557 ซึ่งมีผลให้ วิทยา สุริยะวงศ์ เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์แทน พ.ต.ท.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย

ต่อมาในเดือนกันยายน 2557 ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรมก็ลงนามในคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 363/2557 เรื่องย้ายข้าราชการจำนวน 23 คน โดยหนึ่งในนั้นมีผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เรือนจำที่มีผู้ต้องขังและนักโทษคดีการเมืองซึ่งเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารถูกคุมขังอยู่เป็นจำนวนมาก

หลังการเปลี่ยนตัวผู้บริหาร การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายก็ตามมา เช่น การจำกัดรายชื่อผู้เข้าเยี่ยมสิบคนต่อผู้ต้องขังหรือนักโทษหนึ่งคน (กฎสิบชื่อ) ที่ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ การกระจายแดนผู้ต้องขัง รวมถึงการยกเลิกเรือนจำหลักสี่ซึ่งเป็นที่ควบคุมตัวผู้ถูกตัดสินว่าทำความผิดในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553

 

“การตรวจร่างกาย” การลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง

เมื่อว่าที่ผู้ต้องขังเดินทางมาถึงที่เรือนจำ ขั้นตอนแรกที่จะต้องผ่านคือการตรวจร่างกาย เรือนจำให้เหตุผลว่าขั้นตอนนี้มีความจำเป็นเพื่อป้องกันการซุกซ่อนยาเสพติด แต่”วิธีการ”ที่ใช้ในการตรวจร่างกายก็ได้ทิ้งบาดแผลในจิตใจไว้ให้พวกเขาและเธอไปอีกนาน

จิตรา คชเดช ผู้ประสานงานกลุ่ม TRY ARM เล่าเรื่องราวและบาดแผลในใจของเธอครั้งถูกส่งตัวเข้าทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อรอการปล่อยตัวว่า ในการตรวจร่างกายเธอต้องถอดเสื้อผ้าและหมุนตัวต่อหน้าผู้คุมและผู้ช่วยซึ่งเป็นผู้ต้องขังด้วยกัน จากนั้นก็ถูกตรวจภายในและถูกนำตัวไปทำประวัติ ซึ่งในระหว่างการทำประวัติ จิตราเล่าว่า ผู้ต้องขังทั้งหมดจะถูกสั่งห้ามยืน การเคลื่อนที่จะทำโดยวิธีนั่งยองๆ หรือถัดก้นตามกันไปเท่านั้น

ผู้ต้องขังชายที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพก็ต้องพบกับการวิธีการสร้างความอึดอัดและคับข้องใจให้ไม่แพ้กัน รังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ซึ่งเคยถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพก็เล่าถึงความหลังครั้งถูกส่งตัวเข้าเรือนจำว่า เขาและเพื่อนๆ ต้องถูกตรวจร่างกายอย่างหนัก ทั้งที่ไม่ได้ทำความผิดในคดียาเสพติด รังสิมันต์ระบุด้วยว่า ทางเรือนจำน่าจะมีวิธีการที่ดีกว่านี้ในการตรวจหายาเสพติด

 

“กฎสิบชื่อ” ปราการด่านสำคัญที่กีดกันกำลังใจและความช่วยเหลือ

กฎสิบชื่อเป็นข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2555 ในหมวดที่ 1 ข้อที่ 8 ซึ่งระบุว่า

“เพื่อประโยชน์ด้านการควบคุมหรือความมั่นคงของเรือนจำ ผู้บัญชาการเรือนจำจะกำหนดให้ผู้ต้องขังแจ้งรายชื่อบุคคลภายนอกที่จะให้เข้ามาพบหรือติดต่อกับตนภายในเรือนจำไว้ล่วงหน้าก็ได้ รายชื่อบุคคลภายนอกนั้นให้มีจำนวนไม่เกิน 10 คน และหากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ให้สามารถดำเนินการได้ โดยต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน”

และในวรรคต่อมายังระบุว่า “ในกรณีมีเหตุพิเศษผู้บัญชาการเรือนจำอาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลภายนอกนอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้ตามวรรคก่อน เข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังก็ได้”

อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตว่า แม้ข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ดังกล่าวจะออกมาตั้งแต่ปี 2555 แต่ก็ไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างเคร่งครัดนัก การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังหรือนักโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นไปอย่างเปิดกว้างมาโดยตลอด นอกจากนี้หากดูในเนื้อหาจะพบว่าข้อบังคับที่ว่าก็ไม่ได้เขียนในลักษณะเป็นการบังคับตายตัว แต่เป็นการให้อำนาจผู้บัญชาการเรือนจำประกาศใช้ตามความเหมาะสม 

การบังคับใช้ “กฎสิบชื่อ” อย่างเคร่งครัด ทำให้การเข้าเยี่ยมเป็นไปได้ยาก ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ต้องขังหรือนักโทษที่ญาติอยู่ไกลทำให้ผู้มาเยี่ยมมีลักษณะเป็นขาจร ไม่ใช่ขาประจำที่สามารถระบุรายชื่อได้ ทำให้พวกเขาเสียโอกาสที่จะได้รับกำลังใจหรือความช่วยเหลือจากผู้มาเยือน

หนึ่งในผู้ต้องขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ว่า กฎสิบชื่อสร้างความยากลำบากให้กับเขาอย่างมาก เพราะเขาไม่มีคนมาเยี่ยมประจำมากนัก เว้นแต่ลูกสาวกับลูกชาย แม้เขาจะมีเพื่อนฝูงจำนวนมากแต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้พบหรือได้รับความช่วยเหลือ เพราะเพื่อนหลายคนก็ไม่ได้รู้จักกับคนในครอบครัวของเขาเป็นการส่วนตัว ทำให้ไม่มีโอกาสใส่ชื่อเป็นคนเยี่ยมหรือแม้แต่ฝากของมาให้

นอกจากการกีดกันผู้เข้าเยี่ยม กฎสิบชื่อยังตัดโอกาสของผู้ต้องขังหรือนักโทษที่จะได้รับการช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์จากผู้มาเยี่ยมขาจรด้วย เพราะตามกฎผู้มีรายชื่อหนึ่งในสิบเท่านั้นที่จะมีสิทธิฝากเงินใด้ ผู้ต้องขังหรือนักโทษที่ไม่มีญาติมาเยี่ยมเป็นประจำจึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากเพื่อนหรือญาติที่เป็นขาจร ทำให้ชีวิตของพวกเขาต้องยากแค้นแบบที่ไม่ควรจะเป็น

 

“กระจายแดนผู้ต้องหา” หนึ่งในปัญหาของความไม่ปลอดภัยในเรือนจำ

ก่อนการรัฐประหาร ผู้ต้องขังคดีการเมืองจะถูกจัดให้อยู่ในแดนเดียวกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคดีทางการเมืองเป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อน หากผู้ต้องขังเหล่านี้ถูกกระจายไปควบคุมในหลายแดนก็อาจไปมีความขัดแย้งกับผู้ต้องขังอื่นที่มีความเห็นไม่ตรงกันได้ การควบคุมผู้ต้องขังคดีการเมืองไว้รวมกันจึงน่าจะทำให้ง่ายในการบริหารจัดการและดูแลความปลอดภัย นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ต้องขังมีเพื่อนไว้พูดคุย มีโอกาสเยียวยากันเองในระดับหนึ่ง

หลังการรัฐประหาร การแยกแดนผู้ต้องขังเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเรือนจำ นักโทษการเมืองรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ปัจจุบันผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด รวมทั้งคดี 112 ถูกย้ายแดนกันกระจัดกระจาย จากที่ก่อนนี้สามารถอยู่ร่วมกันในแดน 1 ได้

ผู้ต้องขังคนเดิมสะท้อนปัญหาต่อว่า สิ่งที่ตามมาหลังการแยกแดนคือขาดขวัญกำลังใจ เพราะผู้ต้องขังไม่มีโอกาสที่จะปรับทุกข์หรือเยียวยากันอีกต่อไป ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ไม่มีญาติและเคยรับความช่วยเหลือ เช่น การแบ่งปันอาหารจากเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมือง ก็จะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและไม่มีคนช่วยเหลือ นอกจากนี้ผู้ต้องขังที่ถูกย้ายแดนก็ต้องกังวลถึงความปลอดภัยในแดนใหม่ด้วย เพราะผู้ต้องขังคนอื่นอาจมีอคติหรือทัศนคติที่ไม่ดีกับผู้ต้องขังคดีการเมือง จึงมีโอกาสถูกกลั่นแกล้งหรือถูกทำร้าย

ทั้งนี้ คำถามสำคัญเกี่ยวกับการย้ายแดนที่น่าจะต้องหาคำตอบคือ การย้ายแดนที่เกิดขึ้นเป็นไปตามระเบียบของเรือนจำหรือเป็นดุลพินิจของผู้บริหาร และอะไรเป็นหลักเกณฑ์ในการสั่งย้ายแดนผู้ต้องหา

 

การติดต่อกับคนภายนอกต้องถูกตรวจสอบก่อนเสมอ

การสื่อสารระหว่างคนในเรือนจำกับบุคคลภายนอกเป็นการสื่อสารที่ไม่มีความเป็นข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2555 ข้อ 10 ระบุว่า

การพูดคุยต้องพูดภาษาไทย พูดเสียงดังพอให้เจ้าพนักงานได้ยินและต้องยินยอมให้พนักงานฟังการสนทนา บันทึกเสียง หรือตัดการสื่อสาร หากการสนทนาเป็นไปโดยไม่เหมาะสม สำหรับจดหมายทั้งที่ส่งเข้าไปและที่ส่งออกมาก็จะต้องผ่านการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตาม การจำกัดความเป็นส่วนตัวของเรือนจำปกติอย่างเรือนจำพิเศษกรุงเทพก็ยังถือว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับการจำกัดความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขังในเรือนจำชั่วคราวแขวงนครชัยศรีซึ่งตั้งขึ้นในพื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ลงนามโดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา

จากคำบอกเล่าของ ชูชาติ กันภัย ทนายของ อาเดม คาราดัก จำเลยคดีระเบิดราชประสงค์ การพูดคุยระหว่างทนายกับผู้ต้องขังจะมีเจ้าหน้าที่ทหารมารับฟังอยู่ด้วยตลอดเวลา รวมทั้งมีการจดบันทึกบทสนทนาไว้ด้วย จดบันทึกข้อความที่ทนายคุยกับผู้ต้องหา รวมถึงบันทึกเสียงการสนทนาไว้ แต่ทนายชูชาติก็ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะเข้าใจว่าเป็นกฎของทางเรือนจำ

ทนายชูชาติเล่าด้วยว่า คำถามที่เขาจะถามลูกความจะต้องส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อน ครั้งหนึ่งเขาส่งคำถามให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ประจำในเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ไปสิบข้อ หลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำคำถามไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ด้วยก็ได้รับอนุญาตให้ถามเพียงหกถึงเจ็ดข้อเท่านั้น โดยคำถามที่ถามได้จะเป็นคำถามปลายปิด ส่วนคำถามปลายเปิดจะถามไม่ได้

 

การรับรู้ข่าวสารถูกจำกัด ตัดโอกาสปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอก

โดยหลักการ นอกเหนือจากการกันคนผิดออกจากสังคมแล้ว เรือนจำก็จะต้องทำหน้าที่บำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังให้กลับเข้าสู่สังคมปกติได้ด้วย เพื่อให้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่และไม่ทำความผิดซ้ำ แต่ในความเป็นจริงมีผู้ต้องขังจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาในการปรับตัวเมื่อพ้นโทษกลับสู่โลกภายนอกซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการถูกจำกัดการรับข้อมูลข่าวสาร ยิ่งหากถูกคุมขังนานๆ และไม่มีคนมาเยี่ยมก็แทบจะไม่รู้ว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร

ในเรือนจำผู้ต้องขังจะไม่มีหนังสือพิมพ์เต็มฉบับให้อ่าน มีแต่เพียงข่าวที่ทางเรือนจำเลือกและตัดแปะไว้บนบอร์ดเท่านั้น สำหรับโทรทัศน์ผู้ต้องขังจะได้ดูแต่รายการบันเทิงเท่านั้น ส่วนหนังสือที่ญาติจะส่งเข้ามาก็อาจมีปัญหาความล่าช้า หนังสือบางประเภท เช่น หนังสือการเมือง ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามา

ตามระเบียบราชทัณฑ์ ผู้ต้องขังจะไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองอุปการณ์สื่อสารใดๆ จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาดูจะสวนทางกับวิถีชีวิตในโลกปัจจุบันที่แทบทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ต ทั้งที่ในความเป็นจริงเรือนจำน่าจะสามารถให้ผู้ต้องขังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ภายใต้การควบคุมแทนการปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงเลย

 

ความปลอดภัยในชีวิตของคนในเรือนจำอยู่ในระดับ “น่าวิตก”

การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องปกติในชีวิตมนุษย์ ทั้งคนที่มีอิสรภาพและผู้ที่ถูกจองจำ สิ่งที่ต่างกันคือคุณภาพและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขในเรือนจำซึ่งอยู่ในสภาวะที่น่าวิตก

เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำมีความแออัด การเกิดโรคติดต่อจึงเกิดขึ้นได้ง่ายและแพร่ขยายในวงกว้าง เช่น วัณโรค ซึ่งเป็นโรคติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วเพราะสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด นอกจากนี้ก็ยังมีการแพร่ระบาดของโรคผิวหนัง รวมทั้งโรคเอดส์ที่อาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ใบมีดโกนร่วมกันหรือการสักลาย

นอกจากนี้ ในเรือนจำ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะจำนวนผู้ป่วยกับผู้ให้บริการไม่ได้สัดส่วนกัน จนหลายครั้งเกิดความล่าช้า อดีตผู้ต้องขังรายหนึ่งเล่าว่า เวลาต้องการพบแพทย์ ผู้ต้องขังต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่ใช่ว่าป่วยแล้วจะได้พบทันที บางรายก็เสียชีวิตก่อนที่จะได้พบแพทย์ หากเกิดอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันในเวลากลางคืนที่ไม่มีหมออยู่ก็จะลำบากมากหรือผู้ต้องขังอาจเสียชีวิตไปก่อน

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ความปลอดภัยในเรือนจำเริ่มน่ากลัวขึ้น เมื่อเรือนจำบางแห่งมีผู้เสียชีวิตอย่างผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น กรณี พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ที่เสียชีวิตระหว่างถูกฝากขังในเรือนจำชั่วคราวแขวงนครชัยศรีใน มทบ.11 ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ มีการนำศพไปประกอบพิธีอย่างรวดเร็วโดยไม่มีรายงานว่ามีการไต่สวนเพื่อหาสาเหตุการตายโดยศาลตามที่กฎหมายกำหนด สร้างความน่ากังวลถึงความโปร่งใสในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำอย่างมาก