สุสานวีรชน “ความทรงจำของฟิลิปปินส์ที่มีต่อมาร์กอส”

                ในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ชื่อของโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เริ่มเป็นที่คุ้นหูคุ้นตากันมากขึ้นผ่านสื่อต่างๆ จากการประกาศสงครามกับยาเสพติดที่มุ่งเป้าขจัดให้หมดไปจากสังคม อีวาน วัทสัน ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า มาจนถึงวันนี้มีผู้เสียชีวิตจากการประกาศสงครามกับยาเสพติดไปแล้วกว่า 1,900 คน ในจำนวนนั้น 700 คนเสียชีวิตภายใต้การดำเนินงานของตำรวจอย่างไรก็ดี สำหรับความน่าสนใจของดูเตอร์เต้ไม่ได้อยู่เพียงแค่การสังหารประชาชนในนามสงครามยาเสพติดเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การจัดวางพื้นที่ทางสังคมของเขาต่อเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตประธานาธิบดีผู้เผด็จการของฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1972-1986  ที่สั่นสะเทือนพื้นที่ทางความทรงจำของชาวฟิลิปปินส์ที่มีต่อมาร์กอสไม่มากก็น้อย

 

การปรองดองผ่านการเพิกเฉยอาชญากรรมในอดีต ผลักดันการย้ายร่างมาร์กอสไปไว้ยังสุสานวีรชน

 

                ในช่วงการประกาศกฎอัยการศึกระหว่างปี 1972-1986  มีผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมราว 3,257 คน ในจำนวนนี้ 2,520 คนถูกซ้อมทรมานและทิ้งร่างไร้ชีวิตไว้ตามข้างถนน อีก 35,000 คนต้องเผชิญกับการซ้อมทรมานและ 70,000 คนต้องถูกคุมขัง ขณะที่เสรีภาพในการพูด, สื่อมวลชนและเสรีภาพของพลเมืองอื่นๆ ถูกกดทับภายใต้การปกครองของมาร์กอส เหตุการณ์ทั้งหมดยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากและคาดหวังให้ความรุนแรงในอดีตถูกแก้ไขในกระบวนการศาล แต่มาจนถึงวันนี้การนำมาซึ่งความยุติธรรมยังคงไม่มีความชัดเจน

 

               ภายหลังจากที่ดูเตอร์เต้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ เขาได้ส่งสัญญาณว่าจะเคลื่อนย้ายร่างของมาร์กอสมาไว้ยังสุสานวีรชน (Hero’s cemetery : The Libingan ng mga Bayan ) อันเป็นสถานที่ฝังศพของทหารและวีรชนของฟิลิปปินส์  ดูเตอร์เต้ให้เหตุผลว่า การเคลื่อนย้ายร่างมาร์กอสมาไว้ยังสุสานแห่งนี้เพราะมาร์กอสเป็นประธานาธิบดีที่เยี่ยมยอด ก่อนจะเปลี่ยนเหตุผลเป็นว่า มาร์กอสเคยเป็นทหารคนหนึ่งมาก่อนเท่านั้น การผลักดันดังกล่าวเกิดจากความคิดของดูเตอร์เต้ที่ว่า เขาสามารถสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากการเยียวยาบาดแผลของอดีต ซึ่งรวมถึงการประนีประนอมกับมาร์กอสโดยปราศจากการทวงถามความยุติธรรมและความรับผิดชอบ

 

               ในแง่นี้การไกล่เกลี่ยปรองดองโดยเพิกเฉยต่อกระบวนการยุติธรรมกำลังกลายเป็นเหตุผลข้ออ้างในการซุกซ่อนความจริงที่ว่า ระหว่างปี 1972-1986 ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญจากการปกครองของมาร์กอสที่เต็มไปด้วยความฉ้อฉล เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่พวกพ้องของตนเองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง การตัดสินใจดังกล่าวสร้างความกรุ่นโกรธให้แก่ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมาก หนึ่งในผู้ถูกคุมขังและซ้อมทรมานในยุคมาร์กอสมองว่า การฝังร่างของมาร์กอสลงในสุสานวีรชนถือเป็นล้างความผิดในอาชญากรรมที่เผด็จการกระทำต่อประชาชนไว้และจะส่งข้อความที่ผิดพลาดให้แก่โลกว่า ฟิลิปปินส์ยกประโยชน์ให้แก่อาชญากรรมของมาร์กอส

 

 

               นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของความพยายามในการเคลื่อนย้ายร่างของผู้เผด็จการมาไว้ยังสุสานวีรชน ก่อนหน้านี้ในปี 2011 สภาผู้แทนในจังหวัดซอร์โซกอนได้ริเริ่มให้เคลื่อนย้ายร่างมาร์กอสไปไว้ที่สุสานวีรบุรุษและน่าตกใจคือประเด็นดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนในสภาอย่างท่วมท้น ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนฟิลิปปินส์ในหลากหลายกลุ่มที่มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความพยายามในการสร้างประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดของฟิลิปปินส์

 

สุสานวีรชนมีเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อไป

 

               ทำไมชาวฟิลิปปินส์ถึงเป็นเดือดเป็นร้อนนักต่อการเคลื่อนย้ายร่างของมาร์กอสมาไว้ที่สุสานวีรชน เรื่องนี้คงต้องย้อนไปพิจารณาถึงแนวคิดของการสร้างสุสานดังกล่าว ในปี 1947 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้สร้างสุสานแห่งนี้ขึ้นมาในฐานะของอนุสรณ์สถานของชาติเพื่อรำลึกความทรงจำถึงชีวิตของทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ วีรบุรุษของชาติและเป็นหมุดหมายสำคัญในแง่ที่ทำให้ความทรงจำคงอยู่ตลอดไป เอลปิอิโด กิริโน อดีตประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์กล่าวว่า สุสานแห่งนี้ไว้สำหรับแรงบันดาลใจและการเอาเยี่ยงอย่างของคนรุ่นนี้และรุ่นต่อไปของชาติ ขณะที่การดึงดันที่จะฝังร่างมาร์กอสในสุสานของดูเตอร์เต้กำลังบอกชาวฟิลิปปินส์อย่างกลายๆว่า ให้ลืมบางส่วนของประวัติศาสตร์ ซึ่งมันค่อยๆทำให้ความทรงจำร่วมที่เปราะบางอยู่แล้วให้อ่อนแอลงไปจนต้องอับจนให้แก่เวลาในที่สุด

 

               ความทรงจำของชาวฟิลิปปินส์ต่อมาร์กอสเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะมันเป็นเครื่องช่วยย้ำเตือนให้รับรู้ถึงความโหดร้ายของระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ทั้งยังเป็นสิ่งที่คอยยับยั้งการลืมรวมหมู่ที่จะช่วยป้องกันความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอนาคตได้ โดยหลังจากการโค่นล้มมาร์กอส ฟิลิปปินส์ได้มีความพยายามในการเก็บรักษาความทรงจำที่มีต่อมาร์กอสหลากหลายรูปแบบเพื่อที่จะย้ำเตือนคนฟิลิปปินส์เกี่ยวกับอำนาจเผด็จการของมาร์กอส พื้นที่แห่งความทรงจำเหล่านี้มีบทบาทในการจัดการอดีตด้วยการสร้างสำนึกความทรงจำผ่านเหตุการณ์ในช่วงการปกครองระบอบเผด็จการของมาร์กอส

 

               1.      อนุสรณ์สถาน Bantayog Nga Mga Bayani

 

               ตั้งอยู่ที่เมืองเกซอนเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้และสังเวยชีวิตของผู้คนทั่วไปในช่วงการปกครองของมาร์กอส ในตอนแรก Bantayog  มีเพียงอนุสาวรีย์และกำแพงหินแกรนิตที่สลักชื่อวีรชนอันเป็นเหมือนประติมากรรมความทรงจำที่เตือนให้ระลึกถึงเป็นรูปธรรมและเข้าถึงได้ง่าย ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในสงครามการแย่งชิงความทรงจำให้ดำรงอยู่ แต่จะไร้ความหมายมากถ้าไม่มีการอธิบายหรือบอกเล่าให้คนเข้าใจง่ายๆ ดังนั้นผู้จัดจึงใช้พิพิธภัณฑ์เป็นตัวกลางสื่อความหมายและเล่าเรื่องราว

 

               พิพิธภัณฑ์มีสโลแกนว่า เรียนรู้จากความเจ็บปวดและมีชัยชนะจากอดีตที่ผ่านมา การจัดแสดงมีโครงเรื่องหลักคือเรื่องราวตั้งแต่ที่มาร์กอสเข้ารับตำแหน่งในสองวาระแรก ซึ่งหยิบยกเรื่องบางเรื่องที่เป็นจุดด่างพร้อยขึ้นมาเพื่อให้เห็นชัดในความผิดพลาดของมาร์กอส ที่น่าสนใจคือการที่มีเมมโมรี่แบงค์ไว้สำหรับให้คนที่มาเข้าชมนั้นเขียนความทรงจำของตนเองและหย่อนลงไป  ซึ่งเป็นการพยายามทำให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกันในปริมณฑลความทรงจำผ่านการนำประสบการณ์ของแต่ละคนมาทำให้สดใหม่อยู่เสมอ

 

               2.      อนุสาวรีย์

 

               ในช่วงหลังยุคมาร์กอสมีความพยายามหลายครั้งที่จะทำลายความเงียบของความรุนแรงในอดีต ซึ่งรวมถึงการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นรูปแบบของความทรงจำของการต่อสู้ของชาวฟิลิปปินส์ สถานที่ที่มีชื่อเสียงเช่น อนุสาวรีย์พลังประชาชนเอ็ดซ่า ตั้งอยู่หัวมุมถนนเอ็ดซ่า (EDSA) และอนุสาวรีย์ Bantayog Ng Mga Desaparecidos ที่ครอบครัวของเหยื่อบังคับสูญหาย (The Family of Involuntary Disappearance : FIND) อุทิศเพื่อรักษาความทรงจำแก่บุคคลสูญหาย

 

                3.      กิจกรรมการรำลึกอื่นๆ

 

               กิจกรรมการรำลึกถึงช่วงที่ประกาศกฎอัยการศึกมีไม่น้อยกว่า 4 กิจกรรมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น งานแรกคือกิจกรรมรำลึกถึงพลังประชาชนที่เอ็ดซ่าในวันที่ 22-25 กุมภาพันธ์ 1986 รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดพิเศษสำหรับทุกโรงเรียนของฟิลิปปินส์  อย่างไรก็ดีการจัดให้วันหยุดไม่น่าจะมีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ของฟิลิปปินส์ แต่การเผยแพร่การแสดงทางโทรทัศน์และกิจกรรมต่างๆ ในวันนั้นอาจช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าใจถึงเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดีมากขึ้น

 

               นอกจากนี้ยังมีแคมเปญออนไลน์สร้างความตระหนักในการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกฎอัยการศึกในช่วง 6 เดือนก่อนวันครบรอบ 40 ปี โดยใช้แฮชแท็ค #rememberML@40 กิจกรรมดังกล่าวเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าอะไรคือกฎอัยการศึกและอีกกิจกรรมคือ การระลึกถึงผู้สูญหาย (desaparecidos) ชุมชนคริสเตียนจัดทำพิธีในวันที่ 1-2 พฤศจิกายนของทุกปี การระลึกถึงผู้จากไปนี้ผู้ร่วมกิจกรรมจะนำดอกไม้และสวดมนต์หน้าหลุมศพของผู้เป็นที่รัก อย่างไรก็ตามพิธีกรรมดังกล่าวยังเป็นปัญหาสำหรับครอบครัวของผู้สูญหายที่ไม่รู้ว่าควรจะยอมรับความสูญเสียและแค่สวดมนต์ให้แก่ผู้เป็นที่รักเท่านั้น หรือจะดำเนินการสืบค้นหาความจริงให้แน่ชัดต่อไป