2 ปีสนช.: ผ่านกฎหมายอย่างน้อย 179 ฉบับ แม้ผ่านกฎหมายน้อยลง แต่ปัญหายังมีอยู่

2 ปี สนช. ผ่านกฎหมายอย่างน้อย 179 ฉบับ แม้ผ่านกฎหมายน้อยลง แต่ปัญหายังมีอยู่
หากนับตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2557 จนถึงวันที่ 1 กันยายน 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. จะมีอายุเกิน 2 ขวบปีแล้ว ซึ่งใน 2 ปีที่ผ่านมา มีกฎหมายวิ่งเข้าสู่ สนช. ทั้งสิ้น 202 ฉบับ แบ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบแล้ว 179 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณา 23 ฉบับ ทั้งนี้ มีกฎหมายที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 171 ฉบับ และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก 8 ฉบับ
ข้อมูลในสารบบร่างพระราชบัญญัติของเว็บไซต์ สนช. ที่มีการปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 เฉพาะส่วนผู้เสนอกฎหมายที่ระบุว่า คสช. เป็นผู้เสนอกฎหมาย 21 ฉบับ และครม. เป็นผู้เสนอ 182 ฉบับ และสนช. เป็นผู้เสนอเอง 29 ฉบับ
นับตั้งแต่ 20 สิงหาคม 2558 เวลาที่ สนช. ใช้พิจารณากฎหมาย “เร็ว” ที่สุดคือ 1 วัน อย่างเช่น ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559, ร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มติมประมวลรัษฎากร (มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการถาวร) และเวลาที่ใช้ในการพิจารณากฎหมาย “นาน” ที่สุด 240 วัน อย่างเช่น ร่างพ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ รองลงมา คือ ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ จำนวน 203 วัน
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการพิจารณาให้ความเห็นกฎหมายของสนช. ในปีที่สองว่า มีอัตราพิจารณาเห็นชอบกฎหมายเฉลี่ยต่อเดือนต่ำลง จากปีทีแล้วที่พิจารณากฎหมายเฉลี่ยเดือนละ 9 ฉบับ แต่ในปีนี้พิจารณาผ่านกฎหมายเฉลี่ยนเดือนละ 5 – 6 ฉบับ
แม้ว่าการพิจารณาให้ความเห็นชอบกฎหมายโดยเฉลี่ยจะลดน้อยลง แต่ทว่า เสียงสะท้อนความไม่พอใจต่อกฎหมายที่ผ่านโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช.ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง ที่ให้ทหารกองหนุน อาทิ ผู้เคยผ่านการเกณฑ์ ผู้เคยผ่านการเรียนรักษาดินแดน (รด.) หรือแม้กระทั่งผู้ผ่านการเกณฑ์ทหารที่จับใบดำได้ กลับมาฝึกวิชาทหารอีกครั้งในฐานะกำลังพลสำรองเพื่อการเตรียมความพร้อมในกิจการของกระทรวงกลาโหม โดยหากฝ่าฝืนไม่เข้ารับราชการทหารมีโทษสูงสุดติดคุกสี่ปี ในส่วนของนายจ้างหากไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างซึ่งต้องรับราชการทหารในวันลามีโทษปรับสองหมื่นบาท
หรืออย่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ที่เปิดช่องตั้งสถานประกอบการฯ ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ได้ แต่หลักเกณฑ์การควบคุมหลายเรื่อง เช่น การทิ้งกากกัมมันตภาพรังสี ยังไม่ชัดต้องรอดูกฎกระทรวง แม้กำหนดให้ต้องทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังไม่ใช่ EIA ยังมีข้อสังเกตอีกหลายประการที่ต้องจับตาดูในระยะยาว เป็นต้น
2 ปี สนช.กับการแต่งตั้ง สรรหา 48 คน ใน 12 หน่วยงาน 
ตลอดสองปี สนช.พิจารณาแต่งตั้ง สรรหา ผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานสำคัญต่างๆ ไปแล้วอย่างน้อย 12 หน่วยงาน และมีบุคคลอย่างน้อย 48 คน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานเหล่านี้ บุคคลสำคัญ เช่น
๐ อุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ได้รับการแต่งตั้งเป็น กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.) และล่าสุดได้รับแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
๐ ดิสทัต โหตระกิตย์’ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และสมาชิก สนช. ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
๐ พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด และสมาชิก สนช. ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการสูงสุด
๐ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญสอง ครั้งแรกคือ รัฐธรรมนูญ 2550 และ ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 (ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ) ได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
๐ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตสมาชิกสนช. ได้รับการแต่งตั้งเป็น คณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
การประชุมพิจารณากฎหมายในรอบปีที่ผ่านมา เฉลี่ยสนช. 170 คน ต่อฉบับ
ครบรอบ 2 ปีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากเดิมที่มีสมาชิกจำนวน 220 คน ตอนนี้สนช.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 ให้มีสนช.เพิ่มอีก 30 คน รวมทั้งสิ้น 250 คน 
โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลว่า สนช.ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการการปฏิบัติภารกิจที่มีความสำคัญ เพราะคาดว่าอีก 1 ปี 4 เดือน จะมีกฎหมายจำนวนมากเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. โดยเป็นกฎหมายตามนโยบาย 100 ฉบับ และกฎหมายที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้ต้องพิจารณาประมาณ 80 ฉบับ จึงจำเป็นต้องมีบุคคลที่มากขึ้น เพื่อให้มีความหลากหลาย รอบคอบ 
.
ภารกิจที่มากขนาดนี้ ชวนดูสถิติจำนวนการเข้าประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายของ 220 สนช. ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร
๐ นับตั้งแต่การประชุมสนช. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 – 19 สิงหาคม 2559
๐ ช่วงเวลาดังกล่าว สนช.ประชุมไปทั้งสิ้น 78 ครั้ง
๐ พิจารณากฎหมายไป 138 ฉบับ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย 67 ฉบับ
๐ เฉลี่ยต่อฉบับมีสนช. เข้าประชุม 170 คน ไม่เข้าประชุม 50 คน
๐ กฎหมายที่มีผู้ร่วมประชุมมากที่สุด 196 คน คือร่างพ.ร.บ.กำลังพลสำรอง ในวาระสามขั้นเห็นชอบประกาศใช้เป็นกฎหมาย
๐ กฎหมายที่มีผู้ร่วมประชุมน้อยที่สุด 129 คน คือร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ในวาระสามขั้นเห็นชอบประกาศใช้เป็นกฎหมาย
๐ การประชุมแต่ละครั้งต้องมีสนช.ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คืออย่างน้อย 110 คน ในทุกวาระการประชุม