มาตรา 44 กับอำนาจถอดถอน แต่งตั้ง โยกย้าย ระงับการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ภายใต้การปกครองประเทศของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. "มาตรา 44" แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มอบอำนาจให้ คสช. ออกคำสั่งอะไรก็ได้แบบเบ็ดเสร็จและครอบคลุมทุกเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ก็ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ไปแล้วอย่างน้อย 99 ฉบับ เป็นคำสั่งที่ออกใน พ.ศ. 2558 จำนวน 48 ฉบับ และคำสั่งที่ออกใน พ.ศ. 2559 (นับถึงเดือนสิงหาคม) จำนวน 51 ฉบับ ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน เช่น การออกคำสั่งเกี่ยวกับการบริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น การบริหารราชการในส่วนต่างๆ การแก้ไขปัญหานักเรียนตีกัน การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การจัดให้มีเรียนฟรี 15 ปี หรือการออกคำสั่งมาตรการและอุปถัมภ์ศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย เป็นต้น
25 สิงหาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 50/2559 ให้พักงาน ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และ เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดยยังคงให้อยู่ในตำแหน่งและไม่ได้ค่าตอบแทน ส่วนสาเหตุในการระงับการปฏิบัติหน้าที่นั้น เนื่องจากอยู่ในระหว่างการถูกตรวจสอบการทุจริต 
จากคำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ หรือพักงานผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายกเทศบาลเมืองบ้านไผ่ ครั้งนี้ iLaw จึงกลับไปทบทวนคำสั่งต่างๆ ทั้ง 99 ฉบับ พบว่า ในระยะ 2 ปี ที่ผ่านมา มีคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 อีกหลายฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับ แต่งตั้ง โยกย้าย และพักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ
มาตรา 44 กับคำสั่งหัวหน้า คสช.ในการปรับโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐ
คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เกี่ยวข้องในการปรับโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐ มีอย่างน้อย 6 ฉบับ ดังนี้ 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 6/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง มีการโยกย้ายข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาทั้งหมด 6 ตำแหน่ง 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2558 เรื่อง การให้ข้าราชการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ เป็นคำสั่งให้พิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรี สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 21/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยเป็นการโยกย้ายตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และโยกย้ายตำแหน่งผู้ช่วยรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 31/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ให้ กนกทิพย์ รชตะนันทน์ พ้นจากตําแหน่ง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และย้ายไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง และหน้าที่อื่นๆ
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 37/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ให้ จเร พันธุ์เปรื่อง พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และให้ดํารงตําแหน่ง ที่ปรึกษาประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และนัฑ ผาสุข พ้นจากตําแหน่ง ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา และให้ดํารงตําแหน่ง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต่อมามีคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งนัฑ ผาสุขในการดำรงตำแหน่งเลขาธิกการสภาผู้แทนราษฎร ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 38/2559 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 34/2559 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ให้ณรงค์ รัตนานุกูล พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการ ป.ป.ส. และให้ดํารงตําแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษ ในสํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี, ให้ศิรินทร์ยา สิทธิชัย พ้นจากตําแหน่ง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ป.ป.ส., ให้พสิษฐ์ อัศววัฒนาพร พ้นจากตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และให้ดํารงตําแหน่ง ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สํานักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม, ให้วัลลภ นาคบัว พ้นจากตําแหน่ง รองผู้อํานวยการสํานักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานกิจการยุติธรรม
มาตรา 44 กับคำสั่งหัวหน้า คสช. ในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐ
คำสั่งหัวหน้า คสช. ในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างน้อย 10 ฉบับ ดังนี้
คำสั่งหัวหน้า คสช. (เฉพาะ) ฉบับที่ 1/2558 เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้พลตรี อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 12/2558 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง  ให้นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558 เพื่อให้ครบกำหนดวาระพร้อมกับกรรมการอีก 4 คน
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 32/2558 เรื่อง การแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม () ให้ สาลินี วังตาล ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีวาระ 2 ปีนับตั้งแต่มีคำสั่ง
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 35/2558 เรื่อง แต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ)
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 47/2558 เรื่อง แต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แทน เทวินทร์ วงศ์วานิช ที่ได้ลาออกไป
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 48/2558 เรื่อง แต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ให้สมภพ มานะรังสรรค์ ศิริชัย เลิศศิริมิตร บุญธรรม ทิพย์ประสงค์ และศมน ชคัตธาดากุล พ้นจากตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) และให้กอบศักดิ์ ภูตระกูล กิตติยา โตธนะเกษม พันเอก เจียรนัย วงศ์สอาด และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ ดำรงตำแหน่งงกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ)
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 12/2559 เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ให้
1. ยุทธนา วิริยะกิตติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
2. สมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
3. สมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี
4. วีรพงศ์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ย้ายไปรับตำแหน่งตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษที่จัดให้มีขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี
และให้
1. ธวัช สุระบาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
2. เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
3. วิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี
4. สุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ตรวจราชการกระทรวง กระทรวงมหาดไทย รักษาการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
และให้ศรศักดิ์ แสนสมบัติ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจการกระทรวง กระทรวงคมนาคม และให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 17/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ให้ นายวิมล จันทรโรทัย ตําแหน่ง อธิบดีกรมประมง ขาดจากตําแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม เพื่อย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรีตามกรอบอัตรากําลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษที่จัดให้มีขึ้นในสํานักนายกรัฐมนตรี และให้ นายอดิศร พร้อมเทพ พ้นจากตําแหน่ง รองอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 20/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ให้
1. ยุทธนา วิริยะกิตติ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
2. สมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
3. สมศักดิ์ ปะริสุทโธเหมทานนท์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี
4. วีรพงศ์ แก้วสุวรรณ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ไปดำรงตำแหน่งไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
และให้
1. ธวัช สุระบาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
2. เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
3. วิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี
4. สุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ พ้นจากผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 24/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง  ให้พลตํารวจเอก ชัยยะ ศิริอําพันธ์กุล พ้นจากตําแหน่ง จเรตํารวจแห่งชาติ สังกัดสํานักงานตํารวจแห่งชาติ และให้โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนดํารงตําแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
มาตรา 44 กับคำสั่งหัวหน้า คสช. ในบทบาทตรวจสอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ
หัวหน้าคสช. ได้ออกคำสั่งประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือที่มักใช้ชื่อว่า ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม อย่างน้อย 6 ครั้ง คือ 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 16/2558  เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ และการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว จำนวน 45 คน ประกอบด้วย ข้าราชการ 24 คน หน่วยงานอื่นของรัฐ 1 คน นายกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 14 คน นายกเทศมนตรี 3 คน ปลัดและรองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 คน
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 19/2558  เรื่องแต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น โดยคำสั่งฉบับนี้ได้มีการสั่งพักงานเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 60 คน ประกอบด้วย  ข้าราชการ 24 คน นายกองค์การบรหารส่วนจังหวัด 7 คน นายกและรองนายกองค์การบรหารส่วนตําบล 17 คน  นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล 18 คน ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 คน
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2559 เรื่องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตวรจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 จำนวน 59 คน ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา 2 คน ข้าราชการพลเรือน 2 คน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 44 คน ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 คน กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 7 คน
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 43/2559  เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 4 จำนวน 60 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา 2 คน ข้าราชการพลเรือน 8 คน ผู้บริหารและผู้มีตําแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 40 คน ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 คน
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่  44/2559 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 5 ให้นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคําสั่งโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 50/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 6 ให้หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราวโดยยังไม่พ้นจากตําแหน่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคําสั่งโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในระหว่างนี้ และให้นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อําเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในเทศบาลเมืองบ้านไผ่เป็นการชั่วคราวโดยยังไม่พ้นจากตําแหน่งจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคําสั่ง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในระหว่างนี้
จากการทบทวนคำสั่งของหัวหน้า คสช. พบว่ามีการใช้คำสั่งให้การโยกย้ายข้าราชการทั้งหมด 6  ฉบับ คำสั่งในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ทั้งหมด 10 ฉบับ และคำสั่งในการตรวจสอบการทุจริตทั้งหมด 6 ฉบับ คำถามที่น่าสนใจคือ ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี หัวหน้า คสช. ได้มีการออกคำสั่งโดยอาศัยมาตรา 44 ในการโยกย้าย พักงาน และตรวจสอบทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ มากถึง 22 ฉบับ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งต่างๆ เหล่านี้มากมาย ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น นั้นเป็นอำนาจที่ชอบธรรมหรือไม่ และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการชี้แจงว่ากฎหมายที่ใช้กันในระบบปกติ มีข้อบกพร่องในการตรวจสอบการทุจริต หรือโยกย้าย พักงานเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไร จึงต้องใช้อำนาจพิเศษเช่นนี้