โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ความหวัง” หรือ “หายนะ”?

สำหรับประเทศไทย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะเป็น “ความหวัง” หรือ “หายนะ”?
ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน บอกกับเราว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นความหวังให้กับประเทศนี้ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจุบันแหล่งผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศมาจากก๊าซธรรมชาติถึงกว่าร้อยละ 70 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงาน หากต้นกำเนิดพลังงานในส่วนนี้ขาดแคลน เพื่อเพิ่มความมั่นคง การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงจำเป็น เพราะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ต้นทุนการผลิตต่ำและคงที่ สามารถเดินเครื่องตลอดเวลาเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าพื้นฐาน ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อีกด้านหนึ่งจำนวนผู้คนที่ต้องอพยพหลายแสนคน เสียชีวิตอีกหลายหมื่นคน และผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่เตือนใจผู้คนว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ไม่ว่าที่ไหนในโลกมันคือหายนะ จากการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย แต่ละพื้นที่ต่างมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และมีชีวิตผู้คนจำนวนมากอยู่ในนั้น ดังนั้นถ้าเดาอนาคตได้ เราแทบจะไม่ต้องถกเถียงกันว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความคุ้มค่ากับการลงทุนจริงหรือไม่ 
กว่าห้าทศวรรษของแนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และก็ไม่ต่ำกว่าห้าทศวรรษของการต่อต้านคัดค้านโครงการเหล่านี้ รัฐบาลไทยทั้งเดินหน้าทั้งหยุดโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สลับไปมา หนึ่งก็ด้วยการต่อต้านในพื้นที่ต่างๆ อีกหนึ่งก็คือการเปลี่ยนทางเลือกใช้พลังงานในระดับโลก ตอนนี้ยุคของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แผนการจัดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ถูกอนุมัติอีกครั้ง
แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย   
แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2509 เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เสนอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อศึกษาความเหมาะสม สถานที่ตั้ง และรูปของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บริเวณอ่าวไผ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี หลังการสำรวจและเตรียมการต่างๆ ในปี 2515 มีคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 166 ประกาศให้บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จนกระทั่งในปี 2521 รัฐบาลอนุมัติให้เปิดประมูล แต่สุดท้ายต้องเลื่อนโครงการออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากเกิดการคัดค้านจากประชาชน  
แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2549 รัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2550-2564 (PDP2007) ซึ่งกำหนดให้มีสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในปี 2563 และ 2564 จำนวนโรงละ 1,000 เมกกะวัตต์  นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงาน ให้จัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) และเห็นชอบแผนการดำเนินงานและวงเงินงบประมาณในช่วงเตรียมเริ่มโครงการ 3 ปีแรกระหว่างปี 2551-2553
คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการประสาน
เพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์
 
คณะอนุกรรมการ ขอบเขตการดำเนินงาน
ด้านระบบกฎหมาย ระบบกำกับ และข้อผูกพันระหว่างประเทศ ศึกษาและปรับปรุงกฎหมายด้านความปลอดภัยระดับสากลและพันธกรณีต่างๆ เปรียบเทียบกับกฎหมายไทย ฯลฯ
ด้านโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ การถ่ายทอด พัฒนาเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ สำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมและมาตรฐานเพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐานนิวเคลียร์, อบรมบุคลากรจากต่างประเทศ ฯลฯ
ด้านความปลอดภัยและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ด้านการสื่อสารแบะการยอมรับของสาธารณะ สำรวจทัศนคติของประชาชน, เผยแพร่ความรู้, จัดกิจกรรมพิเศษพัฒนาชุมชน ฯลฯ
วางแผนการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์  ศึกษาเทคนิค และความปลอดภัย, สำรวจและเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า, ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ในปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP2010) โดยกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5 โรง ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 1,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งตามแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกตามแผนนี้จะสร้างเสร็จในปี 2563 อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะระเบิดทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องถูกเลื่อนออกไป



สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้
านิวเคลียร์ ตามการศึกษาของบริษัทเบิร์นแอนด์โรส์ ถูกกำหนดไว้ 6 จังหวัด รวม 14 จุด ต่อมาราวเดือนกรกฎาคม 2553 กฟผ.ได้รายงานการศึกษาสถานที่ตั้งซึ่ง ใช้องค์ประกอบพิจารณา 3 ด้าน คือ ด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป้าหมายหลักมี 2 จุดคือ ที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี และ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์

พื้นที่เหมาะกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 อันดับ
1) อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี
 
2) ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์
 
3) ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด
 
4) ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี
 
5) ปากน้ำละแม อ.ละแม จ.ชุมพร

ปัจจุบัน หลังรัฐประหารปี 2557 ประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP2015) โดยในแผนมีการกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 โรง ในปี 2569 และ 2570 จำนวนโรงละ 1,000 เมกกะวัตต์

 

แผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

 

ปี แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) จำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
2550 PDP2007 ต้นฉบับ 4 โรง
  PDP2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 2 โรง
2553 PDP2010 ต้นฉบับ 5 โรง
  PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 4 โรง
  PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 3 โรง
2557 PDP2014 ต้นฉบับ 2 โรง

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สร้างไม่ง่าย จะสร้างต้องเตรียมการมากกว่า 10 ปี
ถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องเตรียมการมากกว่า 10 ปี ต้องปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศ การลงสัตยาบันในกฎหมายระหว่างประเทศ  ในประเทศต้องมีหน่วยงานกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์ ในทางสากลต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ IAEA (The International Atomic Energy Agency)  และที่สำคัญต้องสร้างการยอมรับจากประชาชน สันติ โชคชัยชำนาญกิจ ผู้ประสานงานโครงการจับตาพลังงาน อธิบายปัจจัยในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
สำหรับกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.).กำลังพิจารณาอยู่ เมื่อดูเนื้อหาอาจกล่าวได้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำให้เห็นเค้าลางของการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต เนื่องจากกำหนดให้มีคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งให้คำแนะนำในการออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานต่างๆ และให้ความเห็นชอบการตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตามในความเห็นของ สันติ ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ ก็เป็นเพียงส่วนเดียว หากจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศไทยยังต้องออกกฎหมายอีกหลายฉบับ โดยปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์ในประเทศไทยยังล้าหลังอยู่มาก  มีเพียง พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 ซึ่งให้เพียงศึกษา และใช้มานาน ยังไม่มีการปรับปรุง
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สร้างไม่ง่าย ต้องให้ประชาชนยอมรับ

การอนุมัติแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งใหม่ในปี 2550 ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ต่างๆ สันติเล่าว่า การคัดค้านเริ่มจาก เอ็นจีโอด้านพลังงานที่ศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตตั้งขบวนการจับตานิวเคลียร์ โดยมีการศึกษาพื้นที่ต่างๆ จำนวน 17 จุด ใน 8 จังหวัด มีการลงพื้นที่ไปถามชาวบ้านว่ารู้เรื่องการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไหม ก็พบว่าชาวบ้านไม่ทราบว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ จึงนำเอาความรู้ไปเผยแพร่ให้ชาวบ้านเพื่อให้มีข้อมูลขึ้นมาคัดค้าน
กว่า 10 ปี ของการรื้อแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่ จะเห็นชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลุกขึ้นมารวมตัวกันคัดค้านอยู่ เป็นระยะๆ เช่น เครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี, กลุ่มเครือข่ายรักชุมพร จังหวัดชุมพร, กลุ่มชาวบ้านอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และ กลุ่มชาวบ้านตำบลพนมรอก จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น
เหตุผลร่วมในการคัดค้านคือ 1) การให้ข้อมูลด้านดีเพียงด้านเดียวของภาครัฐต่อประชาชน ไม่พูดถึงผลกระทบด้านลบ ดังจะเห็นจากการลงพื้นที่แต่ละจังหวัดของกระทรวงพลังงาน เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้วยการจัดอบรม ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ โดยปัจจุบันมีเป้าหมายจังหวัดยุทธศาสตร์ 9 จังหวัดได้แก่ อุบลราชธานี ชัยนาท ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี และจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับจังหวัดข้างต้นอีก 20 จังหวัด
2) การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมตัดสินใจสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ที่ผ่านมาการตัดสินใจในโครงการพัฒนาต่างๆ มาจากรัฐ เมื่อตัดสินใจแล้วจึงบอกให้ประชาชนทำตาม ซึ่งหลายโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน ชัดเจนผ่านคำแถลงเครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี ว่า
“อุบลราชธานี ยังมีเขื่อนที่ผลิตไฟฟ้าสองแห่ง คือ โรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูล และโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งสร้างผลกระทบแก่ชาวบ้าน…ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพมากพออยู่แล้ว  และรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จนถึงทุกวันนี้”
แม้ว่าจะมีความคืบหน้าจากการออกกฎหมายใหม่ และการเดินหน้าประชาสัมพันธ์กับชุมชน แต่สำหรับ สันติ ยังคงพูดยากว่าคืบหน้าไหม แผนการพัฒนาพลังงานระบุกำลังสำรองเกินความจำเป็น สถานการณ์ตอนนี้ภาครัฐอยากผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า ส่วนเรื่องนิวเคลียร์มีแค่ไปประชาสัมพันธ์ บางจังหวัดไม่ใช่พื้นที่ก็มีการไปประชาสัมพันธ์  
แนวโน้มโลกต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงใหม่ลด โรงเก่าหาย
หลังเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2554 ส่งผลให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ เริ่มทบทวนนโยบายการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ ขณะเดียวกันหลายประเทศก็เกิดการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนกดดันให้ยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศเยอรมันเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่ประกาศปิดการเดินเครื่อง 9 โรง จากที่มีอยู่ 17 โรง และจะปิดเพิ่มอีกภายในปี 2565 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็มีแผนจะเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในปี 2577 ขณะที่ประเทศอิตาลีและลิธัวเนีย ประชาชนส่วนใหญ่บอกผ่านการประชามติว่า ไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในเอเชียผู้นำของประเทศไต้หวันและญี่ปุ่นต่างเรียกร้องให้ลดการพลังงานจากนิวเคลียร์อย่างเร็วที่สุด
ในทางตรงกันข้าม ประเทศจีนก็กำลังเดินหน้าก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ถึง 32 แห่ง รวมทั้งในเกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซียเองก็กำลังพิจารณาเพื่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มเติม อย่างไรก็ดีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กำลังเดินเครื่องอยู่ใน 31 ประเทศขณะนี้ ในอีก 10 -15 ปีข้างหน้าจะมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ประมาณ 100 แห่งที่จะต้องถูกปิด
สำหรับประเทศไทยประสบการณ์จากต่างประเทศ ต่างถูกนำมาเป็นข้อสนับสนุนในการเคลื่อนไหวของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ตัวอย่างในด้านความปลอดภัย ภาครัฐได้ให้ข้อมูลว่าอุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะการสร้างต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ดังตัวเลขโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 400 กว่าโรงที่ยังคงเดินเครื่องอยู่
ขณะอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รุนแรงเกิดขึ้นเพียงสองครั้งคือที่ เชอร์โนเบิล และฟูกูชิมะ แม้จะเป็นส่วนน้อยแต่ก็ส่งผลกระทบต่อผู้คนมหาศาลที่ต้องอพยพ บาดเจ็บ ล้มตาย รวมทั้งความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่ประเมินค่าไม่ได้ 
ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นความหวังหรือไม่ คงไม่ใช่แค่การสร้างโรงไฟฟ้าสำเร็จและไร้อุบัติเหตุร้ายแรง แต่ต้องเป็นร่วมกันวางแผนอนาคตด้านพลังงานของประเทศร่วมกันจากทุกภาคส่วน และต้องไม่มีใครได้รับความไม่เป็นธรรมเหมือนดังเช่นโครงการพัฒนาที่ผ่านมา 
อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนเบิล ประเทศยูเครน
ในวันที่ 26 เมษายน 2529 เป็นอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก สาเหตุมาจากความผิดพลาดทางเทคโนโลยี และความผิดพลาดของผู้ควบคุมการเดินเครื่อง ทำให้แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดระเบิดอย่างรุนแรง ไฟลุกไหม้อยู่เป็นเวลา 10 วัน สารกัมมันตภาพรังสีในเตาปฏิกรณ์ฟุ้งขึ้นไปในอากาศและถูกพัดพาไปหลายพันกิโลเมตร พื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรถูกประกาศเป็นเขตห้ามอยู่อาศัย โดยมีประชาชน 2-4 แสนคนที่ถูกอพยพออกไป และไม่สามารถกลับมาได้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน
เมื่อปี 2549 องค์การอนามัยโลกเปิดเผยข้อมูลว่า มีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเชอร์โนบิลรวมประมาณ 9,000 คน แม้พื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรจะยังคงเป็นเขตหวงห้าม แต่พื้นที่โดยรอบที่ปนเปื้อนด้วยรังสีอันตรายยังมีผู้อยู่อาศัยกว่า 7 ล้านคน และส่วนใหญ่ในจำนวนนี้กำลังทนทุกข์ทรมานกับโรคต่างๆ
 
อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น
วันที่ 11 มีนาคม 2554 แผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ บริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกของญี่ปุ่น นำพาคลื่นยักษ์สึนามิสูง 14 เมตร ซัดเข้าชายฝั่ง สายไฟฟ้าเสียหายยับเยินทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เกิดขัดข้องที่ระบบหล่อเย็นฉุกเฉิน จนนำมาสู่การระเบิดของอาคารเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ปลดปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีจำนวนมากสู่บรรยากาศ รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศสั่งอพยพประชาชนทั้งหมดในพื้นที่ 20 กิโลเมตร รอบโรงไฟฟ้า มีประชาชนถึง 116,000 คนที่ถูกอพยพจากพื้นที่ดังกล่าว  และอีกกว่า 80,000 คน ตัดสินใจอพยพตาม เนื่องจากพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีมีมากกว่าที่รัฐบาลประกาศ
สารกัมมันตภาพรังสีที่แพร่ออกมา ทำให้ผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์ และการประมงเสียหายจำนวนมาก และมีการตรวจพบสารปนเปื้อนรังสีในผลผลิตทางเกษตรแพร่กระจายออกไปไกลถึง 400 กิโลเมตร รวมทั้งโคเนื้ออีกหลายแห่ง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล