พื้นที่ป่าสงวน สร้อยทองที่คอ เกี่ยวยังไงกับ สนช. และ พ.ร.บ.แร่?

ร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ตั้งเป้าให้มีเขตทรัพยากรแร่ และอำนวยความสะดวกให้เอกชนขอสัมประทาน หากร่างผ่านการขอสัปทานทำเหมืองแร่จะง่ายขึ้นมาก และพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร ส่วนหนึ่งเพราะร่าง พ.ร.บ.นี้อนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในพื้นที่หวงห้าม อย่างป่าสงวนหรือที่ ส.ป.ก. ได้

ร่าง พ.ร.บ.แร่ เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว อีกไม่นานคงจะประกาศใช้เป็นกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.นี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่ที่มีแผนจะทำการขุดแร่ เพราะกฎหมายนี้จะทำให้การอนุญาตสัมปทานแร่ง่ายขึ้นมาก สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่ เรามาพูดคุยกับเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ผู้ศึกษาติดตามผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ มานาน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง พวกเขาน่าจะให้คำตอบได้ดี

        

กฎหมายตั้งเป้าอำนวยความสะดวกให้นายทุน

เลิศศักดิ์ เล่าถึงเรื่องที่น่าห่วงในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ร่างกฎหมายแร่ฉบับนี้คนร่างต้องการบรรลุเป้าหมายสามเรื่อง คือ  หนึ่ง ต้องการเขตทรัพยากรแร่ หรือ Mining Zone คือ ประกาศเขตการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ที่เคยหวงห้ามไว้ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าภายใต้กฎหมายป่าไม้ฉบับต่างๆ ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะมีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศแค่ไหนก็ตาม จะต้องให้ความสำคัญกับการประกาศให้เอกชนประมูลเพื่อสำรวจและทำเหมืองแร่ก่อนการสงวนหวงห้าม ขณะที่ตามกฎหมายเดิมกำหนดว่า จะต้องคำนึงถึงการสงวนหวงห้ามเป็นอันดับแรก ก่อนนำมาเปิดให้สัมปทานแร่

สอง ต้องการลดขั้นตอนการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ให้สั้นลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความรวดเร็วต่อเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน

สาม พยายามทำให้หน่วยงานในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่เหลือหน่วยงานเดียว หรือ ทำเป็น One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้เอกชนไม่ต้องยุ่งยากในการเดินเรื่องประมูลหรือขอสัมปทานกับหลายหน่วยงาน และเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เพราะใช้เวลานานและเชื่องช้า ไม่สะดวก ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ลงทุน ต้องการให้เป็นหน่วยงานเดียวที่มีสิทธิ  มีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการแร่

เตรียมเฉือน ที่ป่าสงวน-ส.ป.ก. ทำเหมือง พร้อมสำรวจกว่าล้านไร่

เลิศศักดิ์ ช่วยอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นว่า จากเป้าหมายสามข้อข้างต้นที่จะบรรจุในร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ เมื่อร่างกฎหมายนี้ถูกบังคับใช้จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

เขาเล่าว่า จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ ในพื้นที่ต่างๆ ในวงกว้างหนักยิ่งขึ้น ตอนนี้มีพื้นที่ที่รอกฎหมายแร่ฉบับใหม่ผ่านเยอะมาก เช่น พื้นที่ที่บริษัททุ่งคำ ขอประทานบัตรเอาไว้แล้วประมาณ 106 แปลง แปลงละประมาณ 300 ไร่  บางแปลงอาจจะน้อยกว่า แต่รวมๆ แล้วก็ประมาณ 30,000 ไร่ ที่อยู่รายรอบเหมืองทองคำภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอยู่ทุกวันนี้

พื้นที่ขอประทานบัตรเหล่านี้ติดปัญหาตรงที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอุทยานแห่งชาติ  ที่ดินประเภท ส.ป.ก. สำหรับการทำเกษตร และพื้นที่ต้นน้ำลำธารตามมติ ครม. ซึ่งจะขออนุมัติ หรืออนุญาตแปลงใหญ่ยาก เพราะติดขัดกฎหมายอื่น ที่ผ่านมาจึงได้นำร่องทำเหมืองทองคำที่ภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอนก่อน แต่หากกฎหมายแร่ฉบับใหม่ผ่านออกมาบังคับใช้ รับรองได้ว่าพื้นที่เหล่านี้ทั้งพื้นที่ป่าและ ส.ป.ก. จะถูกกันออกมา ให้บริษัททุ่งคำขยายเหมืองต่อไปได้

ส่วนที่เหมืองทองอัคราฯ บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลกก็เช่นกัน มีพื้นที่ที่อัคราฯ ขออาชญาบัตรพิเศษ (หมายถึง หนังสือที่ออกให้เพื่อผูกขาดสำรวจแร่ภายในเขตที่กำหนด – ผู้เขียน) ไว้แล้วเกือบหนึ่งล้านไร่ และยังมีที่จะขออาชญาบัตรพิเศษเพิ่มอีกหลายแสนไร่ เช่น พื้นที่แหล่งโชคดี ประมาณ 10,000 กว่าไร่  และพื้นที่แหล่งสุวรรณ ประมาณ 10,000 กว่าไร่เช่นเดียวกัน  ซึ่งอยู่ในเขตรอยต่อป่าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง  และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทอง หากกฎหมายแร่ฉบับใหม่ผ่านออกมาบังคับใช้ ก็จะมีการเฉือนพื้นที่ป่าอุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวง  และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทอง เอามาเป็นไมนิ่งโซนสำหรับบริษัทอัคราฯ ทำเหมืองแร่ทองคำต่อไป

นอกจากนี้พื้นที่หมู่บ้านคลิตี้ที่เผชิญปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนแพร่กระจายจนทำให้ชาวบ้านที่นั่นต้องเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมาก และศาลปกครองก็ได้พิพากษาให้ชดใช้ด้วยการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และจ่ายค่าเสียหายแก่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากมายนัก บริเวณนั้นเป็นเขตที่มีแร่ตะกั่วที่สมบูรณ์ที่สุดในไทย 77 ตารางกิโลเมตร เกือบ 5 หมื่นไร่  ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงูแล้ว ก็จะถูกกันออกเป็นไมนิ่งโซนเช่นกัน ถ้ากฎหมายแร่ฉบับใหม่ผ่าน

ถึงได้มีข้อถกเถียงมาตลอด ระหว่างที่จะฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำสั่งศาล เพื่อให้ชาวบ้านมีชีวิตอยู่ต่อในสภาพแวดล้อมที่ดีได้ กับอพยพย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ทรัพยากรแร่ตะกั่วตรงนี้ไม่ดีกว่าหรือ จะได้พัฒนาพื้นที่นี้ทำเป็นเหมืองตะกั่วต่อไปในอนาคต

“แทบจะทุกพื้นที่ในประเทศไทย ที่มีการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ขนาดใดๆ ก็ตาม ถ้าติดขัดว่าเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมายอื่นก็สามารถเฉือนพื้นที่เหล่านั้นเป็นเขตแหล่งแร่ได้เช่นเดียวกัน” เลิศศักดิ์เล่า

ถ้าร่างฯ นี้ผ่านจะเปิดทางสัมปทานครั้งมโหฬาร

ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวอีกว่า จากการคัดค้านที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และกฤษฎีกาก็แก้ว่า ไมนิ่งโซนไม่ได้ประกาศออกมาง่ายๆ หรอก เพราะได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับนโยบายบริหารจัดการแร่ไว้แล้ว โดยให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ประกาศเขตศักยภาพแร่ประเภทต่างๆ เพื่อกันพื้นที่สงวนออกจากการเป็นไมนิ่งโซนแล้ว แต่ข้อเท็จจริงก็ต้องมาดูกันว่าการประกาศดังกล่าว จะสามารถกันพื้นที่เหล่านั้นออกจากการเป็นไมนิ่งโซนได้หรือไม่

ตามความเข้าใจของผม เจตนาของกฎหมายในมาตรา 10, 11, 12 มีสภาพบังคับชัดเจนว่าเมื่อพบแร่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพจะทำเหมืองได้ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกเลยคือต้องประกาศพื้นที่เหล่านั้นเป็นไมนิ่งโซนเพื่อนำมาเปิดให้เอกชนประมูล มันไม่ได้มีสภาพดุลพินิจว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยฯจะประกาศหรือไม่ก็ได้ ถ้าไม่ประกาศ เอกชนก็จะอ้างบทบัญญัติตามมาตรานี้บังคับให้ประกาศอยู่ดี

เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันก็คือ เรื่องของพื้นที่ป่าไม้ในประวัติศาสตร์ไทยนี่ก็น่าสนใจ  ตรงที่เมื่อก่อนและจนถึงปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ไทยมีขึ้นเพื่อสงวนหวงห้ามพื้นที่เอาไว้สำหรับการเปิดสัมปทานหน้าดิน คือ ตัดไม้เพื่อค้าไม้ เป็นหลัก หากร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ผ่านและบัญญัติเรื่องไมนิ่งโซนเอาไว้ก็จะกลายเป็นว่าพื้นที่ป่าไม้ของเรากำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ คือ จากที่เก็บพื้นที่เอาไว้สำหรับการสัมปทานหน้าดิน ก็จะเปลี่ยนเป็นการสัมปทานเปิดหน้าดินขุดควักกันอย่างมโหฬารทีเดียว

ด้าน พรทิพย์ หงษ์ชัย หรือ แม่ป๊อป ชาวบ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดเลยมานานหลายปี เล่าว่า เรื่องร่าง พ.ร.บ.แร่ ก็เคยยื่นหนังสือไปที่กฤษฎีกาให้แก้ไขตั้งนานแล้ว แต่ร่างที่ผ่าน สนช. ก็ไม่ได้แก้ไขอะไร ยังเหมือนเดิม เช่น เรื่องการอนุญาตให้พื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเหมืองเป็น ‘เขตแหล่งแร่’ ไม่เว้นแม้พื้นที่หวงห้าม อันนี้เอาเปรียบชาวบ้าน เราเคยเสนอว่า เมื่อสำรวจพบแหล่งแร่ ให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการพื้นที่ได้ด้วย แต่ก็ไม่มีการแก้ไขตามนี้

“ขนาด ในป่าสงวนก็เฉือนเอาไปได้ ต่อไปแค่ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็สามารถอนุมัติได้แล้ว ไม่ต้องถึงระดับอธิบดี ซึ่งจะง่ายมาก.. ร่างพ.ร.บ.นี้จะกระทบหลายส่วนโดยเฉพาะเหมืองโปแตส ซึ่งมีพื้นที่ทั่วอีสาน ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกติ เราก็มีสิทธิมีเสียง แสดงความคิดเห็นได้” แม่ป๊อปกล่าว

ทองคำหนัก 1 บาท ต้องระเบิดหินไม่ต่ำกว่า 10 ตัน!

เมื่อได้ฟังเลิศศักดิ์และแม่ป๊อปเล่ามาถึงตรงนี้ เราได้รับรู้ข้อมูลมากมายเกี่ยวผลกระทบของ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เป้าหมายของการทำเหมือง อาจจะไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร

เลิศศักดิ์บอกว่า ก็เหมือนกับเรื่องอื่นทั่วๆ ไปแหละ  ถ้าไม่อยู่ใกล้บ้านตัวเองก็ไม่รู้สึกหรอก ถ้าไม่ได้กลิ่นเผาขยะเหม็นคลุ้งจากสารพิษที่เกิดจากการหลอมพลาสติก หรือสารมีพิษอื่นจากบ่อขยะข้างบ้าน แต่ละคนก็จะดำรงชีวิตแบบปรกติสุขไม่ทุกข์ร้อนอะไรต่อไป

เรื่องแร่ยิ่งไกลไปใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่คือผู้บริโภคขั้นสุดท้ายในห่วงโซ่การผลิต ส่วนแร่ดิบที่เป็นต้นทางของห่วงโซ่การผลิตมันไกลบ้านเขา ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลยไม่ตั้งคำถามว่า ที่มาของผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาใช้ในชีวิตประจำวันทำมาจากอะไร มีกระบวนการผลิตอย่างไร มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นจะตั้งคำถามเกี่ยวกับมัน

“ยากนะที่จะสร้างความเข้าใจ เช่น ทองคำน้ำหนักหนึ่งบาทที่ห้อยคอเราอยู่นี้ต้องระเบิดหินไม่ต่ำกว่า 10 ตัน และต้องใช้ไซยาไนด์แยกแร่ทองคำไม่ต่ำกว่า 5 ลิตร และถ้าต้องบดหินปีละหลายแสนตันต้องใช้ไซยาไนด์เท่าไหร่”

คสช. ห่วงตัวเลขเศรษฐกิจมากกว่าสิทธิชุมชน

เมื่อถามว่า แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหยุดยั้งหรือแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นี้? เขาตอบว่า คงสุดทางแล้ว และเขาคงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องอะไรกับการตั้งกรรมาธิการแปรญัตติอะไรใน สนช. แต่เมื่อแก้ไม่ได้ในรัฐบาลนี้  ในรัฐบาลประชาธิปไตยเราจะพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ไขต่อไป

ส่วนแนวคิดของ คสช. ต่อเรื่องสิทธิชุมชนนั้น เลิศศักดิ์มองว่า คสช. เป็นห่วงอยู่เรื่องเดียว ว่าจะทำให้เห็นว่ารัฐประหารก็สามารถทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจสูงขึ้นได้ เขาเลยฟังแต่ข้อมูลของพ่อค้านักลงทุนและข้าราชการ แล้วก็ละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ทุกอย่างที่ขัดขวางการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่  อย่างเช่นการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3 และ 4/2559 (เกี่ยวกับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ – ผู้เขียน)

ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา บอกอีกว่า หลักของกฎหมายแร่ฉบับนี้ก็คล้ายๆ กับคำสั่งหัวหน้า คสช. ประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยคำสั่งของหัวหน้าคสช.โดยตรง เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุม กำกับ ดูแล ติดตามและตรวจสอบผลกระทบและธรรมาภิบาลทั้งหมดให้กลไกมันพิการทำงานไม่ได้

ไฟล์แนบ