ลักษณะกฎหมายในยุคเผด็จการทหาร คสช.

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
หนึ่งสัปดาห์เล็กน้อย  หลังจากที่เข้ามาเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหารยึดอำนาจไปจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  โดยกระทรวงคมนาคมก็เร่งหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อปลดล็อก EIA  ให้มีระยะเวลาการพิจารณาให้ความเห็นชอบสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้  โครงการนำร่องที่เสนอออกมาก็มีรถไฟทางคู่ 5 สาย  รถไฟฟ้าและมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด  โดยจะขอใช้การพิจารณา EIA แบบเร่งรัดช่องทางพิเศษ (EIA Fast Track)  ให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน  เพื่อสร้างผลงานให้กับภาคธุรกิจทั้งที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนรัฐประหารได้เห็นผลเชิงประจักษ์ว่าระบอบเผด็จการสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยในรัฐบาลยิ่งลักษณ์และทักษิณเสียอีก  เพราะใช้อำนาจจากปลายกระบอกปืนตัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำและพิจารณา EIA ออกไปเสีย
แต่โครงการชิมลางที่ได้รับการยกเว้นการพิจารณาให้ความเห็นชอบ EIA   ตามกระบวนการและขั้นตอนปกติของกฎหมายสิ่งแวดล้อม  หรือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535  กลับเป็นโครงการศูนย์การแพทย์ศิริราช  ที่ คสช. ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 91/2557  เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557  เรื่อง การก่อสร้างอาคารตาม “โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ พร้อมระบบสาธารณูปโภค” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  เพื่อยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายหลายฉบับให้สามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารได้  โดยยกเว้นข้อบังคับของ  หนึ่ง-กฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522  และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในหมวด 1 ลักษณะของอาคาร เนื้อที่ว่างของภายนอกอาคารและแนวอาคาร  สอง-ข้อ 31 ของกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556  ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับที่ดินประเภท ศ.1 (ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย)  การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทนี้ ให้มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (F.A.R.)  ไม่เกิน 3:1   สาม-ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ในท้องที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535  โดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับนี้ได้กำหนดให้พื้นที่ก่อสร้างโครงการดังกล่าว อยู่ในบริเวณที่ 2  ซึ่งห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอื่นใด ยกเว้นอาคารทางศาสนา อาคารที่ทำการของทางราชการ และอาคารที่พักอาศัยที่มิใช่ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว หอพัก หรืออาคารชุด โดยให้มีความสูงไม่เกิน 16 เมตร   สี่-หมวด 5 แนวเขตอาคารและระยะต่าง ๆ  ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544
และห้า-ในส่วนของการจัดทำรายงาน EIA  ได้กำหนดให้การพิจารณาในกระบวนการหรือขั้นตอนใดที่ไม่สามารถดำเนินการได้และจะทำให้การดำเนินโครงการฯดังกล่าวต้องล่าช้าออกไป  ก็ให้ได้รับยกเว้นการพิจารณาในขั้นตอนนั้นได้
โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ฯดังกล่าว  เป็นอาคารศูนย์การแพทย์จำนวน 1 หลัง  ขนาดความสูง 25 ชั้น  และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น  เพื่อใช้เป็นศูนย์บริการทางการแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ  ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556  อนุมัติในหลักการโครงการและสนับสนุนด้านงบประมาณให้โครงการแล้ว  แต่พื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารค่อนข้างคับแคบบนพื้นที่ 3,017 ตารางเมตร (ประมาณ 1.88 ไร่)  จึงจำเป็นต้องสร้างอาคารสูงเพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยอย่างเพียงพอ  คสช. จึงออกประกาศคำสั่งยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้พื้นที่คับแคบในการสร้างอาคารสูงให้เป็นกรณีเร่งรัดช่องทางพิเศษเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดินแก่บรรดาพวกหมอที่สนับสนุนรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลย่ิงลักษณ์ออกไปได้
คล้อยหลังคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558  เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558  โดยการเพิกถอนสภาพที่ดินตามแนวชายแดนอันเคยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชน  ที่สาธารณประโยชน์ใช้สอยร่วมกันของชุมชนและพลเมือง  พื้นที่ป่าไม้ประเภทต่าง ๆ  พื้นที่ ส.ป.ก.  และที่ดินใช้สอยประเภทอื่น ๆ  ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุเพื่อนำไปจัดสรรเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก  มุกดาหาร  สระแก้ว  สงขลา  ตราดและหนองคาย  รวมทั้งให้บรรดาที่ดินที่ตกเป็นที่ราชพัสดุตามคำสั่งนี้ และที่ดินอื่นที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ   หรือ กนพ. กำหนดให้ใช้ประโยชน์ในการใช้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณตำบลป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว  ตำบลสำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา  และอำเภอเมือง จ.หนองคาย  ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายผังเมืองด้วย  จนกว่าจะมีการจัดทำผังเมืองรวมขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับที่ดินที่ถูกแปรสภาพไปเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว  ไม่นานนัก  ข่าวที่ กนพ. ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นประธานได้เสนอให้มีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์  กฎ  ระเบียบและเงื่อนไขไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังของกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อเลี่ยงการจัดทำและพิจารณารายงาน EIA  บางขั้นตอนให้มีระยะเวลาสั้นลง (EIA Bypass)  เพื่อผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีผลเชิงรูปธรรมเร็วขึ้น  โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือจัดให้มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA ด้านอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภค (คชก.) ระดับจังหวัด ที่มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถเป็นผู้อนุมัติ/อนุญาตรายงาน EIA ได้เอง  ไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณารายงาน EIA แบบเดิมที่ใช้ระยะเวลายาวนานในการพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกต่อไป  ก็ปรากฎขึ้น
ปลายปี 2558  ความพยายามที่จะทำ EIA Fast Track  และ  EIA Bypass  ยิ่งชัดเจนขึ้น  โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track)  เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558  ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ขั้นตอนในการดำเนินการ  ประกอบด้วย  การจัดเตรียมโครงการ  การเสนอโครงการ  การคัดเลือกเอกชน  และการคัดเลือกโครงการ  สามารถจัดทำไปพร้อมกับการจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study : FS)  และการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ FS  หรือ EIA  ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน  ที่แต่เดิมหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องศึกษา  พิจารณาและอนุมัติ/อนุญาตตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้  เรียงลำดับดังนี้  เช่น  การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ  การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม  การจัดเตรียมโครงการ  การเสนอโครงการ  การคัดเลือกเอกชน  และการคัดเลือกโครงการ  ฯลฯ  ตามลำดับก่อนหลัง  แต่มติ ครม. ดังกล่าวสามารถให้หน่วยงานต่าง ๆ ศึกษา  พิจารณาและอนุมัติ/อนุญาตตามขั้นตอนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตัวเองไปพร้อม ๆ กันหรือคู่ขนานกันไปได้เลย  ไม่ต้องรอลำดับก่อนหลังอีกต่อไป  ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเป็นการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ที่สามารถย่นระยะเวลาให้กับโครงการที่เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ  จากระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี 10 เดือน  เหลือเพียง 9 เดือนเท่านั้น
เบื้องต้น  คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)  ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2558  เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558  อนุมัติโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมที่มีความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรการ PPP Fast Track  จำนวน 5 โครงการ  รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 334,207 ล้านบาท  ประกอบด้วย  โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี  มูลค่าโครงการ 56,725 ล้านบาท  โครงรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง  มูลค่าโครงการ 54,768 ล้านบาท  โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแคและช่วงบางซื่อ – ท่าพระ  มูลค่าโครงการ 82,600 ล้านบาท  โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางประอิน – นครราชสีมา  มูลค่าโครงการ 84,600 ล้านบาท  และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี  มูลค่าโครงการ 55,620 ล้านบาท
แต่ความพยายามของรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ยังไม่หยุดเพียงแค่นี้  กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ  ต้นปี 2559  ยังได้ออกคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกันอีก 3 ฉบับ  คือ  1. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559  เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  ลงวันที่ 20 มกราคม 2559  เพื่อขยายอำนาจ ม.44  ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558  เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558  ที่กำหนดให้ที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะ 3 พื้นที่  คือ  บริเวณตำบลป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว  ตำบลสำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา  และอำเภอเมือง จ.หนองคาย  ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายผังเมือง  เปลี่ยนเป็นยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด  ได้แก่  เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก  มุกดาหาร  สระแก้ว  สงขลา  ตราด   หนองคาย  นราธิวาส  เชียงราย  นครพนม  กาญจนบุรี
2. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559  เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท  ลงวันที่ 20 มกราคม 2559  เพื่อขยายอำนาจ ม.44  ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองในโรงงานบางประเภทเพิ่มขึ้นอีก  เช่น  โรงไฟฟ้าขยะ  โรงไฟฟ้าชีวมวล  หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ  โรงงานกำจัดขยะและของเสียต่าง ๆ  เป็นต้น
ในระหว่างที่ภาคประชาชนกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านคำสั่งทั้งสองฉบับนี้  แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ไม่ได้สะทกสะเทือนกังวลใจแม้แต่น้อย  กลับสวนกระแสความรู้สึกของภาคประชาชนด้วยการออกคำสั่งอีกหนึ่งฉบับ  คือ  3. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559  เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม  ลงวันที่ 7 มีนาคม 2559  เพื่อยกเว้นโครงการด้านคมนาคมขนส่ง  การสร้างเขื่อนและชลประทาน  การป้องกันสาธารณภัย  โรงพยาบาล  และที่อยู่อาศัย  สามารถจัดหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจการได้โดยไม่ต้องรอให้ EIA ได้รับความเห็นชอบเสียก่อน
สิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลประชาธิปไตย
สิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนในรัฐบาลประชาธิปไตยก็คือไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติลงไปในกฎหมายระดับพระราชบัญญัตินอกรัฐสภาได้  ดังเช่นที่รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. กระทำการนอกรัฐสภาด้วยการเพิ่มเติมวรรคสี่ลงไปในมาตรา 47  ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535  ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559  ดังที่กล่าวไว้แล้ว
เพราะกฎหมายย่อมผูกพันและส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อวิถีชีวิตของประชาชนอย่างยาวนานและลึกซึ้ง  ดังนั้น  อย่างน้อยระบอบการปกครองที่แบ่งแยกการใช้อำนาจ  ก็เพื่อให้มีวิธีการใช้อำนาจที่ยึดโยงระหว่างประชาชนกับผู้ที่ตนเลือกมา  ไม่ใช่ควบรวมอำนาจบริหาร  นิติบัญญัติและตุลาการ (ผ่านการใช้ศาลทหารยัดเยียดคดีให้ประชาชนหรือพลเรือน) เอาไว้ในองค์กรเดียว  ดังเช่นที่ คสช. กระทำ
นอกจากการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายระดับพระราชบัญญัตินอกรัฐสภาที่เป็นรูปแบบแรกแล้ว  ยังมีการใช้อำนาจนอกรัฐสภาอย่างน้อยอีกสามรูปแบบ  รูปแบบที่สองคือการออกคำสั่งแทนออกกฎหมายและให้กฎหมายที่มีอยู่อยู่ภายใต้บังคับของคำสั่งแทน  ทั้งที่สมควรออกเป็นกฎหมายบังคับใช้เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบกระเทือนชีวิตผู้คนจำนวนมากและหลากหลาย  เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถจัดการหรือบังคับใช้ได้  แต่กลับให้กฎหมายที่มีอยู่อยู่ภายใต้คำสั่งแทน  ดังเช่นกรณีการออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557,  66/2557  และ 4/2558   เพื่อบังคับให้หน่วยงานเกี่ยวกับป่าไม้ตามกฎหมายป่าไม้ต่าง ๆ และทหารดำเนินการตามแผนแม่บทป่าไม้ฯ   โดยรวบอำนาจการจัดการป่าไม้ทั้งหมดเอาไว้ในมือทหารในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)  จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของคำสั่งทั้งสามยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ยากของประชาชนทั่วทุกภาคให้กลายเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกินมากยิ่งขึ้น  เพราะทำได้เพียงจับกุมดำเนินคดีกับประชาชนผู้ยากไร้ที่อาศัยในเขตป่าเท่านั้น  แต่ไม่สามารถจับกุมดำเนินคดีกับขบวนการลักลอบตัดไม้ที่เป็นนายทุนใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังการบุกรุกที่ดินในเขตป่าได้แต่อย่างใด
รูปแบบที่สามคือการออกคำสั่งยกเว้นบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่  ดังเช่นกรณีประกาศ คสช. ฉบับที่ 91/2557  ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 เรื่อง การก่อสร้างอาคารตาม “โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ พร้อมระบบสาธารณูปโภค” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  เพื่อยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายหลายฉบับให้สามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวได้  และการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองในโรงงานบางประเภท  ดังที่กล่าวไว้แล้ว
รูปแบบที่สี่คือการออกคำสั่งแทนออกกฎหมายผสมกับการออกคำสั่งยกเว้นบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่  ในกรณีนี้ได้แก่  การออกคำสั่ง คสช. ที่ 72/2557  และ 17/2558  แทนการออกกฎหมายโดยการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาเพื่อกำหนดพื้นที่และจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ  ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ไม่อิงอยู่กับกฎหมายใดหรือไม่มีกฎหมายใดรองรับ  และออกคำสั่ง คสช. ที่ 3/2559   เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ  ดังที่กล่าวไว้แล้ว
ไม่เว้นแม้แต่บางเรื่องที่เป็นการกระทำในรัฐสภาเองก็ตาม  เช่นร่างพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนี้  โดยมุ่งที่จะโอนอำนาจการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ตกอยู่แก่ระบบราชการฝ่ายเดียว  เพื่อที่จะย่นระยะเวลาการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ให้สั้นที่สุดเพื่อตอบสนองต่อนโยบายการลงทุนด้านเหมืองแร่  ตัดขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองที่ยึดโยงอำนาจกับประชาชนออกไป  บทบัญญัติของกฎหมายเช่นนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนในรัฐบาลประชาธิปไตย
หรือกฎหมายที่มีความสำคัญต่อขบวนการประชาชน  เช่นกฎหมายห้ามชุมนุม  หรือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘  ที่มีเนื้อหาแข็งกร้าวปิดกั้นการเคลื่อนไหวของประชาชนแทบทุกรูปแบบ  โดยมีบทบัญญัติให้การชุมนุมเกือบทุกประเภทต้องขออนุญาตชุมนุมต่อเจ้าพนักงานก่อน  ไม่ใช่เพียงแค่แจ้งให้ทราบเท่านั้น  เพราะกฎหมายเปิดช่องให้เจ้าพนักงานสามารถมีความเห็นขัดขวาง  หรืออนุญาต/ไม่อนุญาตการชุมนุมได้  และโดยธรรมชาติขององค์กรรัฐจะต้องขัดขวางการเคลื่อนไหวของประชาชนทุกรูปแบบ  เพื่อให้สังคมนิ่ง  ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย  ปั่นป่วน  โกลาหล  ดังนั้น  เจ้าพนักงานจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะระงับยับยั้งการชุมนุมของประชาชนที่แจ้งมา  โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริง  หรืออยู่บนฐานของความเข้าใจในสิทธิเสรีภาพของประชาชน  แต่อยู่บนฐานที่ว่าการชุมนุมทุกประเภทของประชาชนไม่อยากให้เกิดขึ้นมากกว่า  มาตรการแข็งกร้าวเช่นนี้ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นในรัฐบาลประชาธิปไตย
เหตุที่กล่าวเช่นนี้  ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลประชาธิปไตยไม่อยากให้เกิดขึ้น  หลายรัฐบาลที่ผ่านมาคงอยากให้เกิดขึ้น  แต่ที่เกิดขึ้นไม่ได้เพราะรัฐบาลเหล่านั้นมีภาระทางอำนาจที่ต้องยึดโยงกับประชาชนอยู่พอสมควร  จะต้องตัดสินใจภายใต้การผันแปรกับเสียงที่จะได้จากประชาชน  จึงทำให้นโยบายและกฎหมายเหล่านั้นต้องปรับสมดุลย์ของมาตรการบังคับใช้ให้อ่อนตัวลง  ไม่ใช่แข็งกร้าวแบบที่ คสช. กระทำ
ดังจะเห็นข้อเท็จจริงแทบทุกเรื่องที่ คสช. กระทำ  ที่ล้วนถูกผลักดันกันมาหลายรัฐบาลแล้ว  แต่ไม่สามารถทำได้  ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ  กฎหมายแร่  กฎหมายห้ามชุมนุม  การยกเว้นบังคับใช้กฎหมายผังเมืองเพื่อหลีกทางให้กับการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม  การลดขั้นตอนการทำและพิจารณา EIA ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน  ฯลฯ  เพราะติดขัดตัวบทกฎหมายที่บังคับใช้อยู่  ครั้นจะแก้ไขเพิ่มเติมหรือออกเป็นกฎหมายฉบับใหม่บังคับใช้ก็มีอำนาจจำกัด
ต่างจากการใช้อำนาจของ คสช. ที่ใช้โดยไม่จำเป็นต้องรู้สึกร้อนหนาวผูกพันกับประชาชนแต่อย่างใด
ไม่ว่ารัฐคือสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็นต้องมีมัน  อย่างไรก็ตาม  ในโลกสมัยใหม่ความจำเป็นอันชั่วร้ายนั้นจะต้องไม่ทำลายอุดมคติการใช้อำนาจที่ต้องยึดโยงกับประชาชนไว้  ไม่ใช่สร้างระบบราชการอันเข้มแข็งที่ทำลายความรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงในการใช้ชีวิตของประชาชนให้น้อยลงทุกวัน ๆ ดังเช่นที่ คสช. กระทำ