สิทธิชุมชนในร่าง รธน.หาย ภาคประชาชนหวั่นอนาคตไร้ช่องทางเรียกร้องสิทธิ

 

ภาคประชาชนระบุในงานเสวนา “เมื่อสิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญหายไป ชาวบ้านจะพึ่งพาใคร?” เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ไม่เขียนเรื่องสิทธิชุมชน ชาวบ้านไร้สิทธิปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หวั่นหลังรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมดกลายเป็นกฎหมาย ทั้งที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิชัดเจนและปิดกั้นเสียงประชาชน

17 กุมภาพันธ์ 2558 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีงานเสวนา “เมื่อสิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญหายไป ชาวบ้านจะพึ่งพาใคร?” โดย ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า สิ่งที่ตกใจมากคือในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดว่าการที่ชุมชนจะมีสิทธิในการรวมตัวหรือสิทธิในการเป็นชุมชนนั้น ชุมชนจะต้องขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนที่ใช้สิทธิเรื่องสิทธิชุมชนโดยไม่เคยไปขึ้นทะเบียน

ส.รัตนมณี กล่าวต่อว่า เมื่อก่อนเราจะใช้มาตรา 66 และ 67 (ตามรัฐธรรมนูญ 2550) ที่กำหนดว่า ชุมชนมีสิทธิกำหนดเจตจำนงในการรวมตัว อนุรักษ์ปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่น และมีสิทธิเข้าไปมีส่วนร่วม หากมีโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนเข้ามา ชุมชนสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับโครงการนั้นหรือหน่วยงานรัฐได้ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ไม่พบข้อความข้างต้นเลย อาจมีข้อโต้แย้งจากผู้ร่างว่า เรื่องนี้มีอยู่ในมาตรา 44 ที่กำหนดว่าชุมชนมีสิทธิเข้าร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการอนุรักษ์ทรัพยกรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมชุมชน แต่คำถามคือที่ผ่านมาชุมชนสามารถเข้าร่วมกับ อปท.ได้แค่ไหน เพียงไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเท่ากับว่าต่อไปนี้ ถ้าชุมชนจะใช้สิทธิต้องไปใช้สิทธิผ่าน อปท.  กลายเป็นว่า เราจะเป็นผู้ถูกปกครองอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ได้ยอมรับสิทธิประชาชน และสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมกับรัฐ โดยรัฐมีหน้าที่เข้ามาส่งเสริม

นอกจากนี้ยังพบว่า เรื่องสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จะส่งผลกระทบกับตัวเองและชุมชน เรื่องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน ในมาตรา  56, 57 และ 58 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 หายไป กลายเป็นว่าสิทธิเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้ข้อมูลหรือไม่ รัฐเท่านั้นที่จะเป็นผู้มีหน้าที่เข้ามาจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน  ซึ่งจากการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เราโต้แย้งกับรัฐเสมอว่าไม่มีการรับฟังและให้ข้อมูลที่เพียงพอ โดยรัฐแย้งว่าได้ให้ข้อมูลถูกต้องตามกฎหมายและเผยแพร่ตามเว็บไซต์ของหน่วยงาน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ประชาชนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีไฟฟ้าจะเข้าถึงได้อย่างไร อีกทั้งรัฐยังห้ามนำข้อมูลไปอ้างอิงอีกด้วย

“ดังนั้นเมื่อสิทธิกลายเป็นหน้าที่ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐ แล้วอะไรจะก่อตั้งสิทธิให้ประชาชนเข้ามาเรียกร้องได้ เราจะใช้อำนาจอะไรในการฟ้องคดี ถ้าไม่เขียนไว้ก็เท่ากับว่าไม่มีสิทธิ แล้วจากนี้ชุมชนจะใช้สิทธิตัวเองอย่างไร” ส.รัตนมณี กล่าว

อัด คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3 และ 4 ปลดล็อคผังเมือง ละเมิดสิทธิชุมชน

                       

ด้านสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กล่าวถึงเงื่อนไขทางกฎหมายอื่นๆ ที่เพิ่งมีขึ้น เช่นคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3 และ 4/2559 ที่ปลดล็อคผังเมืองว่า กฎหมายผังเมืองมีความชัดเจนในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน หากการจัดการผังเมืองกระทบกับการใช้ชีวิตก็มีสิทธิแสดงความคิดเห็นและคัดค้านได้ แต่กฎหมายนี้ก็ถูกปลดออกไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3 และ 4/2559 ที่ออกมาโดยใช้อำนาจตามมาตรา 44

โดยคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2559 ได้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ โดยอ้างว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนฉบับที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท มีผลบังคับใช้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2559 และยังครอบคลุมไปอีก 1 ปีข้างหน้าด้วย คำสั่งนี้มีผลว่ากิจการ เช่น คลังน้ำมัน โรงไฟฟ้าต่างๆ โรงผลิตก๊าซที่ไม่ใช่ก๊าซธรรมชาติ โรงคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล ได้รับการยกเว้นผังเมือง กล่าวคือ จะสร้างที่ใดก็ได้โดยไม่ต้องดูผังเมือง ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิในการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับชุมชน

หวั่น ‘ค้านโรงไฟฟ้า’ เป็นอันตรายต่อความมั่นคง-ขัดรัฐธรรมนูญ

                           

ด้านทนาย ส.รัตนมณี กล่าวอีกว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คำว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หายไป ซึ่งน่ากลัว เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเป็นหลักประกัน แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่า หากไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ก็สามารถอ้างสิทธิเสรีภาพได้ แต่ในมาตรา 25 สิทธิเสรีภาพต้องไม่กระทบกระเทือนหรือต้องไม่เป็นภัยอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งไม่รู้ว่าใครจะนิยามคำว่าความมั่นคงของรัฐ ถ้ารัฐอ้างว่าพลังงานเป็นความมั่นคงของรัฐ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โรงไฟฟ้าขยะเชียงรากล้วนเป็นเรื่องพลังงาน การที่ประชาชนลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการเหล่านี้ จะถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพต้องที่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ระบุแต่เพียงว่าการใช้สิทธิต้องไม่กระทบสิทธิของคนอื่น

สิ่งที่น่ากังวลยิ่งไปกว่านั้นในร่างรัฐธรรมนูญคือมาตรา 70 กำหนดว่า คำสั่ง คสช. ทั้งหมดที่ออกไปแล้วและที่จะมีขึ้นหลังจากนี้จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ให้มีผลบังคับใช้ตลอดไปเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ หมายความว่าคำสั่งที่ 3 และ 4/2559 จะยังคงอยู่จนกว่าจะมีการแก้กฎหมาย ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าการแก้กฎหมายในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย

ที่สำคัญคือ เรื่องหลักประกันสิทธิเสรีภาพที่เป็นสากล ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 82 ระบุไว้ว่า ถ้ารัฐไปลงนามกติการะหว่างประเทศ รัฐจะต้องผูกพันกับกติกาเหล่านั้น ดังนั้นเมื่อประชาชนไปใช้สิทธิเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วไม่มีกฎหมายอื่นรองรับ แต่เรื่องนั้นอยู่ในกติการะหว่างประเทศที่รัฐลงนามไว้ รัฐก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีประเด็นนี้ โดยกำหนดเพียงว่า กระบวนอื่นไม่สามารถแทรกแซงรัฐไทยได้ หมายความว่า ต่อไปนี้หากประชาชนไปร้องเรียนกับสหประชาชาติ สหประชาชาติจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะจะเป็นการแทรกแซงรัฐ