นักวิชาการเผย กสทช. กลายเป็นกลไกคุมเข้มทีวีการเมือง

ตัวแทนจากวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ และกสทช. เห็นตรงกันว่า การตีความมาตรา 37 กระบวนการคัดแยกเรื่องร้องเรียน และคสช. คือ สามปัจจัยหลักจำกัดเสรีภาพสื่อโทรทัศน์ แนะทุกสถานีร่วมมือกำกับดูแลกันเอง
18 พฤศจิกายน 2558 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) จัดงานเสวนาหัวข้อ “กฎหมาย VS การทำรายการโทรทัศน์” ที่ห้องชมัยมรุเชฐ ชั้น 3 สโมสรทหารบก วิภาวดี กรุงเทพฯ ในประเด็นว่าด้วย การตีความการบังคับใช้มาตรา 37 ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ) เพื่อกำกับดูแลเนื้อหาในสื่อวิทยุโทรทัศน์ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน
"มาตรา 37 ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้"
มาตรา 37 กับการตีความตามใจ กสทช. แต่ละคน
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เเละอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ  เล่าว่า แม้องค์กรวิชาชีพสื่อจะเสนอว่าไม่ควรมีบทบัญญัติใดๆ ที่จำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เพราะเป็นหลักการทั่วไปในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก และมีกฎหมายอื่นจำกัดเสรีภาพอยู่แล้ว แต่ตอนที่ร่างกฎหมาย กรรมาธิการยกร่างก็นำข้อยกเว้นการจำกัดเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ในกรณี “เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน” มาบรรจุไว้เป็นมาตรา 37 ด้วย ทำให้กลายเป็นข้อกฎหมายที่กว้างเกินไปและมีปัญหามากในการตีความ
ก่อนหน้านี้ กสทช. เคยพยายามออกประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการ เพื่อกำหนดนิยามและรายละเอียดของเนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศตามมาตรา 37 ให้ชัดเจน แต่ถูกองค์กรวิชาชีพคัดค้านอย่างหนัก เพราะเนื้อหาในร่างมีลักษณะจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างร้ายแรง และคณะกรรมการกฤษฎีกาก็วินิจฉัยว่ากสทช.ไม่มีอำนาจออกประกาศดังกล่าว โดย สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ยอมรับว่า เนื่องจากปัจจุบันไม่มีประกาศกำหนดรายละเอียดการตีความ ดังนั้นการตัดสินขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กสทช. แต่ละคน
“สุดท้ายเนื้อหานั้นอาจจะผิดจริงก็ได้ แต่กว่าจะถึงจุดที่ผิดจริง ถ้าบางเรื่องไม่มีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน โดยเฉพาะเป็นเรื่องทัศนคติ รสนิยม ความเชื่อ มุมมองที่แตกต่าง ทำยังไงที่จะมีกระบวนการให้คนอื่นช่วยมอง ช่วยคิด ช่วยคานดุล มากกว่าที่กสทช.จะใช้อำนาจตัดสินเพียงลำพัง” สุภิญญา กล่าว
คนทำงานแยกไม่ออก อะไรผิดกฎหมาย อะไรผิดจริยธรรม
ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ในการกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อวิทยุโทรทัศน์ กสทช. มีคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ทำหน้าที่พิจารณาเนื้อหาที่อาจผิดกฎหมายและประกาศกสทช. 2. คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พิจารณาเนื้อหาโฆษณาที่อาจเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และ 3. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง พิจารณาเนื้อหาที่อาจผิดจริยธรรม โดยส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพดำเนินการต่อ แต่ปัญหาสำคัญก็คือ เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาเข้ามายังสำนักงานกสทช. เจ้าหน้าที่กลับส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการพิจารณาเป็นส่วนใหญ่ เพราะแยกไม่ได้ว่าเรื่องใดผิดกฎหมาย เรื่องใดผิดจริยธรรม
อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เสริมว่า สาระสำคัญของการทำวิทยุโทรทัศน์อยู่ที่การทำเนื้อหา การกำกับดูแลเนื้อหาจึงเป็นอำนาจที่ใหญ่มาก หากดูตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย มาตรา 37 ก็น่าจะใช้กับกรณีที่สุดโต่งจริงๆ เท่านั้น ทุกวันนี้ผู้ที่พิจารณามองว่าตัวเองมีอำนาจชอบธรรมในการตีความมาตรา 37 ได้เอง ตัวอย่าง กรณีสกู๊ปเรื่องนักศึกษากลุ่มดาวดินของช่อง ThaiPBS คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการมีมติเสียงข้างมากว่า เป็นการนำเสนอในลักษณะชี้นำว่าการชุมนุมทางการเมืองเป็นเรื่องที่ถูกต้องและทำได้ ซึ่งตามกฎหมายขณะนี้กำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองเป็นความผิด ดังนั้นการไปทำข่าวก็ถือว่าผิดแล้ว
“ทีนี้ก็ไม่ต้องไปทำข่าวอะไรเลยถ้าจะตีความอย่างนั้น” ผศ.ดร.พิรงรอง ให้ความเห็น
เนื้อหาการเมืองกลายเป็น Priority Watch List ภายใต้ยุคคสช. 
ผศ.ดร.พิรงรอง ให้ข้อมูลอีกว่า โดยปกติ กสทช. จะพิจารณาเนื้อหาที่ถูกประชาชนร้องเรียนผ่านสำนักงานกสทช. หรือมาจากการเฝ้าระวัง (มอนิเตอร์) ของทางสำนักงานเอง แต่ในกรณีของโทรทัศน์การเมืองมีช่องทางพิเศษ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้งคณะทำงานติดตามสื่อเพื่อส่งเรื่องร้องเรียนให้กสทช. ว่าแต่ละสัปดาห์มีรายการอะไร ออกอากาศทางช่องไหน และนาทีที่เท่าไรบ้าง ที่นำเสนอเนื้อหาทางการเมืองซึ่งขัดประกาศ คสช.
“ตั้งแต่มีคสช.มา เนื้อหาทางการเมืองค่อนข้างเป็น Priority Watch List (เรื่องที่ต้องจับตาลำดับแรก) ของ กสทช.” อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
ผศ.ดร.พิรงรอง เปิดเผยว่า โทรทัศน์ช่องการเมืองที่เคยถูกระงับออกอากาศในที่คณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจ หากต้องการกลับมาออกอากาศตามปกติต้องลงนามในบันทึกข้อตกลง (MoU) ของกสทช. โดยสาระสำคัญของ MoU คือ ทางสถานียินยอมงดเว้นการนำเสนอเนื้อหาที่ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 หากฝ่าฝืนอาจพิจารณาถอนใบอนุญาตทันที ดังนั้น ความผิดฐานละเมิด MoU จึงมีโทษสูงกว่าความผิดตามมาตรา 37 ซึ่งใช้โทษปรับเป็นหลัก
ส่วนสุภิญญา มองว่า กสทช. ควรเน้นกำกับดูแลเนื้อหาที่ผิดกฎหมายชัดเจนก่อน อย่างเช่น การโฆษณาเกินจริง แต่สถานการณ์ในตอนนี้ กรณีที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค การพิจารณากลับช้ากว่ากรณีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง
“จริงๆ กสทช.ควรช่วยผู้ประกอบการคานดุลคสช.บ้าง ไม่ใช่เอคโค่คสช.” สุภิญญา กล่าว
‘กำกับดูแลกันเอง’ อีกไกลแค่ไหนถึงจะใกล้
รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี นายกสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ชี้แจงว่า ทางสภาวิชาชีพมีมาตรฐานว่าด้วยจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสื่อที่มีเนื้อหาครอบคลุมอยู่แล้ว และเป็นข้อกำหนดที่มาจากการประชุมร่วมกันหลายภาคส่วน โดยหวังจะใช้มาตรฐานนี้ในการกำกับดูแลกันเอง
“น่าจะถึงเวลาหรือยังที่จะเกิดความร่วมมือในระหว่างสื่อด้วยกัน เลิกแข่งขันกันชั่วขณะจิตได้ไหม ช่วยกรุณามาทำให้เป็นมาตรฐานก่อน ต่อไปพอเข้าระบบปุ๊บ ทุกช่องโดนเหมือนกันหมด ไม่ได้โดนคนที่เกลียดชังเราเป็นการส่วนตัว แต่โดนโดยสภาวิชาชีพ เราก็อยากจะเห็นแบบนั้น” นายกสมาคมสภาวิชาชีพฯ กล่าว
นอกจากนี้ รศ.อรุณีประภา เผยว่า ที่ผ่านมาทางสภาวิชาชีพพยายามขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลเนื้อหา โดยให้สถานีที่ถูกเชิญไปชี้แจงกับกสทช. ทำหนังสือขอให้ตัวแทนจากสภาเข้าไปฟังการพิจารณาด้วย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากกสทช.
ด้านชวรงค์ เสนอว่า กสทช.ต้องเร่งให้มีประกาศส่งเสริมการรวมกลุ่มขององค์กรวิชาชีพทางด้านสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพื่อมาทำหน้าที่กำกับดูแลกันเอง จะได้เกิดความชัดเจนว่า อะไรที่กสทช.ไม่ควรมาก้าวล่วง เพราะเป็นเรื่องของวิชาชีพและจริยธรรม
ส่วนอาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เสนอว่า หากต้องการให้สภาวิชาชีพมีบทบาทในการกำกับดูแลกันเอง แต่ละสถานีมีช่องทางของตนเองอยู่แล้ว โดยอาจขึ้นข้อความหรือตัววิ่งบนหน้าจอโทรทัศน์ ระบุว่าช่องนี้เป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพฯ หากผู้ชมพบการนำเสนอเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิดตามธรรมนูญของสภา ให้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังสภาผ่านช่องทางไหน เพื่อให้ประชาชนร้องเรียนผ่านช่องทางดังกล่าวแทนที่จะส่งเรื่องไปยัง กสทช.
“เริ่มตั้งแต่ทำยังไงให้องค์กรวิชาชีพเป็นที่รับรู้ของสังคม ต้องสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นให้ได้ว่า องค์กรวิชาชีพจะต้องแทนที่กสทช.ได้ในแง่ของการรับเรื่องราวร้องเรียน ถ้าเกิดไม่อยากให้กสทช.ทำ ท่านก็ต้องทำเอง” ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวทิ้งท้าย