สนช.ชี้ อย่าตื่นตระหนกกับพ.ร.บ.กำลังพลสำรอง แค่เอาของเก่ามารวมใหม่

หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ทำให้เกิดกระแสคัดค้านในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก ล่าสุดมีการระดมรายชื่อคัดค้านใน change.org และมีการเปิดให้โหวตในประเด็นเดียวกันที่ www.prachamati.org ซึ่งมีผู้เข้าไปร่วมในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก
กฎหมายกำลังสำรอง ฉบับใหม่มีศัพท์เทคนิคที่อ่านแล้วยังมีข้อสงสัยจำนวนมาก เราจึงยกหูโทรศัพท์ไปสอบถาม จากต้นทางของกฎหมายนี้ คือ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สมาชิก สนช. ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง เพื่อคลายข้อสงสัยที่มีอยู่มากมายในโลกออนไลน์
ใครคือกำลังพลสำรอง
พล.อ.สิงห์ศึก อธิบายว่าตาม พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง ฉบับนี้ ชายไทยทุกคนสามารถเป็นกำลังพลสำรองได้หมด แต่การเรียกให้ประชาชนมาทำหน้าที่กำลังพลสำรอง จะเรียกทหารกองหนุนประเภท 1 ชั้นที่ 1 เป็นลำดับแรกซึ่งก็คือ พลทหารปลดประจำการ และ รด.ที่ปลดประจำการ ที่อายุไม่เกิน 30 ปี  
สำหรับกองหนุนประเภท 2 คือ คนที่จับได้ใบดำ (จับสลากแล้วไม่ต้องเกณฑ์ทหาร) หรือได้รับการยกเว้นการรับราชการทหาร เพราะขาดคุณสมบัติ ก็อาจถูกเรียกได้แต่จะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ทหารกองหนุนประเภท 1 ถูกเรียกใช้จนหมด
วิธีการเรียกตัว
หลังจากนี้เมื่อ พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กระทรวงกลาโหมจะต้องไปจัดทำกฎกระทรวง ระเบียบข้อบังคับว่าจะทำบัญชีบรรจุกำลังจำนวนเท่าไร ซึ่ง พล.อ.สิงห์ศึก คาดว่าน่าจะมีการเรียกคนประมาณ 15%  วิธีการจะเรียกเป็นรุ่น เช่น ปีนี้จะเรียก รด.รุ่นที่เรียนจบในปี xxx จำนวน xxx คน ไม่ได้ใช้วิธีการสุ่มเรียก
พล.อ.สิงห์ศึก อธิบายว่า การจะเรียกใครบ้างจะต้องสำรวจดูคุณสมบัติก่อน เช่น ถ้าเป็นคนว่างงาน หรือทำงานบริษัทที่ไม่มั่นคงก็อาจถูกพิจารณาเป็นพิเศษ แต่ถ้าทำงานในบริษัทที่มั่นคง ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ หรือลักษณะร่างกายไม่เข้าคุณสมบัติ ก็อาจจะได้รับข้อยกเว้น 
ซึ่งก่อนการเรียกตัวก็จะมีการเปิดรับสมัครก่อน หากหากมีคนสมัครเต็มตามจำนวนแล้ว ก็อาจจะไม่มีการเรียกกำลังพลสำรอง
หน้าที่และระยะเวลา
การเรียกมาทำหน้าที่กำลังพลสำรอง จะมีการเรียกอยู่ 5 แบบ ซึ่งแต่ละแบบจะมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน คือ
1. เรียกเพื่อตรวจสอบ เป็นการตรวจสอบระบบความพร้อมต่างๆ เช่น การตรวจสอบกำลังพล การตรวจสอบระบบสื่อสาร ฯลฯ ใช้เวลาแค่ไปช้าเย็นกลับ
2. เรียกเพื่อฝึกวิชาทหาร จะเรียกมาฝึกประมาณ 1-2 สัปดาห์
3. เรียกเพื่อรับราชการชั่วคราว จะเป็นการเรียกกำลังพลสำรองที่มีความชำนาญหรือเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งจะเรียกได้ในกรณีจำเป็น และชั่วคราวเท่านั้น
4. เรียกเพื่อตรวจสอบความพรั่งพร้อม เป็นการเรียกเพื่อเตรียมตัวในยามมีสงคราม
5.  เรียกเพื่อระดมพล เป็นการเรียกระดมพลในยามฉุกเฉิน เช่น มีการประกาศกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
สำหรับ ข้อ 3-5 พล.อ.สิงห์ศึก กล่าวว่า ยังไม่เคยมีการทำมาก่อน ซึ่งกล่าวในทางปฏิบัติสามข้อหลังเกิดขึ้นยาก แต่เป็นการเตรียมตัวเพื่อสถานการณ์ในอนาคตซึ่งเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
สุดท้าย พล.อ.สิงห์ศึก กล่าวว่า ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกกับกฎหมายที่เพิ่งประกาศใช้ การเรียกกำลังพลสำรองเป็นสิ่งที่เคยปฏิบัติกันมาเป็นปกติอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านี้มีกฎหมายจำนวน 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.รับราชการทหาร 2497, พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการทหาร 2541, พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 และ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551 ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการนำขั้นตอนตามกฎหมายเดิมที่เคยใช้กันอยู่แล้วมารวบรวมใหม่เป็น พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง
ทั้งนี้ พล.อ.สิงห์ศึก ย้ำว่า อำนาจที่มีอยู่เดิมกฎหมาย 4 ฉบับ จะใช้เรียกกำลังสำรองสำหรับเหตุผลด้านการศึกสงคราม แต่ พ.ร.บ.กำลังพลสำรองฉบับใหม่นี้ ในอนาคตอาจนำมาใช้ในสถานการณ์ปกติด้วย เช่น เรียกกำลังไปช่วยเหลือหน่วยราชการอื่นๆ หรือช่วยจัดการภัยพิบัติต่างๆ