ร่างกฎหมายแก้ไข ป.อ. ใช้ “รอการลงโทษ” ลดปัญหาคนล้นคุก หนุนทำงานเพื่อสังคมแทน

24 กันยายน 2558 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การบังคับโทษปรับ การรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษ และแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทษของผู้ใช้และผู้ถูกใช้) ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียง 175 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่มีผู้ที่ไม่เห็นด้วย
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ฉบับนี้ มีสาระสำคัญ คือ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบังคับโทษปรับใหม่ เช่น นอกจากการยึดทรัพย์สินแล้วให้ร่วมการอายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเข้าไปด้วย และยังปรับปรุงอัตราเงินในการกักขังแทนค่าปรับให้สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงกำหนดให้ศาลสามารถพิจารณารอการลงโทษผู้ที่จะถูกลงโทษปรับหรือผู้ที่กระทำความผิดในคดีเล็กน้อยได้ และยังเพิ่มเติมโทษเกี่ยวกับผู้ที่ใข้เยาวชน-ผู้ด้อยโอกาสให้กระทำความผิดอีกด้วย
ผู้ต้องโทษ “ไม่จ่ายค่าปรับ” อาจถูกสั่งอายัด สิทธิเรียกร้องในทรัพย์สิน
การแก้ไขร่างประมวลกฎหมายอาญาฉบับนี้ ได้กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการบังคับโทษปรับ ว่าให้ผู้ที่่ต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา อาจถูก อายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อนำมาชำระค่าปรับได้ ซึ่งแต่เดิมได้กำหนดไว้เพียงการยึดทรัพย์สินหรือการกักขังแทนค่าปรับเท่านั้น
สำหรับวิธีการบังคับโทษปรับที่ได้กำหนดเพิ่มขึ้นใหม่ ซึ่งแต่เดิมไม่ได้มีการกล่าวถึง คือ ให้ศาลออกหมายบังคับคดีและวิธีการบังคับคดี เพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับที่ไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลา โดยให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม 
รวมทั้ง กำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดีอาญาเพื่อใช้ค่าปรับกับตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับได้ และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินตามที่ได้รับแจ้งจากพนักงานอัยการ
แก้ไข "เพิ่มอัตราค่าปรับต่อการกักขัง" เทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำ และหนุน “ทำงานบริการสังคม” แทนจำคุก
การแก้ไขร่างประมวลกฎหมายอาญาฉบับนี้ กำหนดให้เพิ่มอัตราเงินที่ใช้กักขังแทนค่าปรับ หรือจำนวนเงินที่เทียบเท่ากับการต้องถูกกักขังหนึ่งวันนั้นเอง ซึ่งจากเดิมที่กำหนดให้ใช้อัตรา 200 บาท ต่อ 1 วัน มาเป็น 300 บาท ต่อ 1 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำ 
แต่ทั้งนี้ การกักขังแทนค่าปรับยังมีข้อกำหนดอีกว่า ห้ามกักขังเกิน 1 ปี ยกเว้น กรณีโทษปรับตั้งแต่ 80,000 บาท แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จึงมีการแก้ไขให้ขยายวงเงินเป็นตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป จึงจะกักขังแทนค่าปรับเกิน 1 ปีได้ แต่ต้องไม่เกิน 2 ปี 
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ ผู้ต้องโทษปรับที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับและไม่ใช่นิติบุคคล สามารถขอทำงานบริการสังคมแทน 
โทษปรับที่ศาลสั่งหากไม่เกิน 200,000 ศาลสั่งรอการลงโทษได้ และหากพ้นคุกเกิน 5 ปี แล้วกระทำความผิดเล็กน้อยซ้ำ อาจไม่ต้องติดคุก
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 บัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ศาลจะตัดสินว่ากรณีในบ้างที่ควร "รอการกำหนดโทษ" หรือ "รอการลงโทษ" ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้ผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และผู้นั้นไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือเคยได้รับโทษจำคุกแต่เป็นการกระทำความผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ศาลสามารถพิพากษาให้ผู้นั้น "มีความผิดแต่รอการกำหนดโทษ" หรือ "กำหนดโทษแล้วแต่รอการลงโทษแทน"
แต่ทว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามีสองประเด็นที่เพิ่มเติมขึ้นมา ได้แก่ การกระทำความผิดซึ่งมีโทษปรับที่ศาลจะปรับไม่เกิน 200,000 ให้ศาลสามารถพิจารณารอการลงโทษได้ และผู้กระทำความผิดที่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่า 5 ปี ก่อนจะมากระทำความผิดซ้ำ และเป็นความผิดที่ได้กระทำไปโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ศาลสามารถสั่งให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษได้ 
เพิ่มเงื่อนไขการคุมประพฤติ “กักบริเวณโดยใช้อุปกรณ์ติดตาม-ชดใช้ค่าสินไหมฟื้นฟูเยียวยาสิ่งแวดล้อมหรือผู้เสียหาย” 
การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับนี้ เพิ่มทางเลือกให้ศาลมีดุลพินิจที่จะกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติของผู้กระทำผิดให้เหมาะสมกับคดี เช่น ห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัยในระหว่างเวลาที่ศาลกำหนด หรือห้ามเข้าในสถานที่ใด ทั้งนี้ศาลอาจใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการติดตามตัว หรือศาลอาจให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือให้เยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมหรือผู้เสียหายได้ นอกจากนี้ศาลอาจสั่งให้ทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินได้
ผู้ใช้ “เยาวชน-คนจน-ลูกจ้าง” ทำความผิด ต้องรับโทษหนัก
การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทษของผู้ใช้ โดยกำหนดให้ผู้ที่ใช้บุคคลบางประเภทไปกระทำความผิด อันได้แก่ เด็กหรือเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ผู้พิการหรือป่วยเจ็บ ลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใช้ ผู้ที่มีฐานะยากจน หรือผู้ที่ต้องพึ่งพาผู้ใช้ และผู้ถูกใช้ดังกล่าวได้ไปกระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นอีกกึ่งหนึ่ง
ศาลมีอำนาจ “ลดโทษ” ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อให้ทำความผิด
ตามร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาฉบับนี้ กำหนดให้ศาลสามารถพิจารณาลดโทษได้ โดยให้รับโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ หากเป็นกรณีที่ผู้ถูกใช้กระทำความผิดหรือผู้ที่กระทำตามคำโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิดนั้น ได้ยอมเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี จนสามารถดำเนินคดีกับผู้ใช้หรือผู้โฆษณาประกาศดังกล่าวได้ เพื่อป้องกันการใช้ผู้อ่อนแอเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด และเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ตกเป็นเครื่องมือยอมเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินคดี
ข้อสังเกตเพิ่มเติม
เพิ่มเงื่อนไขการรอการลงโทษและการกำหนดโทษ เพื่อลดการกักขัง
บทบัญญัติว่าด้วยการรอการลงโทษในประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน ยังไม่มีการนำมาใช้กับกรณีผู้ที่จะถูกลงโทษปรับ ทำให้มีผู้ที่ต้องถูกจำคุกระยะสั้นอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก แต่ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่อยู่ในระหว่างการพิจารณานี้ ได้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวโดยให้ศาลใช้ดุลพินิจรอการลงโทษในกรณีที่เป็นโทษปรับได้
เปลี่ยนแปลง "วงเงินขั้นต่ำ" สำหรับผู้ที่ถูกกักขังแทนโทษปรับได้เกิน 1 ปีใหม่ อาจช่วยลดนักโทษ
การกำหนดวงเงินขั้นต่ำที่จะถูกกักขังแทนโทษปรับได้เกิน 1 ปี ตามกฎหมายเดิมกำหนดไว้ว่า การจะกักขังแทนโทษปรับต้องไม่เกิน 1 ปี ยกเว้น คนที่โดนปรับตั้งแต่ 80,000 บาท ขึ้นไป (พื้นที่ A+B) แต่การแก้ไขกฎหมายอาญาครั้งนี้ กำหนดเพดานขั้นต่ำใหม่เป็น ตั้งแต่ 120,000 ขึ้นไป นั้นเท่ากับว่า คนที่จะถูกจำคุกได้เกิน 1 ปี จะเหลือแค่พื้นที่ B และจะทำให้จำนวนผู้ต้องขังในพื้นที่ A ออกจากเรือนจำได้เร็วขึ้น
แต่ทั้งนี้ การพิจารณาด้วยเกณฑ์ดังกล่าว ยังไม่อาจยืนยันได้ว่าจะสามารถทำให้จำนวนผู้ต้องขังลดลงได้มากน้อยเพียงใด เพราะต้องยืนยันกับจำนวนสถิติผู้ที่ถูกกักขังแทนโทษปรับที่อยู่ในวงเงิน 80,000 – 120,000 บาท ว่ามีจำนวนกี่คน
สมาชิก สนช. พร้อมใจสนับสนุน ผลักดัน "เยาวชน-คนด้อยโอกาส" ทำงานบริการสังคมแทนการกักขัง
การทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์เป็นมาตรการอย่างหนึ่งที่ศาลอาจนำมาใช้ เพื่อทดแทนการบังคับให้ชดใช้ค่าปรับได้ ถือได้ว่าเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีฐานะยากจน ไม่มีเงินชำระค่าปรับ และยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมและตัวผู้ต้องโทษเองมากกว่าการถูกกักขัง
ในการประชุมสภาของ สนช. มีสมาชิกหลายคนที่ให้ความเห็นสนับสนุน อาทิ
 
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ที่มองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายเพื่อคนจน และมีเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อที่ถูกบังคับให้กระทำความผิดแทน ดังนั้้นเด็กและเยาวชนเหล่านี้ไม่ควรได้รับโทษที่รุนแรง และให้ทำประโยชน์ต่อสังคมแทนการกักขัง 
 
ด้าน สมชาย แสวงการ ระบุว่า การที่ให้ผู้ที่ถูกตัดสินโทษจำคุกสถานเบามาช่วยเหลือสังคม ถือเป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่ก็ยังมีประเด็นที่ฝากให้รัฐบาลคิดต่อ เช่น "การเลื่อนชั้นนักโทษ" เพราะมีผู้ต้องขังบางส่วนหลังออกจากเรือนจำแล้วออกมากระทำความผิดซ้ำอีก ดังนั้นควรมีหน่วยงานศาลหรืออัยการเข้ามามีส่วนในการพิจารณาเพิ่มเติมหรือไม่
 
นอกจากนี้ สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ ยังเห็นด้วยว่า สำหรับผู้กระทำความผิดที่ไม่สามารถชำระค่าปรับได้ ควรให้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนการกักขัง เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดได้ใกล้ชิดกับสังคมมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้กระทำความผิดมีความประพฤติที่ดีได้ง่ายขึ้น
ไฟล์แนบ