ร่างกฎหมายการตั้งครรภ์วัยรุ่น มุ่งเน้นควบคุม เสี่ยงละเมิดสิทธิเด็ก

รัฐหยิบเรื่อง "การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" มาเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะพบว่าอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังนำไปสู่การทำแท้งที่ผิดกฎหมายซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต รวมถึงส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย
และประเด็นนี้ส่งผลให้ คณะรัฐมนตรีเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา เพื่อสร้างกลไกการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน เพราะเพราะที่ผ่านมาปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีความซับซ้อน โดยมีสาระสำคัญดังนี้
หนึ่ง การกำหนดสิทธิให้กับวัยรุ่น (เด็กอายุ 11 – 18 ปี) ให้สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง และมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการรับบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์อย่างถูกต้องครบถ้วน และเพียงพอ รวมถึงจะได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว
สอง ให้มีกลไกการร่วมมือกันจากหลายฝ่าย ได้แก่ สถานศึกษา / สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ / สถานประกอบกิจการ / และหน่วยงานของรัฐ โดยมีคณะกรรมการชุดหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์, ศึกษาธิการ, สาธารณสุข, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ยุติธรรม แรงงาน วัฒนธรรม และปลัด กทม. ทำหน้าที่กำกับและควบคุมทิศทาง
สาม กฎหมายยังกำหนดให้ "สถานศึกษา" ต้องจัดให้มีการเรียนการสอน และจัดหาบุคลากรและพัฒนาผู้สอนให้สามารถสอนและให้คำปรึกษาในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และต้องจัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง 
สี่ "สถานบริการฯ" มีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และต้องจัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน
และ ห้า กำหนดให้ "สถานประกอบกิจการ" ต้องให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รวมถึงจัดหรือสนับสนุนให้ลูกจ้างที่เป็นวัยรุ่นเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ดี เพื่อทบทวนเนื้อหาสาระรวมทั้งข้อดีและข้อเสียของร่างกฎหมายดังกล่าว จึงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญอย่าง จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ จากมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ซึ่งเป็น ผู้เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และผู้เกาะติดปัญหาท้องไม่พร้อมของผู้หญิง เป็นผู้ให้ความเห็น
การแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม ต้องมองว่าเป็นการให้ "สิทธิ" ในการเข้าถึงบริการและอุปกรณ์ "อย่างเป็นมิตร" 
จิตติมา เปิดประเด็นว่า "ท้องไม่พร้อม" เป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่อง "อนามัยการเจริญพันธุ์" (หรือบริการเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพทางเพศ – ผู้เขียน) เพราะมีรากฐานจากปัญหาเดียวกันก็คือ "การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย" ได้แก่ ความไม่ปลอดภัยจากเชื้อโรค หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ความไม่ปลอดภัยจากการท้องไม่พร้อม ท้องไม่ตั้งใจ ไม่ได้คุมกำเนิด และความไม่ปลอดภัยจากความรุนแรง เช่น การข่มขืน เป็นต้น
จิตติมา มองว่า ประเด็นสุขภาพทางเพศของผู้หญิง หรืออนามัยเจริญพันธุ์ ต้องไปไกลกว่าการให้ความรู้ การคุมกำเนิด หรือป้องกันโรค แต่เป็นเรื่อง "สิทธิ" และการปรับสภาพสังคมให้เอื้อกับผู้ประสบปัญหา จึงทำให้แนวคิดของคนที่ทำงานด้านสุขภาพทางเพศของผู้หญิง มองเรื่อง "สิทธิ" ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ 
จิตติมา อธิบายต่อว่า บางครั้งการมองเรื่องการใช้ยาคุม หรือใช้ถุงยางเป็นเรื่องง่าย แต่ความรู้ความเข้าใจจริงๆ ยังมีน้อย เพราะบางคนมีความเชื่อว่าถึงเวลาก็รู้เอง หรือเป็นหน้าที่ของฝ่ายชายทีต้องหาความรู้ และสิ่งเหล่านี้มันเกี่ยวข้องกับค่านิยมและการยอมรับของสังคม รวมไปถึงการจัดบริการที่จะให้คนเข้าถึงความรู้ ให้คำปรึกษา หรือเข้าถึงอุปกรณ์
"เราต้องสนใจเรื่องคุณภาพชีวิต หรือสิทธิที่รัฐจะเอื้อให้คนเข้าถึงความรู้ในเรื่องเพศ เข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด และเข้าถึงได้อย่างเป็นมิตร ซึ่งรัฐเองต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของเยาวชน เชื่อมั่นในสิทธิที่จะให้กับพวกเขา" จิตติมา กล่าว
รัฐไทยพยายามแก้ปัญหาเรื่อง "ท้องไม่พร้อม" แบบแก้ปัญหา "โรคระบาด" ซึ่งสะท้อนออกมาจากตัวกฎหมาย
จิตติมา เปรียบเทียบกรอบแนวคิดของรัฐกับภาคประชาชนที่แตกต่างกันว่า รัฐพยายามแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมเหมือนวิธีจัดการกับ "โรคระบาด" เพราะใช้กรอบแนวคิดแบบสาธารณสุขและประชากรศาสตร์ ทำให้รัฐไปสอดส่องเด็ก แล้วก็มีฐานคิดว่า "เด็กที่ท้องไม่พร้อม" เป็นเด็กที่มีปัญหาในครอบครัว มาจากครอบครัวไม่ดี มีพฤติรรมที่ไม่ดี 
ซึ่งแนวคิดนี้สะท้อนผ่าน ร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของ "กรรมาธิการการด้านสาธารณสุข" ที่เป็นร่างก่อนจะเข้า สนช. จึงมุ่งเน้นการ "ควบคุม" โดย ให้อำนาจหน้าที่ แทรกแซง ห้ามปราม เมื่อเกิดความสงสัยว่าจะเกิดเหตุไม่ดี เป็นการเข้าไประงับเหตุ แต่ไม่ได้มองว่าปัญหาที่แท้จริงและยอมรับว่ามันเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่น เพียงแต่เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการติดอาวุธทางความคิด และทักษะในชีวิตทางเพศที่ดีพอ
ดังนั้น กระบวนการแก้ปัญหาก็จะมีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ ในกฎหมายไม่ได้มีแง่มุมของการวางมาตรการที่จะส่งเสริมศักยภาพของเด็กและเยาวชน
จิตติมา ยืนยันว่า กรอบแนวคิดเรื่องการแก้ปัญหาโรคระบาด เพียงมิติเดียว ไม่สามารถใช้ได้ เพราะการแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมนั้น ต้องสร้างสังคมที่เอื้อให้สมาชิกมีโอกาสในชีวิตทางเพศได้อย่างปลอดภัยและรอบด้าน ไม่ว่าจะด้านการให้ความรู้และการบริการทางสุขภาพทางเพศ
การไม่ได้ระบุสิทธิของเยาวชนไว้โดยละเอียด อาจเป็นเพราะรัฐให้ความสำคัญแต่กับ "กระบวนการทำงาน" 
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ฉบับ สนช. จะเขียนไว้กว้างๆ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมีหน้าที่ส่งเสริมให้เด็กเข้าถึงความรู้ เข้าถึงบริการ แต่กลับ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า เยาวชนมีสิทธิในเรื่องดังกล่าวอย่างไร ซึ่งแตกต่างไปจากร่างที่ทางมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิงเคยจัดทำไว้ว่าต้องครอบคลุม การคุมกำเนิด การดูแลครรภ์ การคลอด การยุติการตั้งครรภ์ เป็นต้น
ประเด็นนี้ จิตติมา อธิบายว่า ร่างของมูลนิธิฯ จัดทำโดยมองเรื่องการให้สิทธิ หรือการสร้างหลักประกันที่รัฐจะต้องให้ความคุ้มครอง แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนเรื่องกระบวนการทำงาน ทั้งสองร่างกฎหมายจึงมีความต่างในแง่ของ "การมีหน่วยงานรับผิดชอบ" แต่ฐานคิดของกฎหมาย สนช. ก็คือต้องเข้าไปกำกับดูแล เข้าไปแทรกแซงชีวิตทางเพศของเด็ก เพื่อดูว่าใครมีปัญหาอะไร แล้วก็ระบุว่าเด็กต้องทำอะไร  
"มันเป็นเรื่องที่รัฐมุ่งแก้ปัญหา มันก็เลยมีความเป็นรูปธรรมสูง แต่ในวิธีการแก้ปัญหามันอาจจะมีปัญหาก็ได้ เพราะสิ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองไม่ชัดเจน และคนที่มีปัญหาก็อาจจะถูกละเมิดหรือตีตราในที่สุด ซึ่งเหมือนการแก้ปัญหาเรื่อง เอดส์ ที่ใช้ความน่ากลัวของโรคมาเป็นประเด็นโดยหวังให้คนตระหนัก" จิตติมา กล่าว
การที่กฎหมายต้องลงรายละเอียดเรื่องสิทธิ ก็เพราะว่า มันเป็นสิ่งที่รัฐต้องให้การ "คุ้มครอง" ไม่ใช่การ "สงเคราะห์"
จิตติมา มองว่า การระบุเรื่องการให้โอกาสในการศึกษากับเด็กที่มีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์เป็นเรื่องดี เพียงแต่ต้องมีรายละเอียดว่า มันจะให้การคุ้มครองอย่างไร เช่น การพิจารณาจากตัวเลขเด็กที่ท้องไม่พร้อม แล้วก็ตั้งเป็นโรงเรียนสำหรับคนท้องไม่พร้อมแบบนี้ ก็เป็นการให้โอกาสทางการศึกษา แต่ว่ามันคือการ "เลือกปฏิบัติ" และในร่างกฎหมายของ สนช. ก็กำหนดแต่เพียงว่า "ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง.." เท่านั้น
"เขาโฟกัสเด็กที่อยู่ในวัยเรียน แต่ไม่มีมาตราไหนเลยที่ระบุว่า ห้ามให้เด็กออกจากสถานศึกษา มีเพียงการกำหนดว่า ต้องให้โอกาสทางการศึกษา อย่างนี้ถ้าคิดแบบสุดขั้วก็คือ จะมีโรงเรียนสองประเภท เป็นโรงเรียนปกติ กับโรงเรียนเด็กใจแตก เพราะเขามองว่าได้ทำตามกฎหมายแล้ว ดังนั้นสิ่งสำคัญควรระบุว่าการเลือกว่าจะศึกษาที่ไหนนั้นเป็นสิทธิของเด็กเอง" จิตติมา กล่าว
ร่างกฎหมายฉบับ สนช. ขาดการมีส่วนร่วม และไม่ได้สนใจภาพรวมของสิทธิทางเพศ สุขภาพทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์
จิตติมา มองว่า ร่างฉบับประชาชนที่เคยทำกันมา มันไม่ได้อยู่แค่ระดับเยาวชน แต่ครอบคลุมเรื่องสิทธิทางเพศ สุขภาพทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ ดังนั้นจะมีบางประเด็นที่ขาดหายไป เช่น สิทธิในการไม่ถูกปฏิเสธการจ้างงานเพราะการตั้งครรภ์ การเลือกวิถีชีวิตทางเพศได้โดยอิสระ ซึ่งกฎหมายของ สนช. จะไม่มีการรับรองเรื่องสิทธิดังกล่าวไว้เลย
นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง "ที่มาของคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" ที่เป็นคนจากส่วนราชการ โดยไม่ได้มีสัดส่วนการสรรหาที่มาจากภาคประชาชนแม้แต่เก้าอี้เดียว ซึ่ง จิตติมา มองว่า "มันมีความชัดเจนที่รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม และไม่ได้ยอมรับความจริงที่ว่า การแก้ปัญหาเรื่องเพศต้องไม่ใช่การสั่งการ มันจึงเป็นกฎหมายที่หวังควบคุมโรคระบาดและหวังให้กลไกของรัฐเป็นกระแสหลักในการแก้ปัญหาเรื่องนี้"
จิตติมา สรุปประเด็นทิ้งท้ายว่า นอกจากการเขียนเรื่องสิทธิในทางกฎหมายแล้ว สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ "การสื่อสาร" 
"ทุกวันนี้ทุกคนมีทางเลือกในการเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เพียงแต่ข้อมูลมันเป็นแบบข้อมูลสาธารณสุข ข้อมูลแบบหมอๆ  แต่มันไม่มีข้อมูลที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคน เช่น ความพึงพอใจ เรื่องความสัมพันธ์ จากการทำแอพพลิเคชั่น "ME SEX" พบว่า คนไม่ค่อยสนใจเรื่องสรีระ แต่เป็นเรื่องความรักความสัมพันธ์ แล้วมันจะนำเขาไปสู่เรื่องการป้องกัน ไม่ใช่ข้อมูลแข็งๆ แบบข้อมูลวิทยาศาสตร์"
"สิ่งที่ต้องรื้อถอนสองอย่างในสังคมไทย คือ ความคิดความเชื่อเรื่องเพศศึกษา ไม่ใช่แค่การสอนเรื่องเพศสัมพันธ์นั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แต่หมายถึงวิถีชีวิตทางเพศโดยรวม ส่วนอย่างที่สองคือ ผู้ประสบปัญหาท้องในวัยรุ่นมันไม่ใช่ปัญหา แต่สังคมยังไม่มีบริการให้เขา มันถึงเป็นปัญหา" จิตติมา กล่าวปิดท้าย
ไฟล์แนบ