Prachamati.org บทบาทในการสร้างพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญ

การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นจุดเริ่มต้นของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ(เก่า) 2550 ได้ถูกยกเลิกไป วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 คณะรัฐประหารประกาศใช้รัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) ฉบับ 2557 ซึ่งออกแบบสถาบัน แนวทางและขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ นับเป็นมุดหมายสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเป็นกติกาถาวร
รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 2557 ให้กำเนิดองค์กรทางการเมืองที่สำคัญ คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยหน้าที่ของ สปช.คือการผลักดันกระบวนการปฏิรูปประเทศและการลงมติในขั้นสุดท้ายว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่นำความเห็นต่างๆ มาสู่การร่างรัฐธรรมนูญออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร  
นับตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นที่ประจักษ์ว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นไปอย่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งด้วยบรรยากาศทางการเมืองไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพราะติดเงื่อนไขของกฎอัยการศึก ต่อเนื่องถึงการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือด้วยตัวของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สปช. ที่อาจจะต้องเร่งทำหน้าที่ด้วยข้อจำกัดมากมาย 
การเกิดขึ้นของเว็บไซต์ prachamati.org เป็นการร่วมมือกับของ 4 องค์ คือ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักข่าวไทยพับลิกา, สำนักข่าวประชาไท และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โดยมีจุดมุ่งหมายให้เว็บไซต์นี้เป็นพื้นที่กลาง เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นกับร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม) ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นช่องทางในการออกเสียงประชามติออนไลน์ต่อประเด็นต่างๆ โดยทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน
ต่อมามีแนวร่วมอย่างเว็บไซต์ ThaiNGO, สำนักข่าว TCIJ และสำนักข่าวประชาธรรมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรพันธมิตรด้วย
การสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญ
Prachamati.org สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน ผ่านทางพื้นที่ออนไลน์เป็นหลัก คือ เว็บไซต์ ‘prachamati.org’ และ เฟซบุ๊ก ‘Prachamati – ประชามติ’ นอกจากนี้ยังผ่านช่องทางพันธมิตรอื่นๆ ด้วย
‘เว็บไซต์’ จะนำประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญมาย่อยให้ประชาชนเข้าใจง่าย และนำประเด็นสนับสนุนและคัดค้านมาแสดงเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการถกเถียงแลกเปลี่ยน โดยเปิดให้ผู้ใช้เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อลงคะแนนเสียงประชามติออนไลน์ และเมื่อเปิดผลการลงคะแนนเราจะนำผลคะแนนดังกล่าวเปิดเผยต่อสาธารณะ รวมทั้งส่งให้สื่อมวลชนสำนักต่างๆ
ที่ผ่านมา Prachamati.org เปิดให้ลงคะแนนเสียงออนไลน์ในประเด็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญไปทั้งหมด 13 ประเด็น โดยเปิดผลโหวตไปแล้ว 10 ประเด็น ประเด็นที่มีคนโหวตมากที่สุดคือ ‘รัฐธรรมนูญใหม่ต้องผ่านการทำประชามติ เห็นด้วยหรือไม่?’ มีคนลงคะแนน 2957 คน ซึ่งโดยภาพรวมคิดโดยเฉลี่ยก็จะมีเข้ามาโหวตต่อประเด็นเฉลี่ย 1,321 คน
สำหรับ ‘เฟซบุ๊ก’ จะเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ประเด็นที่อยู่ในเว็บประชามติ รวมทั้งจะนำเสนอความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันมีผู้มากดไลค์ประมาณ 9,700 Like
นอกจากนี้ ‘พื้นที่ออฟไลน์’ ก็ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการดึงประชาชนเข้ามาสู่พื้นที่ออนไลน์ เว็บไซต์ประชามติ ได้กิจกรรมรณรงค์ 2 ครั้ง คืองานเปิดตัวเว็บอย่างเป็นทางการ และ งานเสวนาหัวข้อ ‘ประชามติอย่างไร? ไม่ให้เสียของ’ ผลตอบรับในแง่ของสื่อมวลนับว่าดีมาก มีสื่อจำนวนมากเข้ามาทำข่าวในงานของเรา แต่ก็ไม่ได้เห็นผลลัพธ์ว่าประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในเว็บไซต์ prachamati.org เพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใด โดยผูกพันกับการจัดกิจกรรมต่างๆ
การดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
ในเว็บไซต์ prachamati.org นอกจากประเด็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงความคิดเห็นและออกเสียงประชามติออนไลน์แล้ว เรายังนำประเด็นทางสังคมที่เป็นที่ถกเถียงและน่าสนใจมาตั้งประเด็นคำถามเพื่อทำประชามติออนไลน์ ซึ่งเป็นความตั้งใจเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนที่มีความสนใจที่หลากหลายเข้ามารู้จักเว็บไซต์ประชามติ เพื่อรับรู้และร่วมออกเสียงในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ
ขณะนี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในประเด็นทางสังคมทั้งหมด 9 ประเด็น เช่น ‘โรงไฟฟ้าถ่านหินเหมาะสมกับประเทศไทย เห็นด้วยหรือไม่?’, ‘ตั้งบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายในไทย เห็นด้วยหรือไม่?’, ‘คนเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้ เห็นด้วยหรือไม่?’ และ ‘กัญชา ถูกกฎหมาย เห็นด้วยหรือไม่?’  คิดโดยเฉลี่ยก็จะมีคนเข้ามาโหวตต่อประเด็นเฉลี่ย 528 คน
ความน่าสนใจของประเด็นทางสังคมอยู่ที่ เรื่อง ‘กัญชา ถูกกฎหมาย เห็นด้วยหรือไม่?’ ซึ่งเว็บไซต์เปิดให้โหวตตั้งแต่ 29 เมษายน 2558 และประกาศผล 13 กรกฎาคม 2558 เวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง มีคนโหวต 1,940 คน และหลังจากประกาศผลโหวต มีคนเข้ามาโหวตเพิ่มขึ้นอีกถึง 1,000 โหวต ซึ่งปัจจุบันเมื่อนับรวมกันทุกประเด็นแล้ว คำถามเรื่องกัญชามีผู้โหวตมากที่สุดคือมากกว่า 3,000 คน
บทเรียนจากประเด็นกัญชาก็คือเราจะเลือกประเด็นที่สังคมสนใจจำนวนมากได้อย่างไร ซึ่งหากมองไปในประเด็นคำถามอื่นๆ ก็จะพบว่าบางหัวข้อเช่น คาสิโน คนรักเพศเดียว ซึ่งถูกเลือกมาตั้งเป็นคำถามเพราะในช่วงเวลานั้นเป็นกระแสที่สังคมกำลังถกเถียง แต่กลับยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก          
ความท้าทายของพื้นที่สื่อออนไลน์ในการร่างรัฐธรรมนูญ 
สำหรับการทำงานบนพื้นที่ออนไลน์ของเว็บไซต์ prachamati.org นับว่ามีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน มีเงื่อนไข 4 ประการที่ทำให้การมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีข้อจำกัด คือ
1) การร่างรัฐธรรมนูญมีพิมพ์เขียวเบื้องต้น ตาม มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดกรอบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้แล้ว เช่น สร้างกลไกการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตที่เข้มข้นขึ้น, การกีดกันนักการเมืองออกจากการเลือกตั้งโดยเด็ดขาดหากพบการกระทำการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ, สร้างเกราะป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่าย ด้วยเหตุที่มีธงชี้นำการร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ความตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วมของประชาชนจึงน้อย เพราะข้อเสนอที่อยู่นอกกรอบของพิมพ์เขียวแทบจะไร้ประโยชน์
2) เสรีภาพในการแสดงออก และการมีส่วนร่วมถูกปิดกั้น เพราะ ประกาศ คสช. 97/2557 และ 103/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และ คำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ซึ่งทั้งสองเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐใช้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทำให้การแสดงออกเป็นไปอย่างระมัดระวังและจำกัด และการจัดเวทีสาธารณะของภาคประชาชนที่จำเป็นต่อการมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญถูกปิดกั้น เช่น เสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญไทย เอาไงดี” ที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตย และภาคีนักกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยรามคำแหง  และ เวที พลเมืองประชามติ เสียงคนพระนครศรีอยุธยา ที่จัดโดย พลเมืองประชามติ ถูกเจ้าหน้าที่ขอให้ยกเลิก
3) ประชาชนบางกลุ่มปฏิเสธกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น เพราะจุดเริ่มต้นของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมาจากการรัฐประหาร ขาดการมีส่วนร่วม ขาดความชอบธรรม ที่มาของ สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขาดความหลากหลาย และไม่มีตัวแทนประชาชน ซึ่งเข้าข่ายสโลแกนว่า “ไม่รับ ไม่ร่วม ไม่ร่าง” ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นต่อให้รัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบทุกขั้นตอนตามโรดแมป แต่อนาคตของรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีความแน่นอน เพราะประชาชนจำนวนมากไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของที่จะปกป้องหวงแหนรัฐธรรมนูญ  
4) กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความแน่นอน เพราะการปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ผ่านมา แม้จะเปิดโอกาสให้มีการทำประชามติจริงๆ แต่ก็แก้ไขเปิดช่องให้ คสช.ยืดอายุของตนเองออกไปได้ ซึ่งสอดประสานกับบรรดาสมาชิก สปช.ที่ออกมาเสนอให้ คสช.ขยายเวลาโรดแมปของตัวเองออกไปอีก 2 ปี ประกอบกับ ท่าทีของสมาชิก สปช.ที่พร้อมจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติ จึงไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าการมีส่วนร่วมของพวกประชาชนจะเป็นประโยชน์ไม่เสียเปล่าไป
ความหวังของพื้นที่สื่อออนไลน์ในการร่างรัฐธรรมนูญ 
ระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา เว็บไซต์ prachamati.org เป็นพื้นที่ออนไลน์ที่สำคัญต่อประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้บรรยากาศและเงื่อนไขทางการเมืองข้างต้น เว็บไซต์ prachamati.org กลายเป็นพื้นที่ซึ่งผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกับผู้มีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญสามารถแสดงออกได้ ซึ่งความคิดเห็นส่วนหนึ่งก็ประกอบไปด้วยข้อเท็จจริงและความคิดเห็นที่เป็นเหตุเป็นผลน่ารับฟัง
ผลการโหวตทุกประเด็นเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มากน้อยต่างกันบ้าง เช่น ข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็นส.ส.ก็ได้ หรือที่มาของสมาชิกวุฒิสภา อาจยังสรุปไม่ได้ว่าความคิดเห็นในเว็บไซต์ประชามติเป็นตัวแทนความคิดความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่ปิด เสียงสะท้อนที่แตกต่างเหล่านี้ย่อมมีนัยยะสำคัญ
บทสรุปสุดท้าย หากรัฐยังคงเงื่อนไขที่สร้างข้อจำกัดให้กับบรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชน และปิดกั้นความพยายามที่ประชาชนจะถกเถียงแลกเปลี่ยนกันให้ถึงรายละเอียดจนตกผลึกในพื้นที่อื่นๆ ความชอบธรรมของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะยิ่งลดน้อยลง และกลุ่มคนที่ถือจุดยืนปฏิเสธกระบวนการทั้งหมดจะยิ่งมีปริมาณและความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ
พื้นที่ออนไลน์ก็คงมีบทบาทเป็นแค่พื้นที่แสดงออกของคนที่ถูกบีบคั้นมาจากการไม่สามารถแสดงออกด้วยวิธีอื่นได้ และมาอาศัยพื้นที่ออนไลน์แสดงออกเพียงว่าเอาหรือไม่เอารัฐธรรมนูญ มากกว่าจะสามารถเป็นพื้นที่ให้ประชาชนมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนค่อยๆ หา “ประชามติ” สำหรับรัฐธรรมนูญอันที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันได้
พื้นที่ออนไลน์จะเป็นความหวังในการสร้างการมีส่วนร่วมต่อร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความหมาย อาจไม่สามารถอาศัยเพียงการสื่อสารในโลกออนไลน์โดยลำพังได้ แต่อาจต้องอาศัยเงื่อนไขที่สังคมในภาพใหญ่ตื่นตัว ผู้คนหลากหลายทั้งด้านฐานความเชื่อทางการเมืองและด้านกลุ่มประชากรต้องรู้สึกร่วมกันว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีความหมายต่อพวกเขา และรู้สึกปลอดภัยพอที่จะแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในระบบการเมืองที่เปิดให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียง มีเสรีภาพ เท่านั้น