หกประเด็นอย่างน้อยที่ยังไม่ถูกการแก้ไขใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ผ่านสนช.ไปแล้ว

แม้ว่าภาคประชาชนจะส่งเสียงเรียกร้องให้ถอดหรือชะลอการพิจารณา "พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ" แต่ดูเหมือนว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะ "มีความจำเป็นเร่งด่วน" ที่ต้องรีบพิจารณา โดยจุดเริ่มต้นของกฎหมายเริ่มจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้เสนอ (ดูรายละเอียด) ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เห็นตรงกันว่า "กฎหมายดังกล่าวมีปัญหา" อาทิ การต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าก่อน 24 ชั่วโมง
มิใช่แค่นั้น ในเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “ทิศทางเสรีภาพในการชุมนุมของประเทศไทย” ที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเป็นผู้จัด ก็มีข้อเรียกร้องให้แก้ไขและเสนอให้ถอนร่างดังกล่าวออกไป เพราะเกรงว่ากฎหมายจะส่งผลในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ดี เมื่อ สนช. ลงมติเห็นชอบให้ใช้เป็นกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะทำความเข้าใจ โดยเฉพาะประเด็นที่ไม่ถูกแก้ไข ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง : การกำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุม
ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กำหนดว่า ห้ามจัดการชุมนุมภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล เว้นแต่จะมีการจัดสถานที่เพื่อใช้สำหรับชุมนุม และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังมีอำนาจสั่งห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตรของสถานที่ดังกล่าว และห้ามกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการสถานที่ อาทิ สถานที่ราชการ ท่าอากาศยาน เป็นต้น
สำหรับเหตุผลที่ภาคประชาชนเรียกร้องให้แก้ไข เพราะโดยปกติการชุมนุมมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้หน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาหรือเรียกร้องความเป็นธรรม ดังนั้น การห้ามชุมนุมในสถานที่หรือบริเวณดังกล่าว อาจจะทำให้อำนาจต่อรองของประชาชนลดลง นอกจากนี้การชุมนุมปกติย่อมได้รับความไม่สะดวกในการใช้สถานที่อยู่แล้ว การกำหนดเรื่องการกีดขวางทางเข้าออกจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ประเด็นที่สอง : การต้องแจ้งชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง พร้อมรายละเอียด
กฎหมายกำหนดให้ ผู้ที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะต้องแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และต้องแจ้งวัตถุประสงค์ วัน ระยะเวลา รวมถึงสถานที่ ต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในท้องที่ที่มีการชุมนุมนั้นๆ
ซึ่งประเด็นนี้ จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ค่อนข้างกังวลใจ เพราะบางกรณีเป็นเหตุเร่งด่วน เช่น คนงานถูกเลิกจ้างแล้วนายจ้างปิดโรงงาน หรือไม่จ่ายเงิน ซึ่งแบบนี้ไม่สามารถแจ้งล่วงหน้าได้  ถ้าแจ้งแล้วต้องรออีก 24 ชั่วโมง นายจ้างอาจจะบินไปนอกประเทศหรือขนเครื่องจักรออกหมดแล้ว
และการที่ผู้จัดการชุมนุม ต้องระบุวัตถุประสงค์ ระยะเวลา สถานที่ ให้กับผู้รับแจ้ง ก็เป็นการผูกเงื่อนตายบางอย่างไว้ เพราะกฎหมายกำหนดอีกว่า การชุมนุมต้องอยู่ภายใต้สถานที่ที่แจ้งไว้เท่านั้น ห้ามเคลื่อนย้ายจนกว่าจะได้รับอนุญาตและต้องเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่แจ้งไว้ ซึ่งในความเป็นจริง การชุมนุมบางครั้งไม่สามารถจะคาดการณ์ได้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไรจึงจะบรรลุผล การต้องยุติการชุมนุมตามเวลาที่แจ้งนั้นสร้างภาระให้กับผู้ที่จะจัดการชุมนุมเกินกว่าที่เคยมีมาตามปกติ 
พุธิตา ชัยอนันต์ นักกิจกรรมและนักกฎหมาย ได้เสริมประเด็นดังกล่าวอีกว่า กฎหมายให้อำนาจตำรวจที่จะสั่งให้ผู้จัดการชุมนุม “แก้ไข” หรือ ให้เปลี่ยนสถานที่หรือวันเวลาการชุมนุม และหากไม่ยอมแก้ไข ตำรวจก็มีอำนาจสั่ง “ห้ามชุมนุม” ได้อีก ดังนั้น แม้จะใช้คำว่าต้อง “มีหนังสือแจ้ง” แต่โดยกระบวนการที่กำหนดก็คือต้อง “ขออนุญาต” นั่นเอง
อย่างไรก็ดี กฎหมายยังเหลือพื้นที่ให้ผู้ที่ไม่สามารถแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าได้ โดยการขอผ่อนผันไม่ต้องส่งรายละเอียดการชุมนุม แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้รับแจ้งว่าจะอนุญาตให้มีการผ่อนผันหรือไม่ ถ้าหากผู้รับแจ้งเห็นว่าไม่ควรผ่อนผันก็จะเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจยกเลิกการชุมนุมนั้นได้อีก
ประเด็นที่สาม : การนิยามผู้จัดการชุมนุมและหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุม
นิยามของผู้จัดการชุมนุม ได้ขยายครอบคลุมถึง ผู้ที่เชิญชวน หรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม ซึ่งอาจจะไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมที่มีอำนาจตัดสินใจตามความเป็นจริงก็ได้ หมายความว่า หากใครที่เห็นด้วยกับการชุมนุมและเชิญชวนให้คนอื่นมาร่วมชุมนุมก็จะมีภาระผูกผันตามกฎหมายไปด้วย ซึ่งอาจทำให้พลังในการออกมาเคลื่่อนไหวของประชาชนน้อยลง เพราะไม่มีใครกล้าชวนใคร
อีกทั้ง การกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุม มีหน้าที่ต้องดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ รวมถึงควบคุมให้ผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุมที่กฎหมายกำหนด มิเช่นนั้นจะมีโทษ อาจจะขัดหลักความรับผิดในทางอาญาที่กำหนดว่าบุคคลจะต้องรับผิดต่อเมื่อตัวเองเป็นผู้กระทำผิดเท่านั้น ไม่ควรมีใครต้องรับผิดทางอาญาจากความผิดที่คนอื่นเป็นผู้ก่อ 
ในประเด็นนี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้อธิบายว่า การลงโทษเป็นเรื่องของปัจเจก ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมายอยู่แล้ว และในบางครั้ง รัฐสามารถจัดการได้ทันที เช่น ผู้ที่พกพาอาวุธ โดยไม่จำเป็นต้องผลักภาระดังกล่าวไปให้ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมแต่อย่างใด คงเป็นการยากที่ผู้จัดการชุมนุมจะสามารถดูแลผู้เข้าร่วมการชุมนุมได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในการชุมนุมขนาดใหญ่
ประเด็นที่สี่ : การให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ออกคําสั่งบังคับให้เลิกการชุมนุม
กฎหมายกำหนดให้ผู้รับแจ้งหรือเจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้ผู้ชุมนุมแก้ไข หรือยุติการชุมนุมได้ ในกรณีที่การชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังสามารถร้องขอต่อศาลให้สั่งยุติการชุมนุม ได้อีกด้วย
ซึ่งประเด็นดังกล่าว พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชน มองว่า อาจจะขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ เพราะอำนาจสั่งยุติการชุมนุมของเจ้าหน้าที่เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร การที่กฎหมายกำหนดให้ต้องขอให้ศาลสั่งก็จะเป็นการนำอำนาจตุลาการมารับรองอำนาจฝ่ายบริหาร ทำให้ตรวจสอบได้ยากขึ้น 
แม้จะอนุญาตให้สามารถอุทธรณ์ได้ก็ตาม แต่โดยหลักการศาลไม่ควรเป็นผู้ออกคำสั่งบังคับให้เลิกการชุมนุมตามดุลพินิจของฝ่ายบริหาร เพราะศาลในฐานะองค์กรตุลาการ ต้องเป็นผู้ตัดสินว่าคำสั่งที่ออกมานั้นชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย วิธีการเช่นนี้อาจทำให้ศาลกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุม ซึ่งก็น่ากังวลอีกว่า จะสามารถรักษาความเป็นอิสระและเป็นกลางของสถาบันตุลาการได้อีกหรือไม่ เพราะการให้สถาบันตุลาการเข้ามาใช้อำนาจฝ่ายบริหารนั้นเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจอันเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของหลักนิติรัฐ
ประเด็นที่ห้า : อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุม
กฎหมายกำหนดให้ หัวหน้าสถานีตำรวจในท้องที่ที่มีการชุมนุมเป็นพนักงานดูแลการชุมนุม แต่ถ้าการชุมนุมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ก็ให้ผู้บังคับการหรือผู้บัญชาการตำรวจแทน หรือจะให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นคนแต่งตั้งก็ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวก รักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมและผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง รวมถึงจัดการจราจรและขนส่งสาธารณะ อีกทั้งมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือออกคำสั่งให้ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมปฏิบัติตามเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัย
ประเด็นดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่เปรียบเสมือน ‘คนกลาง’ ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ระหว่างผู้ชุมนุมและผู้ได้รับผลกระทบจากผู้ชุมนุม แต่ทว่า การให้อำนาจในการออกคำสั่งหรือกำหนดเงื่อนไขที่ผู้จัดการชุมนุมต้องปฎิบัติตามมิเช่นนั้นจะมีโทษ อาจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่เข้ามา ‘ควบคุม’ การใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้  หากไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ก็จะเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่และอาจจะส่งผลเสียต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ประเด็นสุดท้าย : การกำหนดบทลงโทษทางอาญา
กฎหมายมีการระบุโทษทางอาญาในกรณีผู้จัดการชุมนุมกระทำความผิด เช่น ชุมนุมในพื้นที่ห้ามชุมนุม ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือทำให้การชุมนุมดังกล่าวไม่เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่หากสังเกตจะเห็นว่า หลายกรณีหากไม่กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะรัฐก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้อำนาจจัดการดูแลได้อยู่แล้ว เช่น หากผู้ใดกีดขวางจราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถอำนวยความสะดวกเรื่องการใช้ทางได้ หรือกรณีพกพาอาวุธมาในที่ชุมนุม ก็สามารถจับกุมดำเนินคดีกับบุคคลนั้นๆ ในข้อหาพกพาอาวุธเข้ามาในที่สาธารณะได้ด้วยกฎหมายที่มีอยู่แล้ว 
ดังนั้น การระบุโทษที่มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ก็อาจจะเป็นการเพิ่มโทษให้กับผู้ชุมนุมและผู้จัดการชุมนุมโดยไม่จำเป็น
ไฟล์แนบ