เปรียบเทียบร่างกฎหมายประกันสังคม ของรัฐบาลและภาคประชาชน

 

ปัญหาของ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ.2533

 

1 ปัจจุบัน กฎหมายที่บังคับใช้ยังไม่ครอบคลุมคนทำงานที่มีรายได้ทุกคนในประเทศ ที่ควรจะมีหลักประกันสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งจากระบบภาษีและการร่วมจ่ายสมทบในอัตราที่เหมาะสมกับฐานรายได้ เนื่องจากมีข้อยกเว้น ที่ไม่บังคับใช้ในกลุ่มลูกจ้างบางประเภทที่มีรูปแบบการจ้างงานที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของรัฐ ลูกจ้างภาคเกษตร กิจการประมงและผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น 
2 ปัจจุบันกองทุนประกันสังคม เป็นกองทุนทีมีจำนวนเงินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศและเงินไม่ได้มาจากงบประมาณของรัฐที่มาจากงบประมาณอย่างเดียว มีผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคนและนายจ้างเกือบ 5 แสนรายที่ร่วมจ่าย แต่ยังบริหารจัดการโดยราชการที่ยังขาดการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ ตามหลักธรรมาภิบาล และการบริหารจัดการยังขาดความเป็นมืออาชีพ
3 รูปแบบการบริหารจัดการด้านสิทธิประโยชน์ การบริการ และการลงทุนยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ต้องการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคมและปัญหาความต้องการของผู้ประกันตน ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ระบบสุขภาพ ยังมีมาตรฐานการให้บริหารทางการแพทย์ การพัฒนาสิทธิประโยชน์ และการเข้าถึงบริการยังมีคุณภาพด้อยกว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนด การปรับปรุงอัตราการจ่ายเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ยังจำกัดเพดาน ที่เป็นเงื่อนไขต่อการเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมบทให้สอดคล้องกับรายได้ผู้ประกันตนเพื่อการเพิ่มสิทธิประโยชน์และการสะสมเงินออมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้
4 เสถียรภาพและความยั่งยืนของการบริหารจัดการกองทุนบำนาญชราภาพ ซึ่งเป็นกองทุนที่รัฐไม่ได้จ่ายสมทบ และเนื่องจากประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่อัตราคนเข้าสู่ตลาดแรงงานจะส่งผลต่อเงินกองทุนที่มีสัดส่วนน้อยลง หากไม่มีการปรับปรุงเงื่อนไขและรูปแบบการบริหารจัดการกองทุน อนาคตเงินสะสมของกองทุนเพื่อการชราภาพของผู้ประกันตนจะหมด และจะกลายเป็นภาระของประเทศต่อไป
เปรียบเทียบสาระสำคัญ
1) ขอบเขตการคุ้มครอง
ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ: ขยายความคุ้มครองถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนรวมราชการ และครอบคลุมลูกจ้างทำงานบ้าน
ฉบับคนทำงาน: ขยายความคุ้มครองถึงลูกจ้างทุกคนทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ที่ได้รับประโยชน์ทดแทนน้อยกว่ากฎหมายประกันสังคม
2) องค์ประกอบของคณะกรรมการประกันสังคมส่วนของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน
ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ: ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายประกันตนมาจากการเลือกตั้ง โดยหลักเกณฑ์และการเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
ฉบับคนทำงาน: ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายประกันตนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของนายจ้างและผู้ประกันตน ทั่วประเทศ โดยต้องมีส่วนร่วมของหญิงและชาย และมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนทุกประเภท
3) อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประกันสังคม
ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ: เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี, วางระเบียบเกี่ยวกับรับ-จ่ายเงินและจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง และให้ความปรึกษาแนะนำแก่คณะกรรมการกับสำนักงาน (อำนาจหน้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง)
ฉบับคนทำงาน: กำหนดนโยบายบริหารประกันสังคม, สามารถให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงาน ออกระเบียบการรับจ่ายเงินกองทุน โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง, กำหนดการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหาย หรือความเดือดร้อนจากการรักษาพยาบาล, กำหนดหลักเกณฑ์การร้องทุกข์และการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิตามกฎหมายนี้, กำหนดหลักเกณฑ์รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย
4) สถานภาพของสำนักงาน
ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ: มีฐานะเป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงแรงงาน 
ฉบับคนทำงาน: มีฐานะเป็นนิติบุคคลของรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจและส่วนราชการ และอยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี 
5) เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ: เป็นข้าราชการระดับสูง มาจากการเสนอชื่อโดยรัฐมนตรี
ฉบับคนทำงาน: ไม่ใช่ข้าราชการประจำต้องบริหารทำงานเต็มเวลา 
6) ฐานค่าจ้างคำนวณเงินสมทบ
ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ: กฎกระทรวงกำหนดขั้นต่ำ 1,650 บาทและสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน
ฉบับคนทำงาน: กำหนดให้จำนวนค่าจ้างสูงสุดตามกฎกระทรวงต้องไม่น้อยกว่าค่าตอบแทนขั้นต่ำของข้าราชการ และคณะกรรมการประกันสังคมต้องพิจารณาปรับเพิ่มทุก 2 ปีต่อครั้ง
7) ความรับผิดชอบของนายจ้าง
ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ: นายจ้างต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังไม่นำส่งหรือยังขาดอยู่นับแต่วันที่ต้องส่งเงินสมทบ โดยเงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย
ฉบับคนทำงาน: นายจ้างต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 4 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังไม่นำส่งหรือยังขาดอยู่นับแต่วันที่ต้องส่งเงินสมทบ โดยเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างยังมิได้นำส่ง หรือจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่
8) อัตราเงินสมทบและการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (คือผู้ที่เคยทำงานมีเงินเดือนประจำ)
ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ: ต้องเป็นผู้ประกันตาม ม.33 (คือเป็นผู้ทำงานมีเงินเดือนมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีทุกคน) มาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และสมัครภายใน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน และต้องจ่ายเงินสมทบ 2 เท่าของผู้ประกันตน ม.33
ฉบับคนทำงาน: ต้องเป็นผู้ประกันตาม ม.33 มาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน และขยายเวลาแจ้งความจำนงภายใน 12 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยผู้ประกันตน ม.39 จ่ายเงินสมทบเท่ากับ ม.33 ยกเว้น กรณีชราภาพ ให้ใช้ประโยชน์ทดแทน ม.40 ทางเลือก 3 และรัฐจ่ายเงินสมทบเท่ากับผู้ประกันตน
9) อัตราเงินสมทบและการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 (คือ ผู้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน)
ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ: กำหนดให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่เกินกึ่งหนึ่งที่ได้รับจากผู้ประกันตน กำหนดให้ผู้มิใช่ลูกจ้างตาม ม.33 หรือ ไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายประกันสังคมนี้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตาม ม.40 ได้
ฉบับคนทำงาน: กำหนดให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าที่ได้รับจากผู้ประกันตน ให้มีทางเลือกของประเภทประโยชน์ทดแทนที่จะได้รับเท่าเทียมกับผู้ประกันตน ม.33 หรือ 
10) เงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยและกรณีทุพพลภาพ
ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ: ภายใน 15 เดือนก่อนรับบริการทางการแพทย์ ได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน
ฉบับคนทำงาน: ได้รับบริการทางการแพทย์เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน, กรณีสิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตน และได้รับเงินบำนาญชราภาพ ผู้ประกันตนยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยไปจนตาย, กรณีผู้ประกันตนถูกหักค่าใช้จ้างนำส่งเงินสมทบครบเงื่อนไขเวลาที่ก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์แล้ว หากมีเหตุจำเป็นต้องหยุดงานตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หรือประสบอันตราบาดเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ ไม่เกิน 12 เดือน ผู้ประกันตนยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
11) เงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร
ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ: ภายใน 36 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน, สงเคราะห์บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีอายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน 
ฉบับคนทำงาน: มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน, สงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรที่มีอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ และรวมถึงบุตรบุญธรรมโดยไม่จำกัดจำนวนบุตร
12) สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพของผู้ประกันตนต่างชาติ
ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ: ผู้ประกันตนไม่มีสัญชาติไทย ที่มีความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนหรือไม่ก็ตาม และไม่ประสงค์พำนักในไทยต่อไป ให้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ
ฉบับคนทำงาน: ผู้ประกันตนต่างชาติที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และไม่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทยต่อไป หรือไม่มีสิทธิพำนักในไทยต่อไป ถ้าส่งเงินสมทบมาไม่ครบ 180 เดือนมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ
หลักการสี่ประการเพื่อการปฏิรูปประกันสังคม “หลักประกันเพื่อคืนความสุขสู่ประชาชน”
ประเทศไทยมีระบบการประกันสังคมมาไม่ต่ำกว่าสองทศวรรษครึ่ง ณ ปัจจุบัน กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดมีจำนวนเงินกองทุน 1,099,625 ล้านบาท และจากการศึกษาของสถาบันวิชาการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผลการศึกษาประเมินของสำนักงานประกันสังคม และประกอบกับข้อมูลการร้องเรียน การร้องเรียนของผู้ประกันตนและประชาชนในฐานะคนทำงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของระบบประกันสังคมทั้งระบบ ตั้งแต่ระบบวิธีคิด ทิศทางนโยบาย ตัวบทกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกันสังคม ตลอดถึงระบบสำนักงานที่ทำหน้าที่บริหารและขับเคลื่อนระบบประกันสังคมของประเทศ
ถึงเวลาแล้ว ที่ระบบประกันสังคมของประเทศไทย ควรได้รับการพิจารณาและปฏิรูปให้เป็นระบบหลักประกันทางสังคมเพื่อการคุ้มครองและเป็นหลักประกันทางสังคมให้กับคนทำงานที่มีรายได้ทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งมีจำนวนถึง 41.1 ล้านคน (คนทำงานในสถานประกอบการหรือแรงงานในระบบ) 11 ล้านคน คนทำงานที่ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ จำนวน 25.1 ล้านคน และคนทำงานจากประเทศเพื่อนบ้านหรือแรงงานข้ามชาติ จำนวนที่คาดการณ์กว่า 4 ล้านคน ควรได้รับการปฏิรูปทั้งระบบเพื่อ (1) ให้เป็นระบบที่คุ้มครองคนทำงานที่มีรายได้ทุกคน (2) ป้องกันหรือลดการทุจริตคอรัปชั่นที่อาจจะเกิดขึ้นจากการบริหารจัดการกองทุนที่ยังขาด (3) ลดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิที่ควรพึงได้รับจากการร่วมจ่ายในระบบสวัสดิการต่างๆ ตามประโยชน์ทดแทนที่กฎหมายกำหนด และ (4) ลดภาระการเงินการคลังที่รัฐต้องแบกรับภาระในอนาคตที่ประเทศไทยจะต้องจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยสี่หลักการเพื่อการปฏิรูปประกันสังคม ควบคู่กับการปฏิรูปประเทศไทย
เรียบเรียงจาก: กลุ่มเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) 14 องค์กร