การศึกษาไทยมาจากไหน?

ก่อนการปฏิรูปการศึกษา
ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจอมเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) วัดเป็นสถานศึกษาสำหรับสามัญชนทั่วไป ผู้ปกครองมักจะพาบุตรหลานเข้ารับการศึกษากับพระสงฆ์เพื่อให้ใช้สอยและสั่งสอน การศึกษาในลักษณะนี้จะไม่มีหลักสูตรกลางแต่เป็นการศึกษาที่ผู้สอน(พระสงฆ์) กำหนดเองตามประเพณีปฏิบัติ โดยในระดับชั้นต้นจะสอนการอ่านและเขียนภาษาไทย ในระดับชั้นกลางสอนอักขระขอมและภาษามคธ สอนวิชาการช่างต่างๆ และสั่งสอนศีลธรรม ขนบธรรมเนียมต่างๆ ส่วนในชั้นสูงจะส่วนวิชาอักษรศาสตร์ ประกอบด้วยความรู้ด้านโครง ฉันท์ กาพย์ กลอน นอกจากนี้ยังวิชาโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และทางด้านการแพทย์ 
จากบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งสะท้อนภาพการศึกษาไทยที่สัมพันธ์กับวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คือบทเสภาที่กล่าวถึง พลายแก้วลูกขุนไกรเมื่อ อายุ 15 ปี นางทองประสีมารดาได้พาไปบวชเณรกับเจ้าอาวาสวัดส้มใหญ่ ซึ่งเจ้าอาวาสได้เป็นอาจารย์สอนหนังสือและสอนหลักธรรมทางศาสนา เมื่อเณรแก้วอยากจะเรียนให้สูงขึ้นจึงลาอาจารย์ไปเล่าเรียนหาวิชาความรู้ต่อที่วัดป่าเลไลย์ เมืองสุพรรณบุรี การศึกษาที่นี่ทำให้เณรแก้วเรียนวิชาการทางศาสนาได้แตกฉาน และยังมีได้เรียนวิชาการทางโลกคือการต่อสู้ป้องกันตัว ตลอดจนวิชาชั้นสูงทางทหารคือตำราพิชัยสงคราม รวมทั้งศิลปะในการครองใจ
ในด้านงานช่าง ผู้เป็นช่างซึ่งมีความรู้เฉพาะด้านมักจะถ่ายทอดวิชาให้ลูกหลานของตนสืบทอดไป หรือบ้างครั้งอาจถ่ายทอดวิชาให้กับผู้สนใจซึ่งฝากตัวอยู่อาศัยเป็นลูกศิษย์ เหตุที่นี้เองทำให้การรวมตัวของช่างในวิชาชีพเดียวกัน จนเกิดเป็นชื่อบ้านที่เรียกไปตามอาชีพของคนในแต่ละพื้นที่ เช่น บ้านหม้อ บ้านบาตร บ้านช่างหล่อ บ้านบุ ฯลฯ สำหรับสตรี การเรียนอย่างอย่างเป็นแบบจะเกิดขึ้นในวังเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยสตรีในวังจะศึกษาวิชาการบ้านการเรือน กิริยามารยาทของกุลสตรีชั้นสูง การฝึกหัดนาฏศิลป์ 
การตั้งโรงเรียนเริ่มแรก
การตั้งโรงเรียนแบบสมัยใหม่ เริ่มต้นโดยคณะมิชชันนารีนำโดยนางบลัดเลย์ และก่อตั้งโรงเรียนชายขึ้นที่ตำบลวัดแจ้ง เมื่อ พ.ศ.2395 โดยนักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวจีน ต่อมามีการย้ายที่ตั้งและเปลี่ยนชื่อโรงเรียนหลายครั้ง ปัจจุบันโรงเรียนนี้คือ “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” สำหรับการศึกษาแบบตะวันตกของสตรี  ริเริ่มโดยคณะมิชชันนารีเช่นกัน โดยนางเฮาส์ ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในวังได้ตั้ง “โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง” อยู่บนพื้นที่โรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน ต่อมาไปย้ายสถานที่และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย”
ปฏิรูปการศึกษา สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
การศึกษาไทยเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในปี พ.ศ.2535 ตามความเห็นของรัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับสภาพการศึกษาไทยก่อนการปฏิรูปนั้นมีอยู่ว่า “ในพระราชอาณาจักร…ก็ยังเป็นชาวบ้าน ชาวป่า…ชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงก็เป็นคนปะปนกันหลายเพศ หลายภาษา ถือศาสนาและปลูกจารีตต่างๆ กัน ใช้ตัวหนังสือต่างกัน อ่านกันได้ตามแต่พวกๆ หนังสืออย่างหนึ่งในภาษาหนึ่งจะอ่านให้เข้าใจตลอดกันไปก็ไม่ได้ คนที่รู้อ่านหนังสือได้นั้นก็มีน้อยกว่าไม่รู้อ่านหนังสือหลายเท่า” 
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นปัจจัยให้รัชกาลที่ 5 ต้องปฏิรูประบบการศึกษาโดยให้มีหลักสูตรจากส่วนกลาง ใช้ภาษากลาง คือภาษากรุงเทพ เป็นสื่อกลางการถ่ายทอดเพื่อให้เกิดการผสมผสานกลมกลืน คนท้องถิ่นและภาษาต่างๆ ในประเทศให้เป็นชาวไทยโดยมีวัฒนธรรมและภาษาร่วมกันเพื่อสร้างรัฐชาติไทย อีกหนึ่งปัจจัยคืออิทธิพลของชาติตะวันตก โดยเฉพาะการเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาและวิทยาการตะวันตกของหมอสอนศาสนา ที่แม้ในด้านศาสนาจะไม่ประสบสำเร็จแต่การเรียนรู้ภาษาและวิทยาการตะวันตกก็ส่งอิทธิพลต่อโลกทัศน์ของชนชั้นนำไทย 
ช่วงแรกของการจัดตั้ง “กระทรวงธรรมการ” ยังไม่ได้มีการดำเนินการด้านการศึกษาอย่างจริงจัง จนกระทั่งช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2441 จึงมีการเสนอ “โครงการแผนการศึกษาในกรุงสยาม” โดยแบ่งการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา สำหรับการศึกษาในหัวเมือง (ต่างจังหวัด) มีการกระจายความรู้ขั้นพื้นฐาน โดยให้วัดเป็นผู้จัดการเรียนการสอน ซึ่งวิชาที่สอนคือ “การรู้จักอ่านหนังสือ การรู้จักคิดเลข การรู้การเลี้ยงชีพ การรู้จักความประพฤติผิดชอบ” นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นว่าควรจัดการศึกษาให้ผู้หญิงด้วย
ในปี พ.ศ.2445 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสงฆ์ ซึ่งทำให้พระสงฆ์ทุกระดับชั้นต้องมีหน้าที่บำรุงการศึกษา ต่อมาพระสงฆ์กับกรมศึกษาธิการ ได้มีการแบ่งกันจัดการศึกษาโดยพระสงฆ์จะจัดการศึกษาในระดับประถม ส่วนในระดับที่สูงกว่ากว่าเป็นหน้าที่ของกรมศึกษาธิการ อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายของรัชกาลที่ 5 เกิดความเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษา โดยแบ่งหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ดังนี้
กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบโดยจัดให้วัดเป็นที่สอนหนังสือให้เด็กได้เล่าเรียนอย่างทั่วถึง กระทรวงนครบาล จัดการศึกษาในกรุงเทพฯ และจะมีพระราชบัญญัติบังคับเด็กอายุ 8-14 ปี เข้าเรียน กระทรวงธรรมการ จัดการศึกษาแบบเลี้ยงตัวเอง โดยเก็บเงินค่าเล่าเรียน และจัดให้มีโรงเรียนรัฐบาลระดับประถมเมืองละโรง และมัธยมมณฑลละโรง
พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 กำหนดเด็กทั่วประเทศต้องเข้าโรงเรียน 
เมื่อเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) มีความพยายามผลักดัน “พระราชบัญญัติประถมศึกษา” เพื่อขยายการศึกษาให้ทั้งประเทศ แต่การผลักดันแต่ละครั้งจะมีอุปสรรคด้านงบประมาณ และความกังวลของผู้บริหารการศึกษาในยุคนั้นว่าจะเกิดความยุ่งเหยิงหากการศึกษาจะขยายไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ปี พ.ศ.2464 จึงมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ.2464 นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2459 มีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
การควบคุมโรงเรียนราษฎร์
ในช่วงแรก โรงเรียนราษฎร์ หรือ โรงเรียนเอกชนมีจุดกำเนิดจากโรงเรียนสอนศาสนาของตะวันตกและยังไม่มีมาตรการใดในการควบคุม แต่ต่อมามี พ.ร.บ.โรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.2461 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งกฏหมายฉบับนี้ถุูกใช้ในการควบคุมโรงเรียนจีนในรัชสมัยของพระองค์ เนื่องจากโรงเรียนจีนถูกเพ่งเล็งว่าอาจเป็นแหล่งเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ซึ่งเป็นแนวติดตรงข้ามกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการปลูกฝังลูกหลานจีนให้เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสยาม และจงรักภักดีต่อประเทศไทย
การศึกษาในระบอบรัฐธรรมนูญ 
การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 ทำให้การจัดการศึกษาได้เปลี่ยนมือจากพระมหากษัตริย์ สู่ “คณะราษฎร” ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 กำหนดหลักการของผู้บริหารชุดใหม่ไว้ 6 ประการ คือ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และ “การจะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” นอกจากนี้รัฐธรรมนูญได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกับการศึกษาของประชาชนไว้ด้วยว่า เมื่อประชาชนได้รับการศึกษาจนจบชั้นประถมศึกษาเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมดหรืออย่างช้าก็ไม่เกิน 10 ปี ประชาชนชาวไทยจะมีโอกาสเลือกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด สมาชิกประเภท 2 (สมาชิกแต่งตั้ง) จะไม่มีอีกต่อไป ทั้งนี้เป้าหมายของการศึกษาในสมัยคณะราษฎรคือการผลิตพลเมืองให้รู้ถึงสิทธิและทำหน้าที่ตามรับรัฐธรรมนูญ ซึ่งสอดคล้องกับการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี พ.ศ.2477 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสเล่าเรียนระดับอุดมศึกษาอย่างทั่วถึงมากขึ้น
การศึกษายุคพิบูลสงคราม 2
ในช่วง พ.ศ.2494-2502 นับเป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของการศึกษาไทย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษาหลายในทุกระดับ ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2475 (แก้ไขเพิ่มเติม 2494) กำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาของรัฐไว้ รวมทั้งแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2494 กำหนดให้จัดการศึกษาเป็นสี่ส่วนให้สมดุลกันคือ จริยศึกษา พลศึกษา พุทธิศึกษาและหัตถศึกษา โดยนำแนวคิดมาจากวิธีการจัดการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา และยังกำหนดแนวการจัดการศึกษาที่เปรียบเสมือนแนวนโยบายแห่งรัฐสำหรับการศึกษา เช่น “รัฐพึงถือว่าการศึกษามีความสำคัญเป็นอันดับแรกในกิจการของรัฐ” และ “รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงการศึกษา” ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับอุดมศึกษา คือ การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และศิลปากร  
การศึกษาในระบอบปฏิวัติของสฤษดิ์  
ในปี พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยึดอำนาจจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม คล้อยหลังจากนั้นอีก 1 ปี มีประกาศคณะปฏิวัติให้จัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติขึ้น โดยให้ทำหน้าที่หลักคือ การร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 ให้สอดคล้องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและแผนการปกครองประเทศ แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้นับว่ามีอายุการใช้ยาวนานที่สุดถึง 16 ปีเศษ
พลังเดือนตุลากับแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2520
การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันว่า การศึกษาไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อสภาพการณ์ต่างๆ ทางสังคมเศรษฐกิจ จึงเกิดการร่างแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2520 ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมไทยในช่วงนั้น และมุ่งอบรมพลเมืองให้ตระหนักและเห็นคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รู้จักเสรีภาพในกรอบของกฎหมาย
พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ปัจจุบัน และอนาคตการศึกษาไทย            
พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ถูกยกย่องว่าเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้ามาก สำหรับสาระสำคัญคือการกระจายอำนาจและเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ที่นอกจากรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบครัว ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ หรือต่างประเทศ สามารถเข้ามาช่วยหรือร่วมจัดการศึกษาในรูปแบบอื่นๆทั้งนี้แนวทางการจัดการศึกษาจะให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตามปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้มาแล้ว 15 ปีแล้ว คำถามสำคัญคือการศึกษาไทยขณะนี้ก้าวหน้าไปตามเนื้อหาของกฏหมายแค่ไหน?