“41/2557” สิทธิเสรีภาพ ท่ามกลางการเรียกรายงานตัวต่อ คสช.

ในสถานการณ์ปกติเราทุกคนมีสิทธิเสรีภาพรับรองตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แม้ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะขอให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ แต่ชีวิตของคนหลายร้อยหลายพันคนกลับไม่ปกติสุขเหมือนอย่างเคย สิทธิเสรีภาพกลับถูกลิดรอน 
สถิติการเรียกบุคคลมารายงานตัวนับตั้งแต่วันรัฐประหารจนถึง 25 กรกฎาคม 2557 พบว่า คสช. ออกคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 563 คน (ดูข้อมูลเพิ่มเติม) ทั้งผ่านการออกประกาศทางโทรทัศน์ การส่งจดหมายไปที่บ้าน หรือการโทรศัพท์เชิญให้ไปพบตามสถานที่ต่างๆ บุคคลส่วนใหญ่ที่ถูกเรียกให้มารายงานตัวเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยหรือกลุ่มคนเสื้อแดง รวมทั้งกลุ่มคนที่มีทัศนคติตรงกันข้ามกับ คสช.  เช่น นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักวิชาการ นักศึกษา เป็นต้น (สถิตินี้เป็นเพียงข้อมูลเท่าที่ทราบเท่านั้น) 
เรียกแล้วไม่มาหรือมาช้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
นอกจากการเรียกคนจำนวนมากให้มารายงานตัวแล้ว คสช. ยังออกประกาศฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ไม่ไปรายงานตัวตามวันเวลาและสถานที่ที่ คสช. กำหนดจะต้องถูกลงโทษจำคุก หรือ ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษระงับการทำธุรกรรมทางการเงินแถมอีกด้วย 
มีข้อสังเกตว่า ก่อนออกประกาศฉบับที่ 41/2557 คสช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 มาก่อน ในระยะเวลาห่างกัน 3 วัน โดยประกาศทั้งสามฉบับมีลักษณะเป็นการออกมาเพื่อกำหนดอัตราโทษให้รุนแรงขึ้น และยกเลิกสิทธิที่จะผู้ถูกเรียกจะแจ้งเหตุขัดข้องต่อ คสช.   

ประกาศ คสช.

วันที่ประกาศ

ประกาศใช้บังคับกับ

ระวางโทษ

เพิ่มเติม

25/2557

23 พฤษภาคม 2557

บุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่งที่ 1-3/2557

จําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

หากไม่สามารถมารายงานตัวอนุญาตให้แจ้งเหตุขัดข้องมาที่คสช. ได้แต่ต้องภายในกำหนดเวลา

29/2557

24 พฤษภาคม 2557

บุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่งที่ 1-3/2557 และ 5-6/2557

จําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และห้ามมิให้กระทําการใด ๆ หรือสั่งให้กระทําการใดๆ เกี่ยวกับการทําธุรกรรมทางการเงินหรือการดําเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล หรือนิติบุคคล เท่าที่จําเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม

ไม่มีกำหนดไว้

41/2557

26 พฤษภาคม 2557

บุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่ง ที่ 12-19/2557

และคนที่ถูกเรียกหลังวันที่ 26 พฤษภาคม 2557

จําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และถูกสั่งห้ามกระทําการใด ๆ หรือสั่งให้กระทําการใด ๆ เกี่ยวกับการทําธุรกรรมทางการเงิน หรือการดําเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน

ไม่มีกำหนดไว้

ตารางเปรียบเทียบโทษของประกาศแต่ละฉบับ
 
 
การออกหมายเรียกบุคคลในสถานการณ์ปกติ vs การเรียกบุคคลให้มารายงานตัวต่อ คสช.
ตามกฎหมายปกติ การออกหมายเรียกบุคคลมารายงานตัว ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อรูปคดีเท่านั้น เช่น เรียกผู้ต้องหามาให้การในสิ่งที่ถูกกล่าวหา หรือเรียกพยานมาให้การเกี่ยวกับคดี เป็นต้น ดังนั้น ก่อนจะออกหมายเรียกได้ต้องมีคดีความเกิดขึ้นแล้ว แม้ยังไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดที่แน่ชัด แต่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีเหตุในการเรียกตัว 
นอกจากนั้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 54 ยังกำหนดว่า “ในการกำหนดวันและเวลาที่จะให้มาตามหมายเรียกนั้น ให้พึงระลึกถึงระยะทางใกล้ไกล เพื่อให้ผู้ถูกเรียกมีโอกาสมาถึงตามวันเวลากำหนดในหมาย” เพื่อให้คำนึงถึงสิทธิของบุคคลที่ถูกเรียกด้วย
แต่สำหรับการเรียกบุคคลมารายงานตัวของ คสช. นั้น นอกจากจะไม่ต้องมีคดีความหรือเหตุผลในการเรียกตัว แล้วยังไม่ต้องคำนึงถึงระยะทางใกล้ไกลและวันเวลา เพื่อให้ผู้ถูกเรียกมีโอกาสมาถึงตามกำหนดได้ด้วย ไม่ว่าผู้ถูกเรียกจะอยู่ ณ ที่ใดในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ตาม หรือจะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารเพียงใด ก็ต้องมารายตัวต่อ คสช. ให้ทันตามกำหนดเวลามิฉะนั้นจะมีโทษ นอกจากนั้นต้องมาด้วยตัวเองเท่านั้น จะส่งทนายหรือบุคคลใกล้ชิดมารายงานตัวแทนไม่ได้ แม้ว่าจะมีเหตุจำเป็นอะไรก็ตาม 
เห็นได้ชัดในกรณีของนางจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ที่ถูก คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 เรียกให้จิตรามารายงานตัวในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 เวลา 10.00-12.00 น. ที่สโมสรทหารบก เทเวศน์  แต่เธอไม่สามารถมาได้ทันตามกำหนด เนื่องจากติดภารกิจที่สวีเดน และได้ส่งตัวแทนมาแจ้งเหตุขัดข้องแล้ว ต่อมามีการออกหมายจับของศาลทหารกรุงเทพใต้ ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2557 และเมื่อจิตราเดินทางกลับจากสวีเดนถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ในช่วงเช้าวันที่ 13 มิถุนายน 2557 เธอก็ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัวและถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา ฐานฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามกำหนด
หรือกรณีของนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ที่ถูก คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 5/2557 ในช่วงเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2557 ให้มารายงานตัวในเวลา 13.00 น. ของวันเดียวกัน แต่เขาไม่สามารถมาได้ทันตามกำหนด เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ภรรยาของเขามารายงานตัวแทนนายวรเจตน์ โดยแจ้งเหตุผลว่าป่วยจึงไม่สามารถเข้ามารายงานตัวได้ตามกำหนด แม้ภายหลังนายวรเจตน์ ได้ประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อเข้ารายงานตัว แต่ก็ถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีในเวลาต่อมา ฐานฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามกำหนด
จะเห็นได้ว่า คสช. ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์และความเป็นไปได้ในการกำหนดวันและเวลาต่อบุคคลที่เรียกให้มารายงานตัว (ดูรวมคำสั่งย้อนหลัง) อีกทั้ง การรายงานตัวของแต่ละบุคคลย่อมมีค่าใช่จ่าย ซึ่งไม่มีหน่วยงานไหนช่วยรับผิดชอบ ซ้ำร้ายหากมาไม่ทันเวลายังต้องมีความผิดอีกด้วย 
ปัจจุบันมีผู้ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศฉบับที่ 41/2557 ฐานไม่มารายงานตัวตามกำหนด แล้วอย่างน้อย 10 คน (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่)

 รายชื่อผู้ถูกตั้งข้อหา ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ไม่มารายงานตัวตามกำหนด 

ลำดับ ชื่อ นามสกุล พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา ศาล วันที่ถูกจับกุม วันที่ถูกตั้งข้อหา สถานะปัจจุบัน
1 จาตุรนต์
ฉายแสง
*
ไม่มารายงานตัวตาม
คำสั่งที่ 1/2557
ศาลทหารกรุงเทพ  27 พ.ค.57 28พ.ค.57 ได้ประกันตัว
หลักทรัพย์ 400,000
2 สมบัติ
บุญงามอนงค์*
ไม่มารายงานตัวตาม
คำสั่งที่ 3/2557
ศาลแขวงดุสิต 5มิ.ย.57 11มิ.ย.57 ได้ประกันตัว
หลักทรัพย์ 300,000
3 เยี่ยมยอด ไม่มารายงานตัวตาม
คำสั่งที่ 14/2557
ศาลทหารกรุงเทพ 9 มิ.ย.57 9 มิ.ย.57 ได้ประกันตัว
หลักทรัพย์100,000
4 ธานัท
(ทอม ดันดี)
*
ไม่มารายงานตัวตาม
คำสั่งที่ 53/2557
ศาลทหารกรุงเทพ 9 มิ.ย.57 9 มิ.ย.57 ได้ประกันตัว
หลักทรัพย์ 20,000
5 สำราญ ไม่มารายงานตัวตาม
คำสั่งที่ 14/2557
ศาลทหารกรุงเทพ 11มิ.ย.57 12มิ.ย.57 ได้ประกันตัว
หลักทรัพย์ 20,000
6 จิตรา คชเดช ไม่มารายงานตัวตาม
คำสั่งที่ 44/2557
ศาลทหารกรุงเทพ 13มิ.ย.57 14มิ.ย.57 ได้ประกันตัว
หลักทรัพย์ 20,000
7 วรเจตน์
ภาคีรัตน์
ไม่มารายงานตัวตาม
คำสั่งที่ 5/2557, 57/2557
ศาลทหารกรุงเทพ 16มิ.ย.57 18มิ.ย.57 ได้ประกันตัว
หลักทรัพย์ 20,000
8 สงวน ไม่มารายงานตัวตาม
คำสั่งที่ 5/2557, 57/2557
ศาลทหารกรุงเทพ  25มิ.ย.57 25มิ.ย.57 ไม่มีข้อมูล
9 สิรภพ* ไม่มารายงานตัวตาม
คำสั่งที่ 44/2557
ศาลทหารกรุงเทพ 25มิ.ย.57 1 ก.ค.57 ได้ประกันตัว
10 ณัฐ ไม่มารายงานตัวตาม
คำสั่งที่ 5/2557
ศาลแขวงดุสิต 30มิ.ย.57 30มิ.ย.57 ไม่รับฝากขัง
เพราะไม่มี
พฤติการณ์หลบหนี

 

เรียกแล้วกักตัวได้ 7 วัน และต้องเซ็นยินยอมสละเสรีภาพของตัวเอง
เหตุผลของการที่เรียกบุคคลมารายงานตัว คือ "เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย" โดยบุคคลที่มารายงานตัวจะต้องถูกปรับทัศนคติให้สอดคล้องกับ คสช. หากภายใน 1 วันไม่สามารถพูดคุยกันรู้เรื่อง เจ้าหน้าที่ทหารก็อาจกักตัวบุคคลนั้นไว้ได้อีกไม่เกิน 7 วัน โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกมาตรา 15 ทวิ (อ่าน มาตรา 15 ทวิ เพิ่มเติม ) โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาหรือเหตุผลในการกักตัว 
และเมื่อครบ 7 วันหรือหากพูดคุยกันเพียงพอแล้ว ผู้ถูกเรียกตัวทุกคนต้องเซ็นเอกสารแสดงความยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนการปล่อยตัวก่อนจะได้รับการปล่อยตัวจริงๆ โดยในแบบฟอร์มจะมีข้อความว่า "ข้าพเจ้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มิได้ถูกทำร้าย หรือมิได้ถูกใช้กำลังบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือทรมาน ให้คำสัญญา หรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใดๆ และทรัพย์สินต่างๆ ที่ข้าพเจ้าได้นำติดตัวมาในระหว่างถูกกักตัวไว้นั้น ข้าพเจ้าได้รับคืนครบถ้วนทั้งหมดแล้ว" 
นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขที่ต้องยินยอมเพื่อแลกกับการได้รับอิสรภาพคืนอีก 3 ประการคือ
1) จะไม่เดินทางออกนากราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับการอนุมัติจากหัวหน้า คสช.
2) จะละเว้นการเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมือง ณ ที่ใดใด
3) หากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวหรือช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ยินยอมที่จะถูกดำเนินคดีทันทีและยินยอมให้ระงับธุรกรรมทางการเงิน
 
(ภาพประกอบ เอกสารแนบท้ายประกาศ คสช.)
หากใครไม่ยอมลงชื่อในเอกสารเพื่อรับรองว่าระหว่างการถูกกักตัว ทหารไม่ได้ทำการละเมิดสิทธิมษุยชน ก็ไม่มีอะไรรับรองได้ว่าพวกเขาจะได้รับการปล่อยตัว ยิ่งไปกว่านั้นแม้สุดท้ายจะได้รับการปล่อยตัวแต่ก็ไม่ได้รับอิสรภาพคืนดังเดิม 100% เพราะไม่สามารถเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ เท่ากับว่าทันทีที่ถูกเรียกตัว แม้จะมารายงานตัวทันตามกำหนดและไม่เคยกระทำความผิดอะไรมาก่อนก็ตาม การถูกเรียกตัวก็จะนำมาสู่การถูกจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่ดี 
 
นอกจากนี้มีรายงานว่า หลังจากที่บางคนได้รับการปล่อยตัวแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยแวะเวียนมาพูดคุย โทรศัพท์มาพูดคุย หรือคอยสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวอยู่เป็นประจำ อันนำมาซึ่งความหวาดกลัวและหวาดระแวง ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้อีกด้วย  
 
อีกมุมหนึ่งของการเรียกรายงานตัว
 
คำกล่าวของ คสช. ที่ว่า “บ้านเมืองจะสงบพลเมืองจะมีความสุขได้ด้วยความปรองดอง” นั้นอาจจะจริง แต่การเรียกคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองมารายงานตัว กักตัวไว้ในค่ายทหาร และหลังปล่อยตัวบังคับไม่ให้เขาเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจาก คสช. นั้น เห็นแต่จะมีแต่พาสังคมออกห่างจากความปรองดองมากขึ้นๆ  
 
การเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เพื่อปรับทัศนคติหรือเปลี่ยนความเชื่อที่เขาคิดและเชื่อแบบนั้นมาจากประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตย่อมไม่ใช่เรื่องสมเหตุสมผลที่จะสามารถทำได้ อีกทั้งรัฐไม่มีสิทธิเข้ามาแทรกแซง กำหนดความคิดหรือวิถีชีวิตของบุคคล เสรีภาพในความคิดนั้นเป็นเสรีภาพที่รัฐไม่อาจแทรกแซงได้เลย 
 
ยิ่งไปกว่านั้น การที่มีรายงานว่าผู้ที่ถูกกักตัวบางคนถูกซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้รับสารภาพ หรือให้ข้อมูล เช่น กรณีคุณกริชสุดา คุณะแสน (อ่านข่าวเพิ่มเติม) หรือการได้รับการปฏิบัติอย่างนักโทษที่ถูกตัดสินจำคุกทั้งที่เขายังไม่เคยถูกศาลตัดสิน เช่น กรณีคุณจิตรา คชเดช (อ่านข่าวเพิ่มเติม) ล้วนแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยภายใต้อำนาจการปกครองของ คสช. ยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่มีโอกาสได้รับการ “คืนความสุข” ให้เหมือนดังที่โฆษณากัน
 
 
ภาพปกจาก: http://pantip.com/topic/32415518