กติการะหว่างประเทศ ผู้พิทักษ์เสรีภาพในวันไร้รัฐธรรมนูญ

                                                                                                      Story by อานนท์ ชวาลาวัณย์
หลังการรัฐประหารใน วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ผู้นำการรัฐประหาร ปฏิบัติเช่นเดียวกับคณะรัฐประหารในอดีตโดยการออกคำสั่งให้รัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่สิ้นสภาพไป ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยห่งชาติ ฉบับ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็จัดการให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ยกเว้นหมวดพระมหากษัตริย์ องค์กรอิสระและศาล สิ้นสุดลง
การประกาศให้รัฐธรรมนูญสิ้่นสภาพ ย่อมทำให้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เคยมีฐานรัฐธรรมนูญรับรองไว้ เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการเสนอข่าวสาร เสรีภาพในทางวิชาการ เสรีภาพในการชุมนุม รวมทั้งเสรีภาพในชีวิตในร่างกายที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองไว้ สิ้นสุดลงไปด้วย อย่างไรก็ตามการขาดหายไปของรัฐธรรมนูญมิได้หมายความว่าคสช.ในฐานะรัฐฐาธิปัตย์จะใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้โดยปราศจากขอบเขต เพราะรัฐไทย ซึ่งไม่ว่าผู้นำจะมีที่มาอย่างไร ยังมีพันธะที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐไทยร่วมเป็นภาคี
กฎหมายระหว่างประเทศที่มีเนื้อหาคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลฉบับสำคัญ ที่รัฐไทยร่วมเป็นภาคี ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR (International Covenant on Civil and Political Rights)
ICCPR กำหนดให้รัฐภาคีมีพันธกรณีในการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานหรือได้รับการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมโดยองค์คณะที่เป็นกลาง สิทธิในเสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและศาสนา สิทธิในเสรีแห่งการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบเป็นต้น 
แม้รัฐธรรมนูญจะสิ้นสุดลงไปแต่รัฐไทยก็ยังคงมีพันธะกรณีที่จะต้องให้การประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ 
แม้ ICCPR จะมีข้อยกเว้นว่า ในสภาวะฉุกเฉินที่คุกคามความอยู่รอดของชาติ และได้มีการประกาศภาวะนั้นอย่างเป็นทางการ รัฐภาคีอาจหลีกเลี่ยงพันธกรณี หมายถึง งดเว้นการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการได้ แต่ก็ต้องเป็นการงดเว้นเท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์เท่านั้น ไม่ได้หมายความในยามที่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษเจ้าหน้าที่รัฐจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ
ขณะที่สิทธิของประชาชนบางประการ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกซ้อมทรมาน หรือเสรีภาพในทางความคิด มโนธรรม และศาสนา ICCPR กำหนดว่าเป็นสิทธิที่รัฐจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีฉุกเฉินร้ายแรงขนาดไหน สิทธิของประชาชนเหล่านี้ยังต้องมีอยู่ 100 เปอร์เซ็นต์
           มาตรา 4(2) "การเลี่ยงพันธกรณี ตามข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ( วรรค 1 และ 2 ) ข้อ 11 ข้อ 15 ข้อ 16 และข้อ 18 ไม่อาจทำได้"
           Article 4(2) "No derogation from articles 6, 7, 8 (paragraphs I and 2), 11, 15, 16 and 18 may be made under this provision."
ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อมีการประกาศงดเว้นพันธกรณีแล้ว รัฐมีหน้าที่ต้องแจ้งพันธกรณีที่จะถูกงดเว้นและเหตุผลประกอบไปยังรัฐภาคีอื่นๆ ผ่านทางเลขาธิการสหประชาชาติด้วย
ในยุค คสช. ยังไม่มีรายงานชัดเจนว่า มีการละเมิดสิทธิในชีวิต หรือซ้อมทรมานบุคคลระหว่างที่มีการควบคุมตัวชั่วคราว ขณะที่การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสวงหาและรับข้อมูลข่าวสาร(ด้วยการควบคุมเนื้อหาของสื่อ) การแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ทั้งในเคหสถาน หรือการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร นั้นเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แม้จะเป็นการงดเว้นไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีของ ICCPR แต่พันธกรณีดังกล่าวเป็นพันธกรณีที่สามารถงดเว้นตามข้อบังคับของ ICCPR 
เมื่อคสช.ได้ประกาศยึดอำนาจ และ ประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยอ้างเหตุแห่ง "ความมั่นคง" ของรัฐ การงดเว้นพันธกรณีจึงถือว่า เป็นไปตามข้อยกเว้นตามมาตรา 4 วรรค 1 ของ ICCPR
           "ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาติ และได้มีการประกาศภาระนั้นอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐภาคีแห่งกติกานี้อาจใช้มาตรการที่เป็นการเลี่ยงพันธกรณีของตน ภายใต้กติกานี้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์ ทั้งนี้ มาตรการเช่นว่านั้นจะต้องไม่ขัดแย้งต่อพันธกรณี อื่นๆของตน ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติเพียงเหตุแห่งเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ทางสังคม"
           "In time of public emergency which threatens the life of the nation and the existence of which is officially proclaimed, the States Parties to the present Covenant may take measures derogating from their obligations under the present Covenant to the extent strictly required by the exigencies of the situation, provided that such measures are not inconsistent with their other obligations under international law and do not involve discrimination solely on the ground of race, colour, sex, language, religion or social origin."
อย่างไรก็ตาม แม้การจำกัดสิทธิบางอย่างของคสช. ICCPR จะอนุญาตให้ทำได้ แต่ก็ต้องระลึกเสมอว่าการใช้ข้อยกเว้นดังกล่าว สามารถทำได้ "เท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์" เท่านั้น เมื่อคสช.สามารถคุมอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จ ก็เกิดคำถามว่า ปัจจุบันไทยอยู่ภายใต้สภาวะที่  "ความอยู่รอดของรัฐ" ถูกคุกคามมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้คสช.ก็อาจจะต้องตอบให้ได้ว่า การแสดงออกโดยสันติเพื่อคัดค้านการรัฐประหาร ด้วยการชูกระดาษเขียนข้อความหรือชูกระดาษเปล่า รวมทั้งการชูสัญลักษณ์สามนิ้วเป็นภัยคุกคามต่อ "ความอยู่รอดของรัฐ" จนเป็นเหตุที่ทำให้รัฐไทยต้องงดเว้นพันธะกรณีของICCPR หรือไม่อย่างไร
นอกจากนี้ การที่คสช. เรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเป็นจำนวนมากเพื่อปรับทัศนคติ ก็อาจทำให้เกิดคำถามได้ว่า การ "ปรับความทัศนคติ" นั้น กินความหมายขนาดไหน หากเป็นเพียงการเจรจาเพื่อให้บุคคลยุติการแสดงออกหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองชั่วคราวเพื่อเหตุผลด้านความมั่นคง ก็อาจเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกรอบของ ICCPR แต่หากการปรับทัศนคตินั้น ถึงขั้นบีบบังคับให้บุคคลต้องเปลี่ยนความคิดความเชื่อทางการเมืองของตน ก็อาจเข้าข่ายเป็นการผิดต่อพันธกรณีของ ICCPR เพราะเสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา ถือเป็นพันธกรณีที่รัฐภาคีไม่อาจใช้ “ความมั่นคง” มาเป็นเหตุแห่งการงดเว้นได้