คู่มือเยี่ยมผู้ต้องขัง เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

                                                                                      Story by อานนท์ ชวาลาวัณย์
เรือนจำคงไม่ใช่ที่ๆใครหลายคนใฝ่ฝันจะไปใช้ชีวิตอยู่ข้างใน เพราะการต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ หมายถึงการที่จะต้องสูญสิ้นอิสรภาพ ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ดังใจและต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การจับจ้องของเจ้าหน้าที่เกือบตลอด24ชั่วโมงไม่เว้นแม้เวลานอนและเวลาเข้าส้วม 
สำหรับคนที่ถูกจำกัดอิสรภาพและต้องใช้ชีวิตอย่างจำเจในเรือนจำ การมีญาติหรือมิตรสหายมาเยี่ยมคือสิ่งที่มีความสำคัญอันดับต้นๆของชีวิต เพราะนอกจากจะเป็นการได้ใช้เวลาอันน้อยนิดร่วมกับคนที่พวกเขารักแล้ว นั่นยังเป็นโอกาสเดียวที่เขาจะได้รับรู้ความเป็นมาเป็นไปของโลกภายนอก เพราะในเรือนจำการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่ถูกจำกัด 
แม้ในความรู้สึกของคนทั่วไป เรือนจำจะเป็นที่ที่ดูน่ากลัวและน่าหดหู่ แต่หากญาติสนิทมิตรสหายของใครเกิดจับพลัดจับผลูต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ การไปเยี่ยมก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหรือยุ่งยากนัก นอกจากนี้สำหรับคนที่อยู่ข้างในแล้ว เวลาเพียง20นาทีของการเยี่ยมอาจจะมีค่ามากกว่าทองคำเสียอีก 
เยี่ยมได้กี่โมงบ้าง
เวลาที่อนุญาตให้เยี่ยมผู้ต้องขังแบ่งเป็นสองรอบ รอบเช้าตั้งแต่เวลา 08.30 – 12.00 น. และรอบบ่าย เวลา 13.00 – 15.00 น. ในระหว่างเวลาเยี่ยมญาติจะไปถึงกี่โมงก็ได้ เมื่อไปถึงก็ยื่นเรื่องขอเยี่ยม แต่จะได้เยี่ยมจริงๆ เวลากี่โมงขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นมีคนมาขอเยี่ยมมากน้อยแค่ไหน วันเสาร์สามารถไปเยี่ยมได้เสาร์เว้นเสาร์ ขึ้นอยู่กับว่าอยู่แดนไหน ส่วนวันอาทิตย์เรือนจำปิดไม่มีการเยี่ยม
อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตการณ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ (เรือนจำที่ใช้คุมขังบุคคลที่คดียังไม่สิ้นสุด) การเยี่ยมรอบสุดท้ายของภาคเช้าจะยุติลงที่เวลาประมาณ 11.30 น.
การยื่นเรื่องเยี่ยมญาติ
หากผู้มาเยี่ยมมีภารกิจต้องไปทำต่อ ควรเดินทางมายื่นคำร้องเยี่ยมผู้ต้องขังแต่เช้า เพราะแต่ละวันมีคนมาเยี่ยมเป็นจำนวนมาก หากมาช้าอาจได้รอบเกือบท้ายๆหรือไม่ทันเยี่ยมรอบเช้า
หลักฐานที่ต้องยื่นประกอบ"ใบเยี่ยม"ก็มีเพียงสำเนาบัตรประชาชนเท่านั้น ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพจะมีบริการเครื่องถ่ายเอกสารสำหรับญาติที่ไม่ได้ถ่ายเอกสารมา(ค่าบริการแผ่นละ2บาท) แต่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางจะไม่มีบริการดังกล่าว ญาติจึงควรเตรียมถ่ายเอกสารมาก่อน
สำหรับ "ใบเยี่ยม" ก็กรอกไม่ยากมาก ผู้เข้าเยี่ยมต้องกรอกชื่อนามสกุลของผู้ต้องขังและแดน ซึ่งหากไม่ทราบว่าอยู่แดนไหน ก็สามารถสอบถามจากเจ้าหน้าที่ได้ นอกจากนั้นก็ต้องกรอกชื่อนามสกุลพร้อมหมายเลขบัตรประชาชนของผู้ที่จะเข้าเยี่ยมทุกคน แต่ที่อยู่จะกรอกเฉพาะที่อยู่ตามบัตรประชาชนของผู้เยี่ยมที่มีชื่อเป็นอันดับแรกเท่านั้น เมื่อกรอกเสร็จแล้วก็ยื่นเอกสารพร้อมสำเนาบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ได้เลย
ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อยื่นเอกสารเยี่ยมแล้ว เจ้าหน้าที่จะใช้ตรายางที่เป็นหมายเลขรอบปั้มบนมือผู้เยี่ยมทุกคน ซึ่งเมื่อถึงเวลาเยี่ยมก็จะต้องแสดงตราประทับบนมือให้เจ้าหน้าที่ที่เฝ้าบริเวณทางเข้าห้องเยี่ยมดู ส่วนที่เรือนจำหญิง เมื่อยื่นเอกสารแล้ว สิ่งเดียวที่ทำได้คือรอ เพราะเรือนจำหญิงไม่มีการปั้มรอบเยี่ยม ญาติจึงต้องรอฟังการประกาศชื่อจากทางเรือนจำ ซึ่งบ่อยครั้งก็เป็นการรอคอยที่ยาวนาน
บรรยากาศในห้องเยี่ยม
เมื่อถึงรอบเยี่ยมหรือมีเสียงประกาศให้เข้าห้องเยี่ยม ญาติจะต้องนำกระเป๋า อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น เช่นคอมพิวเตอร์แบบพกพา ไอแพด และกล้องถ่ายรูปไปเก็บไว้ในตู้ล็อกเกอร์ของทางเรือนจำเพราะเป็นสิ่งต้องห้ามในห้องเยี่ยม ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทางเรือนจำมีตู้เปล่าๆ ไว้ ญาติจึงควรเตรียมกุญแจอันเล็กๆมาด้วย(แต่หากลืมเอามาก็สามารถซื้อที่เรือนจำได้) แต่ที่เรือนจำหญิงตู้ล็อกเกอร์จะมีกุญแจไว้บริการ
ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ห้องเยี่ยมจะเป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในหนึ่งห้องจะมีโทรศัพท์วางอยู่สองถึงสามเครื่องแล้วแต่ห้อง ญาติจะนั่งเรียงแถวกันตรงเคาเตอร์เล็กๆมี่มีลูกกรงและแผ่นพลาสติกกั้น ส่วนผู้ต้องขังจะนั่งเรียงกันอยู่ด้านหลังลูกกรงอีกฟากหนึ่ง เนื่องจากเวลาที่จะพูดคุยมีเพียง20นาที ญาติและผู้ต้องขังจึงต้องคุยแบบแข่งกับเวลาชนิดที่แทบจะเป็นการแย่งกันพูด ทั้งนี้ผู้ต้องขังหนึ่งคนมีโอกาสพบญาติวันละหนึ่งครั้งเท่านั้น ญาติจึงควรนัดหมายและมาพร้อมกัน เพราะหากมีคนมาเยี่ยมรอบหนึ่งแล้ว จะไม่สามารถออกมาอีกได้ 
ในหนึ่งรอบ ห้องเยี่ยมห้องหนึ่งจะมีผู้ต้องขังที่ออกมาพบญาติสามถึงสี่คน ไม่นับรวมญาติและผู้ติดตาม(การเยี่ยมแต่ละครั้งผู้ต้องขังจะมีญาติมาเยี่ยมได้ไม่เกิน5คนต่อครั้ง) ห้องเยี่ยมจึงกลายเป็นตลาดสดขนาดย่อม ต่างคนต่างตะโกนใส่กัน
แม้จะมีการติดตั้งโทรศัพท์ในห้องเยี่ยมเพื่อให้ญาติและผู้ต้องขังใช้พูดคุยกันได้โดยสะดวก แต่บ่อยครั้งโทรศัพท์ก็ใช้ไม่ได้และเป็นเพียง"อุปกรณ์ตกแต่ง"ห้องเยี่ยมเท่านั้ัน ญาติและผู้ต้องขังจึงต้องตะโกนคุยกันเพื่อให้เสียงดังพอที่จะนำความในใจทะลุผ่านพลาสติกแผ่นหนาที่กั้นกลางเข้าไปได้
ในระหว่าง20นาทีของการเยี่ยม ญาติและผู้ต้องขังจึงจะได้ฝึกทักษะการแยกประสาทสัมผัสโดยไม่รู้ตัว เพราะต้องคุยกันท่ามกลางเสียงบทสนทนาของญาติและผู้ต้องขังคนอื่น นอกจากนี้ก็อาจจะได้ฝึกภาษาต่างประเทศด้วย เพราะในแต่ละวันจะมีชาวต่างชาติมาเยี่ยมญาติหรือคนรู้จักเป็นจำนวนไม่น้อย 
สำหรับที่ทัณฑสถานหญิงกลาง จะมีตึกเยี่ยมสองฝั่งคือตึกเก่าและตึกใหม่ ซึ่งญาติต้องฟังการประกาศของเจ้าหน้าที่ให้ดีว่าให้ไปตึกไหน "ห้องเยี่ยม"ของตึกเก่าไม่ได้มีลักษณะเป็นห้อง แต่เป็นเหมือนทางเดินแคบๆที่มีการกั้้นเป็นคอกเล็กๆ ขณะที่ผู้ต้องขังจะอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ไกลออกไปประมาณสิบถึงสิบห้าก้าว จึงต้องตะโกนคุยกัน  ซึ่งต่างจากห้องเยี่ยมตึกใหม่ซึ่งมีลักษณะเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ที่ญาติและผู้ต้องขังนั่งเรียงกันเป็นแถวประจันหน้ากัน โดยมีเพียงแผ่นพลาสติกขวางกั้น
การซื้อของเยี่ยม
หลังหมดเวลาเยี่ยม สิ่งที่ไม่ควรลืมคือการ"ซื้อของเยี่ยม ทั้งเรือนจำพิเศษกรุงเทพและเรือนจำหญิงกลางต่างมีร้านสวัสดิการไว้บริการ แต่ถ้าเทียบปริมาณตัวเลือกของเยี่ยมแล้ว ร้านสวัสดิการของเรือนจำพิเศษกรุงเทพจะมีตัวเลือกของสินค้าที่หลากหลายกว่า 
ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพสามารถสั่งซื้ออาหารและของใช้ได้สามลักษณะ 
หนึ่ง การสั่งอาหารฟาสฟู้ด เช่น เคเอฟซี แม็กโดนัลด์ สามารถสั่งกับทางร้านสวัสดิการ โดยเสียค่าธรรมเนียม40บาทและผู้ต้องขังจะได้รับอาหารในวันถัดไป 
สอง การสั่งอาหารสด เช่น กับข้าวหรือผลไม้ สามารถซื้อได้ที่ร้านสวัสดิการ โดยเจ้าหน้าที่จะนำของทั้งหมดใส่ในถุงพลาสติกใบใหญ่และซีลถุง ญาติสามารถนำไปฝากที่ประชาสัมพันธ์ของเรือนจำได้เลย ทั้งนี้ญาติควรแจ้งให้ผู้ต้องขังรอรับของด้วย 
สาม การสั่งซื้ออาหารแห้งและของใช้เช่นสบู่ยาสีฟัน ทางร้านสวัสดิการจะให้ใบสั่งซื้อมา หลังจากเลือกรายการและชำระเงินแล้ว ทางเรือนจำจะนำของส่งผู้ต้องขังในวันถัดไป 
สำหรับผู้ต้องขังที่มีเมนูอาหารให้เลือกไม่มากนัก อาหารและของฝาก อาจจะช่วยทำให้วันของเขาเป็นวันที่พิเศษขึ้นมาก็ได้