การชุมนุมของคนงานไทย/กัมพูชา : เสรีภาพที่เต็มไปด้วยขวากหนาม

                                                                                                           
                                                                                                                                   
นักกิจกรรมไทยรวมตัวหน้าสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เพื่อแสดงความสมานฉันท์กับคนงานกัมพูชาที่ถูกปราบและเพื่อประท้วงต่อการใช้กำลังสลายการชุมนุมของคนงานกัมพูชา (ภาพโดย iLaw)
                                                                                                                   เรื่องโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์
เสรีภาพในการชุมนุม คือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง ที่ได้รับการคุ้มครองโดยมาตรา 20 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธมนุษยชน (UDHR) และ มาตรา 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยและประเทศส่วนใหญ่ในโลกร่วมเป็นภาคี
การชุมนุมเป็นเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจน้อยกว่า สามารถนำมาใช้ต่อสู้และต่อรองกับผู้มีอำนาจมากกว่าได้ เมื่อไม่มีอำนาจรัฐหรืออำนาจทุนอยู่ในมือ ปัจจัยที่ผู้มีอำนาจน้อยมีเหนือกว่าก็คือจำนวน ในกิจกรรมทางการเมือง การชุมนุมคือหนึ่งในไม่กี่วิธีที่พลเมืองสามารถใช้ส่งเสียงเรียกร้อง หรือแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่างๆ ไปยังผู้มีอำนาจรัฐได้
เสรีภาพในการชุมนุมมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับคนงาน เพราะคนงานเป็นกลุ่มที่มีเพียงกำลังแรงงานไม่มีปัจจัยการผลิต ในระดับปัจเจกคนงานจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อรองกับนายจ้างหรือนายทุนได้ เป็นเหตุให้คนงานมักถูกเอาเปรียบในประเด็นเกี่ยวกับการจ้างงาน การผนึกกำลังกันจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้อำนาจต่อรองสูงขึ้นได้
แม้นายจ้างจะอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบกว่าคนงานทุกอย่าง แต่สิ่งที่นายจ้างต้องพึ่งพาคนงานคือกำลังแรงงาน หากคนงานรวมตัวกันประท้วง ก็จะไม่มีแรงงานมาทำการผลิต นายจ้างก็ไม่อาจดำเนินธุรกิจได้ การชุมนุมหรือการนัดหยุดงานจึงเป็นวิธีการต่อสู้ที่คนงานมักจะใช้เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างงาน
แม้กฎหมายของหลายประเทศจะรับรองสิทธิในการชุมนุมของคนงาน แต่ในทางปฏิบัติการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของคนงานกลับเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามและความเสี่ยง ไม่มีหลักประกันว่าการนัดชุมนุมจะทำให้คนงานบรรลุข้อเรียกร้อง และไม่มีหลักประกันใดรับรองว่าจะไม่เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือไม่ถูกกฎหมายอื่นตามมาเล่นงานภายหลัง ลองพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้สิทธิการชุมนุมของคนงาน ในประเทศไทยและกัมพูชา
คนงานชุดชั้นในไทรอัมพ์ ถูกดำเนินคดีฐานก่อความวุ่นวาย
บรรยากาศการชุมนุมของคนงานไทร์อัมพ์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 (ที่มา ประชาไท
ในประเทศไทย การชุมนุมได้รับการคุ้มครอง โดยมาตรา63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ขณะที่พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ก็ให้การรับรองสิทธิในการนัดหยุดงาน เมื่อเกิดข้อพิพาทที่ตกลงกันไม่ได้กลุ่มคนงานก็มีการจัดชุมนุมเรียกร้องค่าแรงหรือเรียกร้องให้นายจ้างปรับปรุงการจ้างงานหลายต่อหลายครั้ง ดูเหมือนว่าการชุมนุมจะเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ลำบากนักในประเทศไทย อย่างไรก็ตามการใช้เสรีภาพในการชุมนุมก็มาพร้อมกับความเสี่ยง ทั้งเสี่ยงที่จะโดนปราบปรามและเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีในภายหลัง
ในเดือนมิถุนายน ปี2552 บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำให้กับยี่ห้อ Triumph แบรนด์ชั้นนำจากเยอรมันประกาศเลิกจ้างคนงาน1,959 คน คนงานเห็นว่าค่าชดเชยการเลิกจ้างที่ได้รับยังไม่เป็นธรรม สหภาพแรงงานไทรอัมพ์จึงออกมาเคลื่อนไหว เริ่มจากการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแต่ไม่เป็นผล ต้นเดือนสิงหาคม 2552 กลุ่มผู้ใช้แรงงานจึงเดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ปลายเดือนสิงหาคมเมื่อสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น สหภาพแรงงานไทรอัมพ์จึงชักชวนคนงานที่ถูกเลิกจ้างมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีคนงานจากบริษัทอื่นที่ประสบปัญหาถูกเลิกจ้างเหมือนกันมาร่วมชุมนุมด้วยกว่า 800 คน เมื่อรอตั้งแต่เช้าแล้วยังไม่มีคนออกมารับหนังสือ ประมาณเที่ยงจึงเคลื่อนขบวนไปชุมนุมต่อที่หน้ารัฐสภา
เมื่อผู้ชุมนุมไปถึงหน้ารัฐสภาประมาณบ่ายโมงและประสานขอให้รัฐบาลส่งตัวแทนมารับหนังสือแต่ก็ไม่มีผู้ใดออกมา ซ้ำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจยังใช้เครื่องส่งคลื่นความถี่สูง (LRAD) ส่งเสรียงแหลมรบกวนการชุมนุมทำให้ผู้ชุมนุมบางคนมีอาการเจ็บปวดแก้วหู ต่อมาในช่วงเย็นแกนนำจึงสามารถยื่นหนังสือผ่านทางประธานวิปฯฝ่ายค้านได้ เมื่อยื่นหนังสือเรียบร้อยผู้ชุมนุมก็เดินทางกลับโดยไม่มีเหตุรุนแรง อย่างไรก็ตามภายหลังจากเหตุการณ์นั้นมีผู้ชุมนุมสามคนถูกพล.ต.ท. วิชัย สังประไพ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล1 แจ้งความดำเนินคดีฐานชุมนุมมั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216
การดำเนินคดีกับคนงานที่มาชุมนุมเรียกร้องการจ้างงานที่เป็นธรรมเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ให้คนงานไม่กล้าลุกขึ้นมาใช้สิทธิของตัวเองต่อสู้กับการการกดขี่เพราะอาจกลัวถูกดำเนินคดี การดำเนินคดีกับคนงานไทร์อัมพ์ อาจส่งสัญญาณไปยังคนงานกลุ่มอื่นที่อาจจะมาชุมนุมในอนาคตให้ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น [อ่านรายละเอียดคดีการชุมนุมของคนงานไทรอัมพ์ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/376]
อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกันแล้ว ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับคนงานที่หาญกล้าใช้เสรีภาพในการชุมนุมของไทยดูจะเทียบไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนงานในประเทศกัมพูชา เมื่อต้นปี 2557 นี้เอง
กัมพูชา สลายการชุมนุมคนงานถึงเสียชีวิต
หนึ่งในเหยื่อของการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 (ที่มา LICADHO-CAMBODIA)
 
มาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชารับรองเสรีภาพในการชุมนุมเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 31 ยังระบุด้วยว่ารัฐบาลกัมพูชาต้องให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศต่างๆ เช่นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองด้วย ขณะที่สิทธิในการนัดหยุดงานก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานมาตรา319และ320
ดูเผินๆ การประกันเสรีภาพในการชุมนุมของรัฐธรรมนูญกัมพูชาดูจะดีกว่าของไทย แต่ในความเป็นจริง คนงานชาวกัมพูชาที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมต้องเผชิญกับการคุกคามที่โหดร้ายกว่าคนงานไทยในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะหลายครั้งการชุมนุมจบลงด้วยการปราบปรามที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต
จากการสัมภาษณ์คนงานของสำนักข่าว Voice of America, หลายคนสะท้อนว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ค่าจ้างที่ได้รับไม่เพียงพอการดำรงชีพ วันที่ 24 ธันวาคม 2556กระทรวงแรงงานกัมพูชาประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก80 ดอลลาร์เป็น95ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่าที่ทางสหภาพแรงงานสิ่งทอเรียกร้องคือ 160 ดอลลาร์ สหภาพแรงงานสิ่งทอและกลุ่มผู้ใช้แรงงานจึงนัดหยุดงาน
การหยุดงานประท้วงดำเนินมาได้หนึ่งสัปดาห์ กระทรวงแรงงานประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้อีก 5 ดอลลาร์ เป็น 100 ดอลลาร์ แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธโดยสหภาพแรงงาน จนกระทั่งวันที่ 3 มกราคม 2557 ทางการกัมพูชาตัดสินใจสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนอาร์กา(AK47)ยิงใส่ผู้ประท้วงที่ปิดถนนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสี่คน (บางแหล่งข่าวแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย3คน) และอีก21คนได้รับบาดเจ็บขณะที่บางส่วนถูกควบคุมตัว
ทางการกัมพูชาชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องยิงเพราะผู้ชุมนุมที่ปิดถนนทำการเผายางรถยนต์และขว้างปาสิ่งของรวมทั้งระเบิดเพลิงใส่เจ้าหน้าที่ ในขณะที่คนงานคนหนึ่งยืนยันว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการก่อความรุนแรง แค่ต้องการปิดถนนเท่านั้น แต่ตำรวจกลับเปิดฉากยิง ซ้ำร้ายเมื่อผู้ได้รับบาดเจ็บเดินทางไปโรงพยาบาลในบริเวณนั้นตำรวจก็ข่มขู่โรงพยาบาลไม่ให้รักษา ซึ่งไม่ว่าความจริงจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง การสลายการชุมนุมครั้งนี้ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิต
การปราบปรามคนงานที่ออกมาชุมนุมในกัมพูชาครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ไม้กระบองสลายการชุมนุมของคนงานโรงงานSabrina Cambodia Garment Manufacturingซึ่งเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าป้อนแบรนด์ดังของอเมริกาอย่างไนกี จนเป็นเหตุให้คนงาน23คนได้รับบาดเจ็บและมีคนงานที่กำลังตั้งท้องสองคนแท้งลูก
เมื่อพิจารณาในภาพรวมจะพบว่า คนงานไทยและกัมพูชาเผชิญกับปัญหาที่คล้ายกันสองประการนั่นคือความไม่เป็นธรรมในระบบการจ้างงานและปัญหาการถูกควบคุมเมื่อคนงานเลือกที่จะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในการจ้างงานโดยใช้เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเครื่องมือ แม้สภาพการจ้างงานและวิธีการควบคุมจะแตกต่างกันไป
ท้ายที่สุด ค่าแรงที่สูงกว่าและภัยคุกคามที่ดูจะเบาบางกว่า คงไม่ใช่สิ่งที่คนงานไทยควรจะดีใจ เพราะเวลาที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก คนงานไทยก็แบกความเสี่ยงไว้ไม่น้อยกว่าคนงานกัมพูชาแม้ว่าจะลักษณะความเสี่ยงจะต่างกัน ซึ่งนั่นคงเป็นเหตุผลที่ทำให้หนึ่งในอดีตจำเลยในคดีการชุมนุมของคนงานไทร์อัมพ์ ออกมาร่วมกิจกรรมชุมนุมแสดงพลังที่หน้าสถานทูตกัมพูชาในกรุงเทพเพื่อประท้วงการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นในกัมพูชา เพื่อประกาศว่าคนงานทั้งผองคือพี่น้องกัน
อ้างอิง
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 1948 (เข้าถึงล่าสุดเมื่อ 24 มกราคม 2556)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 (เข้าถึงล่าสุดเมื่อ 24 มกราคม 2556) 
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 (เข้าถึงล่าสุดเมื่อ 24 มกราคม 2556)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา 1993 (เข้าถึงล่าสุดเมื่อ 24 มกราคม 2556)
กฎหมายแรงงานกัมพูชา 1997 (เข้าถึงล่าสุดเมื่อ 24 มกราคม 2556)
คดีการชุมนุมของคนงานไทรอัมพ์ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ (เข้าถึงล่าสุดเมื่อ 24 มกราคม 2556)
Cambodian Garment Factories Shuttered as Minimum Wage Protests Spread  Voice of America (เข้าถึงล่าสุดเมื่อ 24 มกราคม 2556)
Cambodia: Crackdown on garment workers protesting for higher wages – Jan 2014 Business & Human Rights Resource Centre (เข้าถึงล่าสุดเมื่อ 24 มกราคม 2556)
3 dead after Cambodian police fire on striking workers FOX News (เข้าถึงล่าสุดเมื่อ 24 มกราคม 2556)
Cambodian Security Forces Shoot Striking Garment Workers Centre for Research on Globalization (เข้าถึงล่าสุดเมื่อ 24 มกราคม 2556)
Nike Calls for Probe Into Crackdown on Cambodian Factory Workers Radio Free Asia (เข้าถึงล่าสุดเมื่อ 24 มกราคม 2556)
Thumbnail credit to Thomas Hawk