จำคุกแบบใหม่ ใส่กำไลติดตามตัว ไม่ต้องเข้าห้องขัง

วันที่ 14 มีนาคม 2556 พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงนามในกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่น ที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต พ.ศ. 2556

กฎกระทรวงซึ่งเพิ่งประกาศใช้ฉบับนี้เป็นเรื่องของ วิธีการลงโทษคนที่กระทำความผิดอาญา โดยไม่ต้องจำคุกในเรือนจำ แต่ให้เปลี่ยนมาใช้วิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของนักโทษได้ คือ ใช้อุปกรณ์รับส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว และให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมประพฤติโดยไม่ต้องถูกขังในเรือนจำ อุปกรณ์นี้เรียกว่า EM หรือ “Electronic Monitoring”
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring ; EM) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมผู้กระทำผิดแทนการจำคุกในเรือนจำ ประกอบด้วยตัวอุปกรณ์ส่งสัญญาณ มีลักษณะคล้ายนาฬิกาหรือสายรัดข้อมือข้อเท้า ตัวอุปกรณ์รับสัญญาณ และศูนย์ควบคุมกลาง ที่ใช้ติดตามตัว เมื่อสวมใส่อุปกรณ์ที่ข้อมือ ข้อเท้า หรืออวัยวะส่วนอื่นก็จะสามารถตรวจสอบการเดินทางของผู้สวมใส่ได้
ทั้งนี้การจำกัดการเดินทางและอาณาเขต อาจจำกัดภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีไป โดยอาจให้อยู่แต่เฉพาะบริเวณบ้านพักอาศัยหรือในสถานที่ที่จัดไว้เป็นการเฉพาะ หรือกำหนดอาณาเขตที่ห้ามเดินทางก็ได้ หรืออาจจะใช้วิธีจำกัดการเดินทางเป็นบางช่วงเวลาก็ได้

 

ภาพที่ 1: อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดที่สวมใส่ไว้ที่ข้อเท้าในประเทศบราซิล (electronic monitoring anklets)                  

ภาพที่ 2 : อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดที่สวมใส่ไว้ที่ข้อมือในประเทศอิสราเอล (electronic monitoring bracelets)

 

การใช้วิธีการลงโทษแบบใหม่นี้ ต้องให้ศาลเป็นผู้ออกคำสั่ง โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นผู้ยื่นคำร้อง ซึ่งเหตุในการใช้วิธีการลงโทษแบบใหม่ตามที่กฎกระทรวงระบุไว้ คือ 
           (1) ผู้ซึ่งต้องจำคุกจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก
           (2) ผู้ซึ่งต้องจำคุกจำเป็นต้องเลี้ยงดูบิดา มารดา สามี ภริยา หรือบุตร ซึ่งพึ่งตนเองมิได้และขาดผู้อุปการะ
           (3) ผู้ซึ่งต้องจำคุกเจ็บป่วยและต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
           (4) ผู้ซึ่งต้องจำคุกมีเหตุควรได้รับการทุเลาการบังคับให้จำคุกด้วยเหตุอื่น ๆ
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงข่าวเกี่ยวกับกฎใหม่นี้ว่า มาตรการควบคุมนักโทษแทนการคุมขังในเรือนจำ ถือเป็นวิวัฒนาการ หลายประเทศ อาทิ อังกฤษ แคนาดา สิงคโปร์ บราซิล อิสราเอล และเกาหลีใต้ได้นำเครื่องมือที่เรียกว่า EM หรือ “Electronic Monitoring” มาใช้แทนการคุมขังในเรือนจำแล้ว 
 
รัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า กระทรวงยุติธรรม จะต้องออกกฎระเบียบและวิธีการปฏิบัติให้เร็วที่สุด และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การใช้มาตรการใหม่จะเน้นไปที่ 1) กลุ่มผู้ต้องขังชรา หรือป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งต้องออกไปรักษาเป็นประจำหรือหากจำคุกต่อไปก็ต้องเสียชีวิต 2) กลุ่มที่ต้องออกไปดูแลลูกและภรรยา หรือพ่อแม่ที่แก่ชราและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 3) กลุ่มนักโทษทีมีเหตุทุเลาการลงโทษ เช่น ต้องคลอดบุตร หรือวิกลจริต โดยญาติจะต้องร้องขอต่อเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลอีกครั้งส่วนศาลจะมีดุลยพินิจอย่างไร ถือเป็นอำนาจของศาล
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนนักโทษที่ถูกจำคุกประมาณ ๒๖๐,๐๐๐ คน จากเรือนจำทั้งหมด ๑๔๓ แห่ง ขณะที่ความสามารถของเรือนจำในการรองรับนักโทษนั้นอยู่ที่ ๑๙๐,๐๐๐ คน ดังนั้นแนวคิดการลงโทษแบบใหม่นี้จึงอาจช่วยระบายนักโทษออกไปคุมขังยังสถานที่อื่นเพื่อลดจำนวนนักโทษและความแออัดในเรือนจำ 
การลงโทษแบบใหม่ในแง่หนึ่งก็เปิดโอกาสให้นักโทษกลับคืนสู่สังคมได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เป็นผลดีต่อครอบครัวและคนรอบข้างของผู้กระทำความผิด ในอีกแง่หนึ่งก็อาจมองได้ว่าอาจเป็นการปล่อยอาชญากรออกมาอยู่นอกคุกเร็วกว่ากำหนด ซึ่งจะดีหรือไม่ดีต่อผู้ต้องขัง ครอบครัว และสังคมโดยรวม คงต้องรับฟังเสียงจากทุกคนในสังคมประกอบกัน 
หลังจากกฎกระทรวงนี้ประกาศใช้ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในสื่อออนไลน์ ตัวอย่างความเห็นที่อาจหยิบยกมาพูดคุยกันต่อได้ เช่น
           “น่าจะใช้แค่กับคดีเล็กๆ น้อยๆ คะ เช่น ตบตี ทะเลาะกัน แต่กับคดีใหญ่ๆควรโหดกว่าที่เป็นอยู่ ควรลงโทษเหมือนที่สิงคโปร์คะ ชอบมากเลยโบยต่อหน้าผู้คน ประเทศเขากฎหมายเลยน่าเกรงกลัว คนไม่กล้าโกง เมืองไทยอิสระเกิน สบายเกิน เลยไม่ค่อยมีระเบียบ”
           
           “ผมว่าน่าจะใช้กับคดีเล็กๆน้อยๆ เช่น ความผิดลหุโทษ เป็นต้น จุดประสงค์ของ กฎกระทรวงฉบับนี้ เพราะได้เล็งเห็นถึงความแออัดในคุกเพราะตอนนี้แออัดมาก ผมว่าวิธีมันน่าจะเป็นวิธีทางออกที่ดีอีกวิธีหนึ่ง ส่วนว่าคดีร้ายแรงผมว่าน่าจะใช้ในกรณีนี้ไม่น่าจะได้ แต่ทั้งนี้ผู้ที่มีอำนาจสั่งคือ ศาลครับ ผมเชื่อว่าศาลใช้อำนาจในพระปรมาธิไภยฯ ท่านคงใช้ดุลพินิจอย่างเหมาะสมกับรูปคดี ว่าคดีไหนควรใช้การวิธีการอย่างไรในการจำคุก”
           “คนที่ติดคุกคือคนทำผิด(ยกเว้นแพะ) และส่วนใหญทำผิดซ้ำซากไม่กลัวโทษที่ได้รับและถ้าไม่ต้องติดคุกคนพวกนี้ก็คงยิ่งทำความผิดโดยไม่ต้องเกรงกลัวใคร”
           “พิจารณาอีกมุม สำหรับผู้บริสุทธิที่ต้องติดคุก หรือความผิดไม่ร้ายแรง แล้วมีเหตุจำเป็นไม่มีใครเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ผมว่าก็เป็นประโยชน์ต่อบางกรณี แต่ทางปฏิบัติต้องออกกฎระเบียบอย่างรอบคอบ เพราะจะเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเรียกรับผลประโยชน์แบบผิดกฎหมาย ก็ต้องฝากนักการเมืองที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติอย่างแท้จริงด้วยครับ”
           “ไม่ดีเลย คนคงทำผิดมากขึ้นเพราะยังไงแล้วก็ไม่ได้ถูกกักขัง”
นอกจากนี้ ยังมีคำถามน่ากังวลว่า อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์นั้นมีประสิทธิภาพ ความเที่ยงตรงเพียงพอหรือไม่ เพราะการควบคุมมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีย่อมเกิดข้อผิดพลาดหรือเกิดการฉ้อฉลขึ้นได้ รวมถึงอาจทำให้คนไม่กลัวการกระทำความผิดเพราะวิธีการลงโทษไม่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกิดความทุกข์ทรมานเกินไป
แม้ว่าข้อสังเกต ข้อกังวล ทั้งจากภาคส่วนต่างๆ และสังคม จะมีอยู่ไม่น้อย แต่หากยังไม่เคยทดลองใช้วิธีการลงโทษด้วยการจำกัดการเดินทางและอาณาเขตมาก่อนเลย ยังคงยึดถืออยู่เพียงว่าการจำคุกเป็นการลงโทษเพียงแบบเดียวที่ยอมรับได้ ก็คงจะเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่า วิธีการแบบใดจะเข้ากับ “สังคมไทย” ได้หรือไม่

 

………………………………………

ที่มาภาพ จากบทความ ข้อเสนอให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควบคุมตัวแทนการจำคุกผู้ต้องขัง, เว็บไซต์ประชาไท (อ้างอิงเมื่อ 12 เม.ย. 56)

ข้อมูล

ข้อเสนอให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควบคุมตัวแทนการจำคุกผู้ต้องขัง, เว็บไซต์ประชาไท (อ้างอิงเมื่อ 12 เม.ย. 56) 
ประกาศ!! จำคุกแบบใหม่ จำกัดอาณาเขต ไม่ต้องขังในเรือนจำ, เว็บไซต์ เอ็มไทย (อ้างอิงเมื่อ 12 เม.ย. 56) 
รมว. ยธ. แถลงข่าวการแก้กฎกระทรวงการใช้ “EM” คุมขังนอกคุก, เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรม (อ้างอิงเมื่อ 12 เม.ย. 56)
เฟซบุ๊ค Mark Fan Club (อ้างอิงเมื่อ 12 เม.ย. 56)