CHIA : ให้ชุมชนประเมินตนเอง ให้ชุมชนร่วมกำหนดอนาคต

เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 67 กำหนดให้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน หรือการทำ EIA (Environmental Impact Assessment) และ HIA (Health Impact Assessment) ก่อน

แต่ที่ผ่านมารายงานประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA ล้วนมาจากการจัดทำของบริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับการว่าจ้างจากเจ้าของโครงการ โดยแทบไม่มีส่วนร่วมของคนในชุมชนเลย ทั้งที่แท้จริงแล้ว เรื่องสุขภาวะและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนคนที่รู้ดีที่สุดก็คือคนในชุมชนเอง
นอกจากนี้ แม้คนในชุมชนจะต่อสู้คัดค้านการดำเนินโครงการหรือกิจการใดในพื้นที่อย่างแข็งขัน แต่เมื่อชาวบ้านขาดข้อมูลที่จะมาสนับสนุนว่า พื้นที่ของพวกเขาไม่เหมาะสมในการดำเนินโครงการหรือกิจการนั้น ๆ อย่างไร และจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนอย่างไรแล้ว บ่อยครั้ง การเรียกร้องคัดค้านของชาวบ้านก็มักถูกมองว่าเป็นเพียงความรู้สึก และไม่น่าเชื่อถือ
และนี่จึงนำมาสู่การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน หรือ CHIA
CHIA (Community Health Impact Assessment) หมายถึง การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยให้คนในชุมชนจัดทำข้อมูลชุมชนด้วยตัวพวกเขาเองซึ่งจะแสดงให้เห็นศักยภาพของพื้นที่ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เพื่อให้รู้ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อสุขภาวะของพวกเขา และหากจะมีโครงการอะไรในพื้นที่ โครงการนั้นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของพวกเขาหรือไม่ อย่างไร โดยการทำข้อมูลนี้จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการพัฒนาของชุมชนด้วยตัวชุมชนเอง
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับองค์กรเครือข่ายกว่า 10 องค์กร จัดงานประชุมวิชาการ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน ครั้งที่ 1 เรื่อง “เอชไอเอชุมชนสร้างอำนาจทางปัญญาในการกำหนดอนาคตตนเองและสังคม” วันที่ 16-17 กรกฎาคม 2555 ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และถอดสรุปบทเรียนของชุมชนที่ทำ CHIA และแนวทางการผลักดัน CHIA ไปสู่นโยบายของรัฐและผลทางกฎหมาย
จุดเริ่มต้น CHIA
สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของ CHIA ว่า เมื่อครั้งที่ตนทำงานเป็นอาจารย์อยู่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี เป็นช่วงที่มีการคัดค้านการก่อสร้างเหมืองแร่โปรแตซ ได้เข้าร่วมในการจัดงานประเมินผลกระทบทางสุขภาพของสาธารณสุขจังหวัด ทำให้เห็นจุดอ่อนของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ไม่มีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ จึงเริ่มพูดคุยกับบุคคลต่าง ๆ เช่น นักวิชาการ เริ่มต้นด้วยการค้นหานิยามของคำว่า สุขภาพที่ดี และ สุขภาพดีมีอะไรเป็นปัจจัยบ้าง โดยเดินทางไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ กว่า 40 หมู่บ้าน จึงเริ่มได้ข้อมูลจากชุมชนจริง ๆ ออกมา
ในทางกฎหมาย ช่วงปี 2543 มีการยกร่างพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ และปฏิรูประบบสุขภาพ ทำให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนกระทั่งในปี 2550 มีการรับรองการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวดสิทธิชุมชน และพรบ.สุขภาพแห่งชาติฯ โดยชุมชนสามารถใช้สิทธิตาม มาตรา 11 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมได้ ตามประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
           
CHIA คือ จุดเปลี่ยนของการต่อสู้
ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร ท่าศาลา-สิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวสิ่งที่ได้จากประสบการณ์การทำ CHIA ของชุมชน ว่า เดิมชาวประมงจะมองตนเองด้อยค่า แต่พอได้สะท้อนภูมิปัญญาของเขาบ่อยครั้งขึ้น ได้เก็บข้อมูลสัตว์ทะเลที่ส่งออกไปเลี้ยงคนทั้งในและต่างประเทศ ก็พบว่าพวกเขาคือผู้ผลิตอาหารของโลก
“ตอนนี้ชุมชนได้ก้าวข้ามการสู้กับเชฟรอนแล้ว เราได้สร้างพลังทางปัญญาเพื่อขจัดความขัดแย้งในพื้นที่ โรงไฟฟ้า หรือ เชฟรอน ไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับเราอีกแล้ว” ประสิทธิ์ชัยกล่าว
ภาวิณี ไชยภาค กลุ่มมีดหม้อสีขาว จากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า หลังจากโรงไฟฟ้าเริ่มก่อสร้าง ในพื้นที่เริ่มไม่เหลือเพื่อนร่วมต่อสู้เลย ซึ่งอาจไม่ใช่เพราะ คนเหล่านั้นไม่อยากเข้าร่วม แต่เพราะวิธีการในการเรียกร้อง ทำให้ไม่มีพื้นที่ให้เข้าร่วม แต่ด้วยการทำข้อมูลประเมินผลกระทบด้านสุขภาพทำให้พวกเขามีเพื่อนนักวิชาการ มี เครือข่ายต่างพื้นที่มากขึ้น
“เราพบว่า การเล่าซ้ำ ๆ ก็ทำให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่นมากขึ้นว่าทำไมเขามาร่วมกับเราไม่ได้ ตอนนี้เพื่อนกลับมาแล้ว เราได้แลกเปลี่ยนการทำงานด้วยกัน เราเชื่อว่างานนี้จะกำหนดอนาคตของบ้านเรา จะนะไม่ใช่เรื่องของเราอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องของทุกคน” ภาวิณีกล่าว
ด้านชาวบ้านจากเขาหินซ้อน ซึ่งต้องเผชิญกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ใกล้กับแหล่งเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า จากความห่วงกังวลของพวกเขาที่เดิมถูกปรามาสว่าเป็นแค่ความรู้สึก เมื่อทำข้อมูล CHIA ก็ทำให้ความรู้สึกนั้นเปลี่ยนเป็นข้อมูลเชิงวิชาการ และด้วยข้อมูลนี้ ก็ทำให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการมีคำสั่งให้บริษัทเจ้าของโครงการแก้ไขเพิ่มเติมรายงาน EIA ตามประเด็นความห่วงกังวลของชาวบ้าน
ขณะที่ เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในกระบวนการจัดทำและพิจารณารายงาน EIA นั้นจะมุ่งที่ความรู้ที่มาจากข้อมูลวิชาการและข้อมูลทางเทคนิค โดยละเลยความรู้ที่มาจากข้อมูลทางความรู้สึกและข้อมูลจากการปฏิบัติ ทั้งที่ข้อมูลดังกล่าวก็ถือเป็นความรู้อย่างหนึ่งเช่นกัน ดังนั้น เนื้อหาของ CHIA จะเข้ามาเติมความรู้ในเรื่องการประเมินผลกระทบให้ครบถ้วนมากขึ้น
ที่ยืนในกฏหมายและนโยบายรัฐ
สุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า ในกระบวนการทางกฏหมาย การทำข้อมูลชุมชนจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐ และในขั้นตอนการอนุมัติโครงการหรือกิจการใดของหน่วยงานรัฐจะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ชุมชนก็สามารถนำข้อมูลตรงนี้ไปแสดงความคิดเห็นได้ อีกทั้ง สามารถยื่นข้อมูลต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ด้วย
สุรชัย กล่าวต่อว่า ในกระบวนทางศาล ข้อมูลตรงนี้สามารถนำไปต่อสู้ในเชิงเนื้อหา อันแสดงให้เห็นว่า การออกคำสั่งของหน่วยงานรัฐไม่ได้มาจากการพิจารณาข้อมูลที่รอบด้านอย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากแนวโน้มของศาลปกครองในปัจจุบัน หากหน่วยงานรัฐทำหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการทางกฏหมาย ศาลมักจะพิพากษาให้หน่วยงานรัฐย้อนกลับไปแก้ไขได้
สมพร เพ็งค่ำ กล่าวว่า แม้ CHIAจะยังไม่มีผลเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยตรง แต่ยังมีความหวังในอนาคตว่าจะเกิดกระแสได้
“ถ้าเรามองว่านโยบายเป็นของรัฐ เราก็มุ่งไปที่นักการเมือง แต่ถ้ามองว่าเป็นของชุมชนช่วยกันกำหนด เป็นเจตจำนงร่วมกัน จะทำให้มีพลังและเปลี่ยนแปลงนโยบายได้”