ร่วมแก้ไข พ.ร.บ.ประมง กระจายอำนาจให้ชาวประมง

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงในปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เก่ามากแล้ว แม้จะแก้ไขมาสามถึงสี่ครั้งก่อนหน้านี้ แต่ก็เพียงแก้ไขในประเด็นปลีกย่อย แต่โครงสร้างอำนาจหลักที่เป็นปัญหาสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรประมงนั้นยังไม่เคยถูกแก้ไข สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย จึงร่างพระราชบัญญัติประมง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. … ขึ้นเพื่อเสนอโครงสร้างอำนาจแบบใหม่ที่อาจแก้ไขปัญหาที่มีมาช้านานได้

พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหลัก ไม่มีระบบถ่วงดุลอำนาจ ไม่มีช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือหน่วยงานอื่นๆ ทำให้การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการทำประมงมีผลประโยชน์เข้ามาเป็นปัจจัยมากกว่าข้อมูลทางวิชาการด้านทรัพยากรทางทะเล
 
นอกจากนี้กฎหมายเก่ายังไม่เปิดช่องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรเลย ทั้งที่ชาวประมงในหลายท้องที่มีศักยภาพพอที่จะร่วมบริหารจัดการทรัพยากรประมงของตนเอง และมีข้อเสนอมาตรการคุ้มครองที่ดีจำนวนมาก แต่กลุ่มหรือองค์กรชุมชนที่พยายามดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลไม่เคยได้รับการสนับสนุน ไม่มีกลไกทางกฎหมายรับรอง และยังถูกกล่าวหาว่าทำเกินหน้าที่ของพลเมือง บางกรณีต้องกลับกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเสียเองด้วยซ้ำ 
 
ข้อเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติการประมงครั้งนี้ของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย มุ่งจัดวางโครงสร้างอำนาจในการบริหารการทำประมงขึ้นใหม่ เพื่อรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของบุคคล ชุมชนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยไม่ได้แก้ไขบทบัญญัติที่เป็นเรื่องของการประมงส่วนอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับชาวประมงพื้นบ้าน
 
 
 
กลไกใหม่ที่จะก่อตั้งขึ้น ตามร่างพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. … มีดังนี้
 
1. คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ 
ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประมง ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านในสัดส่วนหญิงและชาย รวมทั้งให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสิบคน 
 
คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ จะมีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนแม่บทการพัฒนาการประมง กำกับติดตาม การปฏิบัติตามนโยบายการประมงด้านต่างๆ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรการประมงอย่างยั่งยืน เช่น การประมงทะเล การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านการประมง เป็นต้น 
 
2. คณะกรรมการประมงจังหวัด
ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และกรรมการอื่นที่มาจากสามส่วน คือ หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนองค์กรชุมชนชายฝั่ง และจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านการประมงในจังหวัดนั้นไม่เกินสิบคน
 
คณะกรรมการประมงจังหวัด มีหน้าที่เสนอขอบเขตพื้นที่การประมง เสนอการออกประกาศ ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการกำหนดเงื่อนไขการทำประมงในจังหวัดนั้นๆ ทั้งนี้ เดิมอำนาจนี้เป็นของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่เพียงผู้เดียวที่จะเสนอให้รัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามออกประกาศ แต่ตามร่างใหม่นี้เสนอให้มีผู้แทนหลายส่วนร่วมกันคิดและให้อำนาจการตัดสินใจอยู่ในระดับจังหวัดที่เป็นเจ้าของพื้นที่
 
3. องค์กรชุมชนประมง
ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.การประมงนี้ กำหนดให้ชุมชนที่อยู่ติดกับเขตการประมง มีสิทธิจัดตั้ง “องค์กรชุมชนประมง” ขึ้นเอง โดยยื่นคำขอต่อคณะกรรมการประมงจังหวัด องค์กรชุมชนประมงที่จัดตั้งขึ้นจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีสิทธิในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ภายใต้กฎกติกาที่กำหนด แต่ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของทรัพยากรทั้งหมดเพื่อกลุ่มของตนเอง
 
องค์กรชุมชนประมง มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรการประมงและทรัพยากรธรรมชาติตามกฎกติกาภายในขอบเขตพื้นที่ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการการประมงจังหวัด สามารถร่วมกับเจ้าพนักงานสอบสวนในการจัดทำสำนวนคดีความผิด หรือฟ้องคดีได้ สามารถขอให้มีการฟื้นฟูเขตการประมงเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการทำการประมงได้ ในกรณีที่เกิดเหตุในเขตพื้นที่ของตน และให้สามารถจับกุมผู้กระทำผิดซึ่งหน้าได้ ฯลฯ
 
4. เขตการประมง
กำหนดให้เขตการประมงทะเลที่อยู่ในน่านน้ำไทย แบ่งออกเป็นสามประเภท คือ เขตประมงทะเลชายฝั่ง เขตประมงทะเลนอกชายฝั่ง และเขตประมงน้ำจืด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมการใช้เครื่องมือทำการประมงในแต่ละเขต
 
เขตประมงทะเลชายฝั่ง คือที่จับสัตว์น้ำในทะเลที่อยู่ในน่านน้ำไทยนับจากขอบน้ำชายฝั่งออกไป 5 ไมล์ทะเล เว้นแต่บริเวณใดที่มีความจำเป็น สามารถขยายเขตประมงทะเลชายฝั่งเป็น 12 ไมล์ทะเลได้ 
 
เขตประมงทะเลนอกชายฝั่ง คือที่จับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยทั้งหมด นับจากเขตประมงทะเลชายฝั่งออกไปในทะเล จนถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย 
 
เขตประมงน้ำจืด คือที่จับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยทั้งหมด ซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตประมงทะเลชายฝั่งและเขตประมงทะเลนอกชายฝั่ง 
 
5. เพิ่มบทลงโทษ
กรณีฝ่าฝืนประกาศซึ่งกำหนดเงื่อนไขการทำประมง เช่น ประกาศกำหนดขนาดตาและระยะช่องเครื่องมือทำการประมง กำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใด กำหนดฤดูปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก  เป็นต้น จากระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันถึงหนึ่งหมื่บาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ มาเป็น ปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงสามแสนบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิ่มโทษโดยให้ ศาลมีอำนาจสั่งริบ “เครื่องมือทำการประมง เรือ สัตว์น้ำ และสิ่งอื่นๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำผิด” ได้
 
 
 
 
 
 

ผู้ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของร่างพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 4) พ.ศ…. สามารถมีส่วนร่วมได้ โดยวิธีการดังนี้

1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์มข.ก.1 ตามไฟล์แนบด้านบน และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน

2. ถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

3. ส่งเอกสารทั้งหมดมายัง 35/1 หมู่ 4 ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง 92000

คำแนะนำในการกรอบแบบฟอร์ม

1. ต้องมีทั้งนำสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน

2. ลายเซ็นต้องเป็นแบบเดียวกันทั้งในสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน กับแบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย (แบบ ข.ก.๑)

3. ในส่วนบนของหนังสือที่เขียนว่า “เขียนที่” นั้น ให้เขียนที่อยู่ สถานที่ไหนก็ได้ที่ท่านกรอกแบบฟอร์ม

4. ใน ข้อ 5 ของ แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย (แบบ ข.ก.๑) ที่เขียนว่า "ร่างพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 4) พ.ศ…." ในช่องว่าง “พ.ศ. …” ไม่ต้องกรอกข้อความใดๆ