ร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่…ยังมีริ้วรอยให้เห็น

หลังจากคณะทำงานโครงการพัฒนาร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมได้ศึกษาและยกร่างกฎหมายขึ้น 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมและร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม นั้น

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2555 คณะทำงานโครงการฯ ได้จัดประชุมเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพมหานคร โดยในงานมีผู้เข้าร่วมจากทั้งภาคประชาชน หน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ผู้พิพากษาทั้งจากศาลปกครองและศาลยุติธรรม พนักงานอัยการ เจ้าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการอิสระ
ร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม
วินัย เรืองศรี ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา หนึ่งในคณะทำงานโครงการฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของร่างนี้ว่า จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ขาดการจัดการองค์ความรู้ที่เป็นระบบ ขาดการวางแผน และองค์กรที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ทางคณะทำงานจึงร่วมกันจัดทำร่างกฎหมายนี้ขึ้น เพื่อพัฒนาระบบงานบริหารกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของสังคม ลดความขัดแย้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญ และอำนวยความยุติธรรมแก่สังคม 
ตั้งคณะกรรมการ : นวัตกรรมใหม่ แต่ระบบคิดเดิม
ประเด็นเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด เนื่องจากตามมาตรา 6 กำหนดให้คณะกรรมการส่วนใหญ่มาจากข้าราชการประจำ 

       มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงยุตธรรม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการสํานักงานสุขภาพแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสํานักงานศาลปกครอง เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกสภาทนายความ คณบดีคณะนิตศาสตร์หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่งซึงเลือก กันเองให้เหลือหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนสํานักงบประมาณ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านสิ่งแวดล้อม ตัวแทนภาคประชาสังคม และตัวแทนชุมชนที่มีบทบาทด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และตัวแทนภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับแต่งตังจากคณะรัฐมนตรีจานวนประเภทละสองคนเป็นกรรมการและผู้อํานวยการสํานักงานกิจการยุตธรรมทางสิ่งแวดล้อมเป็นเลขานุการ

        ให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมจํานวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการ ตามมาตรา 6 มีส่วนของภาคประชาชนน้อยเกินไป เสริมกับงามวัลย์ ทัศนียานนท์ จากมูลนิธิศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อม ที่แนะนำว่า หากจะตั้งบุคคลจากหน่วยงานรัฐ ควรตั้งจากคุณสมบัติมากกว่าตำแหน่ง อีกทั้งควรเพิ่มเติมภาคประชาชนเข้าไปในฝ่ายเลขานุการด้วย เพราะ โดยทั่วไป คนทำงานหลัก คือฝ่ายเลขานุการ
ภารนี สวัสดิรักษ์ จากเครือข่ายผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวว่า โครงสร้างของคณะกรรมการ ซึ่งพยายามบอกว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ แต่สุดท้ายก็เป็นวิธีคิดแบบเดิมที่กรรมการมาจากการแต่งตั้งซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนหน่วยงานรัฐ หรือมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี ทั้งยังไม่มีกลไกหรือระบบตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการด้วย
แค่ทำแผนแม่บทยังไม่พอ
คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ยังมีภารกิจหลักในการจัดทำแผนแม่บการบริหารงานยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 10 (1) ซึ่ง ไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวประเด็นนี้ว่า ประเทศไทยมีแผนแม่บทหลายฉบับ ปัญหาคือ เมื่อหน่วยงานของรัฐจะปฏิบัติตามจะต้องไปทำแผนงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนแม่บท ซึ่งหากแผนนั้นไม่ตรงกับแผนของรัฐบาล ก็ทำตามไม่ได้ เพราะงบประมาณของหน่วยงานรัฐจะมาจากแผนนโยบายรัฐบาล ดังนั้น แผนแม่บทนี้คงไม่สามารถนำไปสู่ทางปฏิบัติได้ เว้นแต่ว่า ประชาชนเองจะเห็นประโยชน์จากแผนแม่บทและผลักดันต่อ

         มาตรา ๑๐ คณะกรรมการมีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
  (๑) จัดทําแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

ขณะที่ภารนี สวัสดิรักษ์ มองว่า แม้แผนแม่บทจะผ่านการรับฟังจากประชาชน ตามมาตรา 21 วรรค 3 และผ่านการพิจารณาของสมัชชาเครือข่ายยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 22 ก็ตาม แต่สุดท้าย ตามมาตรา 23 ก็นำไปให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งกลายเป็นว่าอำนาจการเห็นชอบจะกลับไปอยู่ที่อำนาจแบบเก่า ซึ่งผูกโยงกับอำนาจทางการเมือง
“ถ้าเป็นรอยต่อของรัฐบาล แล้วแผนอยู่ในระหว่างนั้น จะรู้ได้อย่างไรว่าครม.ใหม่จะไม่รื้อแผนแม่บทของท่าน หรือหากแผนแม่บทนี้ไปขัดกับแผนแม่บทของกระทรวง กรม ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เราจะหยุดแผนนั้นได้อย่างไร หากครม.เป็นผู้เห็นชอบ” ภารนีกล่าว
แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความ กล่าวเสริมถึงภารกิจของคณะกรรมการที่ควรเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เขียนไว้แล้วในร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ร่างกฎหมายนี้ควรมีบทบัญญัติอีกหมวดหนึ่ง โดยเพิ่มหน้าที่ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมออกระเบียบปฏิบัติเบื้องต้นให้สอดคล้องกับหลักการในหมวดนี้ เช่น หลักการผู้ก่อมลพิษควรเป็นผู้จ่าย วิถีชีวิตของผู้คนควรได้รับการอนุรักษ์  สิทธิในสุขภาพอนามัย ฯลฯ แล้วให้คณะกรรมการชุดนี้ตรวจสอบว่าระเบียบดังกล่าวสอดคล้องหรือเป็นประโยชน์จริงหรือไม่
ทีี่มาภาพ Enlawthai.org
ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม
ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม และหนึ่งในคณะทำงาน กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีหลักการใหญ่ๆ 5 ประการ คือ 
1. หลัก Deep Ecology คือ การคำนึงถึงระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย นอกเหนือจากการมองมนุษย์เป็นผู้เสียหายเพียงอย่างเดียว ซึ่งปรากฏในมาตรา 70 
2. หลักความเป็นธรรมในการจัดการสิ่งแวดล้อมและกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมาแก้ปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการเลือกปฏิบัติต่อคนจน เช่น ที่ระบุในมาตรา 5 
3. หลักป้องกันไว้ก่อน เช่น ผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ก่อนการฟ้องคดี เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายกระทำในสิ่งที่อาจก่อความเสียหายต่อไป ตามมาตรา 59 
4. หลักการบูรณาการ เเนื่องจากผู้บังคับใช้กฎหมายมักใช้กฎหมายในลักษณะแยกส่วน ไม่มองกฎหมายแต่ละฉบับให้เชื่อมโยงสอดคล้องกัน ดังนั้น มาตรา 8 จึงวางหลักว่าให้หน่วยงานนั้นต้องพิจารณากฎหมายให้ครบถ้วน 
5. หลักpolluter pays หรือหลักผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย เช่น มาตรา 68-69 
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยคาดหวังให้แก้ไข และอุดรูรั่วในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพราะหากใช้วิธีพิจารณาคดีเช่นเดียวกับคดีทั่วไปมักเกิดความไม่ธรรมขึ้นในรายคดีได้ง่าย แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ยังถูกท้วงติงอยู่อีกหลายประเด็น
ถ้อยคำยังมีช่องว่าง
ไพโรจน์ มีเด็น ตุลาการศาลปกครองกลาง กล่าวว่า เนื้อหาในหลายมาตรามีการผสมระหว่างกฎหมายที่กำหรดสิทธิหน้าที่ กับกฎหมายที่วางระเบียบวิธีพิจารณาคดี อีกทั้งถ้อยคำในบางมาตราก็เป็นนามธรรมเกินไป เช่น มาตรา 5 คำว่า “ผู้ที่ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากจักต้องถูกดำเนินการก่อน”  มาตรา 6 คำว่า “สะดวก ประหยัด เป็นธรรม” เรื่องล่าช้านั้นเป็นปัญหาของศาล กฎหมายจำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนว่าทำอย่างไรให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น หรือมาตรา 13 คำว่า “เชิงรุก” การกระทำลักษณะใดที่เป็นเชิงรุก ยังไม่มีความชัดเจน
สุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น แสดงความเป็นกังวลว่า ตามมาตรา 5 ที่ระบุให้จัดการกับผู้ที่ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากก่อนนั้น เกรงว่า หน่วยงานรัฐจะตีความว่าชาวบ้านที่ยังชีพด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เป็นผู้ก่อความเสียหายมากกว่า บริษัทต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อต่อยอดธุรกิจของตัวเอง
ดร.สิวินีย์ สวัสดิ์อารี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ตามมาตรา ๖ คำว่า “สะดวก ประหยัด” ถ้าต้องพิสูจน์กันในเรื่องสิ่งแวดล้อมจะขัดต่อความเป็นจริง เพราะ เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว บางทีกระบวนการพิสูจน์อาจจะไม่สะดวกและประหยัด หากมีถ้อยคำเช่นนี้อาจกลายเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐอ้างให้ตนเองไม่ต้องทำอะไรก็ได้ ฉะนั้น จึงควรมุ่งที่การค้นหาความจริงให้ได้มากกว่า
ผู้รับประโยชน์ยังลอยนวล
สุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW) กล่าวว่า ในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่บริษัทถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด มักจะใช้ระยะเวลานาน จนบางทีบริษัทอาจเลิกกิจการไปก่อน ทำให้ต่อมาแม้จะชนะคดีแล้ว แต่การบังคับคดีก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้น น่าจะกำหนดด้วยว่า หากผู้บริหารหรือตัวแทนของบริษัทบริหารงานให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม บุคคลนั้นต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับบริษัทด้วย เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าตนเองไม่มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย
ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวเสริมว่า นอกจากตัวแทนของบริษัทแล้ว บุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการนั้นก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย
เช่นเดียวกับ ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ยกตัวอย่างกรณีในภาคเหนือ ที่เมื่อเกิดหมอกควันจากเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด ชาวบ้านเท่านั้นที่ถูกกล่าวหา ส่วนบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งได้ประโยชน์จากข้าวโพดนั้นกลับไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ
อัยการก็ยังไม่พร้อม
จันทิมา ธนาสว่างกุล สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ สะท้อนว่าผู้ร่างกฎหมายเน้นบทบาทของอัยการมาก เช่น การให้พนักงานอัยการเข้าไปประสานงานกับพนักงานสอบสวนอย่างใกล้ชิด หรือ มีหน้าที่เรียกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามมาตรา 24 ซึ่งความเป็นจริง ในประเด็นสิ่งแวดล้อม สำนักงานอัยการมีองค์ความรู้น้อย และไม่ค่อยมีอิสระทางการเมือง เพราะกฎหมายให้อัยการเป็นหนึ่งในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจทุกชุด ทำให้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อมโยงกับการเมืองและกลุ่มทุน ดังนั้นควรช่วยผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และห้ามมิให้อัยการเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจก่อน
ขาดความรับผิดของหน่วยงานรัฐ
สุรชัย ตรงงาม กล่าวว่า การที่มาตรา 26 กำหนดให้อัยการมีอำนาจแจ้งให้หน่วยงานรัฐออกคำสั่งเพื่อระงับเหตุแห่งความเสียหาย ก็ยังมีปัญหาที่สงสัย คือ ถ้าอัยการแจ้งหน่วยงานรัฐเรื่องโครงการที่กระทำความผิดแล้ว หน่วยงานรัฐไม่ทำตาม จะมีผลบังคับอะไร ประชาชนต้องฟ้องรัฐอีกหรือไม่ ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ควรมีความรับผิดอย่างไร

      มาตรา ๒๖ หากพนักงานอัยการพบเห็นว่ากิจกรรมหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายปกครอง ให้รีบแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาออกคําสั่งทางปกครองเพื่อระงับเหตุแห่งความเสียหายตามอํานาจหน้าที่โดยทันที เช่น การสั่งปิดหรือพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือการสั่งให้หยุดใช้หรือทําประโยชน์ด้วยประการใดๆ เพื่อระงับเหตุแห่งความเสียหายนั้น

สอดคล้องกับรศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และลัคนา พบร่มเย็น นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กล่าวตรงกันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ขาดกรณีที่หากหน่วยงานของรัฐไม่ทำหน้าที่ จะเกิดมาตรการบังคับอย่างไร เพราะตราบใดที่ภาครัฐไม่ยอมปฏิบัติหรือบังคับใช้กฎหมาย ก็ไม่อาจสร้างความเป็นธรรมได้
ศาลมีอำนาจย้ายชุมชนได้

         มาตรา ๗๒ ในกรณีที่ศาลเห็นว่าการแก้ฟื้นฟู เยียวยาสภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศในบริเวณที่เสียหายให้กลับสู่สภาพเดิมไม่สามารถกระทําได้อีกแล้วหรือกระทําได้ยากอย่างยิ่ง

      เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ศาลอาจสั่งให้ผู้ก่อความเสียหายจัดหาสถานที่อื่น ที่มีลักษณะและสภาพธรรมชาติ และบุคคลสามารถใช้หรือได้ประโยชน์ ในลักษะเดียวกันมาชดเชย แทนการแก้ไขฟื้นฟูเยียวยาในที่เดิมได

สุรชัย ตรงงาม กล่าวว่า ตามมาตรา ๗๒ ที่กำหนดว่าหากศาลเห็นว่าการฟื้นฟูเยียวยาสภาพแวดล้อมไม่อาจทำได้อีกแล้ว ศาลอาจสั่งให้ย้ายชุมชนไปอยู่สถานที่ใหม่ได้ เช่นนี้ การที่ศาลก้าวล่วงมาบริหารจัดการในรายละเอียดขนาดนี้จะเหมาะสมหรือไม่ เช่น กรณีลำห้วยคลิตี้ ชาวบ้านต้องการแก้ไขการปนเปื้อน ไม่ใช่หาสถานที่ใหม่ การย้ายนั้นควรต้องถามชาวบ้านก่อนหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับชุมชน 
นอกจากนี้ กฤษณะ ช่างกล่อง นักวิชาการอิสระ ยังมองว่า ในเรื่องทางวิทยาศาสตร์หรือเรื่องทางเทคนิค ยังคงมีการตั้งคำถามว่า หากมีหลักทางเทคนิคที่ต่างกัน ศาลจะตัดสินได้อย่างไร ในเมื่อศาลเป็นนักกฎหมาย
ไฟล์แนบ