กฎหมายฮาเฮ : ประกาศคณะปฏิวัติยึดอำนาจ

……โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง

 

เสียงนี้หลายท่านก็คงจะเคยคุ้นๆหู ตอนที่มีการทำรัฐประหาร กฎหมายฮาเฮในตอนนี้จึงนำเสนอเรื่องที่บางทีก็ฮาไม่ค่อยออก นั่นคือ ประกาศคณะปฏิวัติ

ถ้าเราเชื่อในแนวคิดที่ว่า กฎหมายคือ คำสั่งของผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ เมื่อมีผู้ทำการรัฐประหารสำเร็จ ก็จะเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในรัฐนั้นที่สามารถออกกฎหมายต่างๆมาบังคับกับประชาชน แต่กฎหมายที่เรียกกันนั้นจะไม่ได้เรียก พระราชบัญญัติ แต่จะเรียกเป็น ประกาศคณะปฏิวัติ  ประกาศคณะปฏิรูป ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฯลฯ แล้วแต่จะเรียก แต่ผลก็คือ สามารถนำมาใช้บังคับกับประขาชนได้

การปฏิวัติรัฐประหาร ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ได้เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ โดยการใช้กำลังอำนาจล้มล้างรัฐบาลปัจจุบัน อาศัยอำนาจแต่งตั้งผู้มีอำนาจปกครองขึ้นใหม่ และออกประกาศ หรือข้อบังคับออกมาใช้กับประชาชน จึงเกิดข้อโต้แย้งว่า โดยความชอบธรรมของที่มาแล้ว ประกาศคณะปฏิวัติเป็นกฎหมายจริงหรือไม่

ในประเทศไทย มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาไว้ คือ

“ฎีกาที่ 1662/2505ศาลฎีกาเห็นว่า ในเมื่อ พ.ศ. 2501คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย…”

“หรือฎีกาที่ 1234/2523เมื่อคณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินย่อมมีอำนาจที่จะออกประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวมาแล้ว อันถือว่าเป็นกฎหมายใช้บังคับแก่ประชาชนทั่วไปได้…"

จะเห็นว่า ศาลไทยยังยอมรับคำสั่งหรือประกาศของคณะปฏิวัติเป็นกฎหมาย นำกฎเกณฑ์ที่ออกโดยการใช้กำลังอำนาจนั้น มาปรับ บังคับใช้

แต่ทั้งนี้ถ้าหากศาลไม่ยอมรับคำสั่งหรือประกาศคณะปฏิวัติ กฎเกณฑ์เหล่านั้นก็ย่อมไม่มีผลในทางปฏิบัติ และไม่มีค่าเป็นกฎหมาย

หรือหากว่าผู้ใช้กำลังนั้นสิ้นสุดอำนาจลงแล้ว เราจะควรถือว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นกฎหมายอยู่อีกหรือไม่ 

 

กฎหมายอย่างนี้ มีด้วยหรือนี่……

             

 

 

 

ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย วันที่ 31 มกราคม 2554