แนวปฏิบัติในการดูแลการชุมนุมสาธารณะในพื้นที่สถาบันการศึกษาของรัฐตามหลักสากล

อ.ดร.พัชร์ นิยมศิลป
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เสรีภาพในการชุมนุมเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสังคมประชาธิปไตย (functioning democracy)[1] ประชาชนสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อทำให้เสียงเล็กๆ ของพวกเขาดังขึ้นและได้รับความสนใจจากสาธารณะ สิทธิมนุษยชนประเภทนี้ได้รับการรับรองทั้งในระดับกฎหมายระหว่างประเทศและในระดับกฎหมายรัฐธรรมนูญ เสรีภาพในการชุมนุมมีความสัมพันธ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่งเนื่องจากการปกครองในระบอบนี้เห็นว่าสามัญชนมีคุณค่าควรแก่การปรึกษาหารือ[2] เมื่อการตัดสินใจทางการเมืองไม่ได้ผูกขาดแต่เฉพาะชนชั้นปกครองเท่านั้น สถาบันการศึกษาควรมองว่าการชุมนุมสาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตย 

การชุมนุมสาธารณะเป็นการแสดงให้เห็นถึงจำนวนของผู้สนับสนุนที่มีแนวคิดตรงกันและเป็นการโน้มน้าวให้สาธารณชนให้การสนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ศาลปกครองสูงสุดเคยอธิบายไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.711/2555[3] ว่า การชุมนุมเป็นกลไกในการเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย แสดงออกซึ่งปัญหาและข้อเรียกร้องของประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ในสังคม ทั้งยังช่วยให้รัฐมองเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ชัดเจนขึ้นด้วย

การชุมนุมสาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้กรอบประชาธิปไตยจะมีลักษณะ 3 ประการ[4] คือ
(1) กำหนดเป้าหมายของการชุมนุมเป็นผู้มีอำนาจรัฐ
(2) แสดงให้เห็นว่าเป็นการรวมกลุ่มโดยสงบ (peaceful collective actions) และ
(3) แสดงให้เห็นถึง WUNC ได้แก่ คุณค่า (worthiness) ความสามัคคี (unity) จำนวน (numbers) และการยึดมั่นถือมั่น (commitment)

การที่ผู้ชุมนุมสาธารณะจะแสดงให้เห็นถึง WUNC ได้นั้น รัฐมีหน้าที่ในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การชุมนุมสาธารณะทั้งทางด้านพฤตินัยและด้านนิตินัย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กรอบกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ไร้เหตุผล หรือเข้มงวดจนเกินไปจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้ผู้ชุมนุมหันไปใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกความสนใจจากผู้มีส่วนได้เสียหรือจากผู้มึอำนาจรัฐ

อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับกฎหมายที่วางกรอบการดูแลการชุมนุมสาธารณะที่สถานศึกษา คือ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (4) กำหนดไม่ให้ใช้กฎหมายฉบับนี้กับการชุมนุมภายในสถานศึกษา ดังนั้น แม้การชุมนุมที่เกิดขึ้นจะเป็นการชุมนุมสาธารณะตามนิยามของกฎหมายฉบับนี้ แต่สถานศึกษาก็ไม่อาจนำ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาบังคับใช้ได้ 

อย่างไรก็ดีผู้เขียนเห็นว่าสถานศึกษาในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาของรัฐ ควรยึดหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามหลักสากลซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี 

1. พันธะของสถาบันการศึกษาของรัฐภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ประกอบกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 15 (Convention on the Rights of the Child Art.15) สถาบันการศึกษาของรัฐในประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมใน 2 มิติ กล่าวคือ 

(1) พันธะเชิงลบ (Negative Obligation) สถานศึกษาจะต้องละเว้นจากการแทรกแซงหรือจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากฐานทางกฎหมายที่เหมาะสมและไม่เป็นไปตามหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วนในบริบทของสังคมประชาธิปไตย 

(2) พันธะเชิงบวก (Positive Obligation) สถาบันการศึกษามีหน้าที่อำนวยความสะดวก และปกป้องคุ้มครองผู้ชุมนุมจากอันตรายหรือความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น พันธะเชิงบวกนี้รวมถึงการที่จะต้องอำนวยความสะดวกผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมสาธารณะ อาทิ ผู้ที่สัญจรไปมา ร้านค้า ธุรกิจ บริการสาธารณะต่าง ๆ และการเรียนการสอนของนักเรียน นักศึกษา
อื่น ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบ เป็นต้น 

2. องค์ประกอบของการชุมนุมสาธารณะและรูปแบบการชุมนุม

กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและหลักสากลรับรองและคุ้มครองเฉพาะการชุมนุมสาธารณะ “ที่สงบและปราศจากอาวุธ” เนื่องจากรัฐยังคงเป็นผู้ผูกขาดการใช้กำลัง แต่ก็มอบเสรีภาพในการชุมนุมไว้เพื่อเป็นกลไกให้ประชาชนสามารถสะท้อนความต้องการ เรียกร้องความเป็นธรรม หรือกดดันผู้ที่ถืออำนาจปกครอง ให้ตอบสนองต่อความต้องการของตนได้ 

ดังนั้น เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเครื่องมือที่จะช่วยปกป้องเสรีภาพประเภทอื่นๆ[5] อีกทั้งการชุมนุมสาธารณะสามารถเป็นเครื่องมือที่จะใช้วัดได้ว่าสังคมนั้นมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ในระดับใด 

2.1 ข้อสันนิษฐานเบื้องต้น

ตามหลักสากล สถานศึกษาของรัฐจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าการชุมนุมสาธารณะหนึ่งๆ เป็นการชุมนุมโดยสงบ (a presumption in favour of holding peaceful public assembly)[6] รัฐมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ได้ว่าผู้จัดการชุมนุมหรือผู้เข้าร่วมการชุมนุมมีเจตนาก่อความไม่สงบ กระนั้น ในกรณีที่พิสูจน์ได้แล้วว่าผู้ชุมนุมมีเจตนาใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ก็ยังมีหน้าที่ต้องแยกผู้ใช้ความรุนแรงออกจากกลุ่มผู้ชุมนุมสาธารณะที่ยังชุมนุมโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธอยู่ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำเอาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากคนกลุ่มหนึ่งมาจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของผู้ชุมนุมที่ยังสงบอยู่ได้[7]

2.2 องค์ประกอบการชุมนุมสาธารณะ

การชุมนุมสาธารณะที่สถานศึกษามีหน้าที่ต้องคุ้มครองประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ส่วน คือ 

     1) ผู้ชุมนุมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป (การประท้วงคนเดียว สถานศึกษาพึงคุ้มครองภายใต้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ) 

     2) ชุมนุมในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในร่มหรือสถานที่เปิดโล่ง

     3) มีการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป[10]

     4) บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือไม่ 

ในกรณีที่ไม่เข้าองค์ประกอบตามเงื่อนไข สถานศึกษาควรพิจารณาว่าจะต้องคุ้มครองการแสดงออกนั้นตามเสรีภาพในการแสดงออก

ในกรณีที่สถานศึกษาห้ามมิให้คนนอกเข้าร่วมการชุมนุม การชุมนุมที่เกิดขึ้นตามมานั้นจะไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะ กระนั้นสถานศึกษานั้นยังมีหน้าที่ต้องคำนึงถึงการใช้เสรีภาพในการชุมนุม

ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน การชุมนุมจะไม่สงบต่อเมื่อผู้ชุมนุมเจตนาก่อความรุนแรง (violence that originates from the participants)[8] ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากมือที่สามหรือเกิดขึ้นจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเองไม่ทำให้การชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ

หากการชุมนุมนั้นมีการใช้ความรุนแรง หรือใช้อาวุธ (รวมถึงอาวุธโดยสภาพ) สถานศึกษาจะต้องดำเนินการแยกผู้ที่ใช้ความรุนแรงออกจากผู้ที่ยังใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพของผู้ที่ชุมนุมโดยสงบ ไม่ควรจะถูกสลายการชุมนุมหรือยุติการชุมนุมเพียงเพราะเหตุว่ามีการก่อความรุนแรงโดยคนกลุ่มอื่น การไม่แยกผู้ใช้ความรุนแรงจะเป็นการเปิดช่องให้มือที่สามสามารถใช้มือมืด (agent provocateur) มาล้มการชุมนุมได้โดยง่าย

2.3 รูปแบบการชุมนุม

  • สถานศึกษามีหน้าที่คุ้มครองเฉพาะการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเท่านั้น
  • สถานศึกษาควรมีข้อสันนิษฐานว่าผู้ชุมนุมมีเสรีภาพที่จะเลือกใช้รูปแบบในการชุมนุมประท้วงใดๆ ก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นเกินสมควร
  • สถานศึกษาควรอนุญาตให้มีการชุมนุมโดยพลัน (spontaneous assemblies) โดยไม่ต้องมีการแจ้งล่วงหน้า
  • สถานศึกษาควรอำนวยความสะดวกให้มีการชุมนุมตอบโต้ (counter-assemblies) หรือการชุมนุมสาธารณะอื่นๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันได้ โดยสถานศึกษาจะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง หรือจัดสรรเวลาและสถานที่ให้แต่ละฝ่ายแสดงออกอย่างเหมาะสม เป็นไปด้วยความสงบและยึดมั่นในสันติวิธี
  • สถานศึกษาควรมีมาตรการที่เหมาะสมต่อการชุมนุมประเภท Direct Actions/Occupy Protests และต้องแจ้งแก่ผู้ชุมนุมว่าหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมจะต้องรับผิดชอบทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย
  • สถานศึกษาพึงแจ้งให้ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมทราบว่า พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาและข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมฯ เป็นการส่วนตัว สถานศึกษาจะอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ให้เท่านั้น
  • ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งล่วงหน้าได้ ผู้จัดการชุมนุมพึงดำเนินการแจ้งความประสงค์จะชุมนุมต่อผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อพิจารณาโดยเร็วที่สุด

3. การกำหนดข้อจำกัด (restrictions) เสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติ

การวางเงื่อนไขจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม สถานศึกษาควรยึดหลักดังนี้[9]

     (1) มีฐานทางกฎหมายรองรับ (conformity with the law) ซึ่งกฎหมายนี้ต้องสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

     (2) สอดคล้องกับหลักจำเป็นและหลักความได้สัดส่วน ภายใต้บริบทของสังคมประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ พหุนิยมทางการเมือง และสิทธิมนุษยชน (necessary and proportionate in the context of a society based on democracy, the rule of law, political pluralism and human rights)

     (3) เป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พิทักษ์ระบบสาธารณสุข หรือปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น 

3.1 สถานที่ชุมนุม

  • ผู้ชุมนุมต้องดำเนินการขออนุญาตใช้สถานที่กับทางสถานศึกษาก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงล่วงหน้า (ตามเกณฑ์ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ) เพื่อให้สถานศึกษาสามารถเตรียมสถานที่และประสานงานให้มีการอำนวยความสะดวกได้อย่างเหมาะสม
  • สถานศึกษาพึงอนุญาตให้ใช้สถานที่ตามหลักความได้สัดสวน และอนุญาตให้ใช้สถานที่ที่ทำให้ผู้ชุมนุมสามารถส่งข้อความไปสู่ผู้รับสารได้ (within sight and sound of the assemblies against which they are directed)
  • สถานศึกษาควรตระหนักว่า ผู้ชุมนุมสามารถเลือกเวลา สถานที่ และรูปแบบการชุมนุมได้ ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของการใช้เสรีภาพในการชุมนุม การย้ายสถานที่ชุมนุมไปยังสถานที่ที่ไม่มีคนพลุกพล่านหรือปราศจากความสำคัญทางสัญลักษณ์เป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมที่สถานศึกษาพึงหลีกเลี่ยง 
  • สถานศึกษาควรแจ้งให้ผู้ชุมนุมรักษาความสะอาดและเคารพต่อสิทธิของผู้อื่นที่ใช้พื้นที่สถานศึกษานั้นตามปรกติวิสัย
  • สถานศึกษาควรจัดทางสัญจร การจราจร และระบบการจอดรถให้สอดคล้องกับการชุมนุมที่เกิดขึ้น
  • สถานศึกษาพึงอำนวยความสะดวกให้กับทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม ผู้คัดค้าน ผู้ได้รับหรืออาจจะได้รับผลกระทบจากการชุมนุม และประชาคมที่อยู่รอบสถานที่ชุมนุม 

3.2 เนื้อหาการชุมนุม

  • สถานศึกษาพึงละเว้นจากการวางข้อจำกัดเกี่ยวกับเนื้อหาของการชุมนุม เว้นแต่เป็นกรณีที่การชุมนุมนั้นเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรง ใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือนำไปสู่การเข่นฆ่า
  • สถานศึกษาพึงระลึกว่าการแสดงออกทางการเมือง (political speech) ควรได้รับการคุ้มครองตามหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระดับที่สูงกว่ากรณีทั่วไป เป็นปรกติวิสัยที่การชุมนุมประท้วงจะย่อมมีคำที่ยั่วยุและท้าทายผู้มีอำนาจ

3.3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและหน้าที่ของผู้ชุมนุม

  • สถานศึกษาควรมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่มีวุฒิภาวะเป็นผู้ดูแลการชุมนุม
  • สถานศึกษาอาจพิจารณากำหนดหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมการชุมนุมตามที่ปรากฏใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะโดยอนุโลม

หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุม ได้แก่ 

     (1) ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบ

     (2) ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ตลอดจนดูแลและรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ชุมนุมที่กฎหมายกำหนด

     (3) แจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบถึงหน้าที่ของผู้ชุมนุมและเงื่อนไขหรือคำสั่งของผู้บริหารสถานศึกษา

     (4) ให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่สถานศึกษาที่ได้รับการมอบหมายให้ดูแลการชุมนุม

     (5) ไม่ยุยงส่งเสริมหรือชักจูงผู้ชุมนุมเพื่อให้ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด

     (6) ไม่ปราศรัยหรือจัดกิจกรรมในการชุมนุมโดยใช้เครื่องขยายเสียง อันเป็นการสร้างความรำคาญต่อผู้อื่นเกินสมควร

     (7) ไม่ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าเกินกว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด (สูงสุดไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ และค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ)

หน้าที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุม ได้แก่

     (1) ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทำให้ผู้อื่น

     (2) ได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร

     (3) ไม่ปิดบังหรืออำพรางตนโดยจงใจมิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง เว้นแต่เป็นการแต่งกายตามปกติประเพณี

     (4) ไม่พาอาวุธ ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืน หรือสิ่งที่อาจนำมาใช้ได้อย่างอาวุธ เข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีสิ่งนั้นติดตัวหรือไม่

     (5) ไม่บุกรุกหรือทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้ใช้การไม่ได้ตามปกติซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น 

     (6) ไม่ทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือเสรีภาพ

     (7) ไม่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้อื่น

     (8) ไม่ขัดขวางหรือกระทำการใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ

     (9) ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะ

4. การสังเกตการณ์และการบันทึกการชุมนุม

สถานศึกษาควรจัดให้มีการบันทึกการชุมนุมด้วยกล้องวงจรปิด หรือจากเจ้าหน้าที่สถานศึกษาเพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีหรือวินิจฉัยสิ่งผิดปรกติที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งเป็นการปรามผู้อาจก่อให้เกิดความไม่สงบในตัว 

สถานศึกษาพึงระลึกว่า ผู้ชุมนุมมีสิทธิบันทึกภาพและเสียงการชุมนุม รวมถึงบันทึกภาพเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการดูแลการชุมนุมด้วย

การเผยแพร่ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม ควรคำนึงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวและหลักการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล 

5. กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

สถานศึกษาพึงจัดให้มีแผนดำเนินการในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินจากการชุมนุมขึ้น 

สถานศึกษาอาจพิจารณาขอการสนับสนุนจากสถานีตำรวจหรือหน่วยพยาบาลในพื้นที่ โดยไม่เรียกค่าใช้จ่ายจากผู้จัดการชุมนุม

ภายใต้หลักสากล นักเรียน นิสิต นักศึกษา มีสิทธิพลเมืองไม่ต่างกับประชาชนทั่วไป สถานศึกษามีหน้าที่โดยตรงในการอบรมให้เยาวชนในสังกัดเป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย หน้าที่นี้ร่วมถึงการที่ส่งเสริมให้พวกเขาสามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้สอดคล้องกับหลักสากล ดังนั้นการที่สถานศึกษาไม่อนุญาตให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาใช้พื้นที่ในการชุมนุมก็เท่ากับว่าเป็นการผลักให้เยาวชนที่ต้องการจัดการชุมนุม (เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนต่อปัญหาสังคมและการเมือง) ให้ไปใช้พื้นที่สาธารณะอื่นซึ่งเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 การทำเช่นนี้อาจมองได้ว่าสถานศึกษามิได้ทำหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนให้เยาวชนเหล่านี้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพตามกรอบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย 

การไม่อนุญาตให้ใช้สถานศึกษาจัดกิจกรรมทางการเมืองด้วยเหตุผลว่า “โรงเรียนเป็นสถานที่ราชการไม่ควรเลือกข้าง” หรือ “ไม่ใช่ทุกคนในสถานศึกษาจะเห็นด้วยกับผู้จัด” เป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมที่นอกจากจะไม่มีฐานทางกฎหมายแล้ว ยังขัดต่อหลักสากลและขัดต่อบทบาทของสถานศึกษาในระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย 

การชุมนุมโดยสันติเพื่อแสดงจุดยืนหนึ่งๆ นั้นควรเป็นสิ่งปรกติที่เกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตย และการชุมนุมโดยสงบแม้จะประกอบด้วยเสียงข้างน้อยในสถานศึกษานั้นก็เป็นการใช้เสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ หากตั้งเงื่อนไขว่าต้องให้คนทุกคนในสถานศึกษาเห็นด้วยทั้งหมด การชุมนุมในสถานศึกษานั้นอาจเกิดขึ้นไม่ได้เลย ผู้เขียนเห็นว่า เงื่อนไขเช่นนี้ขัดต่อธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากทุกคนในสถานศึกษานั้นเห็นด้วยกับประเด็นหนึ่งๆ แล้ว คุณค่าของการชุมนุมในสถานศึกษานั้นก็จะมีน้ำหนักน้อยลงเป็นเพียงการตระหนักรู้ถึงฉันทามติในสถานศึกษาเท่านั้น 

สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอย้ำว่า สถานศึกษาควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม สถานศึกษาควรเป็นพื้นที่ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาสามารถลองผิดลองถูกในการใช้เสรีภาพของพวกเขาในระบอบประชาธิปไตย ในกรณีที่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ครู อาจารย์ และผู้บริหารสถาบันก็ควรที่จะใช้ความเมตตา กำกับดูแล แนะนำและส่งเสริมให้ลูกศิษย์ทั้งหลายใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้บริบทสังคมประชาธิปไตย ดังนั้นหากเราเข้าใจตรงกันว่าหน้าที่ของครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาคือการสร้างคนให้มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรม เพื่อที่ในวันข้างหน้าพวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศชาติ การสอนลูกศิษย์ให้เป็นพลเมืองที่ดีในสังคมประชาธิปไตยก็ควรจะเป็นเป้าหมายที่ครู อาจารย์ และผู้บริหารสถาบันการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวิชาการในห้องเรียน 


อ้างอิง

[1] Organisation for Security and Co-operation in Europe, Guidelines on Freedom of Peaceful Assembly (Second edn, ODIHR 2010) 23.

[2] Charles Tilly, Popular contention in Great Britain, 1758-1834 (Cambridge, Mass. ; London : Harvard University Press 1995) cited in Jack A Goldstone, More Social Movements or Fewer? Beyond Political Opportunity Structures to Relational Fields (Kluwer 2004), 342.

[3] คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.711/2555 (หน้า 44) วางหลักว่า เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพที่มีความสำคัญเพราะมีที่มาจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย เพราะการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นการถกเถียงกันด้วยสติปัญญาเพื่อนำมาซึ่งวิธีการแก้ปัญหาหรือยุติข้อขัดแย้งของสังคมในระบอบเสรีประชาธิปไตย การชุมนุมเป็นกลไกในการเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย แสดงออกซึ่งปัญหาและข้อเรียกร้องของประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ในสังคม ทั้งยังช่วยให้รัฐมองเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ชัดเจนขึ้นด้วย

[4] Charles Tilly, Regimes and Repertoires (University of Chicago Press 2006) 53, 183.  

[5] O. Salát, The Right to Freedom of Assembly: A Comparative Study (Bloomsbury Publishing 2015) 53.

[6] Human Rights Council, First Thematic Report of the Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association, Maina Kiai, (21 May 2012) UN Doc A/HRC/20/27, para 27; Organisation for Security and Co-operation in Europe (n 4), guideline 2.1, 15.  

[7] Christians against Racism and Fascism v The United Kingdom App no 8440/78 (ECHR, 16 July 1980).  

[8] Human Rights Committee, General Comment No.37 Article 21: Right to Peaceful Assembly, UN Doc CCPR/C/GC/37, para 18.

[9] Human Rights Committee, General Comment No.37 Article 21 : Right to Peaceful Assembly, UN Doc CCPR/C/GC/37, IV.

[10] General Comment 37, para 32.

ภาพถ่ายโดย กันต์ แสงทอง

 

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม