ที่นี่… ที่เดียว “ไพโรจน์ กัมพูสิริ”วิเคราะห์ กรณี”ฟิล์ม-แอนนี่” ผ่านกม.ครอบครัว

 

ถ้าพูดถึงข่าวทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ขณะนี้ คงหนีไม่พ้นข่าวของ "ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์" กับ "แอนนี่ บรู๊ค" และลูกน้อยของเธอ ซึ่งไม่ว่าผ่านไปซอกไหน ซอยไหน ก็หนีไม่พ้นที่จะถกเถียงกันชนิดออกรสออกชาด ในแง่ใครให้ข่าวถูกผิด ตรงไม่ตรงกันบ้าง แต่ในแง่ข้อกฎหมายและสิทธิต่างๆ ทั้งของคนเป็นแม่ ลูก และฝ่ายชาย มีมากน้อยแค่ไหน ให้ความคุ้มครองมากแค่ไหน ยังขาดการเน้นย้ำ
เพื่อเป็นการให้ความรู้ประชาชนผู้เสพข่าวนี้ ในแง่ข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ และเป็นอาหารสมอง กินแกล้มกับเมนูหลัก "มติชนออนไลน์" จึงได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายครอบครัว ศ.ดร.ไพโรจน์  กัมพูสิริ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาให้ข้อมูลในอีกแง่มุมหนึ่ง
ที่มาภาพ : Pink Sherbet Photography
อ.ไพโรจน์ กล่าวถึงสิทธิทั่วไปตามกฎหมายของฝ่ายหญิงและเด็ก ว่า เบื้องต้นนั้นทั้งผู้หญิงและผู้ชายไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ดังนั้น เด็กที่คลอดออกมาจึงไม่ได้เป็นบุตรตามกฎหมายของฝ่ายชาย ดังนั้น เด็กจึงไม่ใช่บุตรของฝ่ายชาย กฎหมายไม่ได้คุ้มครอง เด็กจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงดูหรือการอุปการะใดๆ จากฝ่ายชาย อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็เปิดทางให้เด็กได้เป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชายได้ 3 ทางด้วยกัน ดังนี้
1.ตัวฝ่ายหญิงและชายมาจดทะเบียนสมรสกัน
2.ตัว ฝ่ายชายดำเนินการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่สำนักงานเขต ซึ่งวิธีนี้ต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งฝ่ายหญิงด้วย แต่ในประเด็นนี้ไม่อาจทำให้เกิดความสัมพันธ์ในฐานะสามีภรรยาระหว่างฝ่ายหญิง และฝ่ายชายได้
3.ฝ่ายหญิงนำเรื่องฟ้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฝ่ายชายรับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายผู้ฟ้องหรือโจทก์นั้นจักต้องนำข้อเท็จจริงมายืนยันต่อศาลให้ได้ว่า เด็กคนนี้เกิดจากผู้ชายคนนี้จริง
สำหรับหลักฐานพยานที่จะนำยืนยันต่อศาลนั้นมีอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่
3.1.พิสูจน์ เรื่องของระยะเวลาในการตั้งครรภ์ โดยนับจากวันที่มีอะไรกันหรือวันที่มีเพศสัมพันธ์กัน หรือช่วงเวลาที่อยู่กินกัน หรือบางกรณีอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ได้ลักพาตัวไปกระทำการข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น
3.2.พยานเอกสาร ซึ่งอาจจะเป็นที่พ่อเด็กได้เขียนถึง เป็นจดหมายที่บรรยายว่าจะรับเด็กเป็นลูก หรือบรรยายความเอื้ออาทรห่วงใย ใส่ใจตัวเด็ก หรือแสดงเจตจำนงค์ยอมรับว่าเด็กเป็นลูก เป็นต้น หรือแม้แต่กรณีตัวของฝ่ายชายเป็นผู้ไปแจ้งเกิดเอง
3.3.พิจารณาจาก พฤติกรรมของฝ่ายชายที่แสดงออกต่อเด็ก เช่น ให้เด็กใช้ชื่อสกุล จ่ายค่าเล่าเรียนให้เด็ก หรือพาไปแนะนำต่อเพื่อนฝูง ลูกน้อง เจ้านาย เป็นต้น ซึ่งศาลจะนำไปใช้ประกอบดุลพินิจได้
ส่วนในเรื่องการตรวจ"ดีเอ็นเอ" นั้น จะ ต้องเป็นไปตามความยินยอมพร้อมใจของผู้เป็นแม่ว่าจะอนุญาตให้มีการตรวจหรือ ไม่ เนื่องจากว่าตัวเด็กนั้นเป็นของแม่ ฝ่ายชายยังไม่ถือว่ามีสิทธิชอบธรรมที่จะให้ใครไปตรวจดีเอ็นเอได้ เรียกได้ว่ากรณีนี้ถ้าแม่ไม่ยอมตรวจ ก็ปิดตาย ปิดฉากการตรวจดีเอ็นเอไปได้เลย เพียงแต่ว่าอาจจะเกิดข้อกังขาในทางสังคม แต่ในแง่กฎหมายไม่อาจใช้อำนาจใดมาบังคับได้
อย่างไรก็ตาม หากต้องการตรวจดีเอ็นเอจริง แนะนำให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ 2 ก่อน คือยื่นเรื่องขอรับเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายก่อน เมื่อได้สิทธินั้นมาแล้ว จึงค่อยดำเนินการตรวจดีเอ็นเอ และเมื่อได้สิทธิดูแลบุตรแล้ว หากพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ลูกของตน ก็ยังสามารถยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อฟ้องปฏิเสธความเป็นพ่อได้อีกเช่นกัน
ส่วนในกรณีของการฟ้องร้องต่อศาลเลยนั้น (วิธีที่3) คือผู้เป็นพ่อฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นพ่อเด็กโดยชอบด้วยกฎหมาย พร้อมกับยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการพิสูจน์ทางดีเอ็นเอได้
"หากแต่กรณีที่ฝ่ายหญิงไม่ยินยอม บ่ายเบี่ยงตลอดเวลา ไม่ต้องการให้เด็กได้รับการตรวจดีเอ็นเอ ศาลท่านก็จะใช้ดุลพินิจเองว่าคดีนี้มีพิรุธยังไง เหตุใดเมื่อฝ่ายชายต้องการรับผิดชอบตัวเด็ก ผู้หญิงถีงไม่ยอมรับ"
อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่ที่แม่เด็กโมโหพ่อเด็กมากที่ตอนท้องไม่ดูแล แต่พอคลอดแล้วอยากจะแสดงตัวเป็นพ่อและรับอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งฝ่ายแม่ก็ไม่ต้องการให้พ่อเข้ามายุ่งวุ่นวาย ต้องการเลี้ยงคนเดียวอย่างนี้ก็มี โดยคดีนี้เมื่อศาลมีคำสั่งให้เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชายแล้ว ผู้เป็นแม่ก็สามารถทำเรื่องร้องต่อศาลขอไม่ให้บุตรอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของ พ่อ โดยอำนาจการปกครองนั้นขอให้อยู่กับแม่เพียงผู้เดียว ซึ่งตรงจุดนี้จะทำให้แม่ได้รับสิทธิในการเลี้ยงดูและตัดสินใจทุกอย่างทุก เรื่องเกี่ยวกับตัวลูกได้ โดยที่ไม่ขาดสิทธิของการรับเงินอุปการะเลี้ยงดูจากฝ่ายพ่อ
"แต่กับเคสนี้ (ฟิล์มและแอนนี่) เห็นว่าแม่เด็กน่าจะทำความจริงให้ปรากฏ เพราะไม่อย่างนั้นก็รังแต่จะทำให้ตัวเองและฝ่ายชายเสียหาย และถ้ายิ่งปล่อยให้มันค้างคาใจสังคมต่อไป ต้องนึกถึงจิตใจเด็กด้วยว่า โตขึ้นเค้าอาจจะมีปมด้อยได้ กลายเป็นปมในจิตใจติดตัวเด็กตลอดเวลา ขอแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายทำความจริงให้ปรากฏต่อสังคมดีกว่า ที่สำคัญคืออย่าลืมนึกถึงจิตใจเด็กเป็นสำคัญ"นี่คือสิ่งที่ อ.ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้