รัฐธรรมนูญในฝัน: ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ยั่งยืน

Small Teen Small Voice
ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการประกวดข้อเสนอรัฐธรรมนูญในฝันประเภทเรียงความระดับมัธยมศึกษา
ถ้าหากย้อนกลับไปใน พ.ศ.2547 ปีที่ผมเกิดมา ในยุคของที่ใครต่อใครก็บอกว่าเป็นยุคของรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด มีความเป็นประชาธิปไตยสูงที่สุด เกิดจากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 แต่ด้วยปัญหาทางการเมืองทำให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดอยู่กับผมเพียงแค่ 2 ปี ก็เกิดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 และมีวิกฤตการณ์ทางการเมือง การแบ่งพรรคแบ่งพวกสงครามสีเสื้อ แม้จะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่มาจากการร่างของสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้ดีเหมือนกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ถูกฉีกไปโดยคณะรัฐประหาร ความไม่สงบต่างๆส่งผลให้เกิดรัฐประหารอีกครั้งใน พ.ศ.2557 และมีการฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ผ่านมาอีกไม่กี่ปี ก็มีรัฐธรรมนูญที่มีข้อกังขามากประกาศใช้ออกมาใน พ.ศ.2560 
ชีวิต 15 ปี ของผม จึงมีรัฐธรรมนูญถึง 5 ฉบับและรัฐประหาร 2 ครั้ง เป็นช่วงชีวิตที่มีความเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนจริงๆ นอกจากจำนวนรัฐธรรมนูญที่มากแล้วนั้น แทนที่การพัฒนาทางด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนจะมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงมันกลับลดลงอย่างไม่น่าเชื่อตามหลักนิติธรรมแล้วนั้นรัฐจะต้องกำหนดหลักประกันทางสิทธิเสรีภาพให้ กับประชาชน นั้นก็คือการมีรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพต่างๆ ของประชาชน รัฐต้องให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอยู่ในหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญ และยังมีสอดแทรกอยู่ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐและ หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งมีความทับซ้อนกัน ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นควรที่จะรวมทั้งสามหมวดเข้าไว้ด้วยกันและเพิ่มมาตราที่ระบุให้รัฐต้องพิทักษ์ไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กิจการใดๆ ของรัฐจะขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมิได้ รวมถึงกำหนดข้อยกเว้นให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างที่กว้างซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการตีความกฎหมายที่ไม่ตรงไปตรงมาได้ เช่น การระบุนิยามของคำว่า “ความมั่นคงของรัฐ”, “เกินสมควรแก่เหตุ”, “เท่าที่จำเป็น” หรือ “ความสงบเรียบร้อยของประชาชน” เนื่องจากคำเหล่านี้สามารถที่จะตีความได้หลากหลายและกว้าง ทำให้หลายครั้งเกิดการตีความที่กระทบต่อสิทธิของประชาชนอันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม ดังนั้น จึงควรเพิ่มบทบัญญัติที่ชัดเจนมากขึ้น
องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนของปวงชนไทยคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจหน้าที่ ตรวจสอบ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอแนะแนวทางด้านสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น 7 คน แม้จะเป็นองค์อิสระแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบและวินิจฉัยเองได้ คณะกรรมการชุดนี้เปรียบเสมือนเป็นกรรมการ ผู้ให้ข้อมูลและเสนอแนะเท่านั้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนนั้น ต้องมีการปรับบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้มีอำนาจมากขึ้น สามารถยับยั้งกฎหมายที่อาจขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยหลังจากร่างผ่านวุฒิสภาแล้วนั้นให้ มีการส่งร่างมาที่คณะกรรมการฯ เพื่อตรวจสอบการริดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก่อนที่จะนำส่งให้ คณะรัฐมนตรีและนำขึ้นทูลเกล้าต่อไป
ระบบนี้จะทำให้มีการตรวจสอบที่มากขึ้นและสามารถยับยั้งก่อนประกาศใช้ได้ให้เกิดเป็นระบบป้องกัน ไม่ใช่ระบบแก้ไขอาจนำหลักเกณฑ์และวิธีดังกล่าวบังคับใช้กับพระราชกฤษฎีกาและกฏกระทรวงได้ด้วย อีกประการหนึ่ง หากจะมีการเพิ่มอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น กระบวนการสรรหาต้องยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นโดยอาจนำระบบการรับรองแบบที่ใช้ในรัฐสภามาปรับรูปแบบให้สามารถใช้กับการเสนอชื่อเป็นกรรมการฯ โดยเมื่อมีการยื่นใบสมัครต่อคณะกรรมการสรรหาแล้ว นั้นให้มีการเปิดเผยประวัติ ข้อมูลทางวิชาการ ตำแหน่งที่เคยปฏิบัติหน้าที่ และข้อมูลอื่นๆ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบร่วมด้วย เมื่อประชาชนเห็นว่าผู้สมัครคนใดมีคุณสมบัติที่เหมาะสมให้ทำการรับรองโดยใช้บัตรประชาชนซึ่งอาจทำผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่ถูกเข้ารหัสเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลและทำผ่านหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ ควบคู่กันไปด้วย โดยกำหนดหลักเกณฑ์ว่าผู้สมัครต้องได้รับเสียงรับรองจากประชาชนมากกว่า 50,000 คน ซึ่งตัวเลขอาจปรับเพิ่มหรือลดได้ตามที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น และหากเห็นว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมให้ระบุความไม่เหมาะสมและลงชื่อคัดค้าน 
หากมีผู้คัดค้านเกินกว่า 20% ของจำนวนเสียงรับรองที่ได้รับให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติซ้ำตามที่มีประชาชนคัดค้านและลงนามรับรองผู้สมัคร ถ้าหากมีการร้องเรียนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครในภายหลังแล้วปรากฎมูลเหตุที่ขัดต่อกฎหมายจริง คณะกรรมการสรรหาจะต้องถูกสอบสวนฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลังจากได้รายชื่อผู้สมัครแล้วให้คัดเลือกจนเหลือ 1 ใน 10 ของผู้สมัครและให้ประชาชนได้ลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 7 อันดับจะเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนำรายชื่อแบบเรียงลำดับคะแนนมาเป็นรายชื่อสำรอง อาจมีการนำหลักการคัดเลือกรูปแบบนี้บังคับใช้กับการคัดเลือกกรรมการในองค์กรอิสระอื่นๆ
เพื่อให้เป็นระบบที่ยึดโยงกับประชาชน มิใช่การได้รับการรับรองจากฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่เป็นกลางทางการเมืองได้ นอกจากการยึดโยงกับประชาชนของทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ รวมไปถึงองค์กรอิสระแล้วนั้น เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง ตามหลักของประชาธิปไตยนั้นประชาชนต้องสามารถเข้าชื่อเพื่อถอดถอนองค์กรทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สมาชิกรัฐสภา ศาล หรือองค์กรอิสระ เพื่อให้ประชาชนเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่จะเข้าไปตรวจสอบการใช้ อำนาจของผู้มีอำนาจอย่างแท้ จริง โดยในการเสนอถอดถอนให้เสนอต่อองค์กรอื่นแล้วต้องมีการตั้งกรรมการร่วมกันขององค์กรต่างๆ ไม่ยึดการตัดสินใจไว้ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมหรือมีมุมมองที่ไม่รอบด้านได้ โดยในคณะกรรมการร่วมกันเพื่อพิจารณาถอดถอนองค์กรนั้น 
ให้กำหนดสัดส่วนของกรรมการอย่างเท่าเทียมกันคือตัวแทนคณะรัฐมนตรี ตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา ตัวแทนผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ตัวแทนตุลาการศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ตัวแทนองค์กรอิสระทั้งหมด และตัวแทนภาคประชาชน ในจำนวนที่เท่ากันและอาจมีตัวแทนจากส่วนราชการที่มีความเกี่ยวข้องเข้ามาด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกระบวนการตรวจสอบจากทุกองค์กรไม่ยึดติดด้วยการตรวจสอบจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งแต่เพื่อป้องกันการใช้อำนาจที่อาจมากเกินไปของคณะกรรมการชุดนี้ จำเป็นต้องมีกระบวนการตรวจสอบและการอุทธรณ์ที่เป็นธรรมโดยต้องมีการส่งผลการตัดสินไปยังทุกองค์กรเพื่อตรวจสอบการถอดถอนอีกครั้งหากมีความเห็นเป็นอื่นให้สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรนั้นๆ เพื่อเกิดการตรวจสอบแบบสอดประสาน หลายขั้นตอนจนเป็นที่เชื่อได้ว่าการตัดสินนั้นเที่ยงธรรมที่สุด
นอกจากการควบคุมตรวจสอบต่างๆ แล้วนั้นกระบวนการทางนิติบัญญัติก็เป็นกระบวนการที่สำคัญในฐานะของผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น ผมเห็นว่าประเทศไทยแม้สภาเด็กและเยาวชนแต่บทบาทของเด็กและเยาวชนในสังคมไทยน้อยมาก ทั้งๆ ที่ ก็เป็นประชากรกลุ่มหนึ่งของสังคมเพียงเพราะค่านิยมที่ว่าเป็นแค่เด็กไม่ต้องสนใจเรื่องอื่นตั้งใจเรียนก็พอ กลายเป็นกรอบที่ขวางกั้นความเห็นของเด็กและเยาวชน หลายครั้งนโยบายต่างๆของภาครัฐที่ออกมาบังคับใช้กับกลุ่มคนเหล่านั้นกลับไม่ได้มีกลุ่มคนเหล่านั้นเข้าไปมีความเห็น
ดังนั้น เพื่อเพิ่มบทบาทของเด็กและเยาวชนจึงควรมีบทบัญญัติที่ให้สิทธิของสภาเด็กและเยาวชนในทางการนำเสนอนโยบายอาจรวมไปถึงการเสนอกฎหมายต่อสภาด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สภาที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ทำกิจกรรมทั่วไปในชุมชน ต้องมีบทบัญญัติที่ให้สภาเด็กและเยาวชนมีรูปแบบการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม สามารถเสนอกฎหมายในนามของสภาเด็กและเยาวชนได้ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาจากโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ นอกจากที่เด็กและเยาวชนจะเข้าไปมีบทบาทในสังคมมากขึ้นแล้วการผลักดันให้สภาเด็กและเยาวชนอยู่ในรัฐธรรมนูญยังเป็นการสร้างค่านิยมให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ ก็เป็นสมาชิกในสังคมมีสิทธิ เสรีภาพ มีปากมีเสียงสามารถขับเคลื่อนสังคมร่วมกับผู้ใหญ่ได้ และยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ สังคมประชาธิปไตยจากการลงมือปฏิบัติมิใช่การเรียนในห้องเรียนเท่านั้น 
เมื่อเด็กได้เรียนรู้หลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้วนั้นการพัฒนาประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะไม่ใช่เรื่องยากเพราะมีการปลูกฝังอย่างเป็นขั้นตอนผ่านกระบวนการลงมือทำ เด็กและเยาวชนต้องไม่ถูกกำหนดกรอบโดยผู้ใหญ่เพียงกลุ่มเดียว แต่พวกเขาต้องมีสิทธิในการคิดและเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดแนวทางของตนเองด้วยมือของตนเอง 
นอกจากสภาเด็กและเยาวชนแล้วนั้น สภาวิชาชีพยังเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ควรได้รับสิทธิ์และถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเราไม่มีทางที่จะมีผู้ที่เชี่ยวชาญในทุกแขนงอาชีพ ในหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนในการออกนโยบายหรือกฎหมาย ดังนั้นการเพิ่มบทบาทของสภาวิชาชีพจะเป็นการให้สิทธิและเพิ่มโอกาสของสมาชิกแต่ละวิชาชีพให้สามารถมีส่วนร่วมในการวางแนวนโยบายร่วมกับฝ่ายบริหารหรือร่วมในการพิจารณากฎหมายในชั้นกรรมาธิการร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้สามารถดำเนินการแล้วเกิดการประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพสูง
โดยหลักการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสภาวิชาชีพและฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัตินั้น รัฐธรรมนูญจำเป็นที่จะต้องมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจกับสภาวิชาชีพ ในด้านนิติบัญญัตินั้นต้องเพิ่มข้อความที่ให้มีสัดส่วนของสภาวิชาชีพในคณะกรรมาธิการซึ่งพิจารณากฎหมายใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยให้อำนาจประธานสภาในการพิจารณาว่ากฎหมายใดเกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพใดและให้สภาวิชาชีพนั้นเสนอบุคคลเพื่อเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนสภาวิชาชีพ และในส่วนของฝ่ายบริหารหรือก็คือการออกนโยบายต่างๆนั้นให้ มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันของฝ่ายการเมืองและสภาวิชาชีพเพื่อให้ เกิดกระบวนการทำงานร่วมกัน รับฟังความเห็นจากตัวแทนวิชาชีพนั้นๆ มีการสะท้อนปัญหาจากผู้ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานจริง ไม่ใช่การออกนโยบายโดยผู้ที่ไม่ได้เคยปฏิบัติงานจริง รู้ปัญหาอย่างไม่ถ่องแท้ ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาจากนโยบายที่ออกมาแต่กลับเป็นการเพิ่มปัญหาให้ กับผู้ปฏิบัติงาน
เพื่อให้การดำเนินการเหล่านี้ เกิดขึ้นจำเป็นที่จะต้องรับรองสิทธิและอำนาจของสภาวิชาชีพไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นข้อกำหนดให้กับภาครัฐที่จะนำสภาวิชาชีพเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและออกนโยบายที่สอดรับกับสภาพความเป็นจริง สามารถยกระดับสิทธิและสวัสดิการ รวมทั้งการปกป้องไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่ทำงานจริง
สุดท้ายนี้ ในฐานะของเยาวชนที่สนในในการเมือง อยากเห็นประเทศพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นไม่ติดอยู่ในวังวนของการรัฐประหารยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ วนเป็นวัฏจักรเนื้อร้ายในการพัฒนาประเทศ การพัฒนาสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไม่ใช่เส้นชัยของการพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น ไม่ใช่ความสำเร็จในการยกระดับสิทธิมนุษยชนในประเทศ แต่เป็นเพียงหมุดตัวแรกเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเท่านั้น ประเทศเรายังคงต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคล ปฏิรูปการทำงานของหน่วยงานภาครัฐให้เกิดการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นและภาคเอกชนและภาคประชาชนมากขึ้น 
ปฏิรูปกฎหมายให้ลดช่องว่างช่องโหว่เพื่อนำไปสู่การยุติวงจรรัฐประหาร หากเราสามารถยกระดับทั้งหมดเมื่อนั้นประเทศเราก็คงสามารถใช้คำว่าประเทศพัฒนาแล้วได้ แต่ด้วยความหอมหวนของอำนาจทำให้ผู้มีอำนาจไม่สนใจสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ริดรอนสิทธิของประชาชนโดยใช้ข้ออ้างด้านความมั่นคง ถ้าหากผู้มีอำนาจยังมีทัศนคติแบบนี้ รัฐธรรมนูญที่ดีคงเป็นได้แค่รัฐธรรมนูญในฝันที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง กระแสสังคมเท่านั้นที่จะกดดันผู้มีอำนาจให้ยอมสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนทั้งประเทศ
เสียงของผมที่เป็นเพียงเยาวชนคนหนึ่งคงไม่ดังพอที่จะส่งไปถึงผู้มีอำนาจแต่ถ้าเสียงของทุกคนร่วมกันส่งเสียงร้องไปถึงผู้มีอำนาจ การขับเคลื่อนประเทศก็คงเกิดได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ใช่รัฐธรรมนูญในฝันอีก ต่อไปและประชาชนคนไทยจะมีสิทธิพลเมือง ได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน ได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน สามารถพัฒนาให้เท่าทันโลกได้ร่วมกันส่งเสียงไปให้ถึงผู้มีอำนาจ คืนอำนาจให้ประชาชน ก้าวไปด้วยกันร่วมกันสร้างประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม