หัวหน้าคสช. ใช้ “มาตรา 44” ยกเลิกกฎหมายพิเศษในยุคคสช. อย่างน้อย 61 ฉบับ ตามบัญชีแนบท้าย

9 กรกฎาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษาประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 โดยมีผลให้ยกเลิกคำสั่งคสช. อย่างน้อย 29 ฉบับ ประกาศคสช. อย่างน้อย 28 ฉบับ และยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. อย่างน้อย 4 ฉบับ โดยประกาศและคำสั่งคสช. เรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ การย้ายคดีตามประกาศและคำสั่งคสช. รวมถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารไปอยู่ในศาลยุติธรรม และการยกเลิกประกาศคสช. ที่เกี่ยวข้องกับการปิดกั้นและแทรกแซงสื่อ
อย่างไรก็ดี คำสั่งดังกล่าวคาดว่าจะเป็นคำสั่งคสช. ฉบับสุดท้าย ตามที่ 'วิษณุ เครืองาม' รองนายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในช่วงเช้าของวันนี้ ก่อนที่จะมีการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เนื่องจาก ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดว่า ให้คสช. ที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
หรือหมายความ ทันทีที่ ครม. ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ คสช. ก็มีอันต้องสิ้นสภาพไป และไม่สามารถใช้อำนาจพิเศษอย่าง "มาตรา 44" ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ได้อีกต่อไป 
ตลอดห้าปีที่ผ่านมา คสช. ออกประกาศและคำสั่งหัวหน้าคสช. อย่างน้อย 345 ฉบับ และใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. อย่างน้อย 209 ฉบับ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 554 ฉบับ ซึ่งพอจะแบ่งออกเป็นหัวข้อหลักๆ ได้ 6 อย่างดังนี้
(1) การจำกัดสิทธิเสรีภาพ 
หลังการรัฐประหาร คสช. และหัวหน้าคสช. มีการออกคำสั่งเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามชุมนุมทางการเมือง การควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ และการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยกองทัพ และการแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
ยกตัวอย่างเช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ที่ถูกนำมาใช้แทนกฎอัยการศึก โดยให้ทหารมีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวและคุมขังได้เจ็ดวัน ให้เจ้าหน้าที่ทหารมีส่วนร่วมในการสอบสวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงสั่งห้ามประชาชนห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แม้ว่าในปัจจุบัน เรื่องห้ามชุมนุมจะมีการยกเลิกไปแล้ว แต่ในช่วงที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็มีคนถูกตั้งข้อหานี้แล้วอย่างน้อย 421 คน รวมถึงมีคนที่ถูกควบคุมตัวหรือข่มขูคุกคามอย่างน้อย 1,501 คน (ถูกเรียกรายงานตัวและควบคุมตัวในค่ายทหารอย่างน้อย 929 คน)
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ประกาศที่ 97/2557 กับ 108/2557 ที่ให้อำนาจ กสทช. กำกับและควบคุม รวมถึงลงโทษสื่อมวลชนจากการนำเสนอเนื้อหาในประเด็นทางการเมือง อย่างน้อย 59 ครั้ง
(2) การขยายอำนาจรัฐราชการ 
หลังการรัฐประหาร คสช. และหัวหน้าคสช. มีการออกคำสั่งขยายอำนาจรัฐไม่ว่าจะเป็นการแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้กับรัฐ หรือ การตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา แต่ทว่า กลไกต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นล้วนรวมศูนย์อยู่ที่ "ระบบราชการ" ยกตัวอย่างเช่น คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 13/2559 ที่ขยายอำนาจให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาทำหน้าที่แทนตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม ควบคุมตัว ร่วมสอบสวนกับตำรวจ โดยกำหนดฐานการกระทำความผิดที่ให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจได้ถึง 27 ประเภท 
หรือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 51/2560 เพิ่มบทบาทหน้าที่ให้กับ กอ.รมน. เช่น "ติดตาม ตรวจสอบ ประสานงาน และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป" และให้มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ และกำลังคนของตัวเอง และมีมีคณะกรรมการระดับภาคและจังหวัดโดยมีทหารคุมข้าราชการอีกที
นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 27/2558 เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน” (Command Center for Resolving Civil Aviation Issues : CRCA) หรือ ศบปพ. เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับ หัวหน้า คสช. โดยมีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการ หรือ คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 10/2558 เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย” (ศปมผ.)โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการ ศปมผ. 
(3) แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น
หลังการรัฐประหาร คสช. และหัวหน้าคสช. มีการออกคำสั่งแทรกแซงการแทรกแซงกลไกรัฐและการเมืองท้องถิ่น ผ่านการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ รวมถึงการไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นและปลดหรือโยกย้ายนักการเมืองท้องถิ่น
โดยการแต่งตั้ง โยกย้าย ปลด หรือระงับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนหนึ่งเป็นการแต่งตั้งคนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งมีภารกิจสำคัญที่ คสช. ให้ความสนใจ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 12/2560 สั่งให้ พนม ศรศิลป์ พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และให้พ.ต.ท.พงศ์พร พรามหมณ์เสน่ห์ กรมสอบสวนคดีพิเศษมาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งคำสั่งนี้ออกมาในช่วงที่ คสช. พยายามเข้าปราบปรามวัดพระธรรมกาย และจับกุมพระธัมมชโย 
นอกจากนี้ ในการใช้มาตรา 44 ระงับการทำงานของนักการเมืองท้องถิ่นยังเชื่อมโยงกับกรณีที่กลุ่มนักการเมืองที่หันมาสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ เช่น สถิรพร นาคสุข นายก อบจ.ยโสธร ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 19/2558 และได้รับการคืนตำแหน่งนายก อบจ.ยโสธร เมื่อปี 2561 โดยพบว่า สถิรพร นาคสุข นั้นได้สนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ในจังหวัดยโสธร
(4) การอำนวยความสะดวกและเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน 
หลังการรัฐประหาร คสช. และหัวหน้าคสช. มีการออกคำสั่งเพื่ออำนวยความสะดวกและเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขมาตรการป้องกันและคุ้มครองของประชาชน โดยอ้างเรื่องความไม่สะดวกสบายของกลุ่มทุน หรือการลดหย่อนหรือการเข้าช่วยเหลือด้านการเงินแก่กลุ่มผู้ประกอบการคลื่นความถี่
ยกตัวอย่างเช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ไม่มีมาตรการในการคุ้มครองผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน และทำให้บางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรถูกใช้เพื่ออุตสาหกรรม รวมถึงการเปิดทางให้กับอุตสาหกรรมการจำกัดขยะซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนนั้นๆ เป็นต้น
สำหรับกลุ่มทุนคลื่นความถี่ มีการใช้คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2562 ในการยืดระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่นความถี่ 4G โดยไม่มีการคิดดอกเบี้ย รวมประมาณ 19,800 บาท เมื่อคำนวณดูแล้วจะพบว่า True จะได้ผลประโยชน์ไป 8,800 ล้านบาท AIS 8,400 ล้านบาท และ DTAC 2,600 ล้านบาท
หรือการให้บรรดาผู้ขอใบอนุญาตทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตได้ โดยรัฐจะอุ้มทีวีดิจิทัล ประมาณ 31,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย การเข้าไปอุ้มทีวีดิจิทัลจำนวน 7 ช่องที่จะขอเลิกกิจการ 3,000 ล้านบาท ในขณะที่อีก 15 ช่องที่ยังเดินหน้าต่อ ก็จะได้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมอนุญาตอีกประมาณ 9,700 ล้านบาท รวมถึงเงินสนับสนุนค่าโครงข่าย (MUX หรือ Multiplexer) อีกประมาณ 18,000 ล้านบาท
(5) การแทรกแซงองค์กรอิสระ
หลังรัฐประหาร คสช. และหัวหน้าคสช. มีการออกคำสั่งแทรกแซงการแต่งตั้งองค์กรอิสระ อย่างน้อย 13 ฉบับ โดยเข้าไปแทรกแซงทั้งในกระบวนการสรรหาแต่งตั้ง ต่ออายุ รวมถึงสั่งปลดคนในองค์กรอิสระ
ยกตัวอย่าง เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2558 ที่กำหนดให้ประธาน สนช. และรองนายกรัฐมนตรี เข้าเป็นกรรมการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ กรณี "ศาลรัฐธรรมนูญ" คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ต่ออายุให้ตุลาการจำนวน 5 คน ให้ยังทำงานต่อไปจนกว่าจะมีการเรียกประชุมสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง 
(6) การแทรกแซงการเลือกตั้ง 
ก่อนการเลือกตั้ง หัวหน้าคสช. ใช้มาตรา 44 อย่างน้อย 3 ฉบับ เพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งกระบวนการก่อนการเลือกตั้ง โดยมีนัยยะของการเอื้อผลประโยชน์ทางการเมืองให้กับคสช. รวมถึงการสร้างภาระและข้อจำกัดให้กับบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ 
ยกตัวอย่างเช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่อนุญาตให้เฉพาะพรรคการเมืองใหม่ทำกิจกรรมทางการเมืองได้และให้พรรคการเมืองเก่าต้องยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคกับพรรคการเมืองใหม่อีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้พรรคการเมืองเก่าถูกลดจำนวนสมาชิกพรรค 
หรืออย่างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ที่ห้ามให้พรรคการเมืองหาเสียงออนไลน์จนกว่าจะคสช. จะอนุญาตให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ ส่วนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับสุดท้ายที่เปลี่ยนกติกาการเลือกตั้ง คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 ที่ให้คสช. สั่ง กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ได้ หาก คสช. หรือ รัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียน