ชวนอ่านสามข้อทำนายความล้มเหลวของระบบเลือกกันเองของสว. 67 

27 มีนาคม 2567 เวลา 17.50 น. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมกับคณะกรรมการนักศึกษาคณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (LL.B.) จัดเสวนาในหัวข้อ “กระบวนการเลือก สว. ชุดใหม่: ที่มา การทำงาน และความสำคัญ” 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ระบุว่า มีสามประเด็นที่จะชี้ว่า ระบบเลือกสว.รอบนี้ล้มเหลวแน่นอนและไม่ได้ตัวแทนที่ดีแน่นอน ได้แก่ หนึ่ง การยังไม่มีวันที่เลือกกันเองที่แน่นอน ทำให้ผู้สมัครไม่สามารถวางกรอบเวลาสำหรับการเตรียมตัวเลือกได้ในแต่ละครั้งและทำให้วันจริงอาจจะส่งผลต่อผู้สมัครไม่สามารถไปร่วมกระบวนการเลือกกันเองได้ สอง การแบ่งกลุ่มอาชีพที่บางกลุ่มมีการรวมหลากหลายอาชีพและทำให้ผู้เลือกและผู้ถูกเลือกอาจไม่ได้สะท้อนความเชี่ยวชาญในกลุ่มนั้นจริงๆ และสาม วิธีการเลือกกันเองที่จะไม่สะท้อนความเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพ หรือแม้กระทั่งระดับพื้นที่ รายละเอียดดังต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง การกำหนดวันการเลือกกันเองของ สว. 

จนถึงวันนี้ (27 มีนาคม 2567) ยังไม่มีกำหนดวันที่แน่ชัดในการเลือกสว. 2567 ที่ผ่านมาเป็นประมาณไทม์ไลน์การเลือกเอาเอง ในการเลือกตั้งสส. กกต.ประกาศวันเลือกตั้งให้ประชาชนทราบประมาณสองสามเดือน แต่มีการพูดคุยกันล่วงหน้าให้คาดเดาได้ เขามองว่า อย่างน้อยในกระบวนการจะต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อยสามเดือนเพื่อให้ประชาชนเตรียมวันว่าง แต่การเลือกกันเองของสว.ชุดใหม่นี้เหลือเวลาเพียงประมาณหนึ่งเดือนแต่ยังไม่ทราบวันเลือกที่แน่ชัด

“ทุกครั้งที่ผมเดินไปหาพี่ๆว่า เตรียมไปเลือกสว.กันไปสมัครจะได้เลือก พี่เขาจะถามว่าวันไหนผมก็จะเดาว่าถ้าอ่านตามกฎหมายเดาๆมันก็อาจจะเป็น 22 มิถุนาก็ได้ วันก่อนอาจารย์สมชัยก็บอกผมว่า 22 มันวันเสาร์กกต.ไม่ทำหรอก มันต้องทำวันอาทิตย์อาจจะเป็น 23 ก็ได้ ก็ไม่รู้หรืออาจจะเป็นก่อนหน้านั้น…เป็น 15 หรือ 16 ตามกฎหมายยังทำได้คือตอนนี้ไม่รู้ ทั้งหมดทั้งปวงขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลคุณเศรษฐาจะออกพระราชกฤษฎีกาตรงเวลาหรือเปล่า ถ้าตรงก็เป็น 15 16 22 23 สี่วันนี้วันใดวันหนึ่ง แต่ถ้าออกพระราชกฤษฎีกาช้าก็เลื่อนไปอีก”

“ดังนั้นผมเชื่อว่ามีคนที่ตั้งใจจะสมัครอย่างน้อยๆ หนึ่งในสาม หนึ่งในสี่ที่ถึงวันจะไม่ว่าง จึงมาบอกวันนี้ว่า ถ้าท่านตั้งใจสมัครจริงๆทำตัวให้ว่างหลายวัน ทำตัวให้ว่างทั้งเดือนเลยมิถุนาฯ กรกฎาฯ มันต้องว่างทั้งเดือนเลย…เพราะฉะนั้นแบบต้องเตรียมตัวให้ว่างทุกวัน ผมกำลังขอทุกคนเยอะมากที่ต้องเตรียมตัวให้ว่างทุกวันที่มันจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนาฯ กรกฎาคมนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก”

ประเด็นที่สอง การแบ่งกลุ่มอาชีพ 

“กลุ่มทำนาทำไร่อยู่ด้วยกัน กลุ่มทำสวนประมงเลี้ยงสัตว์อยู่ด้วยกัน คิดเร็วๆ คิดแบบกูไม่เคยทำเกษตร ก็ได้นะ คิดแบบคนไม่เคยทำเกษตรไง คุณมีชัยเขาจะเคยทำเกษตรนะผมไม่แน่ใจแต่เอาเป็นว่า คนทำเกษตรมันไม่มีใครปลูกอย่างเดียวมันมีน้อยคนมากที่มันปลูกอย่างเดียวเราก็ไม่ส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว แล้วถ้าคนที่เขาปลูกไร่อ้อยแล้วก็ทำสวนมะม่วงอยู่ข้างกันแล้วเขาจะลงอันไหน ที่ผมได้รับคำถามที่น่าสนใจสองอันมีคนนึงเขาทำฟาร์มเห็ด ฟาร์มเห็ดลงอันไหนไม่รู้แล้วก็มีคนนึงเขาเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเอาปุ๋ย ไปปลูกผัก แล้วเลี้ยงไส้เดือนเนี่ยมันเลี้ยงสัตว์ แต่ว่าเป้าหมายคือไม่ได้เอาไส้เดือน เป้าหมายคือจะเอาดินปุ๋ยไปขายเพื่อเอาไปปลูกผัก ไปไม่เป็นแล้วตอบไม่ได้คือมันมีอาชีพที่มันไม่รู้ว่ามันจะจัดยังไงเยอะมาก”

“แล้วก็ทุกอาชีพถ้าคุณอยากลงกลุ่มไหนคุณก็เดินไปแล้วคุณบอกกกต. จะลงกลุ่มนี้มีคนมารับรองหนึ่งคนก็ลงได้แล้ว ดังนั้นมันจะมีความยืดหยุ่นสูงมาก อย่างที่คุณช่อใช้คำว่าตกลงแล้วมีแค่ 20 กลุ่มอาชีพหรือไม่ใช่หรอก เรามีเป็นพันๆอาชีพแหละ แต่ว่าแต่ละคนก็จะนิยามว่าตัวเองจะเข้ากลุ่มไหน ทีนี้พอหนึ่งกลุ่มมันมิกซ์ มันใครไม่รู้มันมันทำงานอะไรบ้างที่มันรวมกัน คราวนี้คุณจะโหวตยังไง โหวตแล้วเราจะรู้ไหมว่าไอ้หมอนี่มันทำงานเป็น ทำงานไม่เป็นไม่รู้ มันก็จะโหวตมั่วซั่ว”

“…กลุ่มอาชีพอิสระฟังดูดีคือ ฟรีแลนซ์ก็มาอยู่ด้วยกัน ฟรีแลนซ์มันทำทุกอย่างเลยคือทุกอย่างที่ที่ไม่มีสังกัด คือเป็นฟรีแลนซ์…บางคนเขาฟรีแลนซ์เขารับจ้างเข็นผัก บางคนเขาก็รับจ้างทาสีบ้านแล้วพวกนี้ทำงานมันเกี่ยวอะไรแล้วพอมานั่งรวมกัน คุณเลือกกันเอง คุณจะเลือกยังไง เพราะแต่ละคนมันมีความรู้มีประสบการณ์ชีวิตมันไม่เหมือนกันคือกลุ่มฟรีแลนซ์ นี่ก็คือกลุ่มที่เละ น่ากังวลมาก”

ประเด็นที่สาม วิธีการเลือกกันเองที่ไม่สะท้อนความเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพ

เขาอธิบายการเลือกกันเองในระดับอำเภอ ขั้นแรกจะเลือกกันในกลุ่มอาชีพเดียวกันเลือกให้ได้ห้าคน จากนั้นคนที่ผ่านเข้ารอบจะไปจับสลากแบ่งสายร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ในสายหนึ่งมีห้ากลุ่ม โดยจะเลือกไขว้คือ จะเลือกคนกลุ่มอื่นๆ คุณครูอาจจะได้เลือกชาวนา หมอ สตรีหรือฟรีแลนซ์ แล้วแต่จับสลากแบ่งสายได้ สุดท้ายแล้วในการเลือกไขว้ใครเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพครูถูกตัดสินด้วยคนอื่นที่จับสลากมาไม่ได้ถูกตัดสินโดยครู ดังนั้นระบบนี้เป็นระบบแบ่งกลุ่มอาชีพจริง แต่สุดท้ายคนที่ได้เป็นคนที่กลุ่มอาชีพอื่นๆมาเลือก และผ่านเข้าไปยังระดับจังหวัดและประเทศ ทำเหมือนเดิมอีกคือ เลือกกันเองและเลือกไขว้ 

“สุดท้ายคุณเป็นตัวแทนของอำเภอไหม ไม่ใช่เพราะคุณจะถูกตัดสินโดยคนระดับจังหวัดและประเทศ และคุณเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพนั้นไหม ไม่ใช่เพราะคุณจะถูกตัดสินโดยคนจากกลุ่มอาชีพอื่นถึงสามรอบที่จับสลากมา สุดท้ายสว.นี้ไม่ได้เป็นตัวแทนของใครเลย ไม่ได้เป็นตัวแทนของอาชีพและไม่ได้เป็นตัวแทนของอำเภอหรือพื้นที่”

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ