ถอดบทเรียนพ.ร.บ.ชุมนุมฯ : มาตรา 7 ใช้จำกัดพื้นที่แล้ว แต่ทางปฏิบัติยังมีข้อห้ามเพิ่มมาอีก

พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) วางแนวการจำกัดพื้นที่การชุมนุมสาธารณะที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าด้วยพื้นที่ในการชุมนุมจากอดีตที่ผ่านมา อาจพอสรุปได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวได้แบ่งพื้นที่การชุมนุมสามระดับ ได้แก่ พื้นที่ห้ามชุมนุมโดยสิ้นเชิงที่มุ่งให้ความสำคัญกับการที่การชุมนุมจะต้องไม่กระทบกระเทือนยังพื้นที่ประทับหรือพำนักของบุคคลสำคัญ  พื้นที่ห้ามชุมนุมแต่ชุมนุมได้หากมีการจัดสถานที่ชุมนุมภายในพื้นที่นั้น และพื้นที่สถานการณ์ปกติต้องชุมนุมได้ แต่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดห้ามชุมนุมโดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

การบังคับใช้กฎหมายตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นปัญหาหลักสามประการคือ ปัญหาความไม่ชัดเจนของพื้นที่ห้ามชุมนุม ตั้งแต่เริ่มการบังคับใช้ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตั้งแต่ปี 2558 สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เคยทำการปักปันหรือแสดงป้ายเขตห้ามชุมนุมโดยชัดเจนเป็นรูปธรรม ปัญหาการตีความกว้างเพื่อสั่งห้ามชุมนุม 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาลที่ขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน มีการนำคำสั่งห้ามชุมนุมกรณีหนึ่งไปใช้กับการชุมนุมของกลุ่มอื่นโดยไม่พิจารณาพฤติการณ์แต่ละกรณี และการใช้กฎหมายถวายความปลอดภัยขยายพื้นที่ห้ามชุมนุม มีการนำแนวคิด “แนวรั้งหน่วงมั่นคง” ตามแผนที่ออกตามพ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย 2560 มาใช้คู่กับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ส่งผลให้เกิดการขยายข้อจำกัดการชุมนุม โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับเส้นทางเสด็จฯ

แบ่งพื้นที่สามระดับ : รอบวังห้ามเด็ดขาด เปิดช่องตร.สั่งห้ามใกล้ทำเนียบฯ สภาและศาล

“มาตรา ๗ การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทำมิได้

การจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่นั้น

ศาลตามวรรคสองหมายความถึง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล

ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมี ไม่เกินห้าสิบเมตรรอบสถานที่ตามวรรคสอง ทั้งนี้ ให้คํานึงถึงจำนวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมและพฤติการณ์ในการชุมนุมด้วย”

จากบทบัญญัติดังกล่าวพอจะตีความได้ว่า เป็นการวางแนวทางการจำกัดพื้นที่การชุมนุมสาธารณะเป็นสามระดับได้แก่ 

  • ระดับที่หนึ่ง พื้นที่ห้ามชุมนุมโดยสิ้นเชิงตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง คือ รัศมี 150 เมตร นับจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทและสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท สมาชิกราชวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และพระราชอาคันตุกะ พื้นที่ห้ามชุมนุมระดับที่หนึ่งนี้ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ถาวรที่สามารถปักปันอาณาเขตได้อย่างชัดเจนเป็นผลให้พื้นที่สาธารณะที่ประชาชนเคยใช้งานเป็นพื้นที่แสดงออกจำนวนหนึ่งกลายเป็นพื้นที่ต้องห้ามทันที เช่น พื้นที่สนามหลวงฝั่งใต้หรือฝั่งสนามหญ้าตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง พื้นที่ทั้งหมดของลานพระบรมรูปทรงม้าใกล้กับพระที่นั่งอัมพรสถาน และพื้นที่บางส่วนของสกายวอล์คปทุมวันใกล้กับวังสระปทุม  และพื้นที่อีกส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นพื้นที่ห้ามชุมนุมที่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ในกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือมีพระราชอาคันตุกะเยือนประเทศไทย
  • ระดับที่สอง พื้นที่ห้ามชุมนุมแต่มีเงื่อนไขตามวรรคสองและสามได้แก่ “ภายใน” รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาลและศาลเป็นพื้นที่ห้ามชุมนุม แต่มีเงื่อนไขว่า ชุมนุมได้หากมีการจัดสถานที่ชุมนุมภายในพื้นที่นั้น ซึ่งอาคารสัปปายะสภาสถานที่ใช้เป็นที่ทำการรัฐสภา บริเวณแยกเกียกกายมีการจัด “ลานประชาชน” เอาไว้ให้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมได้โดยตรง และยังมีพื้นที่สนามหญ้าโดยรอบอีกมากที่ยังไม่ชัดเจนว่า อนุญาตให้ประชาชนใช้จัดการชุมนุมได้หรือไม่ 
  • ระดับที่สาม พื้นที่ที่ปกติใช้ชุมนุมได้ อย่างพื้นที่โดยรอบรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาลและศาล แต่ให้อำนาจเจ้าพนักงานสั่งห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตรจากพื้นที่ดังกล่าวได้โดยจะต้องพิจารณาสถานการณ์ประกอบตามวรรคท้าย ตัวอย่างเช่น พื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาลเป็นพื้นที่ที่ปกติต้องชุมนุมได้ แต่มีเงื่อนไขห้ามตามวรรคท้ายกล่าวคือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายพิจารณาห้ามการชุมนุมในรัศมี 50 เมตรได้บนฐานของความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยแล้วสามารถประกาศห้ามการชุมนุมเป็นวาระไป

ปัญหาของการกำหนดพื้นที่ “ห้ามชุมนุม” ทั้งสามระดับ จำเป็นต้องตามมาด้วยการปักปันแนวเขตพื้นที่ห้ามชุมนุมที่มีความชัดเจนแน่นอนที่ผู้ชุมนุมสามารถเข้าใจและคาดการณ์ได้ สามารถวางแผนและประเมินความเสี่ยงของจัดการชุมนุมแต่ละครั้งได้โดยอาศัยแนวเขตที่ชัดเจนนั้น แนวเขตพื้นที่ที่ชัดเจนยังเป็นตัวแปรสำคัญของความสัมพันธ์และการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุม 

1. ปัญหาการขาดความชัดเจนเรื่องพื้นที่ห้ามชุมนุมที่เข้าใจได้ตรงกัน

ตั้งแต่เริ่มการบังคับใช้ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตั้งแต่ปี 2558 สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เคยทำการปักปันหรือแสดงป้ายเขตห้ามชุมนุมโดยชัดเจนเป็นรูปธรรม ไม่มีความชัดเจนว่า พื้นที่ห้ามชุมนุมโดยสิ้นเชิงตามมาตรา 7 อยู่บริเวณใดบ้าง และระยะทาง 150 เมตรจะวัดจากจุดใดถึงจุดใด แต่มีการนำมาตรา 7 วรรคแรก มาอ้างอิงเพื่อใช้เจรจาไม่ให้เกิดการชุมนุมขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ห้ามชุมนุมรอบพระราชวัง ที่ประทับ

ประเทศไทยมีพระราชวัง วัง พระราชนิเวศน์ พระตำหนักและที่ประทับ อยู่จำนวนมาก เท่าที่สามารถสืบค้นไม่มีระบบการจัดการข้อมูลสาธารณะของสถานที่ดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่า มีสถานที่หรือพื้นที่ใดเข้าข่ายสถานที่ประเภทนี้บ้าง แม้จะเป็นที่รู้กันถึงที่ตั้งของพระราชวังและพระตำหนักหลายแห่ง แต่ก็ยังมีปัญหาการตีความรัศมี 150 เมตร ซึ่งไม่ชัดเจนว่า เมตรที่ 0 จะเริ่มวัดจากบริเวณใด เช่น บริเวณที่ประทับหรือพำนัก ประตูทางเข้า หรือขอบกำแพงของสถานที่นั้นๆ และบางแห่งก็ไม่ชัดเจนว่าขอบกกำแหงจริงๆ แล้วอยู่จุดใด หลังการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พื้นที่ที่สะท้อนปัญหาดังกล่าว ได้แก่ 

สกายวอล์คปทุมวัน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับวังสระปทุมที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในช่วงแรกเมื่อไม่ได้มีการแสดงป้ายปักปันพื้นที่ห้ามชุมนุม ตำรวจท้องที่สน.ปทุมวันวัดขอบรัศมี 150 เมตรมาถึงบริเวณทางเข้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ฝั่งบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติตำรวจแจ้งต่อผู้ชุมนุมปากเปล่าในเรื่องรัศมีห้ามชุมนุมตามการชุมนุมแต่ละครั้ง ซึ่งไม่มีความคงเส้นคงวาหรือความแน่นอนให้ผู้ชุมนุมเข้าใจหรือคาดการณ์ได้ ในบางกรณีผู้ชุมนุมยินยอมที่จะย้ายพื้นที่การชุมนุม

ในบางกรณีผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมในพื้นที่รัศมีต้องห้ามแต่ผลลัพธ์อาจแตกต่างกัน เช่น การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 ซึ่งตามมาด้วยการถูกกล่าวหาคดีอาญา หนึ่งในข้อกล่าวหาคือ การละเมิดมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และการชุมนุมมศวคนรุ่นเปลี่ยนเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563  เท่าที่สามารถติดตามไม่ปรากฏว่า มีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าว และต่อมาพบว่า มีการปักป้ายข้อความห้ามชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตรในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 หรือหลังการใช้บังคับของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผ่านไปเกือบหกปี

สนามหลวง ซึ่งตั้งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวัง พื้นที่บางส่วนของสนามหลวงฝั่งใต้หรือฝั่งสนามหญ้าเป็นพื้นที่ห้ามชุมนุม แม้สนามหลวงจะเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย แต่เดือนกรกฎาคม 2558 หลังการประกาศใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ  พื้นที่สนามหลวงแทบจะไม่ได้ใช้ในการแสดงออกทางการเมืองเลยเนื่องจากอยู่ภายใต้รัฐบาลคสช. และคำสั่งห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานครและในปี 2559 รัชกาลที่เก้า สวรรคตต้องพื้นที่สนามหลวงจึงใช้เพื่อสร้างพระเมรุมาศ ทำให้ภาพของสนามหลวงและการชุมนุมค่อยๆ จางหายไป 

ถอดบทเรียนพ.ร.บ.ชุมนุมฯ : มาตรา 7 ใช้จำกัดพื้นที่แล้ว แต่ทางปฏิบัติยังมีข้อห้ามเพิ่มมาอีก

การกลับมาอีกครั้งของสนามหลวงในฐานะพื้นที่เรียกร้องทางการเมืองคือ เดือนกันยายน 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดชุมนุม “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ครั้งนั้นผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยใช้วิธีการเคลื่อนขบวนจากท้องสนามหลวงผ่านพระบรมมหาราชวังไปยังทำเนียบองคมนตรี การกำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระบรมมหาราชวังที่คลุมเครือมากว่าหกปี ถูกขีดเส้นให้ “ชัดเจน” ขึ้นโดยตำรวจยกเงื่อนไขว่าด้วยรัศมี 150 เมตร ห้ามชุมนุมมาจำกัดสถานที่ ให้ผู้ชุมนุมตั้งเวทีและปักหลักอยู่ได้เพียงบริเวณฝั่งหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น

มาตรา 7 วรรคท้าย ห้ามชุมนุมใกล้ทำเนียบฯ สภาและศาล

การสั่งห้ามชุมนุมตามมาตรา 7 วรรคท้ายก็ไม่มีการปักปันขอบเขตอย่างชัดเจนทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เป็นเป้าหมายหลักของการชุมนุมที่มีขอบเขตสถานที่แน่นอนสามารถทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นได้ 

การชุมนุมของสมัชชาคนจนในเดือนตุลาคม 2566 มีเป้าหมายที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนเริ่มการชุมนุม วันที่ 15 กันยายน 2566 ตัวแทนทำหนังสือแจ้งการชุมนุม ระบุว่าจะจัดการชุมนุมทั้งกรณีที่เดินขบวนและไม่เดินขบวนไว้ห้าจุ ดได้แก่ ข้างกระทรวงศึกษาธิการทำเนียบรัฐบาลและบริเวณโดยรอบ สนามหลวง อาคารสหประชาชาติ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมาตำรวจแจ้งว่า ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากให้ชุมนุมบริเวณสหประชาชาติและหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น และวันที่ 18 กันยายน 2568 แจ้งเพิ่มเติมด้วยว่า การชุมนุมบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ, ทำเนียบรัฐบาลบริเวณโดยรอบ เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ซึ่งอยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร จากทำเนียบรัฐบาลจะมีผลต่อการรักษาความปลอดภัยและกระทบด้านการจราจรในถนนราชดำเนินนอกซึ่งมีลักษณะรูปแบบกิจกรรมที่ฝ่าฝืน ตามมาตรา 7 วรรคท้าย ซึ่งไม่มีการแนบท้ายประกาศห้ามชุมนุมตามวรรคท้ายมาประกอบ

วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นวันที่มีการประกาศห้ามการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 50 เมตรที่ปรากฏต่อสาธารณะครั้งแรกๆ ขณะที่สมัชชาคนจนยังยืนยันว่า ตำรวจไม่มีเหตุผลโดยชอบในการออกประกาศห้ามชุมนุมดังกล่าว ด้านตำรวจยังคงย้ำว่าการชุมนุมด้านข้างกระทรวงศึกษาธิการและทำเนียบรัฐบาลโดยรอบอยู่ในรัศมี 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล ผู้ชุมนุมจึงต้องไปตรวจสอบพื้นที่เองและยืนยันสิทธิของตนเองต่อตำรวจ โดยใช้โปรแกรม Google earth วัดระยะทางจากประตู 5 ของทำเนียบรัฐบาลไปยังฝั่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นระยะ 50 เมตรแล้วพบว่า พื้นที่ที่จะชุมนุมอยู่นอกรัศมี 50 เมตร จึงยืนยันจะชุมนุมในบริเวณที่แจ้งไว้ และหากตำรวจไม่เห็นด้วยก็ขอให้ตำรวจดำเนินการวัดระยะ 50 เมตรและปักป้ายให้ชัดเจน

ความไม่ชัดเจนแน่นอนเรื่องพื้นที่ห้ามชุมนุมตามมาตรา 7 ทั้งสองกรณีเป็นผลให้ต้องใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐมายืนตั้งแถวเป็น “ป้ายปักปัน” ซึ่งแต่ละครั้งก็ไม่ได้ยืนในจุดเดียวกันเสมอไป ทั้งที่หากมีการปักปันเขตรัศมีห้ามชุมนุมโดยชัดแจ้งผู้ชุมนุมจะสามารถประเมินสถานการณ์และการรับมือกับความรับผิดทางกฎหมายได้แต่แรกแต่เมื่อแนวทางปฏิบัติไม่ชัดเจนเป็นเหตุให้หลายครั้งตำรวจต้องมีการแจ้งด้วยวาจาเป็นวาระไป และเกิดความตึงเครียดจากการเผชิญหน้าโดยไม่จำเป็น

2. ปัญหาการตีความกว้างเพื่อสั่งห้ามชุมนุม 50 เมตรรอบทำเนียบฯ

มาตรา 7 วรรคท้ายของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตีความได้ว่า พื้นที่โดยรอบของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาลและศาลเป็นพื้นที่ที่สถานการณ์ทั่วไปสามารถชุมนุมได้ แต่ให้อำนาจตำรวจสั่งห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตรได้เป็นบางช่วงเวลา โดยจะต้องพิจารณาสถานการณ์ประกอบ กล่าวคือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสามารถพิจารณาห้ามการชุมนุมในรัศมี 50 เมตรได้บนฐานของความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อย โดยจะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และจำนวนของผู้ชุมนุมประกอบด้วย  ปัญหาที่พบแบ่งเป็นสองประการ ดังนี้

การใช้ดุลพินิจขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน

การชุมนุมของเครือข่ายปกป้อง ดิน น้ำ ป่า นครศรีธรรมราช – วันที่ 27 มกราคม 2562 ผู้ชุมนุมแจ้งสน.ดุสิตระบุว่า ผู้ชุมนุมประมาณ 300 คนจะเคลื่อนขบวนมาปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการ เช่น คลองผันน้ำเมืองนครศรีธรรมราชและเขื่อนวังหีบ หลังผู้ชุมนุมแจ้งการชุมนุมตำรวจออกคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ 18/2562 ห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาบริเวณถนนพระรามห้า ด้านข้างศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตำรวจตั้งแนวปิดทางเสมอแนวไฟแดงก่อนเลี้ยวซ้ายไปยังทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้การปิดกั้นของตำรวจเป็นผลให้การจราจรบริเวณดังกล่าวไม่สามารถใช้การได้

การชุมนุมของเครือข่ายรักษ์โตนสะตอ – วันที่ 31 สิงหาคม 2563 ผู้ชุมนุมปักหลักชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ยุติโครงการเหมืองตะกั่วที่ทำเนียบรัฐบาล ประตู 1 โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน เนื่องจากเป็นการปักหลักชุมนุมระยะยาวจึงมีผู้ชุมนุมมากน้อยแตกต่างกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 30-50 คน ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการจราจรหรือความปลอดภัยสาธารณะ อย่างไรก็ตามวันเดียวกันนั้นตำรวจได้ออกคำสั่งห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล 

การชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) – วันที่ 4 ตุลาคม 2567 ตัวแทนผู้ชุมนุมพีมูฟแจ้งสน.ดุสิตว่า จะชุมนุมด้านข้างทำเนียบรัฐบาล ประตู 4 ตั้งแต่เวลา 7.00 น. ของวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 800 คน ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2567 ผู้กำกับการสน.ดุสิต ส่งหนังสือแจ้งเงื่อนไขการชุมนุมว่า ทำเนียบรัฐบาล ประตู 4 อยู่ในรัศมี แนวรั้งหน่วงมั่นคง” ตามแผนรักษาความสงบเรียบร้อยการจัดการชุมนุมสาธารณะและจัดการจราจรกลุ่มพื้นที่เขตพระราชวังดุสิตและทำเนียบรัฐบาล มีผลต่อการรักษาความปลอดภัยและกระทบด้านการจราจรในถนนราชดำเนินนอก ประกอบกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีคำสั่งห้ามชุมุนมในรัศมี 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2567 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2567 เวลา 24.00 น. ตามมาตรา 7 วรรคท้าย  พื้นที่การชุมนุมของพีมูฟอยู่ในรัศมี 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาลจึงเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขอให้ไปชุมนุมที่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) แทน

วันที่ 7 ตุลาคม 2567 เวลา 04.30 น. พีมูฟ ปักหลักชุมนุมที่บริเวณทางเท้าหน้าประตูสี่ของทำเนียบรัฐบาล โดยมีข้อเรียกร้องเช่นการขอให้นายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟอย่างปัญหาที่ดิน ต่อมาเวลาประมาณ 10.40 น. ตำรวจสน. ดุสิต แจ้งให้ทางพีมูฟย้ายไปจัดการชุมนุมบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) ภายในเวลา 13.00 น. ของวันเดียวกัน แต่ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักอยู่บริเวณดังกล่าวระหว่างการชุมนุมของพีมูฟ ตำรวจยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งให้เลิกการชุมนุมสามครั้ง 

ครั้งที่หนึ่ง – เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ศาลแพ่งยกคำร้องเนื่องจากผู้ร้องไม่มีอำนาจในการยื่นคำร้อง 

ครั้งที่สอง – เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 พ.ต.อ.ณธัชพงษ์ กิรัมย์ ผู้กำกับการสน.ดุสิตเป็นผู้ยื่นคำร้องขอศาลแพ่งมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม โดยเบิกความต่อศาลฝ่ายเดียวว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลมีคำสั่งห้ามการชุมนุมในรัศมี 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาล แม้ตำรวจจะแจ้งคำสั่งและให้ย้ายพื้นที่ชุมนุม แต่พีมูฟยังคงชุมนุมที่ประตู4 ทำเนียบรัฐบาล ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะได้ โดยมีประชาชนมาลงบันทึกประจำวันในเหตุความไม่สะดวกดังกล่าวไว้ด้วย  นอกจากนี้ยังระบุว่า มีการเคลื่อนขบวนพาผู้ชุมนุมบางส่วนไปยังทางเท้าริมกำแพงประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ปิดกั้นประตูและมีผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามปีนกำแพงเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล 

ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้องระบุทำนองว่า ตามมาตรา 7 วรรคท้าย ต้องคำนึงถึงจำนวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมและพฤติการณ์ในการชุมนุมด้วย เมื่อพิจารณาตามคำเบิกความและภาพถ่ายประกอบแล้วเห็นว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้มีเป็นจำนวนมากและพฤติการณ์ของการชุมนุมยังไม่พบว่ามีการใช้ความรุนแรงซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยของประชาชนนอกจากนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการชุมุนมในการเมืองหรือมุ่งหวังในทางการเมืองกรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะสั่งยุติการชุมนุม

ครั้งที่สาม – เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 พ.ต.อ.ณธัชพงษ์ กิรัมย์ ผู้กำกับการสน.ดุสิตเป็นผู้ยื่นคำร้องขอศาลแพ่งมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม ตามคำร้องอ้างว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2567 เฟซบุ๊กของพีมูฟระบุว่า ตำรวจไม่ให้นำเสบียงอาหารเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมโดยตำรวจจะเป็นผู้ลำเลียงเข้าไปให้เอง หากข้อเท็จจริงคือตำรวจไม่ได้ปิดการจราจร วันเดียวกันมีการนำเครื่องขยายเสียงมาชิดประตู 3 ทำเนียบรัฐบาลและหันลำโพงมาทางทำเนียบรัฐบาล มีการวัดระดับเสียงได้ 114 เดซิเบล ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ผู้ชุมนุมมีการพับกระดาษเป็นจรวดขว้างเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล ใช้เสียงดังกว่าที่กฎหมายกำหนดและขว้างไข่ผ่านรั้วเข้าไปภายในประตู 3 ทำเนียบรัฐบาลต่อมาศาลแพ่งยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า

ในวันที่กลุ่มผู้ชุมนุมหันลำโพงเข้าไปทางทำเนียบรัฐบาลอันเป็นการรบกวนการประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีสามารถประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไปได้ ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมเขย่าประตู 3 ของทำเนียบรัฐบาล ปาไข่และจรวดกระดาษเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลนั้น เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้ควบคุมดูแลการชุมนุมได้ห้ามปรามกลุ่มผู้ชุมนุมก็หยุดการกระทำดังกล่าว การชุมนุมของผู้ร้องก็เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ แม้จะมีการปราศรัยต่อว่าหรือตำหนิการทำงานของนายกรัฐมนตรีและมีเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นเล็กน้อยก็เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เจ้าพนักงานการชุมนุมยังสามารถควบคุมการชุมนุมและรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยของประชาชนและการชุมนุมได้อยู่” (คำสั่งศาลแพ่งที่ชส. 14/2567)

หากพิจารณาจากการชุมนุมที่กล่าวมา เห็นได้ว่า ตำรวจใช้ดุลพินิจออกคำสั่งห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตร “เกินความจำเป็น” กับสถานการณ์จริงส่งผลให้เกิดการจำกัดเสรีภาพการชุมนุม นอกจากนี้การจำกัดพื้นที่การชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาลยังขัดต่อหลักการสากลตามความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งวางแนวทางการตีความกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มาตรา 21 ว่าด้วยสิทธิการชุมนุมโดยสงบ ระบุว่า แม้ว่าในบางกรณี “เวลา สถานที่และวิธีการ” ของการชุมนุมอาจถูกจำกัดได้โดยชอบ แต่ผู้ร่วมการชุมนุมต้องได้รับการอนุญาตที่จะชุมนุมในระยะที่ “มองเห็นและได้ยิน” ของกลุ่มเป้าหมายของการชุมนุม

อ้างคำสั่ง 50 เมตรของที่ประกาศไว้ครั้งหนึ่ง มาห้ามการชุมนุมอีกครั้งหนึ่ง

วันที่ 2 มีนาคม 2568  กลุ่มคปท.ปักหลักชุมนุมต่อเนื่องกันบริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ต่อมาผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมีคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ 122/2568 เรื่องประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาล ตอนหนึ่งระบุว่า “เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงปักหลักชุมนุมบริเวณใกล้เคียงรอบทำเนียบรัฐบาลมีแนวโน้มจะเคลื่อนมาปักหลักชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาลได้ตลอดเวลามีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนผู้สัญจรบนท้องถนนและกีดขวางทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลอันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน”  แม้จะไม่ได้ระบุในคำสั่งว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมาจากการชุมนุมใดแต่พอจะตีความได้ว่า เป็นพฤติการณ์การชุมนุมของกลุ่มคปท. ที่อยู่บริเวณด้านข้างศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  โดยคำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการชุมนุมอื่นๆ เช่น 

การชุมนุมของเครือข่ายประชาชนไม่เอากฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEC) – วันที่ 11 มีนาคม 2568  ผู้ชุมนุมยื่นหนังสือเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SEC ที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ประตู 3 ระหว่างการชุมนุมตำรวจอ่านคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ 122/2568 เรื่องประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล โดยสรุปคือ เป็นคำสั่งต่อเนื่องจากคำสั่งเดิมที่ห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาลระหว่างวันที่ 1-7 มีนาคม 2568 ซึ่งหากพิจารณาจากพฤติการณ์และจำนวนผู้ชุมนุมของเครือข่ายประชาชนไม่เอากฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEC) แล้ว เห็นได้ว่า ผู้ชุมนุมมีจำนวนไม่มากและยืนแสดงออกอยู่ที่ทางเท้าด้านหน้าประตู 3 ของทำเนียบรัฐบาล โดยไม่ได้กีดขวางประตู และอยู่ในวิสัยที่ตำรวจจะสามารถควบคุมและอำนวยความสะดวกทั้งเสรีภาพการชุมนุมของผู้ชุมนุมและการจราจรของผู้ที่ใช้ทางเท้าและถนน

การชุมนุมของเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ – วันที่ 18 มีนาคม 2568 เวลา 10:00 น. เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมกับรถบรรทุกปลาหมอคางดำห้าตันไปที่ทำเนียบรัฐบาลประตู 5 มีการชูป้ายข้อเรียกร้องต่างๆ และปราศรัยไปด้วยระหว่างทาง มีรายงานจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมวันนี้ประมาณหนึ่งพันคน เวลา 12:30 น. ตำรวจอ่านคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ 133/2568 เรื่องประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร ซึ่งเป็นการขยายเวลามาจากคำสั่งที่ 122/2568

เมื่อพิจารณาจากการบังคับใช้มาตรา 7 วรรคท้ายของการชุมนุมข้างต้น เห็นได้ว่า คำสั่งห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาลถูกใช้งานแบบครอบคลุมทุกกลุ่มและต่อเนื่องโดย “คาดการณ์” สิ่งที่อาจเกิดขึ้นบนฐานพฤติการณ์จากการชุมนุมคปท. ส่งผลกระทบเป็นการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมของผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นๆ ที่มายังบริเวณทำเนียบรัฐบาล โดยไม่ได้มีพฤติการณ์เข้าข่ายมาตรา 7 วรรคท้าย ส่งผลให้กลายเป็นว่า พื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาลเป็นพื้นที่ห้ามชุมนุมโดยสิ้นเชิงตราบเท่าที่การชุมนุมของคปท.ยังคงดำเนินอยู่ แม้ว่าตำรวจจะปล่อยให้การชุมนุมของทั้งสองกลุ่มดำเนินจนจบ แต่การอ่านคำสั่งดังกล่าวก็สะท้อนถึงการไม่แยกแยะพฤติการณ์ของแต่ละการชุมนุมและสร้างบรรยากาศให้การชุมนุมเป็นไปได้โดยมีอุปสรรคภายใต้การกำกับของตำรวจ ไม่ใช้เป็นเพียงการใช้เสรีภาพที่ประชาชนสามารถทำได้ 

3. การใช้กฎหมายถวายความปลอดภัยขยายพื้นที่ห้ามชุมนุม 

“แนวรั้งหน่วงมั่นคง” เป็นคำศัพท์ใหม่ที่ปรากฏขึ้นหลังจากที่ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับการสน.ดุสิตเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ครั้งนั้นพีมูฟแจ้งว่า จะปักหลักชุมนุมที่บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2567 ผู้กำกับการสน.ดุสิตแจ้งเงื่อนไขการชุมนุมระบุว่า 

“3. เนื่องจากการชุมนุมที่ได้แจ้งมา เป็นการชุมนุมบริเวณด้านข้างทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 4 จนถึงอาคารสำนักงานก.. (เดิมถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งแผนรักษาความสงบเรียบร้อยการจัดการชุมนุมสาธารณะและจัดการจราจรกลุ่มพื้นที่เขตพระราชวังดุสิต และทำเนียบรัฐบาล กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งอยู่ในรัศมีแนวรั้งหน่วงมั่นคง อันจะมีผลต่อการรักษาความปลอดภัยและกระทบด้านการจราจรในถนนราชดำเนินนอกซึ่งมีลักษณะรูปแบบกิจกรรมที่ฝ่าฝืน ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ .. 2558

4. เนื่องจากการชุมนุมที่ได้แจ้งมา เป็นการชุมนุมบริเวณด้านข้างทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 4 จนถึงจนถึงอาคารสำนักงานก.. (เดิมถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร จากทำเนียบรัฐบาลอันจะมีผลต่อการรักษาความปลอดภัยและกระทบด้านการจราจรในถนนพิษณุโลกและถนนราชดำเนินนอก ซึ่งมีลักษณะรูปแบบกิจกรรมที่ฝ่าฝืน ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ .. 2558

5. กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีคำสั่งที่ 321/2567 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2567 เรื่องประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2567 เวลา 00.01 นาฬิกาจนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2567 เวลา 24.00 นาฬิกาตามนัยมาตรา 7 วรรคท้าย 7 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.. 2558”

ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนสน.ดุสิตตอบคำถามอธิบายถึงแนวรั้งหน่วงมั่นคงว่า “แผนรั้งหน่วง มันจะอยู่ตรงสะพานมัฆวานฯ มันเป็นแผนถวายความปลอดภัยขององค์พระมหากษัตริย์ ตามแผนถปภ. คือถวายความปลอดภัย…” แผนนี้เป็นไปตามพ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย 2560  และเมื่อถามว่ากฎหมายทั้งสองฉบับมีลำดับศักดิ์เดียวกันมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร ผู้แทนสน.ดุสิตตอบว่า บังคับใช้ควบคู่กันไปกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ 

พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัยให้อำนาจส่วนราชการในพระองค์ในการวางแผนถวายความปลอดภัย ทั้งนี้ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ แก่บุคคล ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป รวมถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปและพระราชอาคันตุกะ โดยมาตรา 4 ของพ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย ให้นิยาม “ความปลอดภัย” ว่า การรักษาความปลอดภัยและการถวายพระเกียรติต่อพระองค์หรือบุคคลที่ต้องมีการถวายความปลอดภัยการรักษาความปลอดภัยของพระราชฐานที่ประทับหรือที่พักการรักษาความปลอดภัยในขณะที่เสด็จไปหรือไปยังที่ใดรวมตลอดถึงการรักษาความปลอดภัยของยานพาหนะและสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง 

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 บัญญัติเรื่องพื้นที่ชุมนุมไว้ตามวรรคแรก ห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวังและที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์โดยเด็ดขาด เพื่อคุ้มครองที่ประทับหรือที่พำนักของบุคคลสำคัญ และตามวรรคท้าย ให้อำนาจตำรวจในการพิจารณาห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาล รัฐสภาและศาล เป็นวาระโดยต้องคำนึงถึงจำนวนผู้ชุมนุมและพฤติการณ์ของการชุมนุมเป็นกรณีไป แต่เมื่อนำ พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย เข้ามาใช้ร่วมด้วยจึงเกิดการขยายข้อจำกัดในการชุมนุมสาธารณะออกไปอีก เนื่องจากมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัยให้ความคุ้มครองที่กว้างกว่า โดยครอบคลุมถึง การรักษาความปลอดภัยในขณะที่เสด็จไปหรือไปยังที่ใด”  และหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินก็ไม่ใช่ข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนเข้าถึงได้ ทำให้การวางแผนจัดการชุมนุมเป็นไปได้ยากลำบากขึ้น

ผลกระทบคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำเอาแนวคิด “แนวรั้งหน่วงมั่นคง” ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัยมาเป็นเหตุผลในการใช้อำนาจตามมาตรา 7 วรรคท้ายของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ห้ามการชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล โดยมุ่งประโยชน์การถวายความปลอดภัยตามพ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย สั่งห้ามการชุมนุมในบางพื้นที่อย่างเด็ดขาดทั้งที่ในความเป็นจริงขบวนเสด็จพระราชดำเนินจะผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น