“โอนล่าช้า-โอนไม่จริง-โอนทะลุกรอบ” ข้อวิจารณ์ต่อร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ 63

4 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย ที่ให้โอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จากหน่วยรับงบประมาณหรือกระทรวงต่างๆ มาตั้งไว้เป็น ‘งบกลาง’ ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่มียอดวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 88,452 ล้านบาท

แต่ในที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ที่ผ่านมา มีการอภิปรายเพื่อตั้งคำถามต่อการโอนงบดังกล่าวทั้งจากซีกฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยเน้นสามประเด็นหลัก ได้แก่ หนึ่ง การโอนงบดังกล่าวเป็นการโอนที่ล่าช้า ทั้งที่รัฐบาลมีมติให้เตรียมโอนงบประมาณตั้งแต่เดือนเมษายน สอง การโอนเงินดังกล่าวมีลักษณะโอนไม่จริง เพราะเป็นการลดงบประเภทงบผูกพัน ที่สุดท้ายรัฐบาลต้องจ่ายทดแทนในปีงบประมาณถัดไป และ สาม มีการแก้ไขกรอบสัดส่วนงบประมาณให้จัดสรรเข้างบกลางได้มากขึ้น

ร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ 63 ตั้งเป้าโอนเข้างบกลางแปดหมื่นล้านบาท

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ท่ามกลางปัญหาการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด 19 รัฐบาล “คสช.2” ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้า คสช. ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหน่วยรับงบประมาณเสนอวงเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพันเพื่อนำไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 2563 

โดยกรอบในการพิจารณาโอนงบประมาณให้ดูจากงบที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ หรือรายจ่ายลงทุนที่ยังไม่ประกาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ ไม่สามารถลงนามจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น

ต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 63 เพิ่งเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้โอนเงินงบประมาณคงเหลือจากปีงบประมาณปี 2562 จำนวน 88,452 ล้านบาท ไปตั้งเป็นงบประมาณสำหรับ ‘งบกลาง’ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และห้าอันดับแรกของหน่วยงานที่โอนงบเข้างบกลางมากที่สุด ได้แก่ 1. กระทรวงกลาโหม จำนวน 17,700 ล้านบาท 2. กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 4,746 ล้านบาท 3. กระทรวงคมนาคม จำนวน 3,427 ล้านบาท 4. กระทรวงมหาดไทย จำนวน 2,057 ล้านบาท 5. กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1,356 ล้านบาท

พรรคร่วมรัฐบาลตั้งข้อสังเกต “โอนช้า-โอนผิดเป้า”

ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 63 วาระแรก (รับหลักการ) ภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย และสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล ได้ตั้งข้อสงสัยว่าพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินนั้นสมควรมีขึ้นแล้วหรือไม่ โดยได้กล่าวถึงความล่าช้าในการจัดทำร่างงบประมาณที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในทุกกระบวนการปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งหมายความว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีอายุการใช้งานเพียงสามเดือนก่อนจะหมดปีงบประมาณในสิ้นเดือนกันยายนนี้

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า งบประมาณที่ถูกโอนเป็นการนำงบลงทุนมาใช้ ซึ่งต่างจากงบสัมมนาหรืองบศึกษาดูงาน เพราะงบลงทุนนี้ในอนาคตจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ซึ่งการตัดงบนี้สวนทางกับเจตนาในการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อลงทุนเตรียมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าปล่อยในโครงการลงทุนนั้นดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้โดยไม่มีการหยุดชะงักเนื่องจากการรอเงินกู้จะเป็นการเสียเวลาเป็นผลเสียแก่ประชาชนเอง ทั้งรัฐยังต้องแบกรับภาระเงินกู้เพิ่มโดยไม่มีเหตุจำเป็นอีกด้วย

ฝ่ายค้านชี้ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ “โอนไม่จริง-โอนทะลุกรอบ”

ในด้านพรรคฝ่ายค้าน ก็มีข้อวิจารณ์ต่อร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 63 เช่นเดียวกัน นำโดย พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ที่อภิปรายว่า การโอนงบประมาณเป็นการโอนงบประมาณที่ไม่จริงขึ้น โดยยกตัวอย่างการโอนงบของกระทรวงกลาโหมที่เป็นกระทรวงที่โอนงบประมาณเป็นลำดับที่หนึ่ง 

เหตุที่กล่าวว่าการโอนงบดังกล่าวเป็นการโอนงบที่ไม่จริง เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากรายการแต่ละหน่วยที่มีการโอนงบประมาณเข้างบกลางที่ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนและจำเป็นจะพบว่า เป็นการตัดงบผูกพัน ซึ่งงบผูกพันเป็นงบที่มีขนาดใหญ่ไม่สามารถจ่ายหมดได้ในคราวเดียว หน่วยงานจึงทำการผูกพันงบโดยแบ่งจ่ายเป็นรายปีไปโดยสภาจะทำการอนุมัติในครั้งแรกและสามารถเบิกในปีถัดไปจนครบจำนวนที่ผูกพันไว้โดยไม่ต้องนำเข้าสภาใหม่อีก 

สุดท้ายแล้ว การตัดงบผูกพันของกระทรวงกลาโหมนั้นมีลักษณะเป็นการลดงบของปีปัจจุบันและไปเพิ่มงบในปีถัดๆ ไปแทน หรือ พูดง่ายๆว่า การที่กระทรวงกลาโหมนั้นได้ลดงบผูกพันของตนที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องชำระเป็นเพียงการชะลอการจ่าย สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายงบประมาณในส่วนนี้เต็มจำนวนอยู่นั่นเอง 

นอกจากนี้ การเกลี่ยงบประมาณให้ไปอยู่ในงวดถัดไปนั้นอาจจะมีผลต่อภาระดอกเบี้ยในอนาคต ดังเช่นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ กล่าวว่าเข้าข่ายดาวน์น้อยผ่อนหนัก เมื่อพิจารณาประกอบกับที่ปีงบประมาณปัจจุบันนั้นได้มีการลดอัตราจำนวนเงินที่ต้องชำระต้นเงินกู้ขั้นต่ำจากร้อยละ 2.5 เหลือร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นการทวีภาระการชำระหนี้ในอนาคตอีก

ด้าน เรวัต วิศรุต ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย ตั้งข้อสังเกตว่า ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้ สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละสอง แต่ไม่เกินร้อยละสามจุดห้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในขณะที่ประกาศเรื่องเดียวกันในปี 2563 กลับกำหนดให้สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละสอง แต่ไม่เกินร้อยละเจ็ดจุดห้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 

เมื่อเปรียบเทียบประกาศทั้งสองฉบับแล้วจะพบว่าในประกาศฉบับล่าสุดได้มีการขยับเพดานงบเงินสำรองจ่ายจากไม่เกินร้อยละสามจุดห้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นไม่เกินร้อยละเจ็ดจุดห้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 

หากเทียบตามประกาศฉบับเก่าจะพบว่า ร้อยละสามจุดห้าของสามจุดสองล้านล้านบาทคือ 11.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการโอนงบประมาณเข้ามาในเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินเพื่อกรณีเร่งด่วนและจำเป็นตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณเพิ่มอีก 88.5 พันล้าน เมื่อรวมกับรายการเดิมคือ 96 พันล้านจะเป็นยอดเงินที่เกินกรอบที่ประกาศปี 61 จำกัด จึงกล่าวได้ว่ารัฐบาลจงใจที่จะออกประกาศฉบับใหม่เพื่อรองรับการโอนงบประมาณตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายนี้โดยเฉพาะ

เรวัต วิศรุต จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่าการออกประกาศฉบับใหม่เช่นนี้เป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือเป็นการกระทำตามอำเภอใจของคณะรัฐมนตรีหรือไม่

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป