iLaw คือใคร?
iLaw เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งทำงานสื่อสารรณรงค์มีเป้าหมายเพื่อไปให้ถึงหลักการประชาธิปไตย, เสรีภาพในการแสดงออก และระบบยุติธรรมที่เป็นธรรมและตรวจสอบได้กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การทำงานของ iLaw เน้นไปที่การสร้างศึกษาข้อเท็จจริง สร้างองค์ความรู้และฐานข้อมูลบนโลกออนไลน์เป็นความรู้สำหรับสาธารณะ และใช้สื่อออนไลน์ โซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ในการนำเสนอข้อมูลและเชิญชวนให้เกิดการมีส่วนร่วมจากประชาชนวงกว้าง กิจกรรมที่เราทำจะพยายามออกแบบให้คนจำนวนมากมีส่วนร่วมได้ในมุมของตัวเองและให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วม
อดีตของ iLaw ก่อนการรัฐประหาร 2557
iLaw หรือ ไอลอว์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2552 ด้วยชื่อเต็มว่า โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน เมื่อครั้งก่อตั้งมีสถานะเป็นโครงการภายใต้มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ในช่วงเริ่มต้น กิจกรรมของ iLaw คือ การจัดทำเว็บไซต์ (http://ilaw.or.th) เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายของประชาชน มุ่งมั่นที่จะผลักดันการใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยใช้สื่อออนไลน์เป็นจุดเชื่อมร้อยคนที่มีความคิดเห็นคล้ายกันเข้าด้วยกัน ซึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 กฎหมายประชาชนแต่ละฉบับต้องการแรงสนับสนุนอย่างน้อย 10,000 รายชื่อเพื่อยื่นให้รัฐสภาพิจารณา และต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของทุกคน ผลตอบรับจากสังคมและการมีส่วนร่วมบนเว็บไซต์เกิดขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนหนึ่งเพราะกระแสการเติบโตของโซเชียลมีเดีย ทุกคนสามารถสร้างพื้นที่การสื่อสารได้เองโดยไม่ต้องมีพื้นที่กลาง ไอลอว์จึงทำงานโดยเน้นการรณรงค์ในประเด็นเฉพาะ เช่น การรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง 3 ฉบับ (พ.ร.บ.กฎอัยการศึก, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) การรณรงค์ต่อต้านการเซ็นเซอร์และแบนภาพยนตร์ หรือการรณรงค์คัดค้านการออกพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
ในเวลาต่อมา iLaw ทำงานศึกษาเชิงลึกเป็น งานวิจัยเรื่องการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยและผลกระทบของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งทำให้ iLaw เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในฐานะผู้มีข้อมูลความรู้เฉพาะประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และนำไปสู่การพัฒนาเว็บไซต์อีกแห่งหนึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพขึ้นในปี 2554 (freedom.ilaw.or.th) โดยมุ่งที่จะติดตามและบันทึกข้อมูลการใช้กฎหมายและอำนาจรัฐปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, กฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นต้น ในช่วง 5 ปีแรก ฐานข้อมูลออนไลน์เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างสูงจากผู้คนในแวดวงสิทธิมนุษยชน เป็นผลจากการติดตามกระบวนการพิจารณาคดีอย่างใกล้ชิดและลงรายละเอียดในทุกคดีนอกจากนี้แล้ว เพื่อสร้างความเข้มแข็งของคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตมาพร้อมกับองค์กรความรู้ด้านสิทธิเสรีภาพอย่างเข้มแข็ง iLaw ยังเคยจัดกิจกรรมค่าย “รูดซิป(เ)ปิดปาก” 5 รุ่น จัดอบรมทนายความให้มีความรู้ด้านพยานหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (Computer forensic) 2 รุ่น จัดกิจกรรมอบรมร่วมกับองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมและสถาบันการศึกษาหลายแห่งภายใต้รูปแบบและวัตถุประสงค์เดียวกัน
บทบาท ของ iLaw หลังการรัฐประหาร 2557
หลังการประกาศใช้กฎอัยการศึกและการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) iLaw ได้ขยายขอบเขตการทำงานของศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ให้ครอบคลุมถึงการเก็บข้อมูลการควบคุมตัวบุคคลอันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมือง การพิจารณาคดีทางการเมืองภายใต้กฎอัยการศึก และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีจำนวนมากที่ถูกสั่งให้พิจารณาคดีที่ศาลทหาร เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของ iLaw ได้ติดตามเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมือง และครอบครัว รวมทั้งเข้าร่วมสังเกตการณ์และบันทึกการพิจารณาคดี เพื่อจัดทำสถิติภาพรวม และข้อมูลเชิงคุณภาพ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์เสรีภาพตลอดเวลาภายใต้รัฐบาลทหารเมื่อทหารเข้าควบคุมอำนาจรัฐ ได้แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมาย แต่ตั้งคนของตัวเองเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2560 และใช้อำนาจพิเศษครอบงำการทำประชามติ ทั้งยังตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้นเองอ้างว่าเพื่อทำงานปฏิรูปประเทศ และเขียนแผนยุทธศาสตร์สำหรับอนาคตอีก 20 ปี แต่ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากมุมอื่นๆ ของสังคม iLaw จึงทำหน้าที่จับตาการร่างกฎหมาย ทั้งในแง่กระบวนการออกกฎหมายและเนื้อหาของกฎหมาย ที่เป็นไปโดยอำนาจเบ็ดเสร็จของคณะรัฐประหาร สรุปเนื้อหาและเผยแพร่สู่สังคมโดยมุ่งหวังให้เห็นปัญหาของการครอบงำกระบวนการทั้งหมดโดยคนกลุ่มเดียว และหวังเพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อสารเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
บทบาท ของ iLaw ก่อนและหลังการเลือกตั้งปี 2562
iLaw ติดตามการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ในฐานะกลไกอย่างหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ คสช. สร้างขึ้นเพื่อการสืบทอดอำนาจ เราทำคู่มือเลือกตั้งสำหรับประชาชน และจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นการทั่วไป ร่วมสังเกตการณ์จับตาความผิดปกติของการเลือกตั้ง และจัดทำรายงานตรวจสอบการรายงานผลคะแนนที่ผิดปกติ จนกระทั่งหลังเลือกตั้งเข้าสู่ยุค คสช.2 iLaw ยังคงติดตามศึกษากลไกของ คสช. ทั้งวุฒิสภาชุดพิเศษ 250 คน ที่มาและผลงานของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยหวังสร้างองค์ความรู้เผยแพร่สู่สาธารณะเช่นเดียวกับที่ทำมาในยุคของ คสช.1 ในปี 2563 เมื่อเกิดกระแสการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ iLaw ร่วมกับ Amnesty International Thailand พัฒนาเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ ( Mobdatathailand.org ) ขึ้นเพื่อเป็นฐานข้อมูลเก็บรวบรวมเหตุการณ์การชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นและการใช้อำนาจกำกับดูแล คุกคามหรือขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐ วันที่ 7 สิงหาคม 2563 iLaw เริ่มกิจกรรม “ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ”โดยรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้กลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย และได้รับผลตอบรับเกินความคาดหมาย สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนได้ 100,732 รายชื่อ ภายในเวลาเพียง 43 วัน ได้นำเสนอต่อรัฐสภา ถูกบรรจุเข้าวาระการประชุม แต่รัฐสภาลงมติไม่รับหลักการในวาระที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563
หลังการลุกฮือของขบวนการคนรุ่นใหม่ในปี 2563 รัฐตอบโต้ด้วยกฎหมายและคดีความที่รุนแรงขยายวงกว้างมากกว่าเดิม ทำให้การติดตามบันทึกข้อมูลคดีทั้งหมดเป็นภารกิจที่ไม่สามารถทำได้ ขณะที่สื่อมวลชนหลายแห่ง และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ติดตามรายงานข้อมูลต่อเนื่องมากขึ้น งานบันทึกข้อมูลคดีเสรีภาพของ iLaw จึงลดปริมาณลง เน้นบันทึกข้อมูลเฉพาะในคดีสำคัญที่เป็นบรรทัดฐานในอนาคต รวมทั้งผลิตและเผยแพร่งานเชิงสถิติภาพรวมและงานเชิงวิเคราะห์สถานการณ์มากขึ้น และติดตามการละเมิดสิทธิประเด็นอื่น เช่น การใช้สปายแวร์เพกาซัส เป็นต้น ระหว่างช่วงเวลาของรัฐบาลคสช.2 ปี 2564-2565 iLaw ยังติดตามบันทึกข้อมูลการชุมนุมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และติดตามความพยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เราได้ร่วมกับคณะรณรงค์ยกเลิก112 เปิดให้ประชาชนเข้าชื่อเพื่อเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมกับจัดกิจกรรมอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องเป็นกิจกรรมหลักโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองและคนรุ่นใหม่ ทั้งในประเด็นมาตรา 112, โครงสร้างอำนาจรัฐไทย, รัฐธรรมนูญ 2560, การออกแบบการสื่อสารและรณรงค์, การจับตาการเลือกตั้ง ฯลฯ
บทบาท ของ iLaw ก่อนและหลังการเลือกตั้งปี 2566
การเลือกตั้งในปี 2566 และการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งยังเป็นไปอย่างน่ากังขา iLaw ทำหน้าที่สนับสนุนส่วนที่ภาครัฐยังขาด เน้นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกติกาการเลือกตั้ง รวมทั้งจัดทำคู่มือเลือกตั้ง’66 แจกจ่ายให้ประชาชน พร้อมกับชักชวนให้ประชาชนเป็นอาสาสมัครจับตาการนับคะแนนและถ่ายภาพกระดานนับคะแนนเพื่อรายงานผลการเลือกตั้งผ่านเว็บไซต์ Vote62.com หลังการเลือกตั้งเรายังติดตามทวงถามการประกาศผล และการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีบรรยากาศทางการเมืองหลังการเลือกตั้งในปี 2566 ประชาชนมีความตื่นตัวที่จะร่วมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน iLaw จึงปรับตัวไม่เพียงแค่ทำหน้าที่เป็นผู้ศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลความรู้ แต่จะพยายามออกแบบกิจกรรมและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือลงแรงเพื่อผลักดันข้อเสนอไปสู่สังคมประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น การเสนอคำถามประชามติ #Conforall ในเดือนสิงหาคม 2566 ที่สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนบนกระดาษได้ 211,904 รายชื่อ ภายใน 3 วัน นำไปสู่การออกแบบกิจกรรมในปี 2567 ที่ iLaw เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ร่วมกันผลักดันประชามติรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม และเข้าไปสมัครเพื่อมีส่วนร่วมในการคัดเลือกวุฒิสภาชุดใหม่
ยุทธศาสตร์การทำงานของ iLaw
กิจกรรมของ iLaw ในแต่ละปี มีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์บ้านเมือง สถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และกระแสสังคมที่จะสร้างโอกาสให้หวังผลจากกิจกรรมรณรงค์ได้ ภายใต้แนวทางการทำงาน ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์ ค้นคว้า เรียบเรียง บันทึกข้อมูล อย่างเป็นระบบบนโลกออนไลน์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการเรียนรู้ปัญหากระบวนการนิติบัญญัติ กระบวนการยุติธรรม เสรีภาพการแสดงออกที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
2. สร้างความตื่นตัวของสังคมและสร้างพื้นที่สำหรับการถกเถียงเรื่องของร่างกฏหมายใหม่ๆ และการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดีย
3. ออกแบบและสร้างสรรค์กิจกรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมาย การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน การยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และการเดินหน้าสู่สังคมประชาธิปไตย
4. จัดกิจกรรมอบรมและเผยแพร่ความรู้ สำหรับคนรุ่นใหม่ในประเด็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของคนรุ่นใหม่ที่มีความตื่นตัวทางการเมืองและระบอบประชาธิปไตย
ผู้ให้การสนับสนุน
ระหว่างปี 2552 ถึง 2557 iLaw รับการสนับสนุนทุนจาก มูลนิธิ Open Society (Open Society Foundation) และมูลนิธิ Heinrich Böll และได้รับเงินสนับสนุนหนึ่งครั้งจากบริษัท Google
ตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2567 iLaw ได้รับการสนับสนุนงบประมาณหลักสำหรับการดำเนินงาน จากองค์กรต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. Open Society Foundation (OSF)
2. National Endowment for Democracy (NED)
3. Fund for Global Human Rights (FGHR)
4. American Jewish World Service (AJWS)
และได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับกิจกรรมเฉพาะในแต่ละปีจาก มูลนิธิ Heinrich Böll Stiftung Southeast Asia
ในปี 2564 iLaw ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากสถานทูต Switzerland สำหรับงานสังเกตการณ์การชุมนุมในปี 2565 iLaw ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจาก Forum Asia สำหรับงานสังเกตการณ์การชุมนุม และ Access Now สำหรับการสืบสวนสอบสวนสปายแวร์เพกาซัส และยังได้รับต่อเนื่องมาในปี 2567 iLaw ได้รับการสนับสนุนเพิ่มจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ (OHCHR) สำหรับการบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิ และได้รับเงินสนับสนุนหนึ่งครั้งจากโครงการ Meta Globalgiving
ทีมของเรา
คณะกรรมการ iLaw
- กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เครือข่าย FTA Watch
- จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
- เพ็ญวดี แสงจันทร์ มูลนิธิดวงประทีป
- ไพโรจน์ พลเพชร สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
- อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา สื่อมวลชน
ที่ปรึกษา iLaw
จอน อึ๊งภากรณ์ (ผู้ก่อตั้ง iLaw)
คณะทำงาน iLaw
- ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร, [email protected]
- อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้จัดการโครงการ, [email protected].th
- ชันษา สุพรรณเมือง ผู้จัดการสำนักงาน, [email protected]
- วรัญญุตา ยันอินทร์ ผู้ประสานงานกิจกรรม, [email protected]
อื่นๆ
ข้อมูล และเนื้อหาของ iLaw อยู่บนเว็บไซต์หลัก และยังมีข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมเฉพาะอยู่บนเว็บไซต์อีกหลายแห่ง ดังนี้
เว็บไซต์หลักของ iLaw: ilaw.or.th
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ: freedom.ilaw.or.th/
ฐานข้อมูลการชุมนุมสาธารณะ: www.mobdatathailand.org
เว็บไซต์จับตาการเลือกตั้ง: Vote62.com