วงเสวนาชี้ บทบาท กสม. ในรอบสองทศวรรษยังล้มเหลว-พึ่งพาไม่ได้

9 มีนาคม 2565 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยามหิดล จัดงานเสวนาในหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย: เราจะก้าวไปด้วยกัน" ซึ่งงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการค้นคว้าวิจัยเพื่อทบทวนบทบาทและการทำงานในรอบ 2 ทศวรรษขององค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยในวงเสวนาดังกล่าว มีการนำเสนอผลการวิจัยผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกต่อบุคคลทั้งภายในและภายนอกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ผลงานที่ผ่านมาของ กสม. ยังเป็นไปอย่างน่าผิดหวัง ไม่สามารถเป็นที่พึ่งพา และสามารถปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศได้จริง
2 ทศวรรษ กสม. ภาพลักษณ์ติดลบ-ยังเป็นที่พึ่งไม่ได้
หนึ่งนยา ไหลงาม อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะตัวแทนผู้จัดงานเสวนา "เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย: เราจะก้าวไปด้วยกัน" กล่าวว่า งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ต้องการจะทบทวนบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อวางแผนกลยุทธ์ในการทำงานของกสม.
หนึ่งนยา ไหลงาม กล่าวว่า ทางคณะวิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกบุคคลกว่า 136 คน ซึ่งเป็นทั้งบุคคลภายนอกและภายในที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยความเห็นของผู้ที่ให้ข้อมูลระบุว่า องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ติดลบ ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่เป็นที่ยอมรับบของประชาชน ถึงแม้ว่าตัว กสม. นั้นจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่กลับไม่เป็นที่รู้จัก เข้าถึงยาก ไม่มีบทบาทเชิงรุก ไม่มีความกล้าหาญ และในบริบทการเมืองปัจจุบันก็ทำให้ผู้คนเลือกที่จะไปพึ่งพากลไกกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจะไปหา กสม. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
แต่อย่างไรก็ดี จากการสัมภาษณ์เชิงลึกก็พบว่า ผู้ให้ข้อมูลยังมีมุมมองที่ดีต่อคนทำงาน โดยมองว่า คนที่มาทำงานมี passion อย่างแรงกล้า มีความต้องการในการช่วงเหลือบุคคล เนื่องจากมีส่วนในการช่วยเหลือสังคม และมีความต้องการที่จะเปลี่ยนระบบของสังคมไทย เพื่อเห็นสังงคมไทยที่ดีขึ้น และสุดท้ายคือเห็นความหวังที่จะสามารถทำให้สังคมนั้นดีขึ้นได้  แต่ติดข้อจำกัด ทั้งจากโครงสร้างและบริบททางการเมืองที่ทำให้ทำงานได้ยาก รวมถึงติดข้อจำกัดเรื่องระเบียบราชการ และช่องว่างในการสื่อสารภายในองค์กรระห่างผู้บริหารและกลุ่มคนทำงาน
ความอยุติธรรมในยุคคสช.-สิ่งที่ กสม. (อาจ)ไม่รู้และไม่ทำอะไร
แหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา อดีตอาสาสมัครพยาบาลที่รอดชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 และพยานปากสำคัญในคดี "6 ศพ วัดปทุมวนาราม" ได้กล่าวในงานเสวนา  "เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย: เราจะก้าวไปด้วยกัน" ว่า หลังการรัฐประหารในปี 2557 ที่นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เธอต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมนานัปประการ โดยที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเธออย่างที่ควรจะเป็น
แหวน-ณัฏฐธิดา กล่าวว่า เธอเป็นผู้ประสบเหตุ เป็นทั้งเหยื่อ เป็นผู้ถูกกประทำ ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดเป็นมนุษย์คนเดียวที่ยังเหลืออยู่บนโลกใบนี้จากเหตุการณ์จากเหตุการณ์ 6 ศพวัดปทุม เป็นตัวแทน 99 ศพ เป็นตัวแทนของ ผู้ต้องขังที่ถูกกักขัง โดยไร้สิทธิในการประกันตนทั้งประเทศ โดยในยุคของคสช. ในเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2557 เธอถูกจับกุมโดยอาศัยเพียงแค่ "เหตุสงสัย" เป็นการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ และผู้ที่จับกุมเธอก็เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่มีอาวุธยุทธโธปกรณ์ครบมือ ในขณะที่เธอเป็นเพียงแค่ประชาชนตัวคนเดียว
แหวน-ณัฏฐธิดา กล่าวถึงสิ่งที่เธอได้พบและได้เจอมาว่า ในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยที่เป็นเพศหญิง เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการล่วงละเมิดทางเพศ มีการลวนลามอนาจาร มีการเปิดเสื้อขึ้นดูรอยสัก หน้าอก การจับต้องอวัยวะเพศหญิงในจุดสงวนว่าใหญ่แค่ไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ต้องสงสัยถูกผูกผ้าปิดตา และเมื่อมีการพาตัวมาที่สถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐจะมีการยื่นข้อเสนอให้ร่วมหลับนอนกับเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการหลุดพ้นจากคดี หรือ ได้รับการช่วยเหลือในทางคดี
แหวน-ณัฏฐธิดา กล่าวว่า ผู้ต้องสงสัย หรือ "เหยื่อ" ที่ถูกจับกุมเข้าค่ายทหารยุคคสช. จะถูกสอบสวนโดยการตั้งคำถามในลักษณะของการชี้นำ หรือ มีลักษณะเป็นการบังคับให้ยอมรับตามสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อสันนิษฐานไว้ ถ้าหากไม่ตอบแบบที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องการ ก็มีการข่มขู่ว่าจะไม่รับประกันชีวิตและความปลอดภัยของตัวผู้ต้องหา รวมถึงคนรอบตัว อาทิ คนในครอบครัวด้วย
แหวน-ณัฏฐธิดา กล่าวว่า หลังจากถูกตั้งคำถามในเชิงชี้นำและสืบสวนเหยื่อจนพอใจแล้ว ก็จะถูกนำตัวไปดำเนินคดี และเธอต้องถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำในระหว่างการพิจารณาคดีนานถึง 3 ปี 6 เดือน แม้ว่าเธอจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ขอคืนอิสรภาพ อาทิ การยื่นขอประกันตัว แต่ก็ถูกคัดค้านและปฏิเสธ จนกระทั่งในวันที่ 24 มีนาคม 2560 เธอถึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่ทว่า เธอก็ถูกอายัติตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในทันที พร้อมกับถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเธอถูกเจ้าหน้าที่รัฐเอาปืนจี้เอว พร้อมกับถูกอุ้มขึ้นรถฟอร์จูเนอร์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนจะถูกพาตัวมาที่กองบังคับการปราบปราม
แหวน-ณัฏฐธิดา กล่าวว่า ในระหว่างที่เธอถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ เธอยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีแต่กลับถูกริดรอนสิทธิในด้านการศึกษา เธอถูกคัดค้านการนำหนังสือเข้าไปเรียนต่อ เธอถูกคัดค้านการอ่านหนังสือทุกอย่าง ถูกคัดค้านการฝึกวิชาชีพ ถูกริดรอนสิทธิทุกสิทธิทั้งที่ผู้ต้องขังเด็ดขาดยังมีสิทธิแต่เธอไม่มี และยังไม่ได้รับสิทธิในการขอประกันตัวอีก
แหวน-ณัฏฐธิดา กล่าวว่า หลังถูกฟ้องในคดี 112 เธอพยายามหาพยานหลักฐาน และทำเรื่องโอนย้ายคดีจากศาลทหารมาศาลพลเรือน โดยมีประชาชนเป็นคนเรียกร้องและกดดัน ในขณะที่ กสม. กลับไม่มีการแสดงท่าทีใดๆ ที่ชัดเจน กสม. ไม่เคยรับรู้ว่ามีประชาชนที่ถูกกระทำจากความขัดแย้งทางการเมือง กสม. ไม่เคยรับรู้ว่ามีประชาชนถูกริดรอนสิทธิมากขนาดไหน แม้แต่ในคดี 112 ที่ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง เธอก็ไม่เคยได้รับการเยียวยา ทั้งที่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน สูญเสียทั้งอาชีพการงาน สูญเสียเวลาในการอยู่กับครอบครัว เลี้ยงดูครอบครัว แต่ทาง กสม. กลับไม่เคยช่วยเหลือ และผลักภาระให้ไปดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองแต่เพียงลำพัง
"กสม. ควรเป็นเหมือนอเวนเจอร์ส เป็นฮีโร่ของเรา อย่าไปเป็นขี้ข้าเผด็จการ ต้องเป็นองค์กรที่เชิดหน้าชูตาในประเทศไทย คนที่ถูกอุ้มถูกขังคุกยังดียังมีโอกาสรอดชีวิต แต่คนที่ถูกอุ้มหายอย่าง สรุชัย ลุงสนามหลวง หมาน้อย วันเฉลิม ทีมของอาจารย์สุรชัยไม่มีโอกาสออกมาพูดว่าถูกฆ่าตายยังไง แม้แต่ศพที่จะต้องนำมาจัดงานก็ยังจะถูกคุกคาม คนตายไม่สามารถพูดได้ คนเป็นมีลมหายใจที่ลำบาก กสม.ทราบหรือไม่ เพียงแค่คุณเป็นฮีโร่ให้เราได้มั้ย เราพร้อมที่จะก้าวเคียงข้างคุณ" แหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา กล่าวทิ้งท้าย
รัฐประหาร ปี 57 ลดทอนประสิทธิภาพของ กสม.
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราภิชานคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนา "เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย: เราจะก้าวไปด้วยกัน" ว่า หากทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยจะพบว่า ประเทศไทยทำได้ดีในเรื่องสิทธิด้านเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมและเราได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก เช่น เรื่องบัตรทอง (นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) นโยบายด้านผู้ติดเชื้อเอสไอวี และเรื่องกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ แต่เราทำไม่ได้ค่อยดีในเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเพราะเป็นเรื่องของประชาธิปไตย เช่น การอุ้มหาย การรัฐประหาร กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเรื่องนี้ โลกพูดถึงแต่เราไม่สนใน ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็ต้องทำงานให้มากขึ้นในเรื่องที่ยาก เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่มีพลังมากพอ และเราคาดหวังให้ กสม. เป็นคานในการถ่วงดุลอำนาจเพื่อต่อรองกับอำนาจที่ชอบหรือมิชอบ 
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ กล่าวว่า ผลกระทบจากการรัฐประหารในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา กสม. คงหนีไม่พ้น แม้ว่าจะเกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 แต่ปัจจุบันเราอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ซึ่งเกิดจากการรัฐประหาร ดังนั้น กสม. ย่อมทราบดีว่ามีอำนาจบางอย่างที่ถูกเขียนไปแล้วในรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 247 (4) ให้ กสม. เป็นฝ่ายตอบโต้ถ้ามีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ไม่ถูกต้องในมุมมองของรัฐ กรณีนี้เหมือนกับเอา กสม. มาปกป้องรัฐ ไม่ได้มาปกป้องประชาชน และส่งผลกระทบต่อตัว กสม. ไม่มากก็น้อย