ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่สว.ชุดพิเศษแต่งตั้ง จะทยอยหมดวาระในปี 2570

ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นที่พูดถึงอีกครั้งหลังจากวันนี้ (19 กรกฎาคม 2566) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ รับคำร้องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง การหมดสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากการถือครองหุ้นสื่อไอทีวี และมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยต่อไป ซึ่งในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติดังกล่าว ทางฝากรัฐสภา ก็มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อที่จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง หลังจากการลงมติในรอบแรก 13 กรกฎาคม 2566 จบไปด้วยการที่พิธา ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันเก้าราย มีจำนวนวาระการดำรงตำแหน่งแตกต่างกัน ส่วนใหญ่หกคน เป็นตุลาการที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาชุดพิเศษ และมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง (มาตรา 207) โดยตุลาการอาจพ้นจากตำแหน่งแม้ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระเจ็ดปีได้ ในกรณีที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตาย ลาออก หรือมีอายุครบ 75 ปี ขณะที่ส่วนน้อยสามราย มีวาระดำรงตำแหน่งเก้าปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งเก้าคน จะพ้นจากตำแหน่งในเวลาแตกต่างกัน ดังนี้
วรวิทย์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ใกล้หมดวาระแล้วในปี 66
วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันเพียงคนเดียว ที่มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 โดยวรวิทย์ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 9 กันยายน 2557
ในบทเฉพาะกาล มาตรา 79 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 (พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ) ก็กำหนดให้กรณีประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งก่อนพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ ใช้บังคับ (ก่อน 3 มีนาคม 2561) ถ้าหากตุลากาศาลรัฐธรรมนูญ ยังดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระเก้าปีตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ให้คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระเก้าปีตามรัฐธรรมนูญ 2550 หรือจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งตามที่พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 18 กำหนดไว้ (ตาย ลาออก อายุครบ 75 ปี ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ฯลฯ) ดังนั้น วรวิทย์ จึงจะดำรงตำแหน่งไปจนถึงเดือนกันยายน 2566
พระบรมราชโองการ แต่งตั้ง วรวิทย์ กังศศิเทียม https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/2020168.pdf 
นครินทร์-ปัญญา พ้นตำแหน่งเดือน พ.ย. 67
ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกไปโดยช่วงเวลาดังกล่าวมีรัฐธรรมนูญ 2557 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใช้แทน ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติและให้ความเห็นชอบผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ภายใต้กติกา “ชั่วคราว” สนช. ได้ให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสองคน คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และปัญญา อุดชาชน และทั้งสองคนได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในเดือนพฤศจิกายน 2558
สำหรับเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง ย้อนไปดูพระบรมราชโองการ แต่งตั้งตุลาการทั้งสองราย ได้อ้างอิงรัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 24 ซึ่งกำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า ผู้พิพากษาและตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 และข้าราชการฝ่ายอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย การเข้ามาดำรงตำแหน่งของทั้งสองคน จึงถือได้ว่าเป็นตุลาการที่ดำรงตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วในขณะนั้น
ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 273 กำหนดว่า ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ (ก่อน 6 เมษายน 2560) ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว และเมื่อไปดู พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ บทเฉพาะกาล มาตรา 79 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ดังนั้น นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และปัญญา อุดชาชน จึงมีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 และจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2567
พระบรมราชโองการ แต่งตั้ง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/2059549.pdf
พระบรมราชโองการ แต่งตั้ง ปัญญา อุดชาชน https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/2060313.pdf
ตุลาการห้าคน ทยอยหมดวาระปี 70 อุดม ตุลาการคนใหม่ ยังอยู่ยาวๆ ถึงปี 73
ด้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ จำนวนหกคน มีที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี โดยทั้งหกคนนี้ ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา ชุดพิเศษ และได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ในช่วงเวลาแตกต่างกัน ดังนี้
สี่คน คือ 1) อุดม สิทธิวิรัชธรรม 2) วิรุฬห์  เสียงเทียน 3) จิรนิติ หะวานนท์ 4) นภดล เทพพิทักษ์ ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 และได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 1 เมษายน 2563 ตุลาการสี่คนนี้จะดำรงตำแหน่งไปจนจบเดือนมีนาคม 2570
หนึ่งคน บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อ 13 กรกฎาคม 2563 และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อ 20 สิงหาคม 2563 บรรจงศักดิ์จึงดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2570
ด้านอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อ 26 ธันวาคม 2565 และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 28 มกราคม 2566 ดังนั้น อุดมจะดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปจนถึงเดือนมกราคม 2573
พระบรมราชโองการ แต่งตั้ง ตุลาการสี่ราย https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17128516.pdf
พระบรมราชโองการ แต่งตั้ง บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17142471.pdf
พระบรมราชโองการ แต่งตั้ง อุดม รัฐอมฤต https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D021S0000000000100.pdf
You May Also Like
อ่าน

อ่านจุดยืนแคนดิเดต #สว.67 สภาสูงแบบไหนที่พวกเขาฝันถึง?

กิจกรรม “แคนดิเดตสว. ขอพูด” เปิดพื้นที่ให้แคนดิเดตสว.แสดงจุดยืนและความคาดหวังต่อวุฒิสภาชุดต่อไป มีประเด็นเช่น การวิจารณ์ระบบการเลือกกันเองที่ขาดความยึดโยงกับประชาชนและการใช้วุฒิสภาเป็นการเปิดช่องสู่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อ่าน

ผู้สมัคร สว. 67 ควรเคลียร์หุ้นสื่อก่อนสมัคร เหตุแนววินิจฉัยถือหุ้นยังไม่ชัด 

ตามพ.ร.ป.สว. 61 กำหนดห้ามผู้สมัครสว. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน อย่างไรก็ตามแนวคำสั่งหรือคำวินิจฉัยในคดีถือหุ้นสื่อยังไม่มีความชัดเจน ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ