แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญคำถามประชามติตั้งแง่ “บังคับ” ประชาชนชนสถาบันฯ

หลังจากวันที่ 23 เมษายน 2567 รัฐบาลมีมติให้ทำประชามติเพื่อไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งวางแผนจะทำประชามติ 3 ครั้ง และในครั้งแรกจะจัดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567 โดยใช้คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” พวกเราเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นดังนี้

1. รัฐบาลกำลัง ‘พายเรืออยู่ในอ่าง‘ หลังจากเสียเวลาไปกว่า 200 วัน ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และก็กลับมาเริ่มต้นที่จุดเดิม ทั้งที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมถึงภาคประชาชน ต่างก็เคยเสนอแนวคำถามไว้แล้ว ถ้ารัฐบาลยืนยันจะทำประชามติสามครั้ง ก็สามารถเปิดบทสนทนาพูดคุยเรื่อง “คำถาม” ได้โดยตรง ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้เราใช้สิทธิตามพ.ร.บ.ประชามติเข้าชื่อประชาชนกว่า 200,000 คน เพื่อเสนอคำถาม รัฐบาลก็ไม่หยิบขึ้นมาพิจารณา ไม่แม้แต่แยแสคำถามที่ประชาชนต้องลงแรง ลงชื่อบนกระดาษ ถ่ายเอกสาร แปลงข้อมูลจากกระดาษมาเป็นไฟล์ดิจิทัล แม้เราเคยยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาเรื่องคำถามประชามติรัฐบาล ก็ไม่เคยได้รับการนัดหมายให้เข้าพบ

สิ่งที่หายไปจากจุดยืนของรัฐบาลในวันนี้ ทั้งที่เป็นหนึ่งในหัวใจของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือ ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งเมื่อย้อนดูจากร่างรัฐธรรมนูญที่เคยถูกเสนอโดยพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2563 และ 2566 ก็ระบุอย่างชัดเจนให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่แนวทางที่รัฐบาลนำเสนอในวันนี้กลับมองข้ามประเด็นดังกล่าว โดยไม่มีคำอธิบาย

2.คําถามประชามติที่รัฐบาลประกาศนั้น มีปัญหาอย่างน้อย 3 ประการ 

2.1 คําถามนี้มี 2 ประเด็น ที่ซ้อนกันในคำถามเดียว คือ เห็นด้วยหรือไม่ กับการจัดทํารัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และเห็นด้วยหรือไม่ กับการคงเนื้อหาหมวด 1 และหมวด 2 ทำให้ประชาชนเผชิญกับ “สภาวะไร้ทางเลือก” ในการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากต้องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็ไม่มีทางเลือกว่าจะออกเสียงในการทำประชามติอย่างไร

2.2 เนื้อหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ที่ถูกแก้ไขหลังการจัดทําประชามติเมื่อปี 2559 ยังคงอยู่ คําถามประชามตินี้จะ “ไม่ทําให้เกิดการจัดทํารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” และทำให้ประชาชนไม่ได้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

2.3 คําถามประชามติที่มีตั้งเงื่อนไขในหมวดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนํามาใช้เป็นเงื่อนไขในการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับพระราชอำนาจในระหว่างการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ

ในฐานะที่พวกเราเป็นเคยเสนอคำถามประชามติให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ” โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยประชาชนมากกว่า 200,000 คน ลงชื่อเพื่อสนับสนุนการเสนอคำถามนี้ เมื่อรัฐบาลไม่รับคำถามของเราและตั้งคำถามที่มีหลักการแตกต่างจากคำถามของเราอย่างชัดเจน เราจึงไม่สามารถที่จะลงประชามติ “เห็นชอบ” หรือ Vote YES กับคำถามที่รัฐบาลตั้งขึ้นได้ เราไม่สามารถ “รับๆ ไปก่อน” และซ้ำรอยบทเรียนในอดีตได้อีกแล้ว

3. พวกเราคาดหมายได้ว่า อาจมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไปลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับคำถามประชามติที่รัฐบาลตั้ง พวกเราให้ข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะมีคนกาช่อง “ไม่เห็นชอบ” หรือ Vote NO มากน้อยเพียงใด ก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคือเสียงที่ต้องการอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 หากแต่เสียง Vote NO ยังเป็นเสียงของประชาชนที่ต้องการจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ” โดยไม่มีเนื้อหาของเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ถูกงดเว้นไม่ให้แตะต้อง

ถึงวันนี้คงเหลือโอกาสน้อยที่จะหลีกเลี่ยงการทำประชามติด้วยคำถามที่รัฐบาลตั้งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พวกเรามีความเห็นว่า ประชามติที่ถามสองประเด็นพร้อมกันนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่เพียงจำกัดในประเด็นของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ประชามติครั้งนี้ยังเป็นการถามประชาชนด้วยว่า มีประชาชนจำนวนมากน้อยเพียงใดที่ “ไม่เห็นชอบ” กับเงื่อนไขที่ “ติดล็อก” แต่ต้องการแก้ไขพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ

4.เราพยายามเตือนรัฐบาลมาตลอดว่า การตั้งคำถามแบบใด ‘เสี่ยงที่จะไม่ผ่าน’ แต่รัฐบาลก็ยังดึงดันที่จะใช้คำถามสร้างเงื่อนไข สร้างความขัดแย้ง และมากไปกว่านั้นสร้างการถกเถียงให้กับหมวด1 บททั่วไป และหมวด2 พระมหากษัตริย์ โดยไม่จำเป็น รัฐบาลได้จุดไฟให้สังคมเกิดคำถามว่า “หมวด 1 และหมวด 2” คืออะไร มีปัญหาอย่างไร ทำไมถึงต้องห้ามแก้ไข และกำลังใช้ประเด็นนี้มาเป็นปัจจัยชี้ขาดอนาคตการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นคำถามที่ “ล็อคเงื่อนไข” เช่นนี้ จึงเป็นคำถามของรัฐบาล โดยรัฐบาล เพื่อรัฐบาล

เมื่อรัฐบาลเป็นเจ้าของคำถามนี้ จึงต้องเป็นเจ้าของผลลัพธ์ที่ตามมาด้วย หากผลลัพธ์จากการทำประชามติครั้งนี้ทำให้การเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องหยุดชะงัก ก็คือความพ่ายแพ้ของรัฐบาลที่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกต่อไป

5.เราขอยืนยันว่า พวกเราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน พวกเราไม่ต้องการอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับของคสช. ต่อไป โดยกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นต้องมีความชอบธรรม เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่ต้นจนจบ หากมีเงื่อนไขปิดกั้นตั้งแต่ต้นก็สุ่มเสี่ยงที่กระบวนการข้างหน้าจะมีเงื่อนไขตลอดเส้นทางและทำให้กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับของผู้มีอำนาจในยุคสมัยนั้นๆ

ไม่ว่าผลการทำประชามติครั้งแรกจะเป็นอย่างไร หรือการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นหรือไม่ เส้นทางของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ทั้งฉบับ” โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นยังเดินหน้าได้ โดยองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ คือ วุฒิสภา หรือสว. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภาซึ่งรวมถึง สว. อย่างน้อยหนึ่งในสามหรือ 67 จาก 200 คน ดังนั้น ในการเลือกสว. ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2567 หากประชาชนร่วมกันลงสมัคร สว. เพื่อส่งผู้สมัครที่เชื่อในหลักการประชาธิปไตยเข้าสู่สภา “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” ก็จะได้รับแรงส่งสนับสนุนจาก สว. ชุดใหม่เหล่านั้นให้เดินหน้าไปได้

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น