ปล่อยตัว “อานนท์-ภาณุพงศ์” แล้ว แต่การคุกคามยังไม่จบ

Anon-3

วันที่ 8 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภา และ ภาณุพงศ์ จาดนอก สองผู้ร่วมชุมนุมและปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น “ประชาชนปลดแอก”) เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยกำหนดวงเงิน 100,000 บาท และไม่ต้องวางหลักประกัน หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมในวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนจะพาตัวไปขอศาลอำนาจศาลฝากขังทันทีระหว่างการสอบสวน

อย่างไรก็ดี การปล่อยตัว 2 ผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังมีบุคคลอีกอย่างน้อย 5 คนที่ถูกออกหมายจับ และอาจจะมีคนถึง 31 คน ถูกดำเนินคดี ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจจะต้องเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับทั้ง “อานนท์” และ “ภาณุพงศ์” เช่น การตั้งข้อหาหนักกับการใช้สิทธิเสรีภาพ การออกหมายจับอย่างเร่งด่วน การไม่ให้สิทธิพบทนายความ รวมถึงการเปิดศาลนอกเวลาราชการเพื่อขอฝากขัง เป็นต้น

ปล่อยตัว 2 ผู้ต้องหา แต่มีอีกอย่างน้อย 5 คน ถูกออกหมายจับ

แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัว อานนท์ นำภา และภาณุพงศ์ จาดนอก สองผู้ต้องหาจากคดีปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเป็นการชั่วคราว (ศาลให้ประกันตัว) แต่จากหมายจับของ ‘อานนท์’ ได้ระบุว่า เขาคือ ผู้ต้องหาคนที่เจ็ด หรือ หมายความว่า ยังมีอีกอย่างน้อย 6 คน ที่ถูกออกหมายจับเช่นเดียวกับเขา ซึ่งเท่าที่ทราบ มีผู้ที่รับทราบเรื่องหมายจับแล้วอย่างน้อย 3 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก และ พริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน

นอกจากนี้ ในเอกสารรายงานการสืบสวนของสำนักงานตำรวจสันติบาล และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ทางกลุ่มเยาวชนปลดแอกได้นำออกมาเผยแพร่ ยังพบว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการติดตามบุคคลอีกอย่างน้อย 31 คน โดยมีทั้งชื่อผู้ที่ถูกออกหมายจับแล้ว 3 คน กับรายชื่อผู้ที่ขึ้นปราศรัยหรือเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว เช่น จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธาน สนท. ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) สิรินทร์ มุ่งเจริญ รองประธานสภานิสิต จุฬาฯ รวมถึงกลุ่มศิลปินวงสามัญชนและ Rap Against Dictatorship เป็นต้น

ตำรวจตั้งข้อหาหนัก เปิดช่องออกหมายจับก่อนออกหมายเรียก

จากเอกสารในหมายจับของตำรวจของ อานนท์ และภาณุพงศ์ ได้ระบุข้อกล่าวหาไว้อย่างน้อย 8 ข้อ ได้แก่

  • ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเรื่องเกี่ยวกับการชุมนุม โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ร่วมกันมั่วสุมก่อความวุ่นวายตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 กีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  • ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
  • ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 วางสิ่งของกีดขวางทางจราจร โทษปรับไม่เกิน 500 บาท
  • ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษปรับไม่เกิน 200 บาท
  • ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 34(6) กระทำการอันอาจก่อสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  • พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 วางสิ่งของบนท้องถนน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

การตั้งข้อหาดังกล่าว มีข้อสังเกตอยู่อย่างน้อยสองประการ ได้แก่ 

ประการที่หนึ่ง เป็นการตั้งข้อหาหนักกว่าการกระทำ อาทิ การแจ้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามมาตรา 116 เป็นข้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่การกระทำของบุคคลที่ถูกออกหมายจับเป็นเพื่อการปราศรัยแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และการชุมนุมดังกล่าวก็เป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธอันเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง 

ที่ผ่านมา ศาลก็เคยมีคำพิพากษายกฟ้องคดีตามมาตรา 116 ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เช่น คดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ที่ศาลมีคำพิพากษาให้ “ยกฟ้อง” พร้อมระบุว่า การชุมนุมดังกล่าวไม่ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร แม้บางถ้อยคำไม่เหมาะสม ล้ำเกินไปบ้าง แต่เมื่อพิจารณาสภาพการณ์ การกระทำของจำเลยเป็นการติชมตามหลักประชาธิปไตย 

ประการที่สอง คือ ตำรวจใช้ข้อหาหนักเพื่อเร่งรัดออกหมายจับแกนนำและผู้ปราศรัย เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 (1) กำหนดให้ตำรวจสามารถออกหมายจับได้ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวถูกตั้งข้อหาในอัตราโทษจำคุกสูงเกินสามปี ดังนั้น การที่ตำรวจตั้งข้อหาต่อผู้จัดและผู้ร่วมชุมนุมด้วยข้อหาที่มีโทษสูง เช่น ความผิดฐาน “มั่วสุมก่อความวุ่นวายฯ” (โทษจำคุก 10 ปี) หรือความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่นฯ” (โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี) จึงเปิดช่องให้ตำรวจออกหมายจับได้แทนการใช้การออกหมายเรียกให้มาพบพนักงานสอบสวนอย่างที่เคยทำมา

Anon-2

กระบวนการยุติธรรม “ไม่โปร่งใส-ละเมิดสิทธิ”

ในการจับกุม ‘อานนท์’ และ ‘ภาณุพงศ์’  มีเหตุการณ์ที่สะท้อนความไม่โปร่งใสและเข้าข่ายละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาอยู่อย่างน้อยสามกรณี ดังนี้

หนึ่ง การแยกสอบสวนผู้ต้องหาคนละสถานที่ 

ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม ‘อานนท์’ ตำรวจได้พาตัวเขามาสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ ต่อมาตำรวจได้เข้าจับกุมตัว ‘ภาณุพงศ์’ จากนั้นจึงพาตัวเขามาที่ สน.สำราญราษฎร์ เช่นเดียวกัน แต่หลังจากนั้นไม่นาน ตำรวจได้แยกตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนไปสอบสวนคนละสถานที่ โดยพาอานนท์ไปสอบสวนที่ สน.บางเขน ซึ่งไม่มีเขตอำนาจใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และสอบสวนภาณุพงศ์ อยู่ที่ สน.สำราษราษฎร์เช่นเดิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า จะใช้สถานที่ใดเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา

สอง ไม่ให้สิทธิผู้ต้องหาพบทนายความหรือคนที่ไว้วางใจ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในระหว่างการสอบสวน พนักงานสอบสวนจะบังคับให้ ภาณุพงศ์ เซ็นบันทึกคำให้การโดยมีทนายความที่ตำรวจเป็นผู้จัดหาให้ แต่ภาณุพงศ์ปฏิเสธเนื่องจากมีทนายความอยู่แล้ว และทนายความกำลังเดินทางมาที่ สน. แต่พนักงานสอบสวนจะนำตัวไปศาลโดยไม่รอทนาย และไม่ให้บุคคลที่ไว้วางใจได้เข้าพบ

ทั้งที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 กำหนดให้ตำรวจถามผู้ต้องหาว่า มีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้จัดหาให้ และในมาตรา 134/3 ก็กำหนดให้ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนจัดหาทนายความให้โดยไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้ต้องหาจึงเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

สาม ศาลพิจารณาฝากขังผู้ต้องหานอกเวลาราชการ

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสาม กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อการสอบสวนไม่เกิน 48 ชั่วโมง หากครบกำหนดจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหา หรือต้องนำตัวไปที่ศาลเพื่อขอฝากขัง หรือหมายความว่า เจ้าหน้าที่มีเวลาสอบสวนถึง 48 ชั่วโมง ถ้าไม่พอจึงไปขออำนาจศาลเพื่อควบคุมตัวบุคคลไว้ต่อได้ 

แต่ในการจับกุมอานนท์และภาณุพงศ์กลับพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเร่งรีบในการพาตัวไปขออำนาจศาลฝากขังทั้งที่ยังมีเวลาควบคุมตัวเหลือ อีกทั้งยังพาผู้ต้องหามาฝากขังใกล้กับเวลาปิดทำการของศาล แม้จะมีประกาศขยายเวลาทำการไปจนถึงเวลา 20.30 น. แต่กว่าศาลจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นก็ประมาณ 22.00 น. ซึ่งถือเป็นนอกเวลาราชการ ทำให้สุดท้ายศาลมีคำสั่ง “คืนคำร้อง” ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมายื่นขอฝากขังใหม่ 

คำสั่งคืนคำร้องดังกล่าวนับเป็น “เรื่องใหม่” ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ที่ผ่านมา เคยมีกรณีที่ศาลเปิดทำการนอกเวลาราชการมาก่อน เช่น คดีฝากขังสมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ จำนวน 14 คน ที่ศาลทหารกรุงเทพได้เปิดทำการถึงเที่ยงคืน เพื่อรอพนักงานสอบสวนนำตัว 14 ผู้ต้องหา ซึ่งถูกจับในเย็นวันเดียวกันมาฝากขัง แต่เหตุการณ์นี้เกือบจะไม่เกิดขึ้นซ้ำในศาลยุติธรรม