ผลงานกรรมการประชามติฯ เดินหน้าเป็นวงกลม ประชุมเกือบ 3 เดือนสร้างคำถามมากกว่าคำตอบ

นับตั้งแต่คำสัญญาของพรรคเพื่อไทยว่าจะเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทันทีที่เป็นรัฐบาล ผ่านมาจนสิ้นปี 2566 ก็ยังไม่มีความชัดเจน และกลไกคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาโดยรวบรวมคนจากหลายกลุ่มมามากมายก็ไม่ได้ผลอะไรคืบหน้า นอกจากว่าความฝันในการมีรัฐธรรมนูญใหม่ของสังคมไทยยังคงวนเป็นวงกลมกลับมาที่เดิม
หลังจากที่พรรคเพื่อไทยประกาศแยกตัวจากพรรคก้าวไกลเพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยสัญญาว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก มีมติให้ทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทันที แต่ทว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กลับมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ศึกษาแนวทางการทำประชามติ และให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบ 
ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เศรษฐามีคำสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ) ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจำนวนทั้งหมด 35 คน แต่ต่อมาเหลือ 34 คนเพราะพรรคก้าวไกลปฏิเสธที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วม
คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติใช้เวลาทำงานถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2566 หรือ 2 เดือน 23 วัน จึงมีการแถลงสรุปผล แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่ประกอบไปด้วยตัวแทนพรรคการเมือง ข้าราชการ ไปจนถึงนักวิชาการรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่รัฐบาลไปรวบรวมมานั้น กลับไม่ได้ทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นชัดเจนขึ้น มากไปกว่านั้น เวลาที่เสียไปจากการศึกษายิ่งทำให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทอดเวลาออกไปอีก
จากคำสัมภาษณ์ของภูมิธรรมในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ผลสรุปของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติมีดังนี้

จำนวนประชามติ: 3 ครั้ง

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้พรรคการเมืองบางพรรคและ สว. ใช้เป็นเหตุขวางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านกระบวนการรัฐสภา จากเดิมที่ต้องใช้ประชามติสองครั้ง คือ หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 และหลังจากที่มีร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ประชาชนเห็นชอบ ก็มีการทำให้กระบวนการซับซ้อนขึ้นโดยการเพิ่มประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา คำถามที่ตามมาคือรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจะเลือกทำประชามติกี่ครั้ง โดยตัวแทนของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติมีกล่าวถึงข้อกังวลเรื่องงบประมาณที่อาจจะบานปลายหากมีการทำประชามติหลายครั้ง
ท้ายที่สุด คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติข้อมีข้อสรุปเสนอ ครม. ให้ทำประชามติสามครั้ง โดยภูมิธรรมกล่าวว่าเรื่องของงบประมาณเป็นเรื่องรองเพราะการร่างรัฐธรรมนูญใหม่สำคัญที่สุด หมายความว่าประชาชนจะต้องเข้าคูหาอย่างน้อยสามครั้งเพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไปจนสุดทาง

คำถามประชามติครั้งแรก: ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์

หากมีการทำประชามติสามครั้ง คำถามที่จะใช้ในประชามติครั้งแรกเป็นประเด็นสำคัญ รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยมี “ธง” ตั้งแต่แรกว่าจะห้ามไม่ให้มีการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อกังวลว่าการตั้งคำถามที่กำหนดเงื่อนไขก่อนที่ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจอาจจะกลายเป็นปมที่ทำให้ประชามติไม่ได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง 
ทำให้มีการเสนอทางออกอื่น ๆ เช่น ให้กำหนดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่สามารถทำได้ทั้งฉบับ ภายใต้ข้อห้ามตามมาตรา 255 ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือรูปแบบการปกครอง หรือให้นำประเด็นที่จะสร้างปัญหาอย่างหมวด 1 และ 2 เป็นคำถามพ่วง เพื่อแยกคำถามที่เกี่ยวกับเจตจำนงค์ออกจากเนื้อหาและกระบวนการ
แต่เวลาเกือบสามเดือนของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติไม่ได้ทำให้มีข้อเสนอใหม่ บทสรุปของคำถามประชามติคือยังยืนยันว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องยกเว้นหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์

ที่มา สสร.: ไม่ชัดเจน ให้รัฐสภา (สส.+สว.) ตัดสินใจ

ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เป็นอีกประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติต้องตัดสินใจ ท่ามกลางการเรียกร้องให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ผลการทำงานของคณะกรรมการก็ไม่ได้มีข้อสรุปอย่างชัดเจนที่จะตอบคำถามนี้ โดยมีเพียงว่าจะให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะลงรายละเอียดเรื่องอำนาจหน้าที่และที่มาของ สสร.
ทว่า การมอบอำนาจให้รัฐสภาทั้งหมดหมายความว่าไม่ใช่แค่ สส. ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังรวมถึง สว. ที่มาจากการแต่งตั้งจะมีส่วนร่วมด้วย หมายความว่าเมื่อประชาชนเดินเข้าคูหาประชามติ จะไม่มีทางทราบได้เลยว่าผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนร่างนั้นจะมีหน้าตาหรือที่มาอย่างไร เพราะอำนาจในการตัดสินใจส่วนหนึ่งอยู่ในมือ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

แก้ พ.ร.บ. ประชามติ: ไม่ชัดเจน ให้ครม. ตัดสินใจ

เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 กำหนดให้ต้องใช้ “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” เป็นเงื่อนไข ทำให้มีความกังวลจากรัฐบาลว่าผู้ออกมาใช้เสียงอาจจะไม่ถึงกึ่งหนึ่งและทำให้ประชามติไม่ผ่าน สส. บางส่วนจึงเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ก่อนที่จะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยระยะเวลาที่นานขึ้น
แต่ประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คณะกรรมการศึกษาการทำประชามติไม่ได้มีข้อสรุปออกมาอย่างชัดเจน โดยภูมิธรรมกล่าวเพียงว่าเป็นเรื่องที่จะให้ ครม. เป็นผู้ตัดสินใจ 

วันประชามติครั้งแรก: ไม่ชัดเจน ให้ ครม. ตัดสินใจภายใน มี.ค 67

ประเด็นสุดท้ายคือกรอบเวลาของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หลังจากนี้ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนอีกเช่นกัน โดยคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติจะจัดทำรายงานและเสนอให้กับ ครม. ซึ่งภูมิธรรมกล่าวว่าอาจจะเกิดขึ้นอย่างเร็วในเดือนมกราคมหรืออย่างช้าภายในไตรมาสแรกหรือภายในเดือนมีนาคม 2567 หาก ครม. มีมติตัดสินใจทำประชามติแล้ว ประชาชนก็ได้ไปคูหาในอีก 90-120 วันหลังจากนั้น หรืออย่างช้ากลางปี 2567 อย่างไรก็ตาม ภูมิธรรมก็ยืนยันว่าจะรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเสร็จภายในสี่ปีของรัฐบาลเพื่อไทย