เปิดแคมเปญ #RespectMyVote66: ร่วมส่งเสียงประชาชนให้ถึง ส.ว. ก่อนลงมติเลือกนายก

6 กรกฎาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่าย “Respect My Vote” เปิดแคมเปญจับตาการเลือกนายกรัฐมนตรี และส่งเสียงถึงสมาชิกวุฒิสภาในรูปแบบที่ตัวเองถนัด
เครือข่ายฯ กล่าวว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่า 40 ล้านคน หรือคิดเป็นถึงร้อยละ 75.22 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด และยังเป็นสถิติผู้ออหมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้มีพรรคการเมืองจำนวนแปดพรรค แสดงความประสงค์ในการจัดตั้งรัฐบาล โดยคิดเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 312 เสียง จากจำนวนทั้งหมด 500 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ควรจะได้เป็นรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย
ทว่า ส.ว. ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ตามมรดกของคณะรัฐประหารอย่างบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กลับแสดงท่าทีที่จะไม่ลงคะแนนเสียงให้แก่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่รวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ขณะที่ ส.ว. บางส่วนระบุว่าจะงดออกเสียง ซึ่งจะยิ่งทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรียืดเยื้อและสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายหลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมาก
ภาคประชาชนในนามเครือข่ายฯ จึงจัดแคมเปญ “Respect My Vote เคารพผลเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน” เพื่อส่งเสียงถึง ส.ว. ว่า ในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ส.ว. จะต้องลงคะแนนเสียงให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อรักษาหลักการเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตย และการเคารพอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน เนื่องจากหาก ส.ว. กระทำการใดที่นอกเหนือไปจากนี้จะถือว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดวิกฤติทางการเมืองต่อไป
แคมเปญนี้ยืนอยู่บนหลักการว่า ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารไม่มีความยึดโยงกับประชาชน จึงไม่ควรมีสิทธิในการเลือกหัวหน้าฝ่ายบริหารร่วมกับ ส.ส. ซึ่งถือว่าเป็นผู้แทนเสียงของปวงชนชาวไทยทั้งหมด ส.ว. จึงไม่ควรฝืนเจตจำนงของประชาชนและควรลงคะแนนเสียงให้แก่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ตามที่เคยกล่าวอ้างไว้ในการเลือกตั้ง 2562
ขณะเดียวกัน ส.ส. จากพรรคที่ไม่ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็ควรที่จะยืนยันตามหลักประชาธิปไตยเสียงข้างมากด้วยการลงคะแนนเสียงให้แก่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียงข้างมาก โดยการลงคะแนนเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นการสนับสนุนนโยบายหรือร่างกฎหมายของพรรคเสียงข้างมาก แต่เป็นเพียงการรักษาหลักการและนำประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น
เครือข่ายฯ จึงชวนประชาชนที่เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าวร่วมติดตามและส่งเสียงถึง ส.ว. ในรูปแบบที่ตัวเองถนัดผ่าน #RespectMyVote66 โดยกิจกรรมที่สามารถเข้าร่วมได้แล้วตอนนี้ คือ การส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว. ที่ยังไม่ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ซึ่งสามารถติดตามได้ที่เฟชบุ๊ก “iLaw” และการแชร์ภาพและเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ ซึ่งสามารถติดตามได้ที่เฟชบุ๊ก “ศิลปะปลดแอก – FreeArts” รวมถึงสามารถติดตามกิจกรรมอื่นๆ ผ่าน #RespectMyVote66 ต่อไป